บลจ.กรุงไทย ประเมิน กนง.จ่อขยับดอกเบี้ยอีก 0.25% สกัดเงินเฟ้อ ล่าสุดส่งกองทุน"กรุงไทยธนทรัพย์ บี 12" ลุยตราสารหนี้ไทยและเงินฝากใน UAE ลงทุน 6 เดือนให้ผลตอบแทน 3.25%ต่อปี พร้อมเชียร์นักลงทุนระยะยาวเก็บ"กรุงไทยพันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อ"เข้าพอร์ต เปิดขายไอพีโอแล้วตั้งแต่วันนี้ถึง 19 กรกฎาคม 2554
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลพวงจากการเลือกตั้งทั่วไปของไทยที่ผ่านไปด้วยความสงบเรียบร้อยค่อนข้างมีอิทธิพลต่อภาวะตลาดการเงินของไทยอย่างมาก โดยได้สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างประเทศทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้าทั้งในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุน โดยเฉพาะในตราสารระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี จึงทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในระยะสั้นแกว่งตัว แม้ว่าในสัปดาห์นี้ตลาดการเงินส่วนใหญ่จะคาดการณ์ว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีก 0.25% จากระดับปัจจุบันที่อยู่ในอัตรา 3.00% รวมถึงภาวะการแข่งขันระดมเงินของสถาบันการเงินในประเทศในรูปของตั๋วแลกเงินที่เสนออัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างจูงใจ
ขณะที่ภาวะการลงทุนในต่างประเทศตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีความผันผวนพอสมควรตามการแกว่งตัวของอัตราแลกเปลี่ยน แต่สำหรับผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารต่างประเทศเมื่อแปลงกลับเป็นสกุลเงินบาทมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสกุลเงินบาทและดอลล่าร์สหรัฐฯ ขยายตัวกว้างขึ้น ทำให้ได้รับดอลล่าร์พรีเมี่ยมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลบวกต่อการลงทุนในต่างประเทศที่มีการทำสัญญาสวอปอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อปิดความเสี่ยงดังกล่าว
ทั้งนี้บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ บี 12 ( KTSUPB12 )เสนอขาย 12-19 กรกฎาคม 2554 อายุโครงการ 6 เดือน มูลค่า 3,000 ล้านบาท เป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารการเงินระยะสั้นธนาคารพาณิชย์ไทย ตราสารภาคเอกชนที่มีอันดับเครดิตตั้งแต่ BBB+ ขึ้นไป ตั๋วเงินคลัง / พันธบัตรรัฐบาล ในสัดส่วน 75% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนในเงินฝากประจำ Union National Bank ( UAE ) ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 3.25% ต่อปี กองทุนนี้เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น และส่วนต่างของผลตอบแทนที่ค่อนข้างจูงใจเมื่อเทียบกับการลงทุนเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือเงินฝากระยะเดียวกัน เงินลงทุนในต่างประเทศจะมีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ในช่วงระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ท อินเวส 3 เดือน 1 ( KTSIV3M1 )เสนอขายถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 อายุโครงการ 3 เดือน เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกู้ระยะสั้นธนาคารดอยซ์แบงก์ เงินฝากธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ และตั๋วแลกเงินของภาคเอกชนที่มีอันดับเครดิตตั้งแต่ BBB+ ขึ้นไป ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 3.00%ต่อปี สัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน
นายสมชัย กล่าวต่อไปว่า บริษัทได้เปิดอีกหนึ่งทางเลือก สำหรับผู้ลงทุนในที่ต้องการลงทุนระยะยาว และได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยพันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อ ( KTILB ) ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 อายุ 10 ปี มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท เงินลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อ ( ILB ) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือจะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ ตราสารการเงินอื่น ตามที่สำนักงานก.ล.ต.กำหนด
โดยคาดว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทน จากผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อ ( ILB ) ประมาณ 1.20% ต่อปีบวกกับอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ได้จาก ILB และอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี จะสะสมอยู่ในกองทุน ซึ่งกองทุนมีนโยบายจ่ายผลตอบแทนคืนให้กับผู้ลงทุนในทุก 6 เดือน โดยจะจ่ายคืนในส่วนของอัตราดอกเบี้ยของ ILB เท่านั้น หลังหักค่าใช้จ่ายจากกองทุน ทั้งนี้บุคคลธรรมดาไม่เสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย
สำหรับจุดเด่นของกองทุนนี้ เป็นสินทรัพย์ทางเลือกสำหรับการลงทุนระยะยาวที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตต่ำ กองทุนนี้จะรักษาเงินต้นและผลตอบแทนของผู้ลงทุนตามที่ได้กำหนดไว้ และคาดว่ากองทุนจะสร้างผลตอบแทนสุทธิได้สูงกว่าผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากการลงทุนเองโดยตรง นอกจากนี้จะเปิดให้ผู้ลงทุนที่ต้องการสภาพคล่อง สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ หลังจากครบ 2 ปีแรก ซึ่งบริษัทจะแจ้งวันและเวลาในการขายคืนหน่วยลงทุนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบไม่น้อยกว่า 7 วัน
ธนชาตขายบอนด์สั้นให้ยิลด์ไม่ต่ำกว่า3%
นายสุรธีร์ กิตติวรวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนชาต จำกัด กล่าวว่า บริษัทจะเสนอขายกองทุนเปิด 2 กองทุนด้วยกัน คือ กองทุนเปิดธนชาตตราสารหนี้ 19 (TFIX19) อายุโครงการประมาณ 3 เดือน ผลตอบแทนประมาณ 3.10% ต่อปี ตั้งเป้าลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นภาคเอกชน และ/หรือ ธนาคารในประเทศประมาณ 99.99% เงินฝากธนาคารพาณิชย์ประมาณ 0.10% ผลตอบแทนรวมของตราสารประมาณ 3.2998% โดยมีประมาณการค่าใช้จ่ายกองทุน 0.1998% ต่อปี เสนอขาย วันที่ 12-18 กรกฎาคม 2554
ส่วนกองทุนที่2 คือ กองทุนเปิดธนชาตพันธบัตรรัฐคุ้มครองเงินต้น ๔ (TGOV4) รอบการลงทุนประมาณ 6 เดือน ผลตอบแทนประมาณ 3.20% ต่อปี ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ประมาณ 99.90 % และลงทุนในเงินฝากธนาคารพาณิชย์ 0.10% ผลตอบแทนรวมของตราสารประมาณ 3.2978% โดยมีประมาณการค่าใช้จ่ายกองทุน 0.0978% ต่อปี รับคำสั่งซื้อ - ขาย วันที่ 13- 22 กรกฎาคม 2554
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวจากบลจ.ธนชาต ระบุว่า ภาวะตลาดตราสารหนี้ในเดือนมิถุนายนผันผวนอย่างมาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield) อายุตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 15 ปี ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ Yield อายุมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป โดยส่วนใหญ่ปรับลดลงเล็กน้อยหรือไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) มีความชันลดลง โดย Yield อายุ 6 เดือน และ 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด +35 bps และ Yield อายุ 48 ปี ถึง 50 ปี ปรับลดลงมากที่ -7bps
ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้คือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ยังเป็นขาขึ้น โดยนักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 3.00% ไปอยู่ที่ 3.50% ณ สิ้นปี 2554 ทำให้ Yield ระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
โดยธนาคารหลายแห่งเร่งสร้างฐานเงินฝากโดยเสนออัตราดอกเบี้ยสูงผ่านผลิตภัณฑ์เงินฝากและตั๋วแลกเงิน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะบังคับใช้จริงในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ โดยจะลดวงเงินในการคุ้มครองลงเหลือเพียง 50 ล้านบาทจากเดิมที่คุ้มครองเต็มวงเงินในกรณีที่สถาบันการเงินปิดกิจการ และจะลดลงเหลือเพียงแค่ 1 ล้านบาทในปีหน้า ส่งผลให้มีเม็ดเงินย้ายจากการลงทุนในตราสารหนี้เข้าสู่ผลิตภัณฑ์ของธนาคารต่างๆนอจากนี้ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย ส่วนหนึ่งจะเห็นได้จากการที่ค่าเงินบาทในช่วงเดือนมิถุนายนอ่อนค่าจาก 30.301 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 30.745 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯและในเดือนมิถุนายน การประมูลพันธบัตรในตลาดแรกมีปริมาณค่อนข้างมาก ทั้งพันธบัตรอายุ 1 ปี 2 ปี 5 ปี และ 7 ปี ทำให้นักลงทุนเทขายพันธบัตรช่วงอายุดังกล่าวออกมาก่อน เพื่อรอเข้าประมูลใหม่ ส่งผลให้ Yield ปรับเพิ่มขึ้น
สำหรับผลตอบแทน (Return) ของตลาดตราสารหนี้ในเดือนมิถุนายนวัดจากดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Index) ปรับตัวลดลง -0.40% โดยดัชนีมี Duration เฉลี่ย 5.92 ปี และดัชนีหุ้นกู้ภาคเอกชน (Corporate Bond Index (BBB up)) ปรับตัวลดลง -0.32% โดยดัชนีมี Duration เฉลี่ย 2.47 ปี