สมาคมต้านโลกฟ้อง 7 หน่วยงานภาครัฐต่อศาลปกครอง ระงับสร้างเขื่อน พนังกั้นน้ำรอบ 11 นิคมอุตสาหกรรม ระบุกระทบชาวบ้าน
วันนี้ (6 มี.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม รวม 39 รายได้ยื่นฟ้องการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม รมว.อุตสาหกรรม รมว.คลัง คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำพิพากษาให้ทั้ง 7 หน่วยงานระงับและเพิกถอนการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อน หรือพนังกั้นน้ำรอบ 11 นิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กทม. และสมุทรปราการ เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัย
อีกทั้งขอให้มีคำพิพากษาให้ทั้ง 7 หน่วยงานร่วมกันจัดทำแผนการระบายน้ำอย่างเป็นรูปธรรม กำหนดหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยา ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบ 11 นิคมอุตสาหกรรม และให้ 7 หน่วยงานปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57,58,66,67 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มาตรา 46-51 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 5, 10, 11 และ พ.ร.บ.การขุดและถมดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 26 และมาตราอื่นๆ ก่อนที่จะดำเนินการเห็นชอบหรืออนุมัติการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า เหตุที่ทางสมาคมต้องฟ้องคดีดังกล่าว เพราะการที่รัฐสนับสนุนให้นิคมอุตสาหกรรมสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำจะนำไปสู่ความขัดแย้งของประชาชนโดยรอบนิคมฯ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียภายในชุมชน อีกทั้งยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เคยระบุแล้วว่า การที่นิคมจะปรับปรุงระดับความสูงของพนังกั้นน้ำ อยู่ในเงื่อนไขรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องส่งรายละเอียดให้คณะกรรมการชำนาญการพิจารณาโครงการด้านอุตสาหกรรมของ สผ.พิจารณาผลกระทบใหม่ แต่การนิคมกลับนิ่งเฉยและเร่งเสริมความสูงของพนังกั้นน้ำ
“รัฐบาลให้ธนาคารออมสินสนับสนุนในเรื่องเงินสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการนิคมฯในการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำรอบนิคม เหมือนเป็นการเอาเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศไปยกให้เอกชน หรือเอื้อให้เอกชนใช้ดำเนินการก่อสร้างฟรีๆ ถึง 2 ใน 3 ส่วน อีก 1 ส่วนที่เหลือนั้นยังช่วยอุดหนุนค้ำชูในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอัตราร้อยละ 0.01 มีระยะปลอดชำระเงินต้นถึง 5 ปี และให้กู้นานถึง 15 ปีแต่ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม หากจะกู้เงินมาซ่อมบ้าน หรือปรับปรุงธุรกิจที่เสียหายกลับต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราขั้นสูงสุดของธนาคาร เช่น ดอกเบี้ย MLR ร้อยละ 7.125 ดอกเบี้ย MOR ร้อยละ 7.375 และดอกเบี้ย MRR ร้อยละ 7.75 แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐบาล และส่อไปในทางขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30 อย่างชัดเจน” นายศรีสุวรรณกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าไม่สร้างพนังกั้นน้ำและเกิดน้ำท่วมคนตกงานทางสมาคมฯจะรับผิดชอบอย่างไร นายศรีสุวรรณกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจการบริหารงานของรัฐที่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างความเดือดร้อนของประชาชนกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน ชาวบ้านจำเป็นต้องรักษาสิทธิ์ของตัวเองในกรณีที่รัฐละเมิด อย่างไรก็ตาม การฟ้องคดีครั้งนี้ทางสมาคมยังได้ขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวโดยสั่งให้ 7 หน่วยงานระงับการก่อสร้างเขื่อน หรือพนังกั้นน้ำ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 11 นิคมที่ทางสมาคมฯฟ้องคดีประกอบไปด้วย 1. นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร 2. เขตประกอบการอุตสาหกรรมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ 3. นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) 4. นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 5. เขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ จ.พระนครศรีอยุธยา 6. สวนอุตสาหกรรมนวนคร 7. สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จ.ปทุมธานี 8. นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เขตมีนบุรี 9. นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เขตบาดกระบัง กทม. 10. นิคมอุตสาหกรรมบางพลี 11. นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ