xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำฟ้องรัฐฯทำผิดกม.ลุแก่อำนาจดึงดันสร้างเขื่อนกั้นนิคมฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน รับมอบอำนาจจากชาวบ้านรอบนิคมฯ ยื่นฟ้อง 7 หน่วยงานรัฐ ลุแก่อำนาจ ดึงดันสร้างเขื่อนกั้น 11 นิคมอุตสาหรรม โดยไม่รับฟังเสียงของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม และพ.ร.บ.สุขภาพฯ ร้องขอศาลสั่งระงับ-เพิกถอนการสร้างเขื่อน พร้อมกำหนดกฎเกณฑ์ฟื้นฟูเยียวยาให้ชัดเจนก่อน

ในที่สุด การวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลโดยไม่เปิดรับฟังเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ได้จุดชนวนความขัดแย้งระหว่างผู้มีส่วนได้เสียและนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาล โดยคดีที่ประชาชนมอบอำนาจให้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ในวันที่ 6 มี.ค. 2555 เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรม 11 แห่ง ถือเป็นคดีนำร่อง ก่อนที่จะมีคดีฟ้องร้องอื่นๆ ตามมาจากโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น โครงการทางระบายน้ำ หรือฟลัดเวย์ โครงการจัดสรรพื้นที่รับน้ำ ฯลฯ รวมทั้งโครงการสร้างเขื่อนตามลำน้ำสาขาอีกหลายแห่งที่อยู่ในแผนป้องกันน้ำท่วม

ทั้งนี้ ความขัดแย้งที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นนับจากนี้ อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยหากรัฐบาลดำเนินโครงการตามกระบวนการของกฎหมาย ระเบียบและกฎเกณฑ์ที่รัฐได้กำหนดไว้ ซึ่งกรณีการฟ้องร้องขอให้ระงับการสร้างเขื่อนกั้นนิคมฯ ก็เช่นกัน โดยก่อนที่จะเดินมาถึงจุดนี้ ประชาชนรอบนิคมฯ และสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นหนังสือขอให้รัฐดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายแต่สุดท้ายรัฐกลับเพิกเฉย

สำหรับคำฟ้องที่สมาคมฯ ยื่นฟ้อง 7 หน่วยงานรัฐ มีรายละเอียด ดังนี้
 
คดีหมายเลขดำที่ ............/ ๒๕๕๕ วันที่ ๖ เดือน มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ ๑ กับพวก รวม ๓๙ คน ผู้ฟ้องคดี กับ ๑)การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ๒)กรมโรงงานอุตสาหกรรม ๓)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
๔)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ๕)ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ๖)คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)  ๗)คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ  (กยอ.) ผู้ถูกฟ้องคดี

ชื่อและที่อยู่ผู้ฟ้องคดี ข้าพเจ้า นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ในฐานะผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และผู้รับมอบอำนาจ/มอบฉันทะผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๑๕
นายผดุงศักดิ์ เทียนไพโรจน์ ผู้รับมอบอำนาจ/มอบฉันทะผู้ฟ้องคดีที่ ๑๖ ถึงที่ ๒๕
นายกมล ศรีสวัสดิ์ ผู้รับมอบอำนาจ/มอบฉันทะผู้ฟ้องคดีที่ ๒๖ ถึงที่ ๓๒
ว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน ผู้รับมอบอำนาจ/มอบฉันทะผู้ฟ้องคดีที่ ๓๓ ถึงที่ ๓๙
ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจ/มอบฉันทะที่แนบท้ายคำฟ้องนี้
อยู่ที่ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เลขที่ ๕๑/๑๑๙ หมู่บ้านพฤกษา ๑๗ หมู่ที่ ๙ ตำบล สาดสวาย อำเภอ ลำลูกกา จังหวัด ปทุมธานี รหัสไปรษณีย์ ๑๒๑๕๐ โทรศัพท์ ๐๘๑-๙๒๐-๕๐๖๖ โทรสาร ๐๒-๑๕๒-๘๕๖๙

ชื่อและที่อยู่ผู้ถูกฟ้องคดี

๑)การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อยู่ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เลขที่ ๖๑๘ นิคมมักกะสัน แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๔๐๐

๒)อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อยู่ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เลขที่ ๗๕/๖ ถนนพระราม ๖ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๔๐๐

๓)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ อยู่ที่ กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระราม ๖ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๔๐๐

๔)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ อยู่ที่กระทรวงการคลัง ถนนพระราม ๖ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๔๐๐

๕)ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ อยู่ที่ธนาคารออมสิน เลขที่ ๔๗๐ ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๔๐๐

๖)คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ อยู่ที่ ทำเนียบรัฐบาล เลขที่ ๑ ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๓๐๐

๗)คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ  (กยอ.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ อยู่ที่ ทำเนียบรัฐบาล เลขที่ ๑ ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๓๐๐
สถานะผู้ฟ้องคดี

ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ทะเบียนเลขที่ จ.๔๖๒๙/๒๕๕๐ ชื่อว่า สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน มีนายศรีสุวรรณ จรรยา เป็นนายกสมาคม และมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสิทธิและหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในการจัดการด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างสมดุล ยั่งยืน และเกิดความมั่นคงทางนิเวศ ฯลฯ ปรากฏตามเอกสารแนบมายเลข ๑ 

โดยที่ผู้ฟ้องคดี เป็นองค์กรเอกชนสาธารณะประโยชน์ ที่มุ่งดำเนินกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และคุ้มครองสิทธิชุมชนที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อันเป็นภารกิจและเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของผู้ฟ้องคดี ตลอดมาเสมอ ไม่ว่าประชาชนหรือชุมชนเหล่านั้นจะมีอยู่ในสถานะใด หรือคงอยู่ในพื้นที่ใด แห่งใดของประเทศ

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดี ยังได้รับการรับรองให้เป็นองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยได้รับการจดทะเบียนรับรองจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทะเบียนเลขที่ ๔/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๒ ซึ่งเป็นไปตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน เอกสารแนบหมายเลข ๒

ทั้งนี้วัตถุประสงค์ประการหนึ่งของสมาคมฯ คือ การให้ช่วยเหลือในการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล เพื่อเรียกร้องต่อรัฐหรือหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการหรือปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งช่วยปกป้องวิถีชีวิตของชุมชน ปกป้องสภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นถิ่นของตนที่ถูกหน่วยงานทางปกครองของรัฐกระทำการอันเป็นการละเมิด ทำให้ชาวบ้านและผู้ฟ้องคดีเกิดความเดือดร้อนและเสียหาย ดังนี้

๑. ติดตาม ตรวจสอบ แหล่งกำเนิดมลพิษที่เป็นต้นเหตุของปัญหาสภาวะโลกร้อน และเหตุภาวะมลพิษต่าง ๆ ที่ก่อความเสียหายต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

๒. เผยแพร่ความรู้กฎหมายเกี่ยวกับมลพิษและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนหรือกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจได้รับอันตรายหรือความเสียหายจากภาวะมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษต่าง ๆ รวมทั้งเป็นผู้แทนในการฟ้องร้องต่อศาล เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ค่าเสียหาย ค่าชดเชยให้แก่ประชาชน ชุมชน และสาธารณชน

๓. ส่งเสริมสิทธิและหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในการจัดการด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างสมดุล ยั่งยืน และเกิดความมั่นคงทางนิเวศ

๔. ส่งเสริมการปลูกและรักษาป่า รักษาน้ำและลุ่มน้ำ รักษาสัตว์ป่า ให้สังคมตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบจากสภาพความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในเมืองและชนบท

๕. รณรงค์และสร้างเครือข่ายการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พิทักษ์ป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง พืชและสัตว์ทะเลทุกประเภท

๖. รณรงค์และส่งเสริมการนำองค์ความรู้ด้านการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน การอนามัยสิ่งแวดล้อม การสร้างเสริมสุขภาพ-สุขภาวะทีดี การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดการสวัสดิการสังคม การคุ้มครองแรงงาน และเทคโนโลยีสะอาด เผยแพร่สู่เยาวชนและประชาชนทั่วไป
๗. ดำเนินงานบริการทางด้านวิชาการ การศึกษาวิจัย การฝึกอบรม การให้การปรึกษาทางวิชาการ การจัดทำรายงานการวิเคราะห์หรือประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน

๘. ร่วมมือกับหน่วยงานและองค์การต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันในการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสมาคม ซึ่งปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๑ แล้ว

สมาคมในฐานะองค์กรเอกชนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงไม่อาจนิ่งเฉยต่อพฤติกรรมหรือการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหลายได้ จึงต้องนำความมาขอความยุติธรรมต่อศาลปกครอง

ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๓๙ เป็นบุคคลสัญชาติไทย มีที่พักอาศัยอยู่บริเวณโดยรอบพื้นที่นิคมฯ/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรมในพื้นที่พิพาททั้งสิ้น จึงมีสิทธิและหน้าที่ ที่ได้รับการรับรองไว้แล้วโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๔๓ มาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๒ และมาตรา ๖๗ วรรคสามทุกประการ มีสิทธิที่จะได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว มีสิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน และมีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น

รวมทั้งการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค หรือได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง และในฐานะคนไทยที่มีหน้าที่ที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติและปฏิบัติตามกฎหมาย ตามมาตรา ๗๑ และมีหน้าที่ที่จะต้องพิทักษ์ ปกป้อง อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา ๗๓ ฯลฯ จึงทนเห็นการกระทำหรือการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้ ในการที่ใช้อำนาจอันเป็นการละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จนนำมาสู่ความเดือดร้อนและเสียหายต่อผู้ฟ้องคดี ดังจะอรรถาธิบายต่อไป

การกระทำทั้งหลายที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี พร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามสมควรเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว

ข้อ ๑ เหตุจากความผิดพลาดล้มเหลว หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของรัฐบาลและหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการปริมาณน้ำ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ จนก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย เทือกสวน ไร่นา ทั้งที่เป็นสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ของประชาชนกว่า ๖๕ จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคเหนือตอนล่างเรื่อยมาจนถึงภาคกลาง และภาคอีสานกว่า ๓.๕ ล้านครัวเรือนได้รับผลกระทบเดือดร้อนและเสียหายกันไปทั่วหน้า สิ้นเนื้อประดาตัวกันไปเกือบทั้งหมด ประชาชนบาดเจ็บ เจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า ๘๑๖ ศพ

ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงข้อมูลเผยแพร่ต่อสาธารณะว่าเหตุดังกล่าว ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี ๒๕๕๔ ขยายตัวได้เพียง ๐.๑% ( ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ว่าควรจะขยายตัว ๓.๘ % ) ซึ่งธนาคารโลกก็ได้ประเมินความเสียหายของทรัพย์สินจากอุทกภัยในปี ๒๕๕๔ ไว้กว่า ๖๐๐,๐๐๐ ล้านบาท และรายได้หายไปกว่า ๗๐๐,๐๐๐ ล้านบาท รวมเป็นความเสียกว่า ๑.๔ ล้านล้านบาท

เหตุและผลที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลใช้อำนาจทางปกครองแต่งตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ในคดีนี้ขึ้นมา พร้อมๆ กับแต่งตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ  (กยอ.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ในคดีนี้ขึ้นมาควบคู่กันไป เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ที่ ๒๕๓/๒๕๕๔ เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๒๕๒/๒๕๕๔ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย (กยอ.) ตามลำดับ
 
โดย กยอ. มีอำนาจหน้าที่ จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ ระดมความคิดเห็นและความรู้เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศในระยะยาว รวมทั้งจัดทำข้อเสนอในการจัดตั้งองค์กรถาวร วิธีการบริหารจัดการ การบริหารการเงิน การสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน แนวทางปฏิบัติราชการแผ่นดินในการฟื้นฟูและพัฒนา และข้อเสนออื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศจากภัยธรรมชาติในระยะยาวและวางอนาคตการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ส่วน กยน. มีอำนาจหน้าที่ อาทิ จัดทำแผนแม่บทและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาและวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และกำหนดกรอบการลงทุนด้านการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าว กยน. ถูกคำสั่งกำหนดให้ดำเนินการให้สอดรับกับยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ โดยต้องมีการทบทวนนโยบาย แผนงานและแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวมทั้งระดมความคิดเห็นและรวบรวมความรู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ฯลฯ

เมื่อมีคณะกรรมการ กยอ. และ กยน. ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการ กยอ. และคณะกรรมการ กยน. ต่างประชุมหารือกันโดยขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกฎหมาย ทำให้คณะกรรมการทั้งสองชุดดังกล่าว มีข้อสรุปหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ ต้องเร่งรีบไปดำเนินการตามข้อสรุปหรือสั่งการของคณะกรรมการทั้งสองชุดดังกล่าว
 
นั่นคือ “การสนับสนุนและอนุญาตให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรม ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำถาวร เพื่อล้อมรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรมตัวอย่างเอกสารข่าวของ กยอ. เอกสารแนบ ๓ โดยไม่ผ่านกระบวนการ ขั้นตอน หรือหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเสียก่อน อันเป็นการขัดหรือแย้งหรือละเว้นต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗, ละเว้นพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๔๖ ถึงมาตรา ๕๑ และละเว้นพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ และละเว้นพระราชบัญญัติการขุดและถมดิน พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ และมาตราอื่น ๆ รวมทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๘ ประกอบมาตรา ๘๔ โดยชัดแจ้ง

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕๗ บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ”

นอกจากนั้น มาตรา ๕๘ บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของ เจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิ และเสรีภาพของตน” ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิของประชาชนที่จะต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ตามเจตนารมณ์ในมาตรา ๖๗ ที่ว่า “สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม...”

แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดก็หาได้ใส่ใจที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแม่บทของประเทศและกฎหมายอื่น ๆ ข้างต้นเลยไม่

ข้อ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้เสนอมาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัยโดยให้ธนาคารออมสิน หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ และต่อมาเห็นชอบมาตรการดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งถือได้ว่า มีแนวนโยบายและหรือคำสั่งไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ให้สนับสนุนช่วยเหลือค้ำชูให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรมทั้ง ๗ แห่ง ที่ถูกน้ำท่วมเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๕๔
 
ซึ่งประกอบด้วย ๑)นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ๒)เขตประกอบการอุตสาหกรรมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ๓)นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค) อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ๔)นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ๕)เขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ๖)สวนอุตสาหกรรมนวนคร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และ ๗)สวนอุตสาหกรรมบางกะดี อ.เมือง จ.ปทุมธานี และนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วม อาทิ นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร, นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร, นิคมอุตสาหกรรมบางพลี อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ฯลฯ ปรากฏตามเอกสารแนบ ๔ ให้สามารถดำเนินการก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำล้อมรอบนิคมอุตสาหกรรมทั้งหลาย ทั้งปวงเหล่านั้น โดยใช้เงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ ไปยกให้เอกชนหรือเอื้อประโยชน์ให้เอกชนใช้ดำเนินการก่อสร้างฟรี ๆ ถึง ๒ ใน ๓ ส่วน อีก ๑ ส่วนที่เหลือนั้นยังช่วยอุดหนุนค้ำชู ในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft load ในอัตราร้อยละ ๐.๐๑ โดยมีระยะปลอดชำระเงินต้นถึง ๕ ปี และให้ระยะเวลากู้นานถึง ๑๕ ปี

ในขณะที่ประชาชนที่ถูกน้ำท่วมหากต้องกู้เงินมาซ่อมแซมบ้านเรือนเคหะสถาน หรือนำมาปรับปรุงธุรกิจที่เสียหายต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราขั้นสูงสุดตามประกาศของธนาคาร เช่น ธนาคารออมสินดอกเบี้ย MLR ร้อยละ ๗.๑๒๕ ดอกเบี้ย MOR ร้อยละ ๗.๓๗๕ และดอกเบี้ย MRR ถึงร้อยละ ๗.๗๕ ชี้ให้เห็นถึงพฤติการณ์การเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐบาลและหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ที่ ๕ อันส่อไปในทางขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓๐ โดยชัดแจ้ง

ทั้งนี้ การปล่อยให้มีการฝ่าฝืนกฎหมายข้างต้นดังกล่าวของผู้ประกอบการ โดยหน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดี สะท้อนผลมาจากการผลักดันของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ที่ ๗ โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดี ๔ ได้เสนอมาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัยโดยให้ธนาคารออมสินผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจทางปกครองเห็นชอบในหลักการไปแล้วเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ และเห็นชอบมาตรการดังกล่าวแล้วในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕ และมติอื่น ๆ ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีในคราวต่อ ๆ หลายกรรมหลายวาระ
 
โดยเห็นชอบให้การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม กู้เงินจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ เพื่อใช้ในการจัดทำระบบและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับป้องกันอุทกภัย หรือเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ วงเงิน ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท โดยให้คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๐.๐๑ ต่อปี ตลอดอายุโครงการ โดยรัฐบาลนำเงินภาษีของประชาชนมาชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนเงินกับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บกับผู้กู้หรือผู้ประกอบการนิคมฯ ให้ธนาคารออมสิน หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ โดยรัฐบาลรับภาระในการชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนเงินกับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บกับผู้กู้ให้ธนาคารออมสิน (ชดเชยส่วนของต้นทุนเงินของธนาคารฯ) อย่างผิดกฎหมาย

ข้อ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ในฐานะผู้กำกับดูแล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ตามกฎหมาย แต่กลับละเว้นไม่สั่งการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ต้องกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตการประกอบการนิคมอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรม หรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม ตามอำนาจหน้าที่ในพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๒ มาจนถึงพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๐ และหรือพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่ง “การดำเนินการก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำถาวร เพื่อล้อมรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรม ๗ แห่ง ของผู้ประกอบการที่รับใบอนุญาตที่เคยถูกน้ำท่วมเมื่อครั้งวิกฤตการณ์เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๕๔ ในจังหวัดอยุธยา ปทุมธานี และพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานครนั้น จะต้องปฎิบัติตามกฎหมายให้ครบถ้วนเสียก่อน ๆ ดำเนินการใด ๆ” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗, พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๔๖ ถึงมาตรา ๕๑, พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ และพระราชบัญญัติการขุดและถมดิน พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ และมาตราอื่น ๆ เสียก่อน

แต่กาลกลับเป็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ กลับไปเห็นด้วยกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ที่ ๖ และที่ ๗ ในการเห็นชอบหรือสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผู้รับใบอนุญาตและหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใต้บังคับบัญชาของตนเอง ไป “ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำถาวร เพื่อล้อมรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรม” ซึ่งแม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จะเป็นผู้บังคับบัญชาของตน ซึ่งต้องดำเนินการตามนโยบายหรือการสั่งการ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ก็ไม่สามารถปฏิเสธการที่จะต้องสั่งการให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม หรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรม ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายทั้งหมดข้างต้นเสียก่อนได้

การละเว้นเพิกเฉยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ข้างต้น ผนวกกับการยุยงส่งเสริมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๖ ที่ ๗ เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม หรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรม ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำไปแล้ว โดยไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายข้างต้น ดังนี้

-นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ได้ก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ ประกอบด้วยการถมสร้างแนวคันดินขึ้นมาล้อมรอบนิคมฯ พร้อมก่อสร้างกำแพงคอนกรีตขึ้นมาความสูง ๖.๕ เมตร และฝังลึกลงไปในดินอีก ๖-๗ เมตร โดยมีฐานรากกว้าง ๒๐ เมตร และมีความยาวประมาณ ๑๑ กิโลเมตร (กม.) ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ ๗๒๘ ล้านบาท เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕ ที่ผ่านมาแล้ว โดยกำหนดการแล้วเสร็จในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๕

-สวนอุตสาหกรรมบางกะดี ได้ก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำระยะทาง ๘.๕ กิโลเมตร ใช้งบประมาณก่อสร้าง ๒๗๒ ล้านบาท เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕ ที่ผ่านมาแล้ว โดยกำหนดการแล้วเสร็จในวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕

-เขตประกอบการอุตสาหกรรมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ได้ก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำความสูง ๖.๕ เมตร ระยะทาง ๗๗.๖ กิโลเมตร ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ ๒,๒๓๓ ล้านบาท เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕ ที่ผ่านมาแล้ว โดยกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕

-นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค(บ้านหว้า) ได้เริ่มก่อสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำ ความสูง ๕.๕ เมตร ความยาวประมาณ ๑๓ กม.ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ ๕๐๐ ล้านบาท มี โดยเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ที่ผ่านมาแล้ว โดยกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕

-สวนอุตสาหกรรมนวนคร ได้เริ่มก่อสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำเป็นระบบผนังคอนกรีตหนาติดตั้งโดยรอบ มีความลึกลงไปในดินประมาณ ๙ เมตร และสูงขึ้นจากระดับผิวดิน ๕.๘ เมตรความยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ ๗๐๐ ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕ ที่ผ่านมาแล้ว โดยกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕

-นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ได้เริ่มก่อสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำความยาวประมาณ ๑๓ กิโลเมตร ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ ๔๐๐ ล้านบาท มี แผนการก่อสร้างประมาณเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ โดยกำหนดแล้วเสร็จวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕

ส่วนเขตประกอบอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย แม้ไม่มีแผนก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ แต่ส่วนของเขตประกอบการอุตสาหกรรมด้านที่ติดกับคลอง ๒๖ ซึ่งเป็นคลองธรรมชาติ กลับมีการสร้างถนนเป็นเขื่อนป้องกันหรือขัดขวางการไหลของน้ำหลากเอาไว้ด้วย

นอกจากนั้น ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เขตมีนบุรี, นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร, นิคมอุตสาหกรรมบางพลี อำเภอบางพลี และนิคมอุตสาหกรรมบางปู อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้ลงพื้นที่เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕ ที่ผ่านมา โดยติดตามแผนการป้องกันน้ำท่วมของนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางชัน และนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในจังหวัดสมุทรปราการข้างต้น ภายใต้การดำเนินงานของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม โดยได้ไปตรวจดูการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรของนิคมฯดังกล่าว เพื่อหวังสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยมิได้คำนึงเลยว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม หรือชุมชนโดยรอบนิคมฯต่าง ๆ ดังกล่าว และจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบหรือขั้นตอนของกฎหมายเสียก่อน โดยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และการจัดทำแผนหรือมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางยุทธศาสตร์ หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น EIA, HIA, SEA หรือ SIA

ข้อ ๔ การละเว้นเพิกเฉยต่อการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องข้างต้น หรือปล่อยหรือยุยงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หรือผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม “ใช้สิทธิเกินส่วน” โดยสามารถดำเนินโครงการหรือกิจกรรมก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำไปได้เลย โดยมิต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของกฎหมายต่าง ๆ ข้างต้นเสียก่อน ยังผลให้เกิดผลกระทบแก่ผู้ฟ้องคดีและประชาชน ชุมชน หรือชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิม ได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย หรืออาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอย่างใหญ่หลวงหลายประการ จนผู้ฟ้องคดีมิอาจนิ่งเฉยต่อไปได้ ดังนี้

-การปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำถาวร ในยามที่มีปัญหาอุทกภัยหรือน้ำหลากมา หรือฝนตกชุก อาจทำให้ระดับน้ำท่วมสูงขึ้นในชุมชนรอบข้าง และสร้างความเสียหายให้พื้นที่หลายแห่งโดยรอบที่อยู่ใกล้เคียง โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีและหรือผู้ประกอบการหรือผู้พัฒนานิคมฯมิเคยไปทำความเข้าใจและหาทางวางแผนไม่ให้ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวที่จะต้องได้รับความเดือดร้อนและเสียหายแน่นอน หรือมีการกำหนดมาตรการชดเชย เยียวยาที่ชัดเจนเสียก่อน ก่อนที่จะวางแผนหรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว หรือมีมาตรการการแก้ไขปัญหาน้ำหลากอย่างเบ็ดเสร็จแล้วเสียก่อน
 
นอกจากนั้นการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการจำกัดขอบเขตการไหลของน้ำยังทำให้ลักษณะการไหลของน้ำหลากเกิดการเปลี่ยนแปลง  เช่น ระดับน้ำสูงขึ้น ความเร็วและอัตราการไหลเพิ่มขึ้น ความรุนแรงของคลื่นเปลี่ยนแปลงและเวลาเดินทางของน้ำเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งผลด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์  รวมทั้งลักษณะภูมิประเทศเดิมที่มีอยู่ ปัญหาเหล่านี้ผู้ประกอบการหรือผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ดำเนินการเลย

-การปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวรนั้น จะเกิดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงตามมามากมาย ทั้งผลกระทบจากการก่อสร้าง ผลกระทบจากการเบี่ยงเบนลำน้ำหรือเส้นทางการไหลของน้ำหรือทางน้ำผ่าน (Floodway) จากเส้นทางเดิม จะทำให้ระดับน้ำในชุมชน ที่อยู่อาศัย เคหะสถานของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านเพิ่มสูงขึ้น ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกัน ดูแล รักษาทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และจะเกิดความเสียหายมากหากน้ำล้นสันเขื่อนหรือกำแพงกั้นน้ำแตก ชาวบ้านหรือชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณเหนือและหรือโดยรอบเขื่อนอาจไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจะเพิ่มเท่าทวีคูณ และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาอีกมากมายเหลือคณานับ
 

-พื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านที่อยู่เหนือเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ หรือโดยรอบเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ จะกลายเป็นพื้นที่รองรับน้ำแทนนิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม เพราะในยามที่เกิดอุทกภัยหรือน้ำหลากมาหรือยามฝนตกหนัก น้ำเหล่านั้นจะไม่สามารถไหลผ่านออกไปตามทิศทางการไหลของน้ำตามธรรมชาติได้เลย เพราะมีเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ กั้นขวางทิศทางการไหลของน้ำเหล่านั้น ทำให้พื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่นาข้าวของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านกลายเป็นที่รองรับน้ำแทน ทำให้น้ำท่วมขัง กลายเป็นห้วย หนอง หรือบึงรับน้ำอย่างถาวร หรือใช้ระยะเวลาท่วมขังนานขึ้น นอกจากนั้นเมื่อน้ำไม่ไหลหรือหยุดนิ่งยาวนานก็จะก่อให้เกิดน้ำเน่าเสียขึ้นมาได้ สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตของประชาชนตามมาไม่มีที่สิ้นสุด เป็นต้น
 

-การปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวร เพื่อหวังปกป้องนิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของชุมชนรอบข้างเลย จึงเป็นแนวคิดที่ผิดพลาด ผิดกฎหมายหลายประการข้างต้น และเอาเปรียบสังคม ที่สำคัญแม้นิคมอุตสาหกรรม /เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม หรือโรงงานจะถูกป้องกันอย่างแน่นหนาน้ำไม่ท่วมถึง แต่หากโรงงานผลิตสินค้าออกมาได้ จะขนส่งผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์หรือสินค้าออกไปได้อย่างไร รวมทั้งการขนส่งวัตถุดิบเข้า-ออกโรงงานจะทำอย่างไร รวมทั้งคนงานทั้งหลายที่มักมีบ้านพัก บ้านเช่าอาศัยแทรกตัวอยู่ในชุมชนของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านโดยรอบโรงงานด้วย ที่ต่างจะได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมสูงรอบนิคมฯหรือโรงงาน การที่จะสัญจรเดินทางเข้า-ออกโรงงานย่อมเป็นไปได้อย่างยากลำบาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย เป็นต้น

ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นได้ นำมาซึ่งความเดือดร้อนและเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านหลายพื้นที่ หลายจังหวัด ดังนั้นเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕ ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อสาธารณะว่า เตรียมแจ้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รับทราบเงื่อนไขการทำพนังกั้นน้ำในนิคมอุตสาหกรรมต้องผ่านการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อน แม้จะเป็นโครงการเร่งด่วนก็ตาม

โดยนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงกรณีที่นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งมีแผนสร้างพนังกั้นน้ำถาวรป้องกันน้ำท่วมให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๕ นี้ว่า จากการหารือภายในของ สผ.มีข้อสรุปว่า การปรับปรุงระดับความสูงของพนังกั้นน้ำ อยู่ในเงื่อนไขของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ต้องส่งรายละเอียดให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาโครงการ (คชก.) ด้านอุตสาหกรรมของ สผ.พิจารณาผลกระทบพิจารณาใหม่  โดยขณะนี้ได้ประสานไปยังการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้ทราบเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว แต่ทว่าผู้ถูกฟ้องคดีและหรือผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม ก็ยังนิ่งเฉยมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อแนะนำหรือเงื่อนไขทางกฎหมายแต่ประการใด

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้เคยมีหนังสือร้องเรียนและแนะนำไปยังรัฐบาลและหรือผู้ถูกฟ้องคดีแล้ว ปรากฏตามเอกสารแนบหมายเลข.๕. แต่มิได้รับการปฏิบัติหรือดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายแต่ประการใด ปรากฏตามเอกสารแนบหมายเลข.๖. หากแต่รัฐบาลและผู้ถูกฟ้องคดีกลับเร่งรีบผลักดัน ยุยงส่งเสริมให้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม ทั้ง ๑๑ แห่ง ให้ก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำขึ้นมาโดยไม่ต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์หรือข้อกำหนดของกฎหมายตามที่ได้อรรถาธิบายแล้วทั้งสิ้นปรากฏตามเอกสารแนบหมายเลข..๗.

ผู้ฟ้องคดีไม่มีหนทางอื่นใดที่จะบังคับให้รัฐบาลหรือผู้ถูกฟ้องคดีระงับและยุติการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมการก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำถาวรดังกล่าวของทั้ง ๑๑ นิคมอุตสาหกรรมได้ จึงต้องนำความมาฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอความเมตตาจากศาลได้โปรดรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้ และมีคำพิพากษา ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทุกข้อ ตามสิทธิที่ปรากฏแล้วในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๖๐ และหรือมาตรา ๖๗ วรรคสาม

อนึ่ง คดีนี้คำฟ้องและคำขอของผู้ฟ้องคดีเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ มิใช่เป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ฟ้องคดีรายใดแต่ประการใดไม่ และผู้ฟ้องคดีแต่ละคนก็มิได้มีเรื่องโกรธเคืองกับผู้ถูกฟ้องคดีแต่ละรายเลย จึงใคร่ขอให้ศาลวินิจฉัยให้เป็นคดีสาธารณะ เพื่อประโยชน์สาธารณะต่อไป

คำขอท้ายคำฟ้อง

๑)ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันระงับและเพิกถอนการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมการก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำของผู้รับใบอนุญาตหรือผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม ทั้ง ๑๑ แห่ง ตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข..๔..ทั้งหมด

๒)ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันจัดทำแผนการระบายน้ำอย่างเป็นรูปธรรมโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม ทั้ง ๑๑ แห่ง ตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข..๔..ทั้งหมดโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือชาวบ้านที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรมในรัศมี ๑๐ กิโลเมตร

๓)ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบนิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรม ทั้ง ๑๑ แห่ง ตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข..๔..อย่างเป็นรูปธรรมและจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตและชดเชยประชาชน โดยการเก็บค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนจากผู้พัฒนานิคมฯและหรือโรงงานต่าง ๆ ในนิคมฯ ต่าง ๆ โดยกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้ฟ้องคดีรอบนิคมอุตสาหกรรมในการวางหลักเกณฑ์และบริหารกองทุนฯ

๔)ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗, พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๔๖ ถึงมาตรา ๕๑ และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ และพระราชบัญญัติการขุดและถมดิน พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ และมาตราอื่น ๆ ก่อนที่จะดำเนินการเห็นชอบหรืออนุมัติการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

(นายศรีสุวรรณ จรรยา)
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
ในฐานะผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และผู้รับมอบอำนาจ/มอบฉันทะผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๑๕

(นายผดุงศักดิ์ เทียนไพโรจน์)
ผู้รับมอบอำนาจ/มอบฉันทะผู้ฟ้องคดี

(นายกมล ศรีสวัสดิ์)
ผู้รับมอบอำนาจ/มอบฉันทะผู้ฟ้องคดี

(ว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน)
ผู้รับมอบอำนาจ/มอบฉันทะผู้ฟ้องคดี
กำลังโหลดความคิดเห็น