xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนฟันธงอาร์/พีขึ้น0.25% พบต่างชาติปรับเกมส์เล่นตลาดบอนด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการกองทุนฟันธง ดอกเบี้ยอาร์/พี ขยับอีก 0.25% เหตุกังวลเงินเฟ้อเร่งตัว โดยเฉพาะไตรมาส 3 พร้อมประเมิน ขึ้นดอกเบี้ยดึงเงินทุนนอกไหลเข้าต่อ แต่จะไม่กระทบค่าเงินแล้ว เหตุต่างชาติปรับเกม เฮจด์ค่าเงินเก็งกำไรส่วนต่างดอกเบี้ยขาเดียว หลังดอลลาร์ส่งสัญญาณแข็งค่า

นายอาสา อินทรวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 9 มีนาคมนี้ กนง.จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย อีก 0.25% จากระดับ 2.25% ในปัจจุบันมาอยู่ที่ 2.50% โดยเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวการเร่งตัวของเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อเองจะยังไม่ขยับขึ้นจริง เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลมีการใช้เงินเข้ามาอุดหนุนอยู่ โดยเฉพาะการควบคุมราคา ทั้งราคาอาหาร ราคาน้ำมัน เป็นต้น

โดยในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ยังอยู่ในระดับ 2.8-3.2% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) ขยับตัวเล็กน้อยจากระดับ 1.1-1.2% เป็น 1.45% แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้

"ธปท.เอง คาดการณ์ว่า ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน จะเริ่มเร่งตัวประมาณเดือนกันยายนหรือเดือนตุลาคม หรือช่วงไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี ดังนั้น หากไม่ควบคุมตั้งแต่ตอนนี้ อาจจะกลายเป็นปัญหาในช่วงนั้น"นายอาสากล่าว

นายอาสากล่าวต่อว่า ขณะนี้แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นไปทั้งภูมิภาค ตามเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์เอง อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นถึง 5.5% ซึ่งเป็นระดับที่น่าตกใจ เกาหลีใต้เองเงินเฟ้อก็ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 4.6-4.8% ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ไม่มีการควบคุมราคาเหมือนกับบ้านเรา อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ เชื่อว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงไทยด้วย ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่เร่งตัวเท่าตอนนี้ แต่เงินลงทุนต่างชาติก็ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยถึงกว่า 7 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงเชื่อว่าจะยังมีเงินไหลเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเหล่านี้ เริ่มปรับเปลี่ยนการลงทุนใหม่ จากเดิมที่เข้ามาเก็งกำไรทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและส่วนต่างดอกเบี้ย ด้วยการไม่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (เฮจด์) แต่ตอนนี้ หลังจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ทำให้นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนส่วนใหญ่เร่มกลับมาเฮจด์ค่าเงินมากขึ้น โดยการเอาเงินดอลลาร์มาแลกเป็นเงินบาทแล้วทำสัญญาไว้ล่วงหน้าว่าในช่วงที่จะออกหรืออีก 6 เดือนข้างหน้าจะแลกกลับคืนที่เท่าไหร่

"ปีนี้เงินเข้ามาลงทุนในตลาดตรสารหนี้ไทยประมาณ 7 หมื่นล้านบาท แต่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เหลือเงินลงทุนสุทธิประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งปกติแล้วเงินลงทุนจำนวนมากขนาดนี้ ต้องส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปแล้ว แต่เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมีการเฮจด์ค่าเงินเอาไว้ จึงทำให้เงินบาทไม่แข็ง ซึ่งสวนทางกับปีที่ผ่านมา "นายอาสากล่าว

ด้านสมาคมตราสารหนี้ไทย เปิดเผยรายงานภาวะตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2554) ว่า ยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆที่ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างชัดเจน ประกอบกับสถานการณ์ความวุ่นวายของกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ที่ถึงแม้ว่าจะมีสัญญาณการคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็ตาม แต่เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวและอาจเกิดเหตุการณ์ที่สวนทางกับการคาดการณ์ได้ทุกเมื่อ จึงดึงดูดให้เม็ดเงินส่วนหนึ่งไหลเข้ามาพักอยู่ในตราสารหนี้ระยะสั้น ในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง นอกจากนี้แล้วในวันที่ 9 มี.ค. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งผู้ร่วมตลาดรวมถึงสำนักวิจัยหลายๆแห่งคาดกันว่าน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย(R/P 1 วัน) อีกเล็กน้อย จึงมีผลทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในช่วงอายุคงเหลือสั้นๆ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ประมาณ 8 basis points
กำลังโหลดความคิดเห็น