xs
xsm
sm
md
lg

เซ่น 6 หมื่นล้าน น้ำท่วมฉุดจีดีพี ชี้เหตุการณ์ยังไม่นิ่ง-มีโอกาสเสียหายมากกว่านี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าการ ธปท.เผย ปัญหาน้ำท่วมฉุดจีดีพีวูบแล้ว 0.6-0.8% หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายเกือบ 6 หมื่นล้านบาท ชี้ เหตุการณ์ยังไม่นิ่งมีโอกาสเสียหายมากกว่านี้ ยันลดดอกเบี้ยไม่เหมาะสมเหตุส่งผลกระทบทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมเตรียมใช้แผนฉุกเฉินดูแลระบบการเงินล่วงหน้า 2 สัปดาห์ ด้าน สศค.ระบุเรื้อรังเกิน 1 เดือนยอดอาจทะลุแสนล้านบาท ขณะที่รมว.คลัง แนะต้องวางโครงสร้างใหม่ 3-5 ปี รองรับปัญหาน้ำท่วม

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงและผลกระทบได้ขยายวงกว้างมากขึ้น จากการประเมินเบื้องต้น พบว่า ผลกระทบดังกล่าวจะมีผลต่อธุรกรรมทางเศรษฐกิจลดลง 0.6-0.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายเกือบ 6 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ต่างๆ ยังไม่หยุดนิ่งและต้องติดตามสถานการณ์เหล่านี้ต่อไป จึงคาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายมากกว่านี้

ทั้งนี้ จากปัญหาอุทกภัยครั้งนี้ เฉพาะภาคเกษตรได้เสียหายไปแล้ว 1.6-2 หมื่นล้านบาท และล่าสุดได้ส่งผลกระทบไปยังภาคอุตสาหกรรมด้วย จากการประเมินเบื้องต้นในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครมีมูลค่าเสียหายประมาณ 2.5-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ยังไม่นับรวมนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ขณะนี้ทีมเจ้าหน้าที่ธปท.กำลังอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์อยู่

“ประเด็นที่ผู้ประกอบการขอให้ ธปท.ช่วยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครั้งนี้ มองว่า เป็นคนละเครื่องมือกัน เพราะนโยบายอัตราดอกเบี้ยจะมีผลทั้งระบบ แต่ปัญหาน้ำท่วมมีผลเฉพาะจุด จึงมองว่า ไม่เหมาะที่จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม”ผู้ว่าการธปท.กล่าวและว่าในวันที่ 28 ต.ค.นี้ จะมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ซึ่งคาดว่านอกจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องผลกระทบน้ำท่วมแล้ว ธปท.จะนำปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศเข้ามาประเมินด้วย”

**ใช้แผนฉุกเฉินดูแลระบบการเงิน**
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ธปท.ได้ประสานงานกับธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งใช้แผนฉุกเฉินในการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมและวางแผนรับมือล่วงหน้า โดยเฉพาะเหตุการณ์ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งรัฐบาลคาดว่าน้ำจะไหลเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นใจว่าระบบชำระเงินและธุรกรรมการเงินต่างๆ ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ รวมไปถึงดูแลให้ระบบหมุนเวียนเงินสดเพียงพอ

จากการสำรวจล่าสุด พบว่า สาขาธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบเหตุการณ์นี้ 32 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จ.อยุธยา จากสาขาธนาคารทั่วประเทศมีอยู่ทั้งสิ้น 3,000 แห่ง และเมื่อเช้าวานนี้ (10 ต.ค.) ธปท.กับธนาคารพาณิชย์ในระบบได้เริ่มทดลองระบบติดต่อสื่อสาร เพื่อสร้างความมั่นใจระบบการเงินมากขึ้น แม้จะเกิดปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น

**ปีหน้าจับตานโยบายรัฐดันเงินเฟ้อพุ่ง**
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะไม่นำปัญหาน้ำท่วมที่มีผลต่อราคาผักและผลไม้สูงขึ้น ซึ่งอาจมีผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวสูงขึ้นได้ในระยะสั้นๆ เข้ามาประกอบการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโบบาย แต่ปัจจัยที่ต้องติดตามดูต่อไปว่า คือ อุปสงค์ด้านการบริโภคภายในประเทศ อุปสงค์การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการส่งออกว่าจะลดลงหรือไม่

“การลดเงินนำส่งค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนน้ำมันส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกลดลง ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงปลายปีนี้ แต่ในช่วงต้นปี 55 เป็นต้นไป ทางกนง.จะเฝ้าติดตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปรับขึ้นเงินเดือน รวมถึงการรับจำนำข้าวว่าจะมีผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อหรือไม่ รวมไปถึงปัจจัยด้านต่างประเทศทั้งเศรษฐกิจสหรัฐและกลุ่มประเทศยุโรปที่มีปัญหาอยู่เช่นกัน”

**หวั่นเรื้อรังยอดทะลุแสนล้าน**
ด้าน นาย นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ได้ประเมินข้อมูลผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ณ วันที่ 9 ตุลาคม พบว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศและพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ หากน้ำท่วมขังเป็นเวลา 1 เดือนจะมีผลกระทบต่อจีดีพีประมาณ 6.9 หมื่นล้านบาทหรือ 0.6% ของจีดีพี

อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกอีก 0.2% จากปัญหาหนี้ของสหรัฐอเมริกาและยุโรป จึงคาดว่า จะทำให้จีดีพีปี 2554 ขยายตัวเพียง 3.7% ลดลงจากการประมาณการในช่วงเดือนมิถุนายนที่ 4.5

“เบื้องต้น ประเมินว่า ภาวะน้ำท่วมจะกระทบต่อภาคการผลิตอย่างน้อย 1 เดือน แต่หากเลวร้ายเชื่อว่า จะกระทบต่อจีดีพีถึง 1.2 แสนล้านบาท หากน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน แต่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นยาก เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะเร่งจัดการปัญหาให้คลี่คลายลง และเชื่อว่า นักลงทุนต่างประเทศคงไม่ย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศอื่น เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติไม่ใช่ผลกระทบจากพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยเอง”

อย่างไรก็ตาม สศค.ยังได้ประเมินผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลไว้ด้วยว่า เบื้องต้นจะทำให้รายได้รายรัฐบาลในปี 2555 ลดลง 1.2 หมื่นล้านบาท จากประมาณการจัดเก็บทั้งปีที่ 1.98 ล้านล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าไม่มากนัก และหลังน้ำลด เชื่อว่า จะมีการฟื้นฟู การจับจ่ายใช้สอย และการลงทุนเพิ่ม ก็เชื่อว่าน่าจะทำให้รายได้รัฐบาลกลับมาได้อีก รวมถึงรวมกับมาตรการรัฐบาลเชื่อว่าจะกระตุ้นการบริโภคเพิ่มขึ้นได้อีกทางด้วย

ด้าน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการคือ ควรจะมีการวางแนวทางการพัฒนากลไก และเครื่องมือที่เป็นพื้นฐานรองรับที่จะใช้ใน 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อให้การดำเนินงานในช่วงน้ำท่วมมีความสะดวกขึ้น ด้วยการลงทุนยกระดับถนนให้สูงขึ้น เพื่อให้ทางน้ำผ่านและพ้นน้ำ เพราะหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอีก จะได้ยังมีถนนเป็นเส้นทางในการขนส่งและลำเลียงความช่วยเหลือที่จะเกิดขึ้นได้สะดวกและคล่องตัวขึ้นรวมถึงการจะระบบการเพาะปลูกให้เสร็จสิ้นฤดูกาลเพาะปลูก และสามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนที่น้ำจะมา เพราะปีนี้โดยเฉลี่ยปริมาณน้ำทั่วประเทศมากกว่าปีก่อน 30% แต่ในบางพื้นที่มากกว่า 100% การสร้างแนวกั้นน้ำแบบเดิมอาจจะไม่ได้ผล จะต้องมีการสร้างเป็นแนวคอนกรีตเพิ่มมากขึ้น” นายธีระชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น