xs
xsm
sm
md
lg

กกจ.สรุปยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 9.8 แสนคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
กกจ.สรุปยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 9.8 แสนคน ส่วนแรงงานประมงจดทะเบียนได้ถึง 13 ส.ค.นี้ พร้อมเร่งหาบริษัทจัดเก็บข้อมูล  Bio  Data - บริษัททำประกันดูแลความปลอดภัยในการทำงานแรงงานต่างด้าว คาดสรุปผลสัปดาห์นี้ ชี้ไม่บังคับนายจ้างทำประกันให้ต่างด้าว แต่เพื่อลดการค้ามนุษย์และทำตามสนธิสัญญาไอแอลโอ

วันนี้  (20 ก.ค.) นายประวิทย์  เคียงผล   รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน (รง.)     เปิดเผยผลการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. - 14 ก.ค.2554 ซึ่งผลสรุปข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค.มีนายจ้างยื่นขอจดทะเบียน 164,474  ราย   จำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น  984,535 คนแยกเป็นแรงงานพม่า 643,095 คน กัมพูชา 238,586 คนและลาว 102,854 คน  ซึ่งแรงงานต่างด้าวด้านประมงนั้นยังมีเวลายื่นขอจดทะเบียนอีก 1  เดือนไปจนถึงวันที่ 13  สิงหาคมนี้  จึง คาดว่าแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนทั้งหมดกว่า 1  ล้านคน  อย่างไรก็ตาม ทาง กกจ.ได้ทำหนังสือแจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อขอให้จับกุมและปราบปรามแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทยโดยผิดกฎหมายและลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดนไทยอย่างเข้มงวด ยกเว้นแรงงานต่างด้าวด้านประมง

รองอธิบดี กกจ.กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะจัดเก็บข้อมูล Bio  Data  แรงงานต่างด้าวทั้งภาพใบหน้าและลายนิ้วมือซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.โดยก่อนหน้านี้มีบริษัทเอกชนสนใจซื้อซองประมูล เพื่อเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ 15 บริษัท แต่มายื่นซองประมูลแค่ 3 บริษัท ซึ่ง กกจ.จะคัดเลือกเหลือ  1 บริษัทที่คิดค่าดำเนินการต่ำสุด นอกจากนี้ ได้แจ้งสมาคมประกันภัยและสมาคมวินาศภัยขอให้แจ้งสมาชิกเพื่อเชิญชวนเข้าร่วมโครงการประกันภัยความปลอดภัยในการทำงานให้แก่แรงงานต่างด้าวโดยจะมีการออกประกาศกระทรวงแรงงานรองรับเพื่อให้แรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนในครั้งนี้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เท่าเทียมกับที่ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 กำหนดไว้   ทั้งนี้  ขณะนี้ กกจ.รอข้อมูลจากทั้งสองสมาคมและจะคัดเลือกให้เหลือ 1 บริษัทซึ่งต้องมีข้อเสนอเป็นไปตาม พ.ร.บ.เงินทดแทนและคิดเบี้ยประกันในราคาต่ำสุด  อย่างไรก็ตาม  การดำเนินการในกรณีการประกันภัยนี้ไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้าง  

           
“คาดว่าการคัดเลือกบริษัทเพื่อดำเนินการใน 2 เรื่องจะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ การซื้อประกันให้แก่แรงงานต่างด้าวไม่ได้บังคับนายจ้าง แต่อยากเชิญชวนให้ซื้อประกันไว้เพื่อให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ได้รับการ ดูแลตามสนธิสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งไอแอลโอและอเมริกากำลังจับตาดูไทยในเรื่องนี้” นายประวิทย์กล่าว

           
รองอธิบดี กกจ.กล่าวด้วยว่า  เมื่อได้ตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่มาจดทะเบียนครั้งนี้ในภาพรวมทั้งหมดแล้วก็จะประสานไปยังประเทศพม่า กัมพูชาและลาวเพื่อแจ้งยอดตัวเลขแรงงานต่างด้าวของแต่ละประเทศ ซึ่งไทยกับทั้ง 3 ประเทศจะประชุมกันโดยจัดขึ้นทุกปีแต่ปีนี้ยังไม่รู้ว่าจะประชุมเมื่อไหร่ ทั้งนี้ จะขอให้แต่ละประเทศไปพิจารณาว่าจะออกเอกสารรับรองสัญชาติให้แก่แรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนหรือไม่ หากออกเอกสารรับรองสัญชาติ  กกจ.จะหารือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อออกวีซ่าให้แก่แรงงานต่างด้าว แต่ถ้าประเทศต้นทางไม่ออกเอกสารรับรองสัญชาติ หลังครบกำหนดผ่อนผันให้อยู่ในไทยชั่วคราว 1 ปี จะต้องผลักดัน กลับประเทศ แล้วให้มีการออกเอกสารรับรองสัญชาติและให้กลับเข้าไทยอีกครั้งผ่านเอ็มโอยู นำเข้าแรงงานต่างด้าวระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนกรณีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าทางชายแดนไทยเพื่อต้องการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว โดยหวังค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นั้น นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กล่าวว่า จุดประสงค์ในการให้ขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในเมืองไทยอย่างผิดกฎหมายได้รับการผ่อนผัน อย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องการให้คนต่างด้าวเคลื่อนย้ายเข้ามาอีก ซึ่งทางชายแดนต่างๆ ที่กองทัพไทยเป็นเจ้าภาพนั้น ได้มีการสกัดกั้นและจับกุมต่างด้าวที่พยายามลักลอบเข้ามา





“นโยบาย ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้น ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการค่าจ้างที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ซึ่งในขณะนี้ค่าจ้างยังคงเดิมอยู่ อย่างในกรุงเทพฯ ก็คือ 215 บาทต่อวัน จึงคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าเกี่ยวข้องในการที่จะทำให้มีแรงงานเข้ามา โดยคิดว่าการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในครั้งนี้น่าจะมาจากการได้รับความ ร่วมมือจากทางเครือข่าย ที่มีทั้งอาสาสมัครที่เป็นทั้งคนไทยและต่างด้าวเอง กลุ่มเอ็นจีโอ ที่ให้ความร่วมมือและเข้ามาช่วยประชาสัมพันธ์”



ทั้ง นี้การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวและพิสูจน์สัญชาติครั้งก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2552 มีแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนจำนวน 9.3 แสนคน ในจำนวนนี้ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว 5.6 แสนคน ที่เหลืออีกประมาณ 3.7 แสนคน อยู่ในระหว่างรอการพิสูจน์สัญชาติ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2555 โดยแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้จะได้วีซ่าทำงานหรือ Non-immigrant (LA) ที่อนุญาตให้ทำงานได้ 2 ปี อย่างถูกกฎหมาย โดยกำหนดไว้ 2 อาชีพ คือ แม่บ้านและผู้ใช้แรงงาน

กำลังโหลดความคิดเห็น