xs
xsm
sm
md
lg

สภาพคล่องไทยล้น-เงินทุนท่วม "ณรงค์ชัย"กระทั้งรัฐบาลหาทางจัดการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กูรู ชี้ ตลาดเงินไทยเผชิญสภาพคล่องส่วนเกินล้นระบบ ตั้งคำถามรัฐบาล จะจัดการตลาดเงิน - ตลาดทุนไทยให้มีการเติบโตอย่างไร ระบุ ศก.โลกแบ่งแยกตลาดเกิดใหม่แข็งแกร่ง ขณะที่ สหรัฐฯ-ยุโรป ยังเผชิญปัญหาหนี้

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี กล่าวบรรยายเรื่อง “รัฐบาลใหม่ : จุดเปลี่ยนตลาดเงินตลาดทุนไทยจริงหรือ?” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รัฐบาลใหม่ที่มีความพร้อมทั้งตัวนายกรัฐมนตรี รมว.กระทรวงการคลังและรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นรมว.กระทรวงพาณิชย์ด้วยซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญในตลาดเงิน-ตลาดทุนเป็นอย่างดี ถ้าเปลี่ยนแปลงตลาดเงิน-ตลาดทุนของประเทศไม่ได้ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง จากในอดีตปัจจุบันประเทศไทยเน้นพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศมากกว่าในประเทศ ( Out - In Mode) ทำให้กฎระเบียบต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมาจะเอื้อให้เงินไหลเข้ามากกว่าไหลออก ถ้าจะเปลี่ยนนโยบายมาเป็น Neutral Mode จะทำได้หรือไม่ เพราะหากเปลี่ยนได้กฎระเบียบต่างๆ จะติดตามออกมาเอง ดังนั้นนี่จึงเป็นคำถามที่สำคัญที่สุดสำหรับนโยบายชุดนี้ในท่ามกลางสภาวะที่สภาพคล่องส่วนเกินที่ยังล้นระบบโลกและพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยก็ยังแข็งแกร่งอยู่เช่นนี้ จึงทำให้เกิดความผิดปกติทั้งในตลาดเงิน-ตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้นควรทำอย่างไรที่จะทำให้เงินที่เข้ามาจากต่างชาติเป็นเงินลงทุนที่เข้ามาลงทุนจริงๆ มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังมีค่อนข้างน้อย และหลายโครงการที่ภาครัฐจะลงทุนต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งงบลงทุนภาครัฐเองมีประมาณปีละ 4 - 5 แสนล้านบาท แต่ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตเฉลี่ยปีละ 4 - 5% ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉ.11 ในอีก 5 ปี ข้างหน้า จะต้องใช้เงินลงทุนปีละประมาณ 4 ล้านล้านบาท ดังนั้นการดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนรวมในการลงทุนจึงมีบทบาทที่สำคัญมาก

นายณรงค์ชัย ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันตลาดเงินไทยก็มีความผิดปกติจากปัญหาสภาพคล่องส่วนเกินที่ยังล้นระบบอยู่นานไม่ต่ำกว่า 3 ปี แล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีตั้งแต่ต่ำไปถึงสูงรวมถึงปัญหาคนที่อยากกู้แต่กู้ไม่ได้ ปัจจุบันมีสัดส่วนเงินสินเชื่อต่อเงินฝากประมาณ 88.9% รัฐบาลใหม่จะจัดการกับปัญหาเงินล้นระบบอย่างไร เพราะตลาดโลกเองก็มีสภาพคล่องล้นระบบเช่นกันที่พร้อมจะไหลไปท่วมประเทศใดก็ได้ในโลก แล้วรัฐบาลจะบริหารจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีเป็นจำนวนมากในปัจจุบันได้อย่างไร จะนำบางส่วนมาตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (SWF) หรือไม่ หรือจะให้มีการกู้เงินตราต่างประเทศจากเงินสำรองระหว่างประเทศแทนโดยไม่ต้องไปกู้จากต่างประเทศ เป็นต้น

“แล้วรัฐบาลจะจัดการกับเงินที่ไหลเข้า-ไหลออกอย่างไร ควรจะต้องมีการเก็บภาษีเงินที่ไหลเข้า-ไหลออกเหล่านี้หรือไม่เพื่อสะกัดไม่ให้เงินไหลเข้า-ไหลออกรวดเร็วเกินไป การใช้ดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้เพื่อสกัดเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือ แล้วรัฐบาลจะช่วยผู้ที่ต้องการเงินกู้ที่ถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงในระดับที่สูงให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างไร” นายณรงค์ชัย กล่าว

นายณรงค์ชัย กล่าวเสริมว่า ในส่วนของตลาดทุนซึ่งถือเป็นแหล่งที่จะเปลี่ยนเงินออมมาเป็นเงินลงทุนก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ปัจจุบันตลาดทุนไทยก็ยังมีขนาดเล็กมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 9.27 ล้านล้านบาท ถือว่ายังเล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในโลก และมีสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติประมาณ 30% รัฐบาลจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มหุ้นในตลาดให้มากขึ้นเพื่อให้ตลาดหุ้นไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพมากขึ้นจากการถูกกระทบของเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติได้ดีกว่าที่เปนอยู่ในปัจจุบัน ควรจะต้องมีการนำรัฐวิสาหกิจในมือเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เช่นเดียวกับที่ประเทศจีนทำมาแล้ว หรือในตลาดหลักทรัพย์ MAI เองรัฐจะส่งเสริมให้บริษัทขนาดกลางและเล็กเข้ามาจดทะเบียนเพิ่มได้อย่างไร เป็นไปได้มั้ยที่จะให้บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่นำหุ้นเข้าจดทะเบียนรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายบางรายการไปแทน เพราะถ้าให้บริษัทจ่ายเองหมดก็เป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างมากทีเดียว เป็นต้น

ขณะเดียวกันรัฐบาลจะเปิดให้บลจ.ลงทุนในกองทุนนิติบุคคลเอกชน (Private Equity) ได้อย่างเต็มที่หรือไม่ โดยไม่ต้องผ่านรูปแบบของกองทุนรวมที่จะถูกจำกัดการเข้าไปถือหุ้นเพื่อลงทุนได้ไม่เกิน 20% เป็นต้น หรือการสนับสนุนให้มีกองทุนสาธารณูปโภค (Infrastructure Fund) เกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อนำมาใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น หรือจะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ซื้อขายเป็นเงินตราต่างประเทศได้โดยตรงหรือไม่ ทำไมต้องมาเปลี่ยนเป็นเงินบาทก่อน ซึ่งตรงนี้คงต้องฝากไปถึงทางธปท.ด้วย

“ในส่วนของตลาดตราสารหนี้เอง ทำอย่างไรให้มีตราสารหนี้ระยะยาวที่อายุมากกว่า 5 ปี เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่การลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นอายุต่ำกว่า 1 ปี เป็นหลัก จะพัฒนาตราสารหนี้เอเชียได้อย่างไร เพราะประเทศในเอเชียต่างก็มีเงินเป็นจำนวนมากที่สามารถจะนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกมาก เหล่านี้คือโจทย์ที่อยากจะฝากให้รัฐบาลใหม่เอาไว้คิดเพื่อหาวิธีบริหารจัดการและแก้ไขต่อไป เพราะถือว่ามีทีมงานที่มีความพร้อมค่อนข้างมากสำหรับรัฐบาลชุดนี้”

นาย วิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการ สายงานพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึง สถาวะตลาดเงินตลาดทุนในครึ่งปีหลังว่า ตลาดเงินตลาดทุน ในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องเผชิญปรากฎการณ์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) ภาวะเงินทุนในตลาดโลกที่มีอยู่สูง หรือ เงินทุนท่วมโลก 2) ตลาดเงินตลาดทุนมีความกังวลกับข่าวร้ายมากกว่าความกังวลในเรื่องการเสียโอกาสลงทุน และประการสุดท้ายคือ เศรษฐกิจโลกที่มีการแบ่งแยกชัดเจนมากขึ้นระหว่าง ประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งทั้ง 3 ประการนี้จะมีอยู่ต่อไปจนถึงระยะสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ เมื่อเงินทุนล้นส่งผลให้ต้องหาแหล่งลงทุน ซึ่งน่าสนใจก็คือการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อย่าง เช่น ทองคำ ทำให้ราคาอาจปรับตัวสูงขึ้นได้ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะมีความผันผวนด้วย ขณะที่ความกังวลในความเสี่ยงนั้น ก็มาจากปัจจัยการเมืองในสหรัฐฯ แม้ว่ามีสามารถขยายเพดานหนี้ได้ แต่ก็เป็นแค่การซื้อเวลา เพราะยังไม่ได่แก้ปัญหาที่ต้นตออย่างแท้จริง โดยยังเป็ยการต่อสู้กันทางการเมืองในสหรัฐฯอยู่ ส่วนปัญหาเศรษฐกินในยุโรป ยังมีปัญหาในเรื่องหนี้สินอยู่ ถ้ายังไม่มีความมั่นใจจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของพัธบัตรเพิ่มสูงขึ้น และอาจทำให้เกิดใหญ่ได้อีก

ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่นั้น แม้ว่าจะถูกผลกระทบจากปัญหาสหรัฐฯและยุโรป แต่ยังมีสภาพที่ดีกว่าเพราะไม่มีปัญหาหนี้ และมีการเปลี่ยนโครงสร้างของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น มีรายได้มากขึ้นและมีอาจซื้อมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโตได้ ขณะเดียวกันยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มากด้วย และมีการเปิดเสรีมากขึ้น นำไปสู่การลงทุนใหม่ๆ

ด้าน นางสาวชลจิต วรวังโส นักวิจัยอาวุโสมูลนิธิสถาบันวิจัยเศรษฐกิจการคลังกล่าวถึงการลงทุนเพื่ออนาคตว่า เศรษฐกิจของไทยในช่วงปีนี้ยังมีการเติบโตอยู่ คาดว่าในปีนี้ จีดีพี จะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 4.5% โดยรับผลพวงมาจากการส่งออกที่สูงมากในปีที่ผ่านมา โดยมองว่า การสนับสนุนการลงทุนเพื่อความเสมอภาคและความสามารถในการแข่งขันคือการสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังจะออกไปช่วยเหลือหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องการลงทุนเพื่อสร้างรายได้ โดยใช้งบการลงทุนที่มากจาก ภาครัฐ งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ PPP รวมถึง งบลงทุนของภาคเอกชน

นางสาวทิพยสุดา ถาวรามร ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สายงานยุทธ์ศาสตร์ตลาดทุน สำนักงานคระกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาตลาดทุนไทยนั้น ทาง ก.ล.ต. ต้องการเปิดเสรีการตลาดมากขึ้น รวมทั้งพยายามหาทางเลือกใหม่ในการลงทุน เพื่อให้มีการลงทุนที่มากขึ้นและรองรับการแข่งขันในตลาดโลกที่มีความเข้มข้นขึ้น โดยทาง ก.ล.ต ยังมองถึงในเรื่องของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในเรื่องของคนให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นรวมไปถึงการเชื่อมโยงไปยังตลาดโลก ซึ่งในเรื่องของความรู้ความเข้าใจนั้น พบว่าประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุนของตนเอง เช่น เรื่องของการลงทุนเพื่อการเกษียรอายุของตนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น