รอยเตอร์ - แหล่งข่าวใกล้ชิดไม่เผยชื่อ 2 แหล่งระบุว่า จีนกำลังพิจารณาข้อเสนอการจัดตั้งธนาคารภูมิภาคหรือใช้ชื่อว่า "ธนาคารอาเซียน" ให้เป็นแหล่งฉุดช่วยธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SMEs) ของจีนให้ออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ พร้อมด้วยแผนตั้งกองทุนสำหรับการลงทุนด้านโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของจีนให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับการเสนอแผนฯ เผยว่า "หลังจากคณะมุขมนตรีจีนมีมติเห็นชอบกับแผนดังกล่าวแล้ว จีนก็จะได้ชักชวนบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งญี่ป่นและเกาหลีใต้ ให้เข้ามามีส่วนถือหุ้นในธนาคารอาเซียนนี้"
แหล่งข่าวเผยอีกว่า "มหาอำนาจเศรษฐกิจลำดับ 2 ของโลกอย่างจีนก็ดูเหมือนว่าจะได้ถือหุ้นส่วนมากสุดในธนาคาร โดยมีปริมาณการลงทุนสูงถึง 30,000 ล้านหยวน (4,700 ล้านดอลลาร์)"
ทั้งนี้แหล่งข่าวฯ ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ให้บอกกล่าวเรื่องนี้กับนักข่าว
ขณะนี้ ประเทศหุ้นส่วนอื่น ๆ กำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาต่อรอง
แหล่งข่าวแรกบอกกับรอยเตอร์ว่า "ธนาคารอาเซียนนี้ จะเป็นธนาคารพาณิชย์และขณะเดียวกันก็จะเป็นธนาคารที่กำหนดนโยบายด้วย มันจะมีลักษณะเหมือนน้อง ๆ ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ประมาณนั้นเลยทีเดียว"
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียก่อตั้งขึ้นในปี 2509 เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนในเอเชีย สำนักงานใหญ่อยู่ประจำกรุงมะนิลา มีผู้ถือหุ้นและให้การลงทุนจากสมาชิก 67 ประเทศ และผู้ที่จะเป็นประธานบริหารโดยธรรมเนียมแล้วจะมาจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่บริจาคมากที่สุดเฉกเช่นเดียวกับอเมริกา
แหล่งข่าวเผยอีกว่า "จีนหวังว่าธนาคารอาเซียน (ใหม่นี้) จะเป็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยธนาคารจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำสำหรับการลงทุนโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน พร้อมกับช่วยเหลือบรรดาเอสเอ็มอีจีนที่จะมาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวด้วย"
นอกจากนั้นธนาคารใหม่ที่ก่อตั้งโดยจีน-อาเซียนนี้จะทำการค้าโดยใช้เงินหยวนเป็นสกุลกลาง ซึ่งนับเป็นการรณรงค์การใช้เงินหยวนที่จีนกำลังผลักดันในระยะยาว ให้กลายเป็นเงินที่ใช้ในภูมิภาคและเป็นสากลในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะมุขมนตรีจีนและธนาคารกลางจีนยังปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นใด ๆ
ธนาคารกลางของเวียดนามเผยว่า ขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลหรือการเชิญชวนให้ร่วมลงหุ้นแต่ประการใด ขณะที่ธนาคารกลางของฟิลิปปินส์ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น ส่วนธนาคารกลางอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทยยังไม่มีความเห็นใด ๆ แถลงออกมา
การค้าจีน-อาเซียนกำลังทะยาน
การค้าระหว่างจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ นับแต่มีการลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรีเมื่อปี 2553
กลุ่มประเทศอาเซียนกลายเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของจีนแซงญี่ปุ่นขึ้นไปในปีนี้ ตามหลังสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น มูลค่าการค้าของจีน-อาเซียนในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 10 ของการค้าของจีนทั้งหมด
ข้อมูลศุลกากรจีนเผยว่า "จีนเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่สุดของอาเซียน การแลกเปลี่ยนการค้าเพิ่มสูงขึ้น 26.4 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 267,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในรอบ 9 เดือนแรกปีนี้ และอาเซียนได้เปรียบดุลการค้าสูงถึง 18,900 ล้านเหรียญฯ"
จีนต้องการตั้งธนาคารในแถบก่วงซี ซึ่งหวังว่าจะช่วยทำให้ภูมิภาคตอนใต้ของจีนแถบนั้นกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินขึ้นมาได้
แหล่งข่าวที่ 2 เผยว่า "จีนต้องการเปลี่ยนให้ภาคตะวันตกเฉียงใต้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เพื่อให้สมดุลกับภาคตะวันออก ทั้งนี้ก่วงซีติดกับอวิ๋นหนาน ก็จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่หลักในการผลักดันการใช้สกุลเงินหยวน"
รอยเตอร์รายงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จีนวางแผนลงนามกรอบความร่วมมืออาเซียน ให้มีการค้าด้วยเงินหยวน โดยริเริ่มโครงการนำร่องมาแล้วตั้งแต่ปี 2552
ฝ่ายสำนักข่าวซินหวาของจีนก็ยืนยันรายงานเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจก็ยังคงกังวลว่า ก่วงซีนั้นอาจจะประสบภาวะลำบากเมื่อต้องสู้กับเฉิงตูและฉงชิ่งที่เป็นศูนย์กลางความเจริญอยู่แล้ว
มังกรจีนฉุดช่วยภาคธุรกิจ
ธนาคารใหม่นี้จะช่วยอำนวยการเปิดโอกาสให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีจีนรุ่นใหม่ ซึ่งธุรกิจขนาดเล็กและกลางนี้เป็นเสมือนเสาหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจจีน ซึ่งในตอนนี้กำลังประสบปัญหาหนี้สินที่มิอาจรับภาระได้มหาศาล จนหลายรายต้องทิ้งธุรกิจหนีเจ้าหนี้ออกนอกประเทศไปแล้ว
แหล่งข่าวแห่งแรกเผยว่า "ธนาคารจะช่วยฟื้นคืนภาคเอสเอ็มอีได้ โดยดันให้ไปลงทุนยังต่างประเทศนั้นดีกว่าให้ตายอยู่ในบ้าน"
บรรดา 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ตั้งแต่อินโดนีเซียผู้รุ่มรวยไปด้วยทรัพยากร ไปจนสิงคโปร์ผู้เป็นศูนย์กลางการเงิน มีแผนจะรวมกันเพื่อสร้างเอกภาพของตลาดและการผลิตสินค้าแข่งกับจีนและอินเดียภายในปี 2558