xs
xsm
sm
md
lg

BBC เจาะข่าวแผนป้องกันน้ำท่วม “กรุงเทพฯ” คุกคามที่อยู่ชาวบ้านริมคลอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชุมชนริมคลองบางบัว เขตจตุจักร ตอนเหนือของกรุงเทพฯ ซึ่งถูกน้ำท่วมหนัก เมื่อปลายปี 2011
บีบีซี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - วิกฤตอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปีของไทยผ่านมาเกือบ 3 เดือน หลายสิบล้านชีวิตใต้ชายคากรุงเทพฯ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทว่า เมื่อเสร็จสิ้นการฟื้นฟู ประเด็นสำคัญในเวลานี้ที่ต้องการคำตอบ คือ กรุงเทพฯ มีมาตรการป้องกันน้ำท่วมในอนาคตอย่างไร

รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้คำมั่นว่าจะทุ่มงบประมาณหลายแสนล้านบาท หลายฝ่ายกุลีกุจอวาดแผนการสร้างกำแพงยักษ์ อุโมงค์ใหญ่ รวมถึงการสร้างทางระบาย เบี่ยงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านเมืองหลวงไทย

**นักลงทุนต่างชาติกังวล**

เหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาไม่ใช่อุทกภัยครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งน้ำท่วมส่วนใหญ่ในอดีตมักเกิดในต่างจังหวัด ทว่า ครั้งนี้เกิดขึ้นในเขตการค้าที่มีความสำคัญ ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ

ความเสียหายจากวิกฤตอุทกภัยยังส่งผลกระเทือนถึงบริษัทต่างๆ ทั่วโลก มูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ ไม่นานหลังจากนั้น มีคำถามปรากฏขึ้นมาว่า ไทยยังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ “น่าลงทุน” อยู่หรือไม่ และในระยะยาว การตั้งโรงงานในประเทศไทยจะปลอดภัยเพียงใด

“นักลงทุนต่างชาติล้วนได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้น พวกเขาจะไม่ปล่อยให้รัฐบาลทำเป็นลืมเรื่องที่ผ่านมา” ดร.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประจำประเทศไทย แสดงทัศนะ

“นักลงทุนจะกดดันให้รัฐบาลหามาตรการรับรองว่า กำลังจัดการน้ำและอุทกภัยอย่างที่ควรเป็น”

อย่างไรก็ตาม ความคิดใหม่ว่า “ต้องทำอะไรสักอย่าง” เพื่อป้องกันน้ำท่วม กลับไม่ใช่ข่าวดีของคนไทยทุกคน สำหรับชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคลองต่างๆ ในกรุงเทพ มาตรการป้องกันน้ำท่วมกำลังเป็นภัยต่อที่อยู่อาศัยของพวกเขา ขณะที่ไทยได้เรียนรู้จากวิกฤตที่ผ่านมาว่า จำเป็นต้องให้มวลน้ำไหลผ่านเมือง และลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด
คุณป้าจวง พึ่งสติ ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวจากบีบีซี ว่า จะไม่ยอมย้ายออกจากริมคลอง “ป้าจะสู้สุดชีวิต”
**เสียงสะท้อนจากชาวริมน้ำ**

ถ้าจะให้น้ำไหลลงทะเลเร็วที่สุด หมายความว่า ขยะและสิ่งกีดขวางต้องถูกกำจัดออกจากลำคลอง นับเป็นโชคร้ายสำหรับคุณป้าจวง พึ่งสติ วัย 64 ปี เพราะสิ่งที่ต้องถูกกำจัดออกก็คือ บ้านที่คุณป้าอาศัยมาหลายสิบปี

เสาไม้ที่ต่อยื่นลงไปในคลองบางบัวหลายเมตร บ้านของป้าจวงสร้างขึ้นโดยผิดกฎหมายบนที่ดินและในลำคลอง ไม่น่าแปลกใจที่บ้านหลังนี้จะถูกน้ำท่วมหนักเมื่อปลายปี 2011 ทว่า ผ่านมา 3 เดือน คุณป้าจวงก็ย้ายกลับเข้ามาตามเดิม แม้สภาพแวดล้อมโดยรอบยังเต็มไปด้วยซากข้าวของและเครื่องใช้ที่เสียหาย

ทั้งนี้ แผนการที่กรุงเทพฯ สั่งให้ชาวชุมชนย้ายออกจากริมคลองบางบัวถูกยกขึ้นมาพูดถึง แต่ไม่ใช่ครั้งแรก

เมื่อ 9 ปีที่แล้ว โครงการของรัฐบาลเคยเกลี่ยกล่อมให้ชาวชุมชนริมคลองทั่วกรุงเทพฯ กว่า 6,000 ครัวเรือน ย้ายบ้านและให้เจ้าหน้าที่เข้าพัฒนาลำน้ำ

มีบางคนยอมปฏิบัติตามคำสั่งของทางการและได้ที่อยู่ที่ถูกกฎหมาย แต่อีกจำนวนมาก เช่น คุณป้าจวง พึ่งสติ และเพื่อนบ้าน ที่ยืนยันจะอยู่ที่เดิม

“น้ำท่วมมันไม่เกี่ยวกับเราเลย เราอยู่ในคลอง เราไม่ได้ทำน้ำท่วม” คุณป้าจวง ตอบข้อซักถาม “พวกเขาบอกว่าถ้าเราไม่ไป เขาจะเข้ามาพังบ้านเรา แต่เราอยู่ที่นี่มา 32 ปีแล้วนะ”

ห่างจากริมคลองบางบัวเข้ามาประมาณ 100 เมตร บ้านไม้ของนางสมร พึ่งจู แม่ค้าของชำวัย 48 ปี ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นปัญหาขวางการไหลของน้ำ และเป็นบ้านที่นางสมรอาศัยอยู่กับญาติๆ จำนวน 16 คน

แต่ทางการก็ต้องการให้เธอรื้อบ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าพัฒนาที่ดินให้ถูกกฎหมาย นั่นหมายความว่าที่ดินส่วนของครอบครัวนางสมรจะเล็กลง เพื่อให้คนอื่นๆ เข้ามาอาศัย

“เราไม่ได้บุกรุกที่ ตรงนี้เคยเป็นป่ารกมาก่อน เราเข้ามาพัฒนาจนกลายเป็นชุมชน” นางสมร พึ่งจู กล่าว

ณ เวลานี้ ทางกรุงเทพฯ ระบุว่า ต้องการพัฒนาลำคลองโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทว่า กลับมีใบปลิวข่มขู่แพร่ในชุมชนบางบัว และชาวบ้านก็รู้สึกว่า กำลังถูกกดดันหนักขึ้นทุกขณะ

การกำจัดสิ่งกีดขวางในลำคลองเป็นเพียงส่วนหนึ่งในแผนป้องกันน้ำท่วมระยะยาว ขณะที่ฤดูฝนใกล้เข้ามาทุกวันๆ อ่างเก็บน้ำต่างๆ เหลือพื้นที่สำหรับรองรับน้ำใหม่อีกไม่มาก รัฐมนตรีของรัฐบาลเพื่อไทยก็กำลังถูกกดดันให้แสดงผลงานจากงบประมาณมหาศาล

ท่ามกลางความเร่งรีบของทางการ ชาวชุมชนบางบัวกังวลว่า พวกเขาอาจถูกจับกุมที่ไม่ยอมย้ายออกตามคำสั่ง

“ถ้าพวกเขามาไล่เราจริงๆ ป้าจะสู้สุดชีวิต” คุณป้าจวง พึ่งสติ กล่าวทิ้งท้าย “คนเราพูดกันได้ จะฆ่ากันให้ตายเชียวหรือ”
กำลังโหลดความคิดเห็น