xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนร้อง ป้องนิคมฯ ลาดกระบัง หวั่นซ้ำนวนคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ส.อ.ท.ออกโรงกระทุ้งรัฐป้องนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก โดยเฉพาะนิคมฯ ลาดกระบัง หวั่นซ้ำรอยนวนคร เตรียมถกรายละเอียดร่วม"อุตสาหกรรม" วันนี้ พร้อมชงรัฐเลื่อนขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นต้นปี 2556 แทน “กนอ.”สั่งปิด 231 โรงงานที่นิคมฯ ลาดกระบัง เพื่อความปลอดภัย สำนักงานประกันสังคมดึงเงิน 2 หมื่นล้านช่วย เผยล่าสุดโรงงานถูกน้ำท่วมกว่า 1.4 หมื่นแห่ง ลูกจ้างเดือดร้อน 6.6 แสนคน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการหารือกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องวานนี้ (18ต.ค.) ว่า เอกชนได้สรุปมาตรการป้องกันอุทกภัยที่สำคัญ คือ ต้องการให้รัฐหามาตรการป้องกันพื้นที่ชุมชน พื้นที่เมืองนิคมอุตสาหกรรมที่น้ำยังไม่ท่วม โดยเฉพาะพื้นที่วันออกของกรุงเทพฯ เช่น นิคมฯ ลาดกระบัง อัญธานี บางชัน บางพลี บางปู โดยเร่งหามาตรการผันน้ำทันทีทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก เพื่อไม่ให้ระดับน้ำเกินแนวป้องกันได้รับเหมือนกับสวนอุตสาหกรรมนวนคร

“เราจะประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ประสานไปยังผู้เกี่ยวข้องที่จะหามาตรการป้องกันนิคมฯ ตะวันออกที่เหลือที่จะมีการหารือกันในวันนี้ (19 ต.ค.) ซึ่งมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรมว.อุตสาหกรรมจะนำคณะราชการระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรมมาหารือด้วย ซึ่งเห็นว่าต้องเร่งผันน้ำทันที ไม่ว่าจะไปทางไหนก็ตาม เพราะถ้าค่อยๆ ปล่อยออกมา โดยกำหนดปริมาณการผันน้ำระดับความสูงท่วมไม่เกิน 80 เซนติเมตร พื้นที่นิคมฯ ก็จะพอรับได้ แต่ถ้าไปกักน้ำมาก ไม่ว่าจะทำแนวป้องกันอย่างไร ก็สู้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เขื่อนที่สร้างขึ้นถาวร” นายพยุงศักดิ์กล่าว

นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้เตรียมมาตรการเยียวยาโรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมที่จะนำเสนอต่อรัฐบาล โดยเฉพาะการขอเลื่อนระยะเวลาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่คณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) ได้อนุมัติให้ขึ้น 40% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2555 ออกไปอีก 7-8 เดือน หรือให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2556 เพื่อให้ระยะเวลาพื้นที่ประสบภัยได้มีเวลาฟื้นฟูกิจการโดยเร็ว

“มาตรการที่เสนอรัฐบาลไปแล้วบางข้อได้รับการตอบรับแล้ว ซึ่งส.อ.ท.จะพยายามรวบรวมข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการส่งต่อไปยังรัฐบาล โดยขณะนี้ส.อ.ท.ได้ตั้งสายด่วน 081-889-5566 และ 081-889-5511 เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบติดต่อข้อมูล และส่งผ่านความเห็นได้ 24 ชั่วโมง” นายพยุงศักดิ์ กล่าว

นายสมคิด แท่นวัฒนกุล รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้มีการออกหนังสือเวียน เพื่อขอความร่วมมือถึงผู้ประกอบการจำนวน 231 โรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราว เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหาย รวมทั้งสวัสดิภาพและความปลอดภัยของพนักงาน ที่อาจเกิดจากสถานการณ์น้ำท่วมที่คาดว่าจะเกิดในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง โดยเบื้องต้นนิคมฯ ลาดกระบัง มีพื้นที่ 2,559 ไร่ มูลค่าลงทุน 89,491 ล้านบาท มีแรงงาน 48,000 คน ส่วนใหญ่ เป็นกิจการยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อาหาร เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (18ต.ค.) ที่ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (OSOS) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อาคารจัตุรัสจามจุรี น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีต รมว.อุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่บีโอไอ ได้ร่วมหารือกับบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก

ทั้งนี้ ผู้บริหารของบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล ต้องการให้รัฐบาลเร่งกู้ภัยนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมโดยเร็ว เพราะหากมีการแก้ไขปัญหาได้เร็วเท่าก็ยิ่งดี โดยหากเร็วสุดสามารถเข้าพื้นที่ได้ภายใน 1-2 เดือน แต่กว่าจะกดปุ่มเดินเครื่องได้ ก็ต้องใช้เวลาอีก 4-5 เดือน ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตของบริษัทหายไป 40% หรือทำให้มูลค่าการส่งออกหายไปประมาณ 8 หมื่นล้านบาท จากเดิมปีก่อนมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด มีเงินลงทุนรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท และมีการจ้างงาน 40,000 คน โดยบริษัทยินดีที่จะจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานในช่วงที่ต้องหยุดการผลิต 5-6 เดือนนี้ในอัตรา 75% ของเงินเดือน

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารหน้า จะมีการเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น การตั้งกองทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะ 6 ปี การส่งคนและเครื่องจักรเข้าไปช่วยกู้เครื่องจักรในโรงงานที่เสียหาย รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลตัวเลขความเสียหายอยู่

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในการประชุมแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้ข้อสรุปว่ากระทรวงแรงงานจะเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และประชาชนที่อยู่นอกภาคอุตสาหกรรม โดยมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้ข้อสรุปออกมาดังนี้ 1.โครงการเงินกู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ในส่วนของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน 8 พันล้านบาท ให้กู้ได้คนละ 5 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ย 2.5% คงที่ 2 ปี และเงินกู้ของนายจ้าง 2 พันล้านบาท กู้ได้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 3% คงที่ 3 ปี ทั้งนี้ มีเสียงเรียกร้องจากผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่าวงเงินกู้น้อยเกินไป ซึ่งกระทรวงแรงงานจะพิจารณาขยายวงเงินกู้อีกครั้ง

2.สปส.อนุมัติในหลักการให้ตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ในวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการเสริมสภาพคล่อง พัฒนาเครื่องจักร ปรับระบบเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของเงื่อนไขในการปล่อยกู้ โดยให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำที่สุด ทั้งนี้ ทั้งสองมาตรการนี้จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ในวันที่ 25 ต.ค.นี้

3.กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งปล่อยกู้ให้สถานประกอบการนำมาพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยปัจจุบันมีเงินกองทุนฯ อยู่กว่า 500 ล้านบาท โดยลดอัตราดอกเบี้ยในลงเหลือ 0.1% จากเดิมเก็บอยู่ 3% ต่อปี ซี่งจะมีการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานในช่วงหยุดงานชั่วคราวจากปัญหาน้ำท่วม

นอกจากนี้ ได้เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยเป็นมาตรการที่จะเข้าไปช่วยเหลือนายจ้างในช่วงฟื้นฟูน้ำท่วม โดยการช่วยจ่ายเงินเดือนให้กับลูกจ้างเดือนละ 3,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการต้องรักษาสภาพการจ้างงานลูกจ้างไว้ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 5.4 พันล้านบาท จากการประเมินตัวเลขแรงงานที่จะได้รับผลกระทบประมาณ 6 แสนคน

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 18 ต.ค.เวลา 12.00 น.พบว่า ใน 20 จังหวัด มีลูกจ้างได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 663,218 คน และสถานประกอบการได้รับผลกระทบ 14,172 แห่ง ในจำนวนนี้ เฉพาะในส่วนของจังหวัดปทุมธานีมีแรงงานได้รับผลกระทบ 218,474 คน สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 3,326 แห่ง โดยในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมนวนครที่ถูกน้ำท่วมเต็มพื้นที่ไปแล้ว มีลูกจ้างได้รับผลกระทบกว่า 1.75 แสนคน จากสถานประกอบการ 227 แห่ง ทำให้สถานประกอบการต้องหยุดกิจการชั่วคราวและลูกจ้างต้องหยุดงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น