ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ธงปรองดองของ “บิ๊กบัง” - พระปกเกล้า ที่ใช้ชื่อเสียงของสถาบัน-ผลงานวิจัย และมติเสียงข้างมากลากออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก๊งเผาเมือง ล้มล้างคดีคตส.ทั้งหมด เพื่อสนองประโยชน์ให้นักโทษหนีคดีและพวก กำลังกลายเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรงอีกครั้ง อดีต คตส.กระตุกต่อมสำนึก “บวรศักดิ์” อ้างชื่อสถาบันพระนาม ร.7 ไปรับใช้นักการเมืองเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่
อุณหภูมิความขัดแย้งในสังคมอันเนื่องมาจากการหาทาง “ปรองดอง” ของคนในชาติเพิ่มดีกรีร้อนแรงทะลุองศาเดือดอีกครา และดูเหมือนว่าข้อเสนอปรองดองที่ “สุดขั้ว” จากคณะกรรมาธิการฯ ปรองดอง และสถาบันพระปกเกล้า นอกจากจะไม่สามารถทำให้สังคมยอมรับได้แล้ว ยังกลับกลายเป็นเงื่อนไขสร้างความขัดแย้งโถมทับทวีเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก
นอกจากนั้น ผู้คนในสังคมยังเคลือบแคลงสงสัยในบทบาทของสถาบันพระปกเกล้า และพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ผู้สวมบทประธานคณะกรรมาธิการฯ ปรองดอง ในวันนี้ ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ทั้งหลายทั้งปวงนั้น มีเจตนาเพื่อนำพาประเทศออกไปจากหลุมดำความขัดแย้งดังที่กล่าวอ้าง หรือเพื่อสนองประโยชน์ต่อ “นายใหญ่” นักโทษชายหนีคดีที่ทรงอิทธิพลกันแน่
ชั่วเวลาที่หมุนเปลี่ยนเพียง 5 - 6 ปี จุดยืนของ พล.อ.สนธิ เปลี่ยนไป 180 องศา โดยไม่มีคำอธิบายชัดเจนต่อสังคม สิ่งที่อดีตนายทหารใหญ่กำลังออกแรงเข็ญข้อเสนอปรองดองชนิดสุดขั้ว จึงมีข้อสังเกตว่าเขาอาจกำลังไถ่บาปจากการถูกประณามจากฝั่งกลุ่มคนเสื้อแดงที่ตราหน้ามาตลอดว่า ผลงานรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ทำลายประชาธิปไตย พาประเทศถอยหลังลงคลอง โดย พล.อ.สนธิ อาจหลงลืมไปแล้วว่า เหตุผลในการลงมือรัฐประหาร คือการกอบกู้บ้านเมืองให้พ้นจากวิกฤตโดยเฉพาะการทุจริตโกงกินบ้านเมืองครั้งมโหฬาร และได้รับการชื่นชมจนเรียกได้ว่าเป็นคณะรัฐประหารที่ได้รับมอบดอกไม้จากประชาชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์
ขณะที่สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นศูนย์รวมของปรมาจารย์ผู้ทรงความรู้ความเชี่ยวชาญของประเทศ เป็นสถาบันด้านกฎหมายและการเมือง ย่อมไม่มีทางไร้เดียงสาจนกระทั่งไม่รู้ว่างานวิจัยปรองดองที่ลงมือทำอย่างเร่งรีบและรวบรัดภายในเวลา 4 เดือนนั้น แท้จริงแล้วมีเป้าประสงค์เพื่อตอบโจทย์ให้กับใคร
นับจากวันที่ 6 มี.ค. 2555 ที่สถาบันพระปกเกล้า แถลงผลงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยมีข้อเสนอที่เป็นทางเลือกในประเด็นการนิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง และการเสริมสร้างกระบวนการยุติธรรม (อ่านรายละเอียดในข่าวประกอบ) ได้จุดประเด็นให้เกิดคำถามตามมาทันที แต่ที่สร้างความตื่นตระหนกยิ่งกว่าในเวลาต่อมา ก็คือ การลงมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2555
ในวันประชุมดังกล่าว อาจเรียกได้ว่าเป็นการใช้เสียงข้างมากลากปรองดองเข้าสภา โดยที่ประชุมได้มีการทำแบบสอบถามคณะกรรมาธิการฯ ที่เข้าร่วมประชุม จำนวน 38 คน และมีการลงมติโดยเสียงข้างมาก 23 เสียง เห็นด้วยกับข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า คือ “ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดทุกประเภท ทั้งคดีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่นการทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน”
ส่วนการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจากกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นั้น คณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก 22 เสียง มีมติเลือกใช้ทางเลือกที่ 3 ของสถาบันพระปกเกล้า คือ “ให้เพิกถอนผลตามกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง” โดยจะต้องไม่มีการฟ้องร้อง คตส. ในภายหลัง
ผลสืบเนื่องจากการลงมติของกมธ.ปรองดองฯ ทำให้บรรยากาศในวงเสวนา “รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของสถาบันพระปกเกล้า” ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ในวันถัดมาเมื่อ 21 มี.ค. 2555 มีการซักถามไล่บี้กันอย่างหนักหน่วง และเรื่องนี้ยังจะเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันไม่จบง่ายๆ เพราะข้อเสนอปรองดองไม่ได้ยืนอยู่บนการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านจากทุกฝ่ายที่สูญเสีย ย่อมไม่อาจนำไปสู่ความปรองดองที่ยั่งยืน ดังคำให้สัมภาษณ์ของ นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนปช.เมื่อเดือนเม.ย. 2553
ที่สำคัญ การล้มล้างคดี คตส. โดยการเพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดยคตส.ทั้งหมด หากเดินตามข้อเสนอนี้ก็เท่ากับล้มล้างคำพิพากษาของศาล ซึ่งนั่นจะสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงฝ่ายตุลาการ หนึ่งในเสาหลักค้ำยันระบอบประชาธิปไตย ที่ยังพอจะกล่าวได้ว่ามีอิสระไม่ถูกครอบงำโดยพรรคเพื่อไทย ที่กำลังพยายามบ่อนเซาะทำลายถึงขั้นประกาศกร้าวยุบทิ้งศาล ลดทอนอำนาจของตุลาการภิวัฒน์ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้
หากประเมินท่าทีต่อข้อเสนอปรองดองของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้ว ดูเหมือนจะมีความต้องการให้ล้มล้างคดี คตส. เป็นผลสำเร็จมากกว่าการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง เพราะผลพวงจากการทำงานอย่างหนักของ คตส. นั่นเองที่ทำให้อดีตนายกฯ ต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทองและกลายเป็นนักโทษหนีคดีจนวันนี้
พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อโดยอ้างว่าหลังจากการค้นหาข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดแล้ว พล.อ.สนธิ ก็เห็นด้วยว่า ที่ผ่านมาการตั้งคณะกรรมการ คตส. ไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม อาศัยอำนาจจากการยึดอำนาจเข้ามาตรวจสอบ ไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางจึงไม่ยอมรับ ขั้นตอนและวิธีการสืบสวนสอบสวนรวมไปถึงการวินิจฉัยพิจารณาตัดสินเอาจากเอกสาร ผู้ถูกกล่าวไม่สามารถที่ชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นการพิจารณาลับทั้งหมด แตกต่างจากกระบวนการพิจารณาตามประมวลกฎหมายพิจารณาความแพ่งและทางอาญา
ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงแล้ว กระบวนการสืบสวนสอบสวนตั้งแต่ชั้น คตส. ไปจนถึงการต่อสู้คดีในศาล ผู้ถูกกล่าวหาต่างสามารถชี้แจงข้อเท็จจริง ต่อสู้ หักล้างข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ ไม่ได้เป็นการพิจารณาลับทั้งหมดดังที่อดีตนายกรัฐมนตรีโกหกต่อสาธารณะแต่อย่างใด เหตุพ่ายแพ้ในคดีเป็นเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ส่วนที่ชนะคดีก็เป็นเพราะสามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้เช่นกัน
เป้าประสงค์ล้มล้างคดีคตส.โดยอาศัยวาทกรรม “ปรองดอง” ยังสร้างความงงงวยให้กับสังคมไม่น้อย เพราะการอ้างว่าคตส.มีที่มาไม่ถูกต้องเพราะตั้งโดยคณะรัฐประหารนั้น เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาฯ ได้วินิจฉัยและตัดสินไปแล้ว
นอกจากนั้น กระบวนการรวบรวมข้อมูล ไต่สวนคดี ของคตส. เป็นเช่นเดียวกับกระบวนการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคดีที่ค้างคาก็ถูกโอนมาให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ คตส.จึงเป็นแต่เพียงผู้ทำสำนวนคดี ส่วนการพิจารณาตัดสินคดีความเป็นเรื่องของศาลที่ดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมปกติ
อดีต คตส. เช่น แก้วสรร อติโพธิ ถึงกับตั้งคำถามต่อสถาบันพระปกเกล้าที่มีข้อเสนอให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดยคตส.ว่า คดีคอร์รัปชั่นที่คตส.ทำเกี่ยวอะไรกับความขัดแย้งทางการเมืองและนิรโทษกรรม สถาบันพระปกเกล้าควรไปเปิดบริษัทที่ปรึกษาแล้วเลิกเรียกตัวว่าสถาบันและควรถวายชื่อสถาบันกลับคืนวังไปเพื่อไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้
เช่นเดียวกับที่ อุดม เฟื่องฟุ้ง ที่ถามหาสำนึกจาก บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการพระปกเกล้า ว่าการที่คนบางกลุ่มไปทำงานรับใช้นักการเมือง แล้วมาอ้างชื่อสถาบันพระปกเกล้า ที่อาศัยพระนามของรัชกาลที่ 7 ไปใช้ เป็นเรื่องที่ใช้ได้และถูกต้องตามตรรกะการก่อตั้งของสถาบันพระปกเกล้าหรือไม่
เมื่อข้อเสนอปรองดองสามารถสร้างความขัดแย้งในสังคมได้มากขนาดนี้ คงต้องรออีกนานกว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้จริง