เอเยนซี - รัฐบาลอิตาลีหวังจีนซื้อพันธบัตร และลงทุนในประเทศ ช่วยพ้นจากวิกฤติการเงิน ขณะจีนเตรียมปล่อยกู้ฯ 1,000 ล้านดอลลาร์ให้กลุ่มประเทศแคริบเบียน
ไฟแนนเชี่ยล ไทมส์ รายงานวันที่ 13 ก.ย. ว่า หลู จีเว่ย ประธานไชน่า อินเวสเมนต์ คอร์ป (CIC) หนึ่งในกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก นำตัวแทนนักลงทุนจากจีนพบกับกูลิโอ เตรมอนตี รัฐมนตรีคลัง และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลกองทุนอิตาเลียน สตราเตจิก ฟันด์สำหรับนักลงทุนต่างชาติ หลังจากเจ้าหน้าที่ของอิตาลีเพิ่งไปเยือนจีนเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ท่ามกลางกระแสข่าวว่า อิตาลีซึ่งกำลังประสบปัญหาหนี้สาธารณะ และกำลังเร่งหาผู้ซื้อพันธบัตร เพื่อไม่ให้กลายเป็นประเทศต่อไปที่เกิดวิกฤติหนี้
รายงานข่าวกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจีน จะตอบรับข้อเสนอของรัฐบาลอิตาลี ที่ขอให้จีนเข้ามาลงทุนเพื่อพยุงเศรษฐกิจอิตาลี ที่กำลังอยู่ในช่วงวิกฤติ หนี้สาธารณะของประเทศพุ่งระดับ 120 ของจีดีพีในปีนี้ หนี้สูงจนใกล้ตกอยู่ในสภาพเดียวกับ "กรีซ"
โดยรัฐบาลอิตาลี กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะขายหุ้นในรัฐวิสาหกิจ อาทิ อีเนล กิจการผลิตไฟฟ้า และอีเอ็นไอ กิจการน้ำมัน นับเป็นความพยายามหาทางเลือกในการระดมทุนของอิตาลี หลังยุโรปเข้มงวดกับกฎเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือ และธนาคารกลางยุโรปกล่าวว่า ไม่อาจช่วยแทรกแซงราคาพันธบัตรอิตาลีในตลาดได้ตลอดไป
ด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนแถลงที่กรุงปักกิ่งวันที่ 13 ก.ย. เกี่ยวกับวิกฤตหนี้ของยูโรปว่า จีนจะสนับสนุนมาตรการของอียูเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ฯ เพราะการแก้ปัญหาที่เหมาะสม สำคัญมากต่อเสถียรภาพทางการเงิน การค้า และเศรษฐกิจ
บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ความช่วยเหลือในการซื้อพันธบัตรจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้ในระยะสั้น แต่ระยะยาวยังคงต้องพึ่งมาตรการคุมเข้มการเงินการคลังของรัฐบาลอิตาลีเอง
จีนเตรียมปล่อยเงินกู้ 1,000 ล้านดอลลาร์ให้ประเทศแถบแคริบเบียน
สำนักข่าวซินหัวรายงานอ้างคำกล่าวของ หวัง ฉีชาน รองนายกรัฐมนตรีจีน วันที่ 12 ก.ย.ว่า จีนจะปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นในกลุ่มประเทศแคริบเบียน
ทั้งนี้ หวัง ฉีชาน รองนายกฯ จีน กล่าวถึงข้อเสนอดังกล่าวในการประชุมความร่วมมือเศรษฐกิจและการค้าจีน-แคริบเบียนครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นที่พอร์ท ออฟ สเปน ประเทศตรินิแดดและโตเบโก
ในระหว่างพิธีเปิดการประชุม รองนายกฯ จีน กล่าวว่า รัฐบาลจีนจะกระชับความร่วมมือระหว่างจีนและแคริบเบียน ทั้งในด้านการเงิน การลงทุน ตลอดจนการพัฒนากำลังการผลิต คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พัฒนาพลังงานใหม่ วัฒนธรรม การศึกษา สาธารณสุข การค้าขาย-ท่องเที่ยว เกษตรกรรม และประมง
โดยเบื้องต้นนี้ ไชน่า ดีเวลล็อปเมนท์ แบงก์ จะจัดสรรวงเงินกู้พิเศษเพื่อธุรกิจ 1,000 ล้านดอลลาร์ ให้กับภาคการเงินการลงทุนของกลุ่มประเทศแคริบเบียน พร้อมกับบริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์เข้ากองทุนพัฒนาแคริบเบียนด้วยเช่นกัน