ความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรป และความผิดหวังของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ส่งผลให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ปรับลดลงทุกประเภทและทุกภูมิภาค ซึ่งตลาดหุ้นไทยเอง ก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ โดยในช่วง 2 วันสุดท้ายของสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีปรับลงกว่า 70 จุด
แน่นอนว่าความกังวลเหล่านี้ ในระยะสั้นคงไม่มีใครคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าสถานการณ์จะคลี่คลายอย่างไร แต่หากมองในระยะยาวแล้ว น่าสนใจว่าด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้ความสั่นคลอนของเศรษฐกิจโลก ภาพการลงทุนในบ้านเราจะเป็นอย่างไรต่อไป...วันนี้ เรามีมุมมองที่น่าสนใจจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) มาฝากกัน..
ภาพเศรษฐกิจโลกใน 1 -2 ปี
รายงานของ บลจ.เอ็มเอฟซี ระบุว่า ธนาคารกลางโลก IMF ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2554 และ ปี 2555 ว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4.3 (yoy) และ 4.5 (yoy) ตามลำดับ กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นกลุ่มที่ยังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเป็นกลุ่มที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้ นำโดยจีนและอินเดีย ซึ่งมีปัจจัยด้านอุปสงค์ในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน สำหรับเศรษฐกิจกลุ่ม จี 3 นั้นคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในครึ่งหลังปี 2554 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนคาดว่าโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยใน 1 ปี ข้างหน้าอยู่ที่ร้อยละ 30 โดยเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวต่อไป 1-3 ปี กลุ่มประเทศที่จะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจมากที่สุดคือ เศรษฐกิจกลุ่มยูโรขยายตัวในอัตราที่ต่ำมาก จากผลกระทบวิกฤตหนี้สาธารณะโดยเฉพาะกรีซที่คาดว่าจะอยู่ในภาวะถดถอยถึงปี 2556 การที่ประเทศในกลุ่มจี 3 มีการขาดดุลงบประมาณในอัตราสูงและมีหนี้สาธารณะที่สูงตามมาจนไม่สามารถรักษาการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ เครดิตเรตติ้ง จึงมีความจำเป็นที่ต้องลดการใช้จ่ายเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ ดังนั้นรัฐบาลในกลุ่มจี 3 มิอาจดำเนินนโยบายเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราต่ำและมีการว่างงานสูง ซึ่งส่งผลให้นโยบายการเงินจะยังคงผ่อนคลายต่อเนื่องโดยมีดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2556 นอกจากนี้กลุ่มประเทศ จี 3 ยังมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามามีอิทธิพลต่อสภาวะเศรษฐกิจอย่างมิอาจปฏิเสธได้
อย่างไรก็ตาม คาดว่าความเสี่ยงในการล่มสลายของกลุ่มยูโรค่อนข้างต่ำ เพราะความเสียหายจากการล่มสลายดังกล่าวมีค่าสูงกว่าการช่วยเหลือกันเพื่อความอยู่รอดอย่างเปรียบกันมิได้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา
จากการที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีความผันผวนสูง ปรับตัวขึ้นลงได้แรงตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปและภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ ดังนั้น จึงมีนโยบายการลงทุนอย่างระมัดระวังโดยคงสภาพคล่อง 5-30% และในส่วนของการลงทุนในตราสารทุนในภูมิภาคต่างๆจะให้น้ำหนักการลงทุนในสหรัฐมากที่สุด เพราะมีเอกภาพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากกว่ายุโรปโดยเฉพาะในด้านการคลัง ลดการลงทุนในยุโรป เนื่องจากปัญหาของยุโรปเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความยุ่งยากในการแก้ไข และยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในระดับเท่ากับตลาด เพราะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดี แต่ยังน่าจะได้รับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ และมาตรการขึ้นดอกเบี้ยของภาครัฐฯในช่วงสั้นนี้
สำหรับการลงทุนในทองคำนั้นได้กลายเป็นหนึ่งประเภทของสินทรัพย์ที่นักลงทุนต้องมีในพอร์ตการลงทุนระยะยาว แม้ราคาทองคำจะปรับตัวผันผวนในระยะนี้ก็ตาม ยังคาดการณ์ราคาทองคำในปี 2555 สามารถแตะระดับ 2,000 USD/Onz ส่วนน้ำมันนั้นจะลงทุนในช่วงราคาปรับลดลง โดยคาดว่าในปี 2555 ราคาน้ำมัน NYMEX Crude Oil จะปรับขึ้นอยู่ในค่าเฉลี่ย 95 USD/Barrel
สถานการณ์ตราสารหนี้และหุ้นไทย
ความผันผวนของมุมมองภาวะเศรษฐกิจโลก นับตั้งแต่ประเด็นที่ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอยซ้ำซ้อน [Double Dip Recession] หรือไม่ในปี 2012 ตราบจนถึงปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะที่เรื้อรังของกลุ่มประเทศ PIGS ที่ยังไม่มีกระบวนการแก้ปัญหาที่ชัดเจน และมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังที่อาจทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปขยายตัวไม่สู้ดีนัก ทางเลือกของนักลงทุนในยามตลาดผันผวน คือ เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสื่องต่ำ เช่น ทองคำ พันธบัตรรัฐบาล
นอกเหนือจากนี้ การถือครองตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่ก็ได้รับความสนใจมากในยามตลาดการเงินผันผวนด้วยเช่นกัน เห็นได้จากรายงานของ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่าปริมาณเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ภูมิภาค เอเชียยังคงอยู่ในระดับสูง
ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ยังน่าสนใจลงทุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจากการบริโภคการลงทุนในประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และในขณะเดียวกันนั้นเศรษฐกิจก็แข็งแรงเพียงพอที่จะพร้อมรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกผ่านการมีความยืดหยุ่นทางนโยบายเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงิน-การคลัง
จากพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้โอกาสผิดนัดชำระหนี้ก็เกิดขึ้นน้อยลง ทำให้โอกาสที่บางประเทศจะถูกปรับอันดับเครดิตสูงขึ้น ตามมาในอนาคต 1 - 2 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ในปีนี้ค่าเงินในสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศตลาดเกิดใหม่ก็ยังมีแนว โน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแม้จะไม่มากเท่ากับปีที่ แล้วก็ตาม ไม่เพียงเท่านี้ในแง่ของอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Yield) ของตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ก็ยังคงสูง และน่าสนใจลงทุนเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ยังจะเป็นเป้าหมายการลงทุนของเม็ดเงินลงทุน ของนักลงทุนทั่วโลกอยู่ต่อเนื่องในปีนี้ ดังนั้น จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่อย่างต่อเนื่องรวมทั้ง ไทย ด้วยเช่นกัน
สำหรับทิศทางดอกเบี้ยภายในประเทศ เราคาดว่าการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าใกล้โค้งสุดท้ายเต็มที เพราะความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทิศทางทรงตัว โดยบลจ.MFCประเมินว่าทางธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงระดับร้อยละ 3.75 ภายในปี 2554 นี้ และมีโอกาสปรับดอกเบี้ยนโยบายจนถึงร้อยละ 4.00 -4.25 ภายในปี 2555
กระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยและการปรับดอกเบี้ยนโยบายเข้าใกล้โค้งสุดท้ายเต็มที ทำให้การลงทุนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีความน่าสนใจมากขึ้นในยามตลาดมีความผันผวนมากเช่นนี้
สำหรับแนวโน้มตลาดหลักทรัพย์ไทยปี 2554-2555 นั้น ทาง MFC คาดการณ์ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการแกว่งตัวและผันผวนในช่วงสั้น แต่แนวโน้มระยะกลาง-ยาวจะยังปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนที่ยังค่อนข้างแข็งแกร่ง
โดยปัจจัยสำคัญที่กระทบการเคลื่อนไหวของตลาด ปัจจัยแรก คือ รัฐบาลปัจจุบันค่อนข้างมีเสถียรภาพสูง หลังได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ ทำให้ปัญหาการเมืองที่เป็นปัจจัยกดดันตลาดไทยใน 2-3 ปีที่ผ่านมาลดลง ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่อุปสงค์จากภายนอกประเทศจะชะลอตัว รวมทั้งการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐในระบบสาธารณูปโภค คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ในระดับ 3-5% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ในส่วนของนโยบายภาครัฐ ถึงแม้ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจจะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนให้ลดลงประมาณ 2% อย่างไรก็ตามบริษัทฯคาดว่าจะสามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบางส่วนไปยังผู้บริโภคได้ ในขณะที่รายได้ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยส่งเสริมการบริโภคและการใช้จ่ายภายในประเทศได้เติบโตขึ้นได้ นอกจากนี้นโยบายการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 30% เหลือ 23% ในปี 2555 และจาก 23% เหลือ 20% ในปี 2556 จะสามารถช่วยหนุนให้กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นประมาณ 6%
ปัจจัยที่สอง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลง จากที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ เป็นผลให้ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อลดลง และปัจจัยสุดท้าย MFC คาดหมายการขยายตัวของกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะขยายตัวในระดับ 18-20% ในปี 2554 และ 14-15% ในปี 2555 โดยคาดว่าตลาดจะมีการซื้อขายที่ระดับ P/E Ratio ในช่วง 13 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ทำการซื้อขายที่ระดับ 13 เท่า PE นั้นถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีในเอเชียที่ 13.7 เท่า สำหรับอัตราเงินปันผลเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3-4%
แต่หากมองถึงปัจจัยเสี่ยงแล้ว ประเด็นสำคัญอยู่ที่ เศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัวลง หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ใช้เวลาในการฟื้นตัวยาวนานกว่าที่คาดไว้และผลกระทบวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปที่ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจนในขณะที่ความกังวลเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมอาจมีความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้มีการย้ายเม็ดเงินลงทุนออกไปลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงต่ำก็เป็นความเสี่ยงสำคัญ เช่นเดียวกับปัจจัยการเมืองภายในประเทศอาจกลับมามีปัญหาอีกครั้ง หากมีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญ
ดังนั้น ในภาวะเช่นนี้ การลงทุนของ MFC ใช้กลยุทธ์การลงทุนในการบริหารแบบเชิงรุก (Active Style) โดยมีการปรับน้ำหนักการลงทุนทั้งในส่วน Asset Allocation และ Stock Selection ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ได้ประเมินไว้ในแต่ละช่วง โดยในปีนี้คาดว่า Asset Allocation หรือการจัดสรรสัดส่วนการลงทุนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารพอร์ต เนื่องจากตลาดหุ้นในปีนี้ค่อนข้างผันผวนตามความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก
สำหรับกลุ่มหลักทรัพย์ที่ทาง MFC ให้น้ำหนักการลงทุนในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้ายังเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากกำลังซื้อภายในประเทศที่แข็งแกร่ง และมีความเสี่ยงต่อภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกต่ำ