xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อวดดี....ไม่มีกึ๋น ทำนิคมอุตสาหกรรมพินาศแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รถยนต์ที่ยังประกอบไม่เสร็จในบริเวณโรงงานฮอนด้า นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้นับเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ของประเทศไทยซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน และระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจากการประเมินของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทยพบว่าเหตุน้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่าสูงถึง 130,120 ล้านบาท โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อนิคมอุสาหกรรมหลายแห่งที่อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจและแรงงานพังครืนตามมาเป็นโดมิโนด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งมาจากความอวดดี ความประมาท และการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต่างมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำในครั้งนี้ได้ จึงไม่ได้มีการแจ้งเตือนให้โรงงานอุตสาหกรรมเตรียมอพยพขนย้ายเครื่องจักรและสินค้าต่างๆ ดังนั้นเมื่อเมื่อน้ำทะลักเข้าพื้นที่จึงเกิดความเสียหายอย่างหนักเพราะไม่สามารถอพยพได้ทัน

**3 นิคมอุตสาหกรรม จมใต้น้ำ

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมหลักๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมหันตภัยน้ำครั้งนี้ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ต.คานหาม อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งถูกน้ำถาโถมเข้าทำลายจนคันดินกั้นน้ำที่สูงถึง 6.50 เมตรพังทลายลงมา ส่งผลให้น้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 เฟส ส่งผลกระทบต่อโรงงานกว่า 200 แห่ง ทำให้โรงงานขนาดใหญ่ 30 แห่งเสียหาย ต้องอพยพคนงานกว่า 3 พันคน และต้องสั่งปิดโรงงานทุกแห่งอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้นั้นมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 2.6 หมื่นล้าน

ตามด้วย นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนคร ต.บางพระครู อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้กลายเป็นเมืองที่จมบาดาลไปทันทีภายหลังจากที่คันกั้นน้ำแตก ระดับน้ำไหลหลากกว่า 3-4 เมตรทะลักเข้าจมโรงงานขนาดใหญ่กว่า 46 แห่ง โดยแต่ละแห่งเป็นโรงงานขนาดพันล้านถึงหลายหมื่นล้าน และเกือบทุกโรงงานมีอาคารโกดังการผลิตโรงงานละกว่า 10 อาคารหรือ 10 โรงงานย่อยในบริษัทใหญ่ นอกจากนี้ยังมีโรงงานขนาดย่อมที่เป็นโรงงานซับคอนแท็กของโรงงานขนาดใหญ่อีกเป็นร้อยโรงงาน ทั้งหมดจมอยู่ใต้น้ำ โดยพบว่าเกือบทุกโรงงานไม่สามารถที่จะขนย้ายสิ่งของได้ทัน ซึ่งจากการประเมินของสภาอุตสาหกรรมฯ ระบุว่าความเสียหายของนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนคร ในเบื้องต้นนั้นสูงถึง 3-4 หมื่นล้านเลยทีเดียว

นอกจากนั้นยังมี นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) ซึ่งถูกกระแสน้ำเข้าถล่มจนต้องเร่งอพยพผู้คนออกนอกพื้นที่และต้องหยุดการผลิตเช่นกัน โดยมีโรงงานถึง 143 แห่งที่ต้องจมอยู่ในน้ำ ทั้งนี้นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคนั้น มีมูลค่าการลงทุนกว่า 65,132 ล้านบาท มีคนงานกว่า 51,186 คน มีโรงงานจำนวน 143 โรง ส่วนใหญ่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งการหยุดการผลิตดังกล่าวนั้นได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยเป็นอย่างมาก

ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมอื่นๆซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงและยังไม่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมนวนคร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี , นิคมอุตสาหกรรม เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ , นิคมอุตสาหกรรมอัญธานี เขตประเวศ กรุงเทพฯ ,นิคมอุตสาหกรรมบางพลี อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ หรือ นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ต่างก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมมือกับภาวะน้ำท่วมโดยด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลทะลักเข้ามาสร้างความเสียหายให้แก่โรงงาน

ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นั้น แม้จะยังไม่ถูกน้ำท่วมแต่ก็ได้หยุดประกอบกิจการที่มูลค่าลงทุน 6 หมื่นล้านบาทชั่วคราวทั้งหมดแล้ว 90 แห่ง รวมทั้งอพยพแรงงาน 6 หมื่นคนออกจากนิคมฯ เนื่องจากมองว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงที่ส่อเค้าว่าอาจจะได้รับผลกระทบในเร็วๆ นี้

**น้ำท่วมทำประเทศพังยับ 1.3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ามหันตภัยน้ำที่ถาโถมเข้าทำลายย่านอุตสาหกรรมของไทยในครั้งนี้ได้สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงให้แก่ระบบเศรษฐกิจของไทย

น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าตัวเลขความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยต่อภาคอุตสาหกรรมล่าสุดนั้น ปรากฏว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบแล้วกว่า 900 โรงแล้ว โดยมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบกว่า 2 แสนคน ขณะที่จากรายงานของกระทรวงแรงงานระบุว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้แรงงานจำนวนกว่า 2 แสนคน ต้องถูกหยุดพักงานชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด

ขณะที่การประเมินจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้มีมูลค่าความเสียหายรวมสูงถึง 130,120 ล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีลดลง 1-1.3% อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ต่ำกว่า 4.4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เคยประมาณการณ์ไว้เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่าน นอกจากนั้นยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคด้วย

"เรามองว่าเศรษฐกิจปีนี้จะโตแค่ 3.6% หรืออยู่ในกรอบระหว่าง 3.5-4.0% เพราะสถานการณ์น้ำท่วมเป็นปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจปีนี้มากที่สุด ซึ่งในส่วนของความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรมนั้น หากน้ำท่วมภายใน 1 เดือน จะทำให้มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท แต่หากมีความเสียหายนานกว่า 1 เดือน จะทำให้มูลค่าความเสียหายสูงถึง 2.5-3 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว และหากน้ำท่วมกรุงเทพฯ ความเสียหายอาจเพิ่มขึ้นไปอีก 2 หมื่นล้าน เพราะอาจจะกระทบการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรม"นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวถึงตัวเลขความเสียหายจากอุทกภัยใหญ่ครั้งนี้

สำหรับด้านการส่งออกนั้น ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ประเมินว่าปัญหาน้ำท่วมทำให้การส่งออกของไทย ในไตรมาส 4/2554 ลดลง 1.4% ส่วนการส่งออกในปี 2554 ทั้งปี ลดลง 0.4%

“หากรวมทั้งสองปัจจัย คือปัญหาน้ำท่วมและปัญหาเศรษฐกิจโลก จะทำให้ตัวเลขส่งออกของไทยในปีนี้ลดลงถึง 4.4% ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังเป็นเพียงการประเมินเฉพาะปัญหาน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดอยุธยาเท่านั้น ไม่ได้รวมความเสียหายจากพื้นที่การเกษตร ซึ่งเชื่อว่าความเสียหายจะมากกว่านี้และน่าจะใช้เวลามากกว่า 3-6 เดือนในการฟื้นฟู ทำให้ไตรมาส 1 ปีหน้า (2555) การส่งออกจะชะลอตัวลงอีก ” นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ระบุ

ขณะที่ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อนั้น ทางด้าน ฝ่ายวิจัย ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)ประเมินว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมในขณะนี้จะทำให้ระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับขึ้นไปที่ร้อยละ 5.1 และ อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสด ปรับขึ้นเป็นร้อยละ 11.9 ในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี 2554 จากอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 4.0 และ 7.9 ตามลำดับ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

**ต่างชาติไม่มั่นใจฐานการผลิตในไทย

นอกจากความเสียหายที่เกิดกับเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมโดยตรงแล้ว ความด้อยประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจากอุทกภัยในครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมยานยนต์ ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมยังยากต่อการประเมินว่าจะเลวร้ายลงไปมากน้อยเพียงใด แต่ข้อมูลเบื้องต้น นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนะนคร ที่ได้รับผลกระทบมีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 40-50 ราย ทั้งบริษัทที่เป็นผู้ผลิตข้ามชาติ และผู้ผลิต เทียร์ 2 เทียร์ 3 จำนวนมาก ทั้งชิ้นส่วนพลาสติกอัดฉีด, เบรก, กระจกมองหลัง ฯลฯ ซึ่งหากสถานการณ์คลี่คลายภายในเร็ววัน เชื่อว่าผลกระทบที่อุตสาหกรรมยานยนต์จะได้รับ คือ ยอดการผลิตจะหายไป 1 เดือน หรือประมาณ 3-4 หมื่นคัน ทำให้จากเดิมที่คาดว่าปีนี้จะมีการผลิตรถยนต์ 1.8-1.9 ล้านคัน หลังค่ายรถฟื้นตัวจากสึนามิ แต่วันนี้อาจจะต้องกลับไปมองตัวเลขที่น้อยกว่า 1.8 ล้านคัน

"ค่ายรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบตรงนี้ คือ ฮอนด้า ที่จำเป็นต้องประกาศหยุดงานชั่วคราว แต่โตโยต้า นิสสัน และมิตซูบิชิ ได้รับผลกระทบบ้างบางส่วน สิ่งสำคัญคืออีก 2-3 นิคม ทั้งนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) และนวนคร จะได้รับผลกระทบหรือไม่ ” นายศุภรัตน์กล่าว

ขณะที่ ผู้บริหารบริษัทฮอนด้า มอเตอร์ กรุงโตเกียว ระบุว่า จากเหตุที่โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าในประเทศไทยยังคงจมอยู่ใต้บาดาลอันเนื่องจากวิกฤตอุทกภัยครั้งร้ายแรงในขณะนี้ส่งผลให้กำลังการผลิตของฮอนด้าทั่วโลกนั้นลดลงไปถึง 4.7%

ด้าน นายสุภาพ คลี่ขจาย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ยอมรับว่า ขณะนี้มีบริษัทต่างชาติรายใหญ่ที่ลงทุนในไทยเริ่มตั้งคำถามกันมากเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยถามผ่านทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่สงสัยว่าไทยจะมีแผนป้องกันน้ำท่วมแบบถาวรได้หรือไม่ และต้องการรู้ว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ จะเบ็ดเสร็จเมื่อไหร่ ซึ่งเรื่องนี้ กนอ. และบีโอไอ ได้ชี้แจงว่ารัฐบาลกำลังเร่งวางระบบป้องกันน้ำท่วม เพราะเชื่อว่าถ้าปี 2555 บริษัทต่างชาติจะขยายการลงทุนก็ต้องนำเรื่องปัญหาน้ำท่วมมาพิจารณาด้วยอย่างแน่นอน

แต่เมื่อย้อนมาดูการทำงานของรัฐบาลในขณะนี้กลับยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาและป้องกันภาวะน้ำท่วมที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมในอนาคตอีกอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือ นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม แม้กระทั่ง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ซึ่งลงไปดูพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ทำได้เพียงร่ำไห้และสวมกอดปลอบขวัญนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อแสดงความเสียใจต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น

เมื่อสติปัญญาของรัฐบาลมีเพียงเท่านี้ แถมยังมีความอวดดีเป็นที่ตั้งจึงไม่แปลกที่การวางแผนแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์น้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาจึงเป็นไปแบบ 'น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง' หาสาระหลักเกณฑ์อะไรไม่ได้ หนำซ้ำการจะประกาศมาตรการแต่ละครั้งก็ยังเป็นไปแบบกล้าๆกลัวๆ เนื่องจากห่วงภาพลักษณ์ของรัฐบาลมากกว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศชาติ ดังนั้นในยามนี้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนคนไทยผู้ประสบภัยทุกคนก็คือการ 'พึ่งตัวเอง' !!
กำลังโหลดความคิดเห็น