“ศรีสุวรรณ” ค้านสร้างเขื่อนถาวรป้องน้ำท่วมโรงงาน ซัดมุ่งเอาใจนักลงทุน ไม่คำนึงถึงชุมชนรอบข้าง ขาดการรับฟังความคิดเห็นของ ปชช.จงใจท้าทาย รธน.ชัดเจน ขู่ฟ้องศาลหากดึงดันสร้างโดยไม่มีมาตรการป้องกันปัญหาให้กับชุมชนโดยรอบเสียก่อน
วันที่ 2 ก.พ. นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน แถลงคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นน้ำถาวรป้องกันน้ำท่วมว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้ทำการสนับสนุนให้ธนาคารออมสิน เป็นผู้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสุด 0.01% เป็นเวลากว่า 10 ปีวงเงินกว่า 15,000 ล้านบาทให้กับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมทั้งหลายในพื้นที่ที่อยู่ในแนวเส้นทางน้ำผ่านหรือ Floodways กู้ไปดำเนินการก่อสร้างเขื่อน หรือพนังกั้นน้ำถาวรขึ้น (Levees and Floodwalls) ล้อมรอบนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วมหรือมีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วม โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือเอดีบี จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า มาร่วมกันวางแผนให้คำปรึกษาในการสร้างเขื่อนตามนิคมฯ ต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน อีกทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็ให้การสนับสนุนอย่างต็มที่โดยอ้างว่าได้มีการประชุมร่วมกันกับรองนายกรัฐมนตรี และได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลจะมีการตั้งกองทุน เพื่อช่วยเหลือนิคมอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ตั้งแต่การปล่อยกู้ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับสูบน้ำ และการกู้เพื่อสร้างผนังกั้นน้ำถาวร ดังตัวอย่างโมเดลของเนเธอร์แลนด์ ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล แต่สามารถอยู่ได้ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมเห็นชอบด้วยเต็มที่ ความดังทราบแล้วนั้น
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอคัดค้านนโยบายและการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้เพราะข้อเสนอของรัฐบาลและเอกชนดังกล่าว ไม่เคยมีใครหรือหน่วยงานใดเลยที่จะออกมาพูดถึงผลลบหรือผลกระทบอย่างรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน หรือพนังกั้นน้ำถาวรดังกล่าว หรือแม้แต่ข้อเสนอแนะทางออกหรือลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมนั้นๆ ว่าจะลดผลกระทบที่จะต้องเกิดขึ้นกับพวกเขามากขึ้นอย่างไร ก็ไม่มีหน่วยงานใดสนใจ ทุกคนทุกหน่วยงานมุ่งแต่จะเอาอกเอาใจผู้ประกอบการนักลงทุน ดุจดังพระเจ้าที่จะต้องกราบคลานเอื้อประโยชน์ให้ทุกอย่างตามที่เรียกร้อง โดยชุมชนชาวบ้านรอบนิคมอุตสาหกรรมจะฉิบหายอย่างไร ชั่งหัวมัน
การสร้างเขื่อน หรือพนังกั้นน้ำถาวร อาจทำให้ระดับน้ำท่วมสูงขึ้นในชุมชนรอบข้าง และสร้างความเสียหายให้พื้นที่หลายแห่งโดยรอบที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งรัฐบาลและผู้ประกอบการไม่เคยที่จะไปทำความเข้าใจและหาทางวางแผนไม่ให้ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน หรือไม่มีการกำหนดมาตรการชดเชย เยียวยาที่เหมาะสมเสียก่อนที่จะวางแผนหรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว หรือไม่มีมาตรการการแก้ไขปัญหาน้ำหลากอย่างเบ็ดเสร็จแล้วเสียก่อน นอกจากนั้นยังไม่มีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการจำกัดขอบเขตการไหลของน้ำยังทำให้ลักษณะการไหลของน้ำหลากเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ระดับน้ำสูงขึ้น ความเร็วและอัตราการไหลเพิ่มขึ้น ความรุนแรงของคลื่นเปลี่ยนแปลงและเวลาเดินทางของน้ำเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งผลด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ รวมทั้งลักษณะภูมิประเทศเดิมที่มีอยู่ ปัญหาเหล่านี้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาล ไม่ได้คิดหาคำตอบก่อนที่จะสนับสนุนการสร้างเขื่อนกั้นน้ำหรือผนังกั้นน้ำถาวรเลย
ทั้งนี้ รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกำลังแก้ปัญหาโดยมีมุมมองเพียงด้านเดียวในการบริหารจัดการในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคต ขาดบริบทของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อย่างจงใจ ดูเหมือนจะเป็นการท้าทายกฎหมายแม่บทของชาติ นั่นคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 30 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 66 และมาตรา 67 อย่างเจตนา
ปัญหาน้ำท่วมใน 7 นิคมอุตสาหกรรมของภาคกลาง เป็นที่น่าเห็นใจผู้ประกอบการทั้งเจ้าของนิคมฯ และผู้ประกอบการโรงงานในนิคมต่างๆ เหล่านั้น เพราะต่างได้รับความเสียหายจากวิกฤตน้ำท่วมดังกล่าวกันอย่างทั่วหน้า แต่ทว่าต้องไม่ลืมว่าผู้ประกอบการเหล่านั้นยินยอมถือความเสี่ยงกันเองทั้งสิ้น เพราะรู้ทั้งรู้ว่าพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เหล่านั้น เป็นพื้นที่ลุ่มภาคกลางที่น้ำสามารถท่วมถึง และบางแห่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในแนวทางน้ำไหลผ่านหรือ Floodways ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพเป็นมาแต่ครั้งโบราณกาล
ผู้ประกอบการและโรงงานต่างๆ เหล่านั้นยอมถือความเสี่ยง เพียงเพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทนทางธุรกิจที่มากกว่าพื้นที่อื่น ทั้งเรื่องราคาที่ดินที่ถูกกว่า มีระบบโลจิสติกส์ที่ดีกว่า ประหยัดการลงทุนมากกว่า โดยไม่สนใจเลยว่าจะต้องเสี่ยงกับการถูกน้ำท่วมอย่างแน่นอน แต่เมื่อยามเกิดปัญหาขึ้นกลับหนีเอาตัวรอด โดยการสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวรขึ้น ในลักษณะ “เห็นแก่ตัวและเอาเปรียบชุมชน”
การออกมาขับเคลื่อนหรือดำเนินการสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวร เพื่อหวังปกป้องตนเอง หรือนิคมอุตสาหกรรมของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของชุมชนรอบข้างเลย จึงเป็นแนวคิดที่ผิดพลาด แม้นิคมอุตสาหกรรม หรือโรงงานจะถูกป้องกันอย่างแน่นหนาไม่ให้น้ำท่วมในอนาคต แต่หากโรงงานผลิตสินค้าออกมาได้ จะขนส่งออกไปอย่างไร รวมทั้งการขนส่งวัตถุดิบเข้า-ออกโรงงานจะทำอย่างไร รวมทั้งคนงานทั้งหลายที่มักมีบ้านพักอาศัยอยู่ในชุมชนรอบโรงงาน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมสูงรอบนิคมฯหรือโรงงาน จะสัญจรเดินทางเข้า-ออกโรงงานได้อย่างไร ปัญหาเหล่านี้เหมือนลิงแก้แห อย่างคิดแต่จะได้ เอาเปรียบสังคมฝ่ายเดียวเท่านั้นเป็นพอก็ได้แล้ว
การสร้างเขื่อน หรือพนังกั้นน้ำถาวรนั้น จะเกิดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงตามมามากมาย ทั้งผลกระทบจากการก่อสร้าง ผลกระทบจากการเบี่ยงเบนลำน้ำจากเส้นทางเดิม จะทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูง เกิดความเสียหายมากเมื่อน้ำล้นสันเขื่อนหรือกำแพงกั้นน้ำ ชาวบ้านหรือชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณเหนือและหรือโดยรอบเขื่อนอาจไม่ปลอดภัย มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาอีกมากมายเหลือคณานับ
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงขอประกาศคัดค้านแนวคิด นโยบายและแผนการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาล โดยกระทรงการคลัง ธนาคารออมสิน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งและนิคมอื่นๆ อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุผลทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายข้างต้น หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดจะปกป้องนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวกันจริง เพื่อหวังเรียกความเชื่อมั่นการลงทุนแล้วละก็ มีทางเดียวเท่านั้นที่จะเป็นทางออกที่มีลักษณะ win-win คือ รัฐบาลต้องมีแผนหรือมาตรการที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมเสียก่อนแล้วเท่านั้น โดยนำมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง ก่อนที่จะอนุมัติแผนงานหรือเงินทุนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ไปดำเนินการก่อสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวร
แต่หากรัฐบาล กยน. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังดื้อดึงหรือไม่สนใจคำทักท้วงนี้ ยังคงเดินหน้าสนับสนุนการสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวรต่อไป สมาคมฯและชาวบ้าน ชาวชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ดังกล่าว คงไม่สามารถคงไม่สามารถหาทางออกอื่นใดได้ นอกจากการพึ่งอำนาจศาล ในการหาข้อยุติในการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลและเอกชนได้เท่านั้น