xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ส่งซิกขึ้นR/Pอีก3ครั้งรวด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ธปท.ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 3 ครั้งในปีนี้ ชี้นโยบายการคลังรัฐบาลใหม่จะเริ่มเห็นผลในปีหน้า ระบุหากกระตุ้นเศรษฐกิจมากในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวใกล้เต็มศักยภาพอาจก่อความเสี่ยงเพิ่มเติมให้ระบบเศรษฐกิจ พร้อมแนะรัฐลงทุนเพิ่ม 25%ของงบประมาณทั้งหมดและขยายฐานจัดเก็บภาษีดีกว่า
 

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "มองเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง" จัดโดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่เหลืออีก 3 ครั้งของปีนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงมีต่อเนื่อง เนื่องจากความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อมีมากกว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระตุ้นของนโยบายการคลัง จึงจำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอุปสงค์ภายในประเทศ

"บอร์ดกนง.มองว่ายังไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงขนาดในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้ ยกเว้นหากสถานการณ์เปลี่ยนไป แต่ในปัจจุบันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล นโยบายการคลังที่ยังไม่ชัดเจน และภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนไหวอยู่มาก ทำให้เป็นมติในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยยังคงเป็นขาขึ้นต่อไป

แม้จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ทันใจวัยรุ่น จึงอยากที่จะให้ตลาดและประชาชนมีการปรับตัว เพราะจะมีผลเชื่อมโยงไปยังการใช้จ่ายและการบริโภคด้วย"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่เหลือของปี 54 กนง.จะมีการประชุมอีก 3 ครั้ง คือ วันที่ 24 ส.ค. วันที่ 19 ต.ค. และวันที่ 30 พ.ย. โดยกนง.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.25% มาตั้งแต่ช่วงเดือนก.ค.ปี 53 หรือปรับขึ้นมาแล้วประมาณ 2%

ทั้งนี้ ธปท.มองว่าขณะนี้แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูงหรือเพิ่มขึ้นได้อีก ประกอบกับการสำรวจข้อมูลล่าสุด พบว่าการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคตเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ในบางเดือนช่วงไตรมาส 3-4 อัตราเงินเฟ้ออาจสูงกว่าเป้าหมายนโยบายการเงินหรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงกว่า 3% แม้รัฐบาลจะต่ออายุมาตรการค่าครองชีพก็ตาม นอกจากนี้ มองว่าผลของนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่จะเห็นได้ในช่วงปีหน้า ซึ่งจะสร้างแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีก

ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัวได้ 3% และมีแรงส่งที่ดีไปยังครึ่งหลังของปีนี้ โดยปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวใกล้เต็มศักยภาพที่ระดับ 4.5-5% คือ มีการใช้กำลังการผลิตในระดับที่เกือบจะเต็มศักยภาพ ดังนั้น หากรัฐบาลมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมก็อาจมีผลให้เศรษฐกิจร้อนแรง ทำให้ความเสี่ยงเสถียรภาพด้านราคาหรือเงินเฟ้อตามมา และยิ่งส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินที่มากขึ้นในการบริหารจัดการ

"วัฎจักรเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ไม่ได้มีปัญหา แต่เศรษฐกิจไทยต้องแก้ไข คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน โดยพบว่า ปัญหาด้านแรงงาน ศักยภาพในการแข่งขันที่ไม่ได้มีการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้น อีกทั้งปัจจุบันมีการลงทุนภาครัฐต่ำมากเพียง 16-17%ของงบประมาณทั้งหมด แต่มองว่าระดับที่เหมาะสมควรเป็น 25% นอกจากนี้ไทยมีการจัดเก็บภาษีที่ต่ำสุดในภูมิภาคนี้ คือ 17%ของจีดีพีจึงควรขยายฐานภาษีเพิ่มขึ้น"

นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจอาจจะเพิ่มจุดเสี่ยงต่อระบบสถาบันการเงินในวันข้างหน้าได้ และการใช้นโยบายดังกล่าวก็ไม่ได้มีการตรวจสอบ ซึ่งต่างกับนโยบายการคลังที่เมื่อใดดำเนินการต้องผ่านสภาฯหรือกระบวนการอื่นๆ โดยเท่าที่ประเมินของธปท.พบว่า โครงการต่างๆ ตามที่หาเสียงผ่านสถาบันการเงินเหล่านี้จะใช้วงเงิน 4.42 แสนล้านบาท หรือประมาณ 20%ของงบประมาณภาครัฐ

"การทำนโยบายที่ส่งผ่านไปยังสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอาจสร้างภาระหนี้ซ่อนเร้นได้ ซึ่งไม่ได้เห็นในวันนี้และอาจไม่ได้โชว์ตัวเลขอยู่ในหนี้สาธารณะด้วย แต่อย่าลืมว่าในที่สุดแล้วอาจตกเป็นภาระภาษีของประชาชนได้”นายไพบูลย์ กล่าวว่า ภายใต้รัฐบาลเก่าได้ประเมินไว้ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า งบประมาณฯจะกลับเข้าสู่สมดุลแต่หากภาครัฐชุดใหม่มีการกระตุ้นต่อเนื่องก็อาจมีผลให้ขยายเวลางบประมาณฯ กลับเข้าสู่สมดุลมากกว่า 5 ปีไปอีก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก"
กำลังโหลดความคิดเห็น