บีโอไอ-กนอ.เร่งหาพื้นที่แถบอีสานตั้งนิคมอุตฯ หวังรองรับนักลงทุนต่างชาติหอบเงินหนีพื้นที่น้ำท่วม ตั้งฐานผลิตใหม่ "โคราช" ครองแชมป์ลงทุนปี 54 มูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาท
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไออยู่ระหว่างประสานงานกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้มากขึ้น เพื่อรองรับการขยายลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติในกลุ่มของชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์หลายราย ได้เรียกร้องให้ภาครัฐจัดหาพื้นที่ลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อเลี่ยงน้ำท่วม ที่สำคัญมีแรงงานจำนวนมาก และพื้นที่ลงทุนอื่นมีโรงงานเยอะราคาที่ดินเริ่มแพงมากขึ้น
ทั้งนี้ ยอมรับว่า มีนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยเข้ามาซื้อที่ดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น และนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสถานศึกษาสามารถป้อนแรงงานฝีมือแก่ภาคอุตสาหกรรมได้ เบื้องต้นทราบว่าบางส่วนได้ย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีน เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากญี่ปุ่น เพราะประสบปัญหาถูกก๊อบปี้สินค้าบ่อยครั้ง
ทั้งนี้ พบว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ที่มาสอบถาม จะเป็นนักลงทุนไต้หวันและญี่ปุ่น ซึ่งพอทราบว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีนิคมฯ โดยเฉพาะในจังหวัดขอนแก่น และนครราชสีมา ทำให้หลายรายต้องไปหาพื้นที่ลงทุนในประเทศอื่นต่อไป
รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2554 มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 3,929 ราย มากกว่าปีก่อน 181 ราย วงเงินลงทุน 209,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36,168 ล้านบาท มีการจ้างงาน 95,260 คน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการพลังงานทดแทน การผลิตไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องในครัวเรือน และขุดทราย เป็นต้น
สำหรับจังหวัดที่มีมูลค่าลงทุนมากสุด คือ นครราชสีมา 148 โครงการ มูลค่า 44,687 ล้านบาท ปทุมธานี 165 โครงการ มูลค่าลงทุน 16,969 ล้านบาท พระนครศรีอยุธยา 147 โครงการ มูลค่า 11,826 ล้านบาท