xs
xsm
sm
md
lg

Focus: สื่อนอกชี้ “น้ำท่วมไทย” บ่งบอกวิกฤตโลกร้อน-เตือนกรุงเทพเสี่ยงจมบาดาลเหมือน "แอตแลนติส"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศชี้วิกฤตอุทกภัยไทยเป็นสัญญาณภาวะโลกร้อน พร้อมเตือนรัฐบาลเร่งหามาตรการป้องกันเมืองหลวงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
เอเอฟพี - กรุงเทพมหานครซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงห่างจากชายฝั่งตอนเหนือของอ่าวไทยเพียง 30 กิโลเมตร กำลังทรุดตัวลงอย่างช้าๆ และอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงหนึ่งในสัญญาณเตือนภัยที่ร้ายแรงกว่าจากวิกฤตโลกร้อนที่จะสัมผัสได้มากขึ้นทุกที

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนพยากรณ์ว่า อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นราว 19-29 เซนติเมตรภายในปี 2050 ซึ่งจะกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เอ่อล้นตลิ่งอยู่เป็นระยะแล้ว

หากรัฐบาลไทยไม่คิดหามาตรการปกป้องเมืองหลวงแห่งนี้เอาไว้ “ภายใน 50 ปีข้างหน้า พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพจะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล” อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์และฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ

อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นยังไม่ใช่แค่ปัญหาเดียว แต่การขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของโรงงานอุตสาหกรรมและคนเมืองหลวงกว่า 12 ล้านคน ยังส่งผลให้พื้นดินเขตกรุงเทพมหานครทรุดต่ำลงเฉลี่ยปีละ 10 เซนติเมตรในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ผลการศึกษาซึ่งเผยแพร่ในปีที่แล้วโดยธนาคารโลก, ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และธนาคารแห่งญี่ปุ่นเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (JBIC) ระบุ

อัตราการทรุดตัวค่อยๆลดลงจนเหลือปีละไม่ถึง 1 เซนติเมตรในปัจจุบัน เนื่องจากรัฐบาลหันมาควบคุมการขุดเจาะน้ำบาดาลมากขึ้น ซึ่งผู้สรุปรายงานคาดว่า หากความพยายามเหล่านี้ยังคงอยู่ อัตราการทรุดตัวของกรุงเทพมหานครจะลดลงเรื่อยๆปีละ 10 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดี อานนท์ ไม่เห็นด้วยกับคำพยากรณ์เหล่านี้ และเตือนว่าพื้นที่ กทม. ยังคงทรุดตัวราว 1-3 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเร็วที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังถกเถียงถึงตัวเลขที่แน่ชัด ทว่าทุกฝ่ายต่างสรุปตรงกันเกี่ยวกับอนาคตที่น่าหวาดหวั่นของมหานครแห่งนี้

“ไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมได้อีกแล้ว กรุงเทพมหานครจะไม่ยกตัวสูงขึ้นอีก” เดวิด แม็คคอลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจากธนาคารเอดีบี ระบุ

ด้วยความเสี่ยงหลายประการทั้งการทรุดตัวของพื้นดิน, ภาวะโลกร้อน และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ธนาคารโลกจึงทำนายว่า กรุงเทพมหานครจะเสี่ยงเกิดน้ำท่วมเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ภายในปี 2050

นอกจากนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ยังจัดให้กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งใน 10 เมืองใหญ่ของโลกที่เสี่ยงเผชิญวิกฤตน้ำท่วมชายฝั่ง (coastal flooding) ภายในปี 2070
ชาวกรุงเทพฯหันมาใช้เรือเป็นพาหนะ หลังกระแสน้ำไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือน
แม้กรุงเทพมหานครจะมีระบบเขื่อนกั้นน้ำ, คูคลอง, ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำจำนวนมากเพื่อกั้นน้ำทะเลมิให้รุกคืบถึงเขตเมือง ทว่าความพยายามเหล่านี้ก็ไม่อาจสกัดกั้นมวลน้ำเหนือที่ไหลบ่าลงมาท่วมพื้นที่เมืองหลวงถึง 1 ใน 5 แล้ว

การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กรุงเทพได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรุนแรงมาก พื้นที่ที่ต้องการการป้องกันน้ำท่วมมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้น้ำ “มีทางไปน้อยลง” ฟรองซัวร์ มอลล์ ผู้เชี่ยวชาญการจัดการน้ำจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศส กล่าว

มอลล์ ระบุด้วยว่า ในอนาคตกรุงเทพจะต้องจมอยู่ใต้น้ำอย่างแน่นอน “แต่คำถามสำคัญก็คือ เมื่อไหร่”

ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนว่า รัฐบาลไทยควรเข้ามาดูแลการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในกรุงเทพ, วางแผนรับมือความเสี่ยงต่างๆ และย้ายนิคมอุตสาหกรรมออกไปให้พ้นจากเขตน้ำท่วม... หรือแม้กระทั่งย้ายเมืองหลวงทั้งเมือง!

“การตั้งเมืองหลวงใหม่คงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการปลอดภัยจากน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมงใน 1 วัน และ 365 วันใน 1 ปี” อานนท์ กล่าว

“เรายังมีพื้นที่อื่นๆที่สามารถตั้งเป็นเมืองหลวงที่ปราศจากน้ำท่วม ประเทศนี้ยังมีพื้นที่อีกเยอะ”

แม้จะฟังดูเลวร้ายเกินเหตุ แต่แน่นอนที่สุดว่ากรุงเทพมหานครต้องเริ่มลงมือแก้ไข หากไม่ต้องการกลายเป็นเมืองใต้บาดาลเช่นเดียวกับ “แอตแลนติส”

“หากจะตั้งเมืองหลวงที่นี่ต่อไป กรุงเทพมหานครต้องเตรียมการป้องกันที่ดีขึ้น” โรเบิร์ต นิคอลส์ อาจารย์ด้านวิศวกรรมชายฝั่งจากมหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตันของอังกฤษ เผย พร้อมระบุว่า อุทกภัยครั้งใหญ่ในปีนี้อาจกระตุ้นให้รัฐบาลไทยต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อป้องกันเมืองหลวงในอีก 10-20 ปีข้างหน้า
เด็กๆยังออกมาเล่นน้ำที่ท่วมขังบนผิวถนนอย่างไม่อนาทรร้อนใจนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น