xs
xsm
sm
md
lg

ทุนนอกจ่อหนีไทยแสนล.หวั่นนโยบายขึ้นค่าแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“กกร.” ค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เหตุกระทบทั้งเศรษฐกิจ การลงทุนโดยประเมินลงทุนจากต่างประเทศมีโอกาสหายในอีก 2-3 ปีในระดับปีละแสนล้านบาททันที ชี้คิดให้รอบคอบหวั่นลงทุนย้ายฐานไปเพื่อนบ้าน จี้ให้รัฐบาลวางกรอบให้ชัดเพื่อประเมินลงทุนได้ถูก เปิดทางพร้อมเจรจารัฐบาลใหม่ กระทรวงแรงงานเผยยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 9.8 แสนคน คาดทะลุ 1 ล้านคนหลังสิ้นสุดยื่นขอจดทะเบียนแรงงานประมง 13 ส.ค.นี้

นายดุสิต นนทะนาคร ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) นัดพิเศษเพื่อพิจารณาผลกระทบต่อนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ วานนี้(20ก.ค.) ว่า กกร.เห็นว่าการขึ้นค่าจ้างดังกล่าวมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน รวมทั้งประชาชน จึงพร้อมที่จะหารือกับภาครัฐในการหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ทั้งนี้ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าว หากรัฐบาลดำเนินนโยบายทันทีจะส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานของไทยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน จากปัจจุบันค่าแรงของไทยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านเฉลี่ยก็สูงอยู่แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันและการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งปกติจะเข้ามาในไทยปีละ 4 แสนล้านบาท โดยจะมีผลให้การลงทุนจากต่างประเทศมาไทยลดลงในอีก 2-3 ปีข้างหน้าในระดับปีละ 25% หรือ 1 แสนล้านบาทได้

“ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าของไทยในตลาดโลกปรับตัวสูงอาจส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในตลาดโลก และเราเองจะต้องมองให้ไกลเพราะปี 2558 ไทยก็จะต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถึงตอนนั้นเพื่อนบ้านก็พร้อมจะรองรับการย้ายฐานการลงทุนเช่นกัน การลงทุนก็มีทางเลือกมากขึ้น หากเราไม่รอบคอบจะกระทบต่อความเจริญของประเทศได้”นายดุสิตกล่าว

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ เนื่องจากจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยควรจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามกลไกตลาด และเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการไตรภาคี โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองอย่างไรก็ตามหากรัฐบาลต้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจริง ก็ขอให้รัฐบาลหาแนวทางการจ่ายส่วนต่างค่าจ้างดังกล่าวด้วย

ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเฉียดล้าน

นายประวิทย์ เคียงผล รองอธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน(รง.) เปิดเผยผลการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.-14 ก.ค.2554 ซึ่งผลสรุปข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค.มีนายจ้างยื่นขอจดทะเบียน 164,474 ราย จำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น 984,535 คน แยกเป็นแรงงานพม่า 643,095 คน กัมพูชา 238,586 คนและลาว 102,854 คน ซึ่งแรงงานต่างด้าวด้านประมงนั้นยังมีเวลายื่นขอจดทะเบียนอีก 1 เดือนไปจนถึงวันที่ 13 ส.ค.นี้ จึงคาดว่าแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนทั้งหมดกว่า 1 ล้านคน

หลังจากนี้จะจัดเก็บข้อมูล Bio Data แรงงานต่างด้าวทั้งภาพใบหน้าและลายนิ้วมือซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.นี้

ส่วนกรณีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าทางชายแดนไทยเพื่อต้องการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว โดยหวังค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นั้น นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กล่าวว่า จุดประสงค์ในการให้ขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในเมืองไทยอย่างผิดกฎหมายได้รับการผ่อนผันอย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องการให้คนต่างด้าวเคลื่อนย้ายเข้ามาอีก ซึ่งทางชายแดนต่างๆ ที่กองทัพไทยเป็นเจ้าภาพนั้น ได้มีการสกัดกั้นและจับกุมต่างด้าวที่พยายามลักลอบเข้ามา

นายอนุรักษ์ กล่าวว่า นโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้น ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการค่าจ้างที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ดังนั้น ขณะนี้ค่าจ้างยังคงเดิมอยู่ จึงไม่น่าจะเกี่ยวกับการที่มีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวและพิสูจน์สัญชาติครั้งก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2552 มีแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนจำนวน 9.3 แสนคน ในจำนวนนี้ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว 5.6 แสนคน ที่เหลืออีกประมาณ 3.7 แสนคน อยู่ในระหว่างรอการพิสูจน์สัญชาติ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2555 โดยแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้จะได้วีซ่าทำงานหรือ Non-immigrant (LA) ที่อนุญาตให้ทำงานได้ 2 ปี อย่างถูกกฎหมาย โดยกำหนดไว้ 2 อาชีพ คือ แม่บ้านและผู้ใช้แรงงาน

"เจ้ปู"ยันขึ้นค่าแรงต้องหารือผู้เกี่ยวข้องก่อน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ กล่าวถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะทำไม่ได้ว่า พรรคเพื่อไทยมุ่งมั่นที่จะทำในเรื่องค่าแรง 300 บาท หากดูสถิติที่ผ่านมา ค่าแรงไม่ได้ขึ้น ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ดังนั้นจึงอยากช่วยแบ่งเบาภาระผู้ใช้แรงงาน แต่ทั้งนี้ก็ต้องไปดูผลกระทบทั้งหมด ก็คงจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงบริษัทเอกชนว่ามีผลกระทบอย่างไร ซึ่งพรรคเพื่อไทยคงไม่เดินหน้าทำโดยไม่คำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบ และผู้ที่เกี่ยวข้อง

ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเข้าไปหารือกับทุกภาคส่วนเท่าที่จะทำได้ แต่สุดท้ายก็ต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง คงจะไม่สามารถบอกว่าเป็นแนวทางปฏิบัติทันที แต่จะหารือร่วมกัน เป็นแนวทางที่เห็นชอบร่วมกัน และยืนยันว่า นโยบายนี้สามารถทำได้จริง เพราะมีการคำนวณ และศึกษามาระดับหนึ่งแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น