ปลัดกระทรวงแรงงานเผย เปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 15 มิ.ย.-14 ก.ค.นี้ ส่วนประมงเพิ่มให้อีก 30 วัน เสียไม่เกิน 3,380 บ./คน สั่งหน่วยงานระดับพื้นที่-อาสาสมัคเร่งให้ความรู้นายจ้าง ขู่นายจ้างเมินมีโทษปรับ 1 หมื่น-1 แสนบาท
วันนี้ (12 พ.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนามาตรการจัดระบบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2554 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ว่า มติ ครม.ดังกล่าวให้กระทรวงแรงงานเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองและลักลอบทำงานในไทยโดยผิดกฎหมายรอบใหม่ที่คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 1-2 ล้านคน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย (มท.) ออกประกาศผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในไทยเป็นการชั่วคราว 1 ปี
นพ.สมเกียรติกล่าวอีกว่า ล่าสุดจากการประสานงานกับ มท. คาดว่าจะมีการออกประกาศภายในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ และในส่วนกระทรวงแรงงานได้เปิดให้นายจ้างยื่นคำร้องขอจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพฯ เขตพื้นที่ 1-10 ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ถึง 14 กรกฎาคม 2554 โดยในส่วนแรงงานต่างด้าวที่ทำอาชีพประมงจะขยายเวลาออกไปอีก 30 วัน โดยสามารถยื่นคำร้องได้ใน 22 จังหวัดตามชายฝั่งทะเลที่มีท่าเรือ ทั้งนี้ นายจ้างจะเสียค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวไม่เกิน 3,380 บาทต่อคน เช่น ค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท ค่าประกันสุขภาพ 1,300 บาท เป็นต้น
นพ.สมเกียรติกล่าวอีกว่า ขอให้หน่วยงานของกระทรวงแรงงาน ช่วยกันประชาสัมพันธ์ในเรื่องของการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในครั้งนี้ รวมทั้งให้อาสาสมัครแรงงานที่มีจำนวนกว่า 7,000 คน ช่วยทำความเข้าใจกับนายจ้างในเรื่องดังกล่าว และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นายจ้าง ขอให้สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพฯ เขตพื้นที่ 1-10 ไปประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ และโรงพยาบาล ในการส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมกันในการจัดทำประวัติแรงงานต่างด้าว (ท.ร.38/1) และตรวจสุขภาพในจุดเดียว แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ ก็ให้ประสานเจ้าหน้าที่มาช่วยออกบัตรนัดเพื่อดำเนินการใน 2 เรื่องข้างต้น อีกทั้งให้สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพ เขตพื้นที่ 1-10 รวบรวมข้อมูลของแรงงานต่างด้าวส่งกลับมาที่กรมการจัดหางาน เพื่อออกใบอนุญาตทำงาน
“การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าไทยให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นนโยบายเปิดประตู ปิดหน้าต่าง หากแรงงานต่างด้าวมีพาสปอร์ต วีซ่า เข้ามาโดยถูกต้องก็จะได้รับการดูแล แต่หากปีนหน้าต่างหรือมุดเข้ามาก็จะเข้ามาไม่ได้ เพราะหากรู้จำนวนแรงงานต่างด้าวที่แน่นอน ก็จะเป็นประโยชน์ในเรื่องของความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศ จึงขอให้นายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียน ถ้าไม่แจ้งและขึ้นทะเบียน หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังทั้งนายจ้าง ผู้ให้ที่พักพิง รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยนายจ้างสถานประกอบการจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท ต่อการจ้างงานแรงงานต่างด้าว 1 คน ส่วนแรงงานต่างด้าวมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นพ.สมเกียรติกล่าว