xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนจวกรัฐยับข้อมูลสับสน-ล่าช้า5นิคมฯจ่อวิกฤตซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- นักลงทุนไทย-เทศ สวดยับข้อมูลน้ำท่วมภาครัฐสับสนแถมล่าช้า แนะเร่งแก้ไขด่วน เผยแค่นิคมฯโรจนะฯเสียหายหลายแสนล้านบาท จี้เร่งผันน้ำออกจากฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯก่อนลุกลามหนักฉุดเศรษฐกิจพังหนัก ขณะที่”กนอ.”เฝ้าระวัง 5 นิคมฯส่อวิกฤตไฮเทค - แก่งคอย - บางปะอิน-บางชัน-ลาดกระบัง “ส.อ.ท.”ชง 9 มาตรการรับมือด่วน ส่อเลื่อนจัดงานบีโอไอแฟร์2011

วานนี้ (10ต.ค.) นายสุภาพ คลี่ขจาย ผู้ช่วยรมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานหารือร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อรับฟังสถานการณ์ปัญหาภาวะน้ำท่วมและมาตรการที่เอกชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเร่งด่วนและมาตรการฟื้นฟูหลังภาวะน้ำลด

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการที่สำคัญ 9 ข้อได้แก่ 1. เร่งผันน้ำทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพอย่างเร่งด่วนและเสริมคันดินเนื่องจากมีโรงงานนับ 1,000 โรงงานมูลค่านับแสนล้านบาท

และเกี่ยวข้องกับแรงงานจำนวนกว่าแสนคนที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งหากพื้นที่ดังกล่าวเกิดปัญหาขึ้นอีกจะกระทบเศรษฐกิจอย่างมาก

2. ขอให้รัฐได้พิจารณาช่วยเหลือด้านแรงงานเพื่อชะลอการเลิกจ้างนอกเหนือจากระบบประกันสังคม 3. มีกองทุนเพื่อฟื้นฟูในการกิจการเพื่อให้เกิดการจ้างงานกลับมาเร่งด่วนหลังน้ำลดโดยเบื้องต้นอย่างน้อย 5 หมื่นล้านบาท 4. ยกเว้นค่าน้ำค่าไฟสำหรับโรงงานที่ถูกน้ำท่วม 3-6 เดือน 5. งดเก็บหรือชะลอการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 6.ให้กรมศุลกากรอำนวยความสะดวกด้านเอกสารเมื่อน้ำลดเนื่องจากจะต้องจัดซื้อเครื่องจักรและวัตถุดิบกลับเข้ามา

7.รัฐจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 0% เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับโรงงานเพื่อฟื้นฟูหลังน้ำลด 8. ขอให้รัฐบาลขยายเวลาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันโดยทยอยปรับใน 2-3 ปี 9. ขอให้ทุกส่วนได้ร่วมบูรณาการกันทำงานอย่างแท้จริง

“ขณะนี้นักลงทุนจากญี่ปุ่นสอบถามเข้ามามากถึงข้อมูลที่ชัดเจนในการตรวจสอบความเสียหายและภาวะน้ำท่วมนอกเหนือจากการรับรู้ผ่านสื่อเท่านั้น โดยเรื่องนี้ตนจะชี้แจงผ่านหอการค้าต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจซีซี) และองค์การส่งเสริมการค้าแห่งญี่ปุ่นหรือเจโทรถึงมาตรการต่างๆ ที่จะรับมือเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น”นายพยุงศักดิ์กล่าว

***จวกรัฐข้อมูลล่าช้าสับสน

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ว่า รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการใน 3 เรื่องเร่งด่วนคือ 1.หามาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตชิ้นส่วนว่าจะรับผิดชอบคำสั่งซื้อ(ออเดอร์)ที่ยังไม่สามารถจัดส่งได้อย่างไร 2.การให้ข้อมูลของรัฐบาลที่ยังล่าช้าและสับสน ที่ผ่านมานักลงทุนมีความเป็นห่วงมาก

เพราะรับข้อมูลจากสื่อเพียงด้านเดียวขณะที่ ส.อ.ท.ก็ตอบไม่ได้ว่าจะใช้ข้อมูลอ้างอิงจากที่ไหน 3.การจัดการกับข่าวลือที่ทำให้เกิดความสับสนเช่น กรณีพื้นที่อุตสาหกรรมบางบ่อจะปล่อยน้ำสูง 1.2 เมตร โดยเทศบาลประกาศให้มีการอพยพเร่งด่วน ซึ่งภาคเอกชนไม่ทราบที่มาที่ไปของข่าวจึงเตรียมรับมือไม่ทัน

***เตือนรัฐช้า-เร็วมากรุงเทพฯแน่
 

นายพิทักษ์ พฤกธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโต้โมบิล จำกัด กล่าวว่า ฮอนด้าได้รับผลกระทบเต็มที่ เพราะมีสต๊อกรถที่นำออกมาไม่ทันหลายร้อยคัน โดยในส่วนของความเสียหายโรงงานกับสต๊อกรถได้ทำประกันไว้ครอบคลุมความเสียหายทั้งหมดแล้ว โดยยืนยันว่าจะไม่นำรถและชิ้นส่วนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมออกมาขายอีก

อย่างไรก็ตามอยากฝากรัฐบาลให้ติดตามน้ำใกล้ชิดจากกรณีที่นครสวรรค์เพราะจะช้าจะเร็วก็มากรุงเทพแน่นอน

ส่วนมหกรรมรถคันแรกนั้น ฮอนด้ายังยืนยันที่จะเข้าร่วมงานเหมือนเดิม แต่อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเปิดรับจองรถได้หรือไม่ โดยส่วนที่จองไว้แล้ว ฮอนด้ายังมีสต๊อกเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง รวมถึงสต๊อกที่อยู่ในมือของดีลเลอร์ก็จะทยอยจัดส่งรถได้ตามกำหนด

***คาดโรจนะสูญ 5แสนล.
 

แหล่งข่าวยานยนต์ กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ฮอนด้า แต่เป็นทุกค่าย เพราะซัพพลายเออร์ส่งให้ทุกบริษัท คิดเป็นประมาณ 20% ของรถยนต์ใช้อยู่ในโซนอยุธยา เบื้องต้นมูลค่าความเสียหายรวมค่าเสียโอกาสเฉพาะนิคมฯโรจนะอาจสูงถึง 500,000 ล้านบาท

***เฝ้าระวัง 5 นิคมฯใกล้ชิด

นางศรีวณิก หัสดิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้กนอ.ได้มีการเฝ้าระวังและวางมาตรการป้องกัน 5 นิคมอุตสาหกรรมที่เสี่ยงวิกฤต 5 นิคมฯ ได้แก่ นิคมฯไฮเทค ซึ่งถือว่าขณะนี้ค่อนข้างวิกฤตโดยอีก 1 เมตรก็จะท่วมคันดินเข้ามาซึ่งนิคมฯดังกล่าวมีมูลค่าลงทุน 6.5 หมื่นล้านบาทเนื่องจากน้ำยังคงเพิ่มขึ้นในพื้นที่จ.อยุธยา

รองลงมาคือนิคมฯบางปะอิน มีมูลค่าลงทุน 6 หมื่นล้านบาทเนื่องจากอยู่ในพื้นที่จ.อยุธยาเช่นกันและห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยา 1 กิโลเมตร

ส่วนที่เหลือคือนิคมฯลาดกระบัง มูลค่าลงทุน 8.5 หมื่นล้านบาท ที่ขณะนี้ได้เร่งเสริมคันดินให้เป็น 2 เมตรแต่จะต้องระวังเรื่องของน้ำทุ่งที่จะไหลบ่ามาได้และยังต้องเฝ้าปริมาณฝนที่อาจเพิ่มขึ้น ขณะที่นิคมฯ แก่งคอย จ.สระบุรี ที่มีการลงทุน 1,430 ล้านบาทนั้นจะต้องติดตามปริมาณน้ำจากแม่น้ำป่าสักใกล้ชิด และนิคมฯบางชันมูลค่า 5,000 ล้านบาท

“ ยังมีนิคมฯที่ต้องเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมงอีกได้แก่ นิคมฯบางพลี 14,066 ล้านบาท และนิคมฯบางปู ลงทุน 2 แสนล้านบาท โดยกนอ.เองก็ได้ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเต็มที่แต่ยอมรับว่าปริมาณน้ำมากจริงๆ “นางศรีวณิก กล่าว

นางสาวอัมรา เจริญกิจวัฒนกุล กรรมการ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้น้ำได้ท่วมในนิคมฯโรจนะเต็มพื้นที่ทั้งหมดแล้วหมื่นไร่ โดยมีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมฯเกือบ 300 โรง ซึ่งผู้บริหารนิคมฯได้หารือกันเพื่อหาแนวทางการแก้ไขสถานการณ์ให้เร็วที่สุด และขอความร่วมมือกับภาครัฐในการระบายน้ำในบริเวณรอบพื้นที่นิคมฯเพื่อให้นิคมฯสามารถระบายน้ำออกจากนิคมฯได้ ส่วนความเสียหายยังไม่สามารถประเมินได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาน้ำท่วมว่ากินเวลานานแค่ไหน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้มีกระแสข่าวลือว่าเมื่อเวลา 19.00 น.วานนี้ (10 ต.ค.) คันดินที่นิคมฯไฮเทคไม่สามารถต้านแรงน้ำทางตอนเหนือได้ ทำให้มีน้ำไหลทะลักเข้าไปท่วมในนิคมฯแล้ว

นายสุภาพ คลี่ขจาย ผู้ช่วย รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จะนำข้อเสนอที่ได้จากภาคเอกชนไปเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)โดยเร็ว ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องวางโครงสร้างในการป้องกันปัญหาระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนเข้ามาสอบถามแต่ก็ยังให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร หากปีหน้ายังเกิดปัญหาแบบนี้อีกก็กังวลว่านักลงทุนจะย้ายฐานการลงทุนหนี

***ส่อเลื่อนบีโอไอแฟร์

นางอรรชกา ศรีบุญเรือง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์น้ำท่วม โดยจะขอเวลาตัดสินใจภายในสัปดาห์นี้ว่าจะเลื่อนการจัดงานบีโอไอแฟร์ 2011 ที่เดิมมีกำหนดจัดในวันที่ 10-25 พ.ย.นี้ออกไปเป็นช่วงต้นปี2555 หรือไม่

***ททท.เลื่อนโครงการใหญ่

นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. คาดว่าอาจจะต้องเลื่อนเปิดตัวโครงการปีมหัศจรรย์ประเทศไทย หรือ มิราเคิล ไทยแลนด์ เยียร์ จาก ตุลาคมเป็น ธันวาคม ปีนี้ จากปัญหาน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบอย่างหนักทั้งด้านเศรษฐกิจและจิตใจ อีกทั้งหากสถานการณ์น้ำท่วมยืดเยื้อเกิด 2 เดือน อาจจะต้องปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศจากเดิมตั้งไว้ที่ 91 ล้านคนครั้ง และรายได้ 4.3 แสนล้านบาทลงด้วย

               นายสรรเสริญ เงารังษี รองผู้ว่าการ ด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. กล่าวว่า ขณะนี้มี 3 ประเทศที่ออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวให้หลีกเลี่ยงจังหวัดที่มีน้ำท่วม ได้แก่ ญี่ปุ่น  สหรัฐอเมริกา และเบลเยียม อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของนักท่องเที่ยวตลาดเอเชียยังไม่กระทบมาก เพราะพื้นที่หลักของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้อย่าง พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และภูเก็ต ยังเดินทางได้ปรกติ ยกเว้นตลาดญี่ปุ่นที่นิยมเดินทางไป อยุธยา ก็เริ่มเดินทางไปเที่ยวเมืองโบราณ ที่สมุทรปราการ หัวหิน และตลาดน้ำอัมพวา แทน
กำลังโหลดความคิดเห็น