xs
xsm
sm
md
lg

ทำฐานข้อมูลสินเชื่อSME จัดเรตติ้งเงินกู้แยกรายใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ปลุกผู้ประกอบการ SMEs“สสว.” เตรียมลงมือทำฐานข้อมูลสินเชื่อ SME ครั้งใหม่ เพื่อปูทางสู่ความสำเร็จในการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งที่ใช้เฉพาะกลุ่มธุรกิจ SME ผอ.สสว. ชี้ ต้องแก้ 3 ปัญหา เน้นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำคัญสุด

ความคืบหน้าในการจัดเตรียมมาตรการการจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง SME จากบรรดาชาติสมาชิกกลุ่มอาเซียนนั้น ดร. วิมลกานต์ โกสุมาส รองผู้อำนวยการ สสว. ให้ข้อมูลว่าประเทศทั้งที่อยู่ในกลุ่มอาเซียน อย่าง มาเลเซียและอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศที่อยู่นอกกลุ่ม เช่น อินเดีย ต่างเริ่มลงมือดำเนินการในเรื่องดังกล่าวนี้กันแล้ว หลังก่อนหน้าได้ตกลงขอรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้าน SME ของธนาคารโลก

ส่วนในไทยปัจจุบันเป็นที่เข้าใจกันว่ายุทธศักดิ์ สุภกร ผอ.สสว. กำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสถาบันการเงินอีกหลายแห่งด้วยกัน เพื่อเตรียมรวบรวมข้อมูลสินเชื่อ SME ทั้งหมดที่มีมาใช้สร้างเป็นฐานข้อมูลใหม่รองรับแผนมาตรการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งที่จะใช้เป็นมาตรฐานประเมินความเสี่ยงอย่างเหมาะสมในแบบเฉพาะของธุรกิจ SME ซึ่งต้องถูกแยกขาดจากมาตรฐานประเมินความเสี่ยงเพื่อพิจารณาการให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารพาณิชย์

“ในเมืองไทยเราจำเป็นต้องสร้าง credit data-base สำหรับ SMEs เป็นการเฉพาะ เพราะบางประเทศเวลาจะปล่อยเงินกู้ SME เขาต้องไม่เอา SME ไป rate ร่วมกับบริษัทใหญ่ เพราะถ้าทำอย่างนั้น SME ก็ต้องเป็น C เป็น D แต่ถ้าเราเอาพวกที่เป็น S (ธุรกิจขนาดเล็ก) ด้วยกันมา rate กับพวกกลุ่ม S ที่เป็น top แล้ว เขาจะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราต้องทำ และอาเซียนก็ต้องทำ” ดร. วิมลกานต์ ย้ำ

นอกจากนี้ ยังมีผลการประเมินนโยบบายส่งเสริมสนับสนุน SMEs จากรัฐบาลไทยซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สสว. และองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยใช้มาตรฐานอ้างอิง (Benchmark) จาก OECD ซึ่งมีภาพค่อนข้างชัดเจนถึงอนาคตที่อาจะไม่ค่อยสดใสนักของ SMEs ไทย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กเนื่องจากปัญหาขาดแหล่งสนับสนุนเงินทุน

“ทาง OECD พบว่าของเราท่าทาง S (ขนาดเล็ก) จะไม่ขึ้น M (ขนาดกลาง) คือเรามีประชากร S อยู่ประมาณ 2.8 ล้านราย แต่มี M อยู่กว่าหมื่นราย ทาง OECD ก็ช๊อก เพราะสัดส่วนมันน้อยมาก ถ้าเป็นประเทศอื่นป่านนี้ M มันต้องมีเป็นแสนๆ รายแล้ว ข้อสันนิษฐานที่ว่า S ขึ้นเป็น M ไม่ได้ก็คือติดเรื่องเงินนั่นเอง” จากปากคำของ รอง ผอ.สสว.
**ผอ.สสว. ชี้ ต้องแก้ 3 ปัญหา**
ส่วนด้านยุทธศักดิ์ สุภกร ผอ. สสว. บอกเพิ่มเติมด้วยถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง SME ที่เขาจัดให้อยู่ในอันดับ AAA และจำเป็นที่ทางการต้องเข้าช่วยแก้ไขนั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง อันแรกคือปัญหาในการเข้าถึงเงินทุนของ SME ซึ่งเจ้าตัวย้ำว่าทุกประเทศทั่วโลกต่างก็มีปัญหาในแบบเดียวกันนี้ทั้งหมด แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะเข้าไปจัดการกับปัญหาเช่นนี้ได้อย่างไร

“คราวก่อนพวกเราไปประชุม SME Advisory Board อาเซียนที่สิงคโปร์ เขาก็บอกว่าระยะเวลาให้กู้ยืมบ้านเรามัน cap ไว้ที่ 7 ปี แต่ที่อื่น อย่าง อเมริกาเขาจะช่วยเป็นแบบระยะยาวคือ 20-30 ปี เพราะการขยายเวลากู้ยืมให้นานขึ้น การจ่ายคืนเงินต้น ดอกเบี้ยก็จะน้อยลง ยังไงธุรกิจก็ต้องโตและคุณก็ต้องอยู่กับเขาไปตลอด แล้วทำไมต้องเป็น 7 ปี” ยุทธศักดิ์ เล่าให้ฟัง

ส่วนปัญหาที่สองนั้นจะเป็นเรื่องเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อรายย่อย ซึ่ง ธปท. กำหนดตัวเลขไว้ที่ประมาณ 15% ส่วนในของประเทศอื่นๆ นั้นทางการจะกำหนดตัวเลขให้สูงราวถึง 70% หรือ 90% และเงื่อนไขการค้ำประกันของไทยเช่นนี้เองที่ก่อให้เกิดปัญหามากมายแก่กิจการ SMEs ที่มีจำนวนมิใช่น้อยคือราว 2.8 ล้านราย โดยดูได้จากข้อมูลสินเชื่อซึ่งในจำนวนนี้มีอยู่มากมายไม่อาจขอเกินกู้เพื่อประกอบธุรกิจได้เกินกว่า 500,000 บาท เหตุเพราะขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ให้ตัวเอง

ปัญหาข้อสุดท้ายนั้นจะเป็นเรื่องการเข้าถึงตลาด ที่ SMEs ผลิตสินค้าออกมาแล้วแต่ไม่รู้จะขายได้ที่ไหน จึงทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องในเรื่องผลตอบรับสินค้าไทยจากตลาดจนกลายเป็นต้นให้สินค้าไทยด้อยพัฒนา ขณะที่การเข้าถึงข้อมูลการส่งเสริมผู้ประกอบการจากภาครัฐก็ยังมีปัญหาเรื่องการกระจายข้อมูลอย่างทั่วถึง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่ภาครัฐต้องใช้เวลาในการแก้ไข
กำลังโหลดความคิดเห็น