xs
xsm
sm
md
lg

“ไจกา” ควัก 200 ล.ป้องกันน้ำท่วม “แม็กซอน-มินิแบร์” หนีเสี่ยงเข้าเขมร “โต้ง” เร่งอัดโปรโมชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีม ศก.รัฐบาล ปลื้ม “ไจกา” เทเงินให้ 200 ล้านบาท สร้างแนวกั้นน้ำนิคมฯ เตรียมถกปล่อยกู้ซอฟต์โลนสร้างเขื่อนป้องกัน “แบงก์ออมสิน” เล็งขยายเวลาให้กู้จาก 7 ปี เพิ่มเป็น 15 ปี ด้านยักษ์ใหญ่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ “แม็กซอน-มินิแบร์” เตรียมย้ายฐานลงทุนหนีไปเขมรแทน หวังกระจายความเสี่ยง ทั้งน้ำท่วม และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ “โต้ง” เร่งฟื้นเชื่อมั่น นั่งหัวโต๊ะบอร์ดบีโอไอวันนี้ เคาะโปรโมชันล็อตใหญ่ 13 โครงการ 3 หมื่นล้าน พร้อมมาตรการเสริมเพียบ อุตฯ เร่งกู้ 7 นิคมฯ เดินเครื่องเดือนหน้า


นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังที่นายอิซูมิ อาไร รองประธานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจกา) และคณะเข้าเยี่ยมพบและหารือเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมวานนี้ โดยระบุว่าทางไจกาต้องการช่วยเหลือกู้นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม โดยเบื้องต้นสนับสนุนงบประมาณกว่า 500 ล้านเยน หรือประมาณ 200 ล้านบาท ลงทุนสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมให้นิคมอุตสาหกรรม 1 แห่ง เพื่อเป็นโครงการนำร่อง และเป็นต้นแบบสำหรับการก่อสร้างแนวกั้นน้ำในนิคมอุตสาหกรรมที่เหลือ

ทั้งนี้ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ชุดที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน และ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อสรุปว่าเงินลงทุนดังกล่าวจะใช้กับนิคมอุตสาหกรรมใดที่มีความเหมาะสมมากที่สุด จาก 7 นิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจมน้ำไปก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ เพื่อนำไปหารือร่วมกับไจกาต่อไป

“ทางไจกาจะให้ความช่วยเหลือลงทุนสร้างคันกั้นน้ำให้กับนิคมอุตสาหกรรม 1 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบแนวป้องกันให้กับนิคมอุตสาหกรรมที่เหลืออยู่ ซึ่งจะหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อคัดเลือกนิคมอุตสากรรมต้นแบบ คาดว่าจะสรุปได้ในเร็วๆ นี้ จากนั้นจะนำไปหารือกับไจกาอีกครั้ง”

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่างหลักเกณฑ์การออกแบบและเงื่อนไขในระบบระบายน้ำฝนและระบบป้องกันอุทกภัย ประกอบด้วย การสร้างระบบเขื่อน รวมถึงโครงสร้างต่างๆ ที่สามารถรองรับและบริหารจัดการระบายน้ำโดยรอบและในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ กนอ.ได้เตรียมความพร้อมในส่วนของการออกแบบขั้นรายละเอียด คาดว่ากลางเดือน ม.ค. 2555 จะเริ่มก่อสร้างโครงการได้ โดยใช้เวลา 6 เดือนจึงแล้วเสร็จ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การประชุมร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม, กนอ. และธนาคารออมสิน เพื่อติดตามความคืบหน้าการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของธนาคารออมสิน เพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัยให้แก่นิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ทางธนาคารออมสินอยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและรายละเอียดเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย 0.01% ระยะเวลา 7 ปี พร้อมทั้งจะเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการโดยขยายเวลาออกไปเป็น 15 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ใน 7 ปีแรก และ ปีที่ 8-15 จะคิดอัตราดอกเบี้ยตามต้นทุนตลาด คาดว่าภายในเดือน ธ.ค.นี้จะอนุมัติสินเชื่อได้

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ทางไจกาพร้อมให้การสนับสนุนในระยะสั้น เช่น การช่วยศึกษาวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี โดยจะพิจารณาแนวทางการวางระบบการระบายน้ำให้ รวมทั้งจะช่วยวางแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำตลอดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ว่าเมื่อปี 42 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นจะเคยศึกษาแผนดังกล่าวไว้แล้ว แต่ในปัจจุบันสภาพลุ่มน้ำได้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในช่วง 1 เดือนที่ญี่ปุ่นได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือและปัญหา และพบว่า กทม.มีปัญหาสิ่งสกปรกขวางทางน้ำและไม่ได้ขุดลอกมานาน รวมทั้งมีการรุกลำน้ำเป็นจำนวนมาก

นายกฤษดา ทรัพย์ทวนชน เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท แม็กซอน ซิสเต็ม (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่จากเกาหลี และบริษัท มินิแบร์ จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่จากญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ เตรียมย้ายฐานการลงทุนบางส่วนจากไทยไปประเทศกัมพูชา (เขมร) แล้ว หลังจากเจอปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย และเขมรยังมีความได้เปรียบในเรื่องของค่าแรงที่ต่ำเพียงวันละ 80 บาทเท่านั้น

“อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มที่จะย้ายฐานไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม และเขมรแทนมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในประเทศไทย เพราะเมื่อเทียบกันแล้วตอนนี้ประเทศไทยไม่มีความได้เปรียบอะไรเลย หลังจากโดนสึนามิ น้ำท่วม และค่าแรงขั้นต่ำ ในขณะเดียวกัน การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลก็ไม่มีเอกภาพ”

ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลเร่งเข้าไปฟื้นฟูระบบจ่ายไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมเร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าป้อนตลาดได้ เพราะหากยิ่งช้าก็จะทำให้เสียโอกาส รวมทั้งยังมีแนวโน้มว่าราคาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะสูงขึ้นประมาณ 6-10% ได้ นอกจากนี้ยังทำให้เสียโอกาสทางการตลาดไปอยู่ที่จีนและอินเดียแทน เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า

นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายอุตสาหกรรมได้ย้ายฐานการผลิตไปเพื่อนบ้านแล้วหลายราย ส่วนใหญ่จะย้ายไปกัมพูชาและเวียดนาม แต่ในอนาคตก็จะย้ายหนีไปพม่ามากขึ้นหากรัฐบาลพม่าสามารถที่จะแก้กฎระเบียบในการดึงดูดการลงทุนที่ดี เพราะพม่ามีค่าจ้างประมาณ 80 บาทต่อวัน ซึ่งต่ำมาก แต่ผู้ประกอบการคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาฝีมือแรงงานสักระยะก่อน

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า วันนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน จะมีการพิจารณาส่งเสริมการลงทุน 13 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในกิจการด้านพลังงานไฟฟ้า เช่น กิจการไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงชีวมวล รองลงมาเป็นกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น การผลิตยางรถยนต์และการผลิตเครื่องยนต์

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอจะพิจารณาออกมาตรการฟื้นฟูการลงทุนจากอุทกภัย คาดว่าจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ทั้งแก่ผู้ประกอบการและนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์แก่นิคมอุตสาหกรรมที่จะลงทุนสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อป้องกันน้ำท่วมด้วย นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาออกมาตรการด้านจูงใจให้เกิดโครงการลงทุนใหม่ๆ ในพื้นที่ประสบอุทกภัยด้วย

ส่วนความคืบหน้าในการฟื้นฟูนิคมฯและเขตประกอบการที่จมน้ำทั้ง 7 แห่ง ล่าสุดเขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ โรงงานได้เดินเครื่องการผลิตแล้ว 32 แห่ง จาก 93 แห่ง นิคมฯบางปะอิน เริ่มปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคคาดว่าปลายเดือนพฤศจิกายน 2554 นี้โรงงานบางส่วนจะเริ่มกลับมาผลิต

ขณะที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ มีการสูบน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าโรงงานบางส่วนจะสามารถดำเนินการผลิตได้พร้อมกับนิคมฯบ้านหว้า (ไฮเทค) ขณะที่สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จะเริ่มสูบน้ำได้วันที่ 25 พฤศจิกายน 2554 นี้ ด้านสวนอุตสาหกรรมนวนคร คาดว่าจะเริ่มสูบน้ำและฟื้นฟูกิจการได้เร็วๆ นี้ และโรงงานอุตสาหกรรมโดยรวมจะเริ่มกลับมาผลิตได้ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2554 นี้

ด้านนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร กองทัพบกได้จัดส่งทีมทหารมาช่วยเจาะถนนเพื่อระบายน้ำออกแล้วคาดว่าจะสูบน้ำเสร็จทั้งหมดได้ภายใน 22 ธันวาคม 2554 นี้ ส่วนนิคมอุตสาหกรรมฝั่งตะวันออกสถานการณ์ดีขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะบางชัน น้ำบริเวณคลองโดยรอบลดลงต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น