xs
xsm
sm
md
lg

ห่วง3ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ กองทุนชี้เงินเฟ้อบีบดบ.ไปถึง3.50%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นายกสมาคม บลจ. ชี้ครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจโตเพิ่มอีก 3.5 - 4.5% แนะยังต้องระวังปัญหาการเมืองหลังเลือกตั้ง และวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป ด้านตลาดตราสารหนี้ครึ่งปีหลัง ยังรับแรงจากเงินเฟ้อและแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น แนะควรลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ขณะที่ตั๋วเงินบีอีเริ่มขยายตัวสู่รายย่อยมากขึ้น

นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการกองทุนรวม (นายกสมาคม บลจ.) และประธานเจ้าหน้าที่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในช่วงครึ่งปีหลังว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังนี้จะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 จากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ ในขณะที่การส่งออกเริ่มขยายตัวแบบชะลอตัวอันเป็นผลจากฐานที่สูงของปีก่อนและการแข็งค่าของเงินบาท แต่ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจคือ ปัญหาการเมืองในประเทศหลังการเลือกตั้ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป ซึ่ง 3 ปัจจัยนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดดันต่อเศรษฐกิจของไทยต่อไป

ขณะที่ภาคการเงินยังคงมีแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีจะเกินร้อยละ 4 เพราะระดับราคาสินค้าอาหารที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการสูงในตลาดโลกในขณะที่แหล่งผลิตสำคัญทั่วโลกประสบปัญหาภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น นอกจากนั้นราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวของผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อย่างสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามต้องติดตามดูว่าสหรัฐฯ จะฟื้นตัวได้จริงหรือไม่ เพราะอัตราการว่างงานยังสูง และปริมาณหนี้ของสหรัฐฯยังจะเป็นปัญหาหนักต่อไป หากไม่ฟื้นตัวราคาน้ำมันน่าจะลดระดับลง

สำหรับดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. นั้น ด้วยปัจจัยด้านเงินเฟ้อและความต้องการที่จะทำให้ดอกเบี้ยแท้จริงปรับเพิ่มขึ้นเป็นบวกจากอัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้น จึงคาดว่า ธปท. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.25-3.50 ต่อปี ในปีนี้

นางวรวรรณ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ภาพรวมของการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ปี 2554 จะมีแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และมีแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น โดยคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสปรับขึ้นเป็น 3.25 - 3.50% การลงทุนในตราสารหนี้ในปีนี้จึงมีความผันผวนพอสมควร การบริหารพอร์ตให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยจึงควรเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น และค่อยๆ เพิ่ม Portfolio Durationเมื่อผลตอบแทนของตราสารหนี้ปรับเพิ่มขึ้นการปรับขึ้นของราคาน้ำมันจากปีที่แล้วขึ้นมาเกือบ 50% โดยมีเหตุส่วนหนึ่งมาจากการจลาจลในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ก็เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอยู่ตลอดเวลา

จากอัตราผลตอบแทนในปัจจุบัน พบว่าตลาดได้รับรู้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 3.25% ในปีนี้ และ 3.50% ภายใน 1 ปี หรือเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 25-50 Bps เห็นได้จากผลประมูลพันธบัตร 1 ปี ล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.331% เราอาจพิจารณาลงทุนเพิ่มได้เมื่อผลตอบแทน 2 - 3 ปีอยู่ใกล้เคียงระดับ 3.50% นอกจากนี้แรงซื้อขายจากนักลงทุนต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในพันธบัตรที่เป็น Benchmark จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Market Yield เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ แต่ต้องดูปัจจัยเรื่องการแข็งค่า/อ่อนค่าของค่าเงินบาทด้วย

ส่วนการลงทุนในตั๋ว บีอีอยากให้ตั๋วบีอีที่สถาบันการเงินเป็นผู้สั่งจ่าย ออก รับรอง หรืออาวัล กลับเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เพราะในระยะหลังนี้มีการระดมทุนตั๋วบีอีสูงมากเกือบครึ่งหนึ่งของตราสารหนี้ที่ออกขายทั้งหมดในประเทศ และมีแนวโน้มจะกระจายสู่รายย่อยมากขึ้น ทั้งการขายตรง และการขายผ่านการลงทุนในกองทุนรวม

**สบช่องดบ.ขึ้นขายบอนด์สั้น4กองรวด**

นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนตราสารหนี้ในไตรมาส 3 ตลอดจนถึงปลายปี ยังคงเป็นการลงทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงของราคาที่มีความผันผวนไปตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากตลาดอยู่ในภาวะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดการณ์ว่าคณะกรรมการ กนง.จะปรับนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง คือ 0.25-0.50% สำหรับการประชุมในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคมนี้ โดยอัตราดอกเบี้ยน่าจะอยู่ที่ระดับ 3.50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.00%

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คือความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจากทิศทางดังกล่าว บริษัทจึงยังคงนโยบายออกกองทุนระยะสั้น 3 เดือน ถึง 1 ปีอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาด โดยการจัดสินทรัพย์การลงทุนที่ผสมระหว่างพันธบัตรรัฐบาลและสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศในสัดส่วนที่เหมาะสม ตลอดจนการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ

นางโชติกากล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเสนอขายกองทุนพร้อมกัน 4 กองทุน มูลค่ารวม 23,000 ล้านบาท คาดให้ผลตอบแทน 3-3.70% ต่อปี ด้วยมูลค่าเงินลงทุนขั้นต่ำแต่ละกองทุน 10,000 บาท ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 โดยกองทุนที่เสนอขาย ประกอบด้วย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ในประเทศ 3M6 (SCB Local Fixed Income 3M6) อายุ 3 เดือน คาดผลตอบแทนประมาณ 3% ต่อปี มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย 56% ตั๋วแลกเงินธนาคารธนชาต และตั๋วแลกเงินธนาคารไทยพาณิชย์ ในสัดส่วน 22% เท่ากัน มีอันดับความน่าเชื่อถือ F1+ (Fitch) thai

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์พันธบัตรรัฐบาล 6M97(SCB Government Bond 6M97 Open End Fund) อายุ 6 เดือน คาดผลตอบแทนประมาณ 3% ต่อปี เน้นลงทุนในเน้นลงทุนในตั๋วเงินคลัง 99% ส่วนที่เหลือลงทุนในเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์

นอกจากนี้ ยังมีกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ 6M26 (SCB Fixed Income Fund 6M26) อายุ 6 เดือน คาดผลตอบแทนประมาณ 3.40% ต่อปี มีนโยบายลงทุนใน พันธบัตรรัฐบาลไทย 22% พันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ 33% มีอันดับความน่าเชื่อถือ F1 (Fitch) เงินฝากธนาคาร Bank of China (BOC) สาขามาเก๊า 25% อันดับความน่าเชื่อถือ F1(Fitch) และเงินฝากธนาคาร China Construction Bank (CCB) 20% อันดับความน่าเชื่อถือ F1(Fitch) ซึ่งอัตราผลตอบแทนของกองทุนดังกล่าว ได้ทำการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) เรียบร้อยแล้ว

ส่วนกองทุนสุดท้าย คือกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ต่างประเทศ 1Y7 (SCB Foreign Fixed Income Fund1Y7) อายุ 1 ปี คาดผลตอบแทนประมาณ 3.70% ต่อปี มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ คือ พันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ มีอันดับความน่าเชื่อถือ A+(Fitch) 55% เงินฝากธนาคาร Bank of China สาขามาเก๊า อันดับความน่าเชื่อถือ A (Fitch) 25% เงินฝากธนาคาร Union National Bank อันความน่าเชื่อถือ A+ (Fitch) สัดส่วน 20% พร้อมปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) เรียบร้อยแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น