xs
xsm
sm
md
lg

อุตฯ รถ 3 เดือนฟื้นจมน้ำ-มั่นใจผู้ผลิตไม่หนีลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวในประเทศ - ประเมินอุตฯ ยานยนต์ใช้เวลา 2-3 เดือน ฟื้นจากน้ำท่วม เผยยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ ขณะที่ส่งมอบรถลูกค้าช้าลงแน่ แต่เชื่อไม่มีการย้ายฐานผลิตหรือหนีลงทุนจากไทย เทียบประเทศในอาเซียนไทยยังดีกว่า ที่สำคัญแนวโน้มการเติบโตยังสดใส ด้าน “ฟอร์ด” วอนขอนโยบายรัฐอยู่นิ่งๆ โอดโครงการรถคันแรกทำสูญ 450 ล้านบาท

นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ และรองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยเพิ่งฟื้นจากเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น แต่ต้องมาประสบกับสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะจังหวัดอยุธยาที่มีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ทำให้โรงงานประกอบรถยนต์ฮอนด้า และโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง ไม่สามารถผลิตได้

“เหตุการณ์น้ำท่วมถือเป็นภัยธรรมชาติระยะสั้น คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ผู้ผลิตชิ้นส่วนจะฟื้นการผลิตได้เหมือนเดิม แต่ในส่วนของโรงงานประกอบรถ คงจะกลับผลิตได้ในเร็วๆ นี้ เพราะสามารถหาชิ้นส่วนจากแหล่งอื่นมาทดแทนได้ และบริษัทรถมีประสบการณ์เรื่องนี้พอสมควร หากเทียบกับเหตุการณ์สึนามิ ถือว่ารุนแรงน้อยกว่ามาก จะมีเพียงฮอนด้าที่โรงงานประกอบรถอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมโดยตรง จึงต้องติดตามว่าจะฟื้นได้เร็วแค่ไหน”

ส่วนผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ณ ปัจจุบันคงยังไม่สามารถระบุผลเสียหายของอุตสาหกรรมยานยนต์มากน้อยแค่ไหน ต้องรอให้สถานการณ์น้ำท่วมลดลง หรือคลี่คลายชัดเจนเสียก่อน ซึ่งเดิมคาดว่าการผลิตปีนี้จะมีไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคัน และจำหน่ายในประเทศประมาณกว่า 9 แสนคัน คาดว่าน้ำท่วมจะทำให้ลดลงบ้าง แต่จะมากหรือน้อย ยังไม่สามารถประเมินได้ในตอนนี้ ขณะที่การส่งมอบรถลูกค้าคงต้องช้าลงแน่นอน

“เชื่อว่าปัญหาน้ำท่วมจะไม่ส่งผลให้มีการย้ายฐาน หรือผู้ผลิตที่กำลังตัดสินใจจะมาลงทุนในไทยหนีไปที่อื่น เพราะหากเทียบกับประเทศคู่แข่งอุตสาหกรรรมยานยนต์ในอาเซียน อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์ ยังถือว่าไทยมีปัญหาเรื่องอุทกภัยน้อยกว่า และที่สำคัญไทยมีความพร้อมเรื่องฝีมือแรงงาน โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ มากกว่า ตลอดจนตลาดรองรับ ดังนั้นไทยยังมีความเหมาะสมต่อการลงทุนอยู่มาก”

ทั้งนี้ นางเพียงใจได้กล่าวในงานสัมนา “อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” จัดโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและสถาบันยานยนต์ว่า โอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังมีอีกมาก เห็นจากจำนวนประชากรไทยกับรถยนต์ มีอัตรา 6.8 ต่อ 1 ขณะประเทศที่เติบโตเต็มที่อย่างสหัฐอเมริกาและญี่ปุ่นอยู่ที่ 2 ต่อ 1 หรือเฉลี่ยรายได้ประชากรของไทย สามารถซื้อรถยนต์ได้ทุกครัวเรือน โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง หรือเก๋ง ขนาดระดับไม่เกิน 1500 ซีซี และบวกกับความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทย ทำให้โอกาสการขยายตัวของตลาดรถได้อีกมาก

นางสุภวรรณ พรวุฒิกร ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ไทยเป็นฐานการผลิตปิกอัพระดับโลก และจะมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง เห็นได้จากแนวโน้มความต้องการปิกอัพทั่วโลกยังเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการประเมินในปี 2030 จะเพิ่มเป็น 4.6 ล้านคัน โดยปัจจุบันมีปิกอัพอยู่ที่กว่า 2 ล้านคันต่อปี

“สิ่งนี้แสดงให้เห็นทิศทางความเติบโตของฐานการผลิตปิกอัพในไทยอย่างดี และที่ผ่านมาภาครัฐของไทยก็ให้การสนับสนุนดี เพียงแต่มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม อยากให้รัฐบาลไทยกำหนดนโยบายให้ชัดเจนและต่อเนื่อง หรือหากจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ ควรจะให้ระยะเวลาพอสมควรในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง”

สำหรับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม หลังจากโรงงานรถยนต์และเครื่องยนต์อเนกประสงค์ของฮอนด้าได้หยุดการผลิตไม่มีกำหนด และล่าสุดบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนบางรายได้รับผลกระทบ และไม่สามารถส่งชิ้นส่วนมายังบริษัทฯได้ ดังนั้นโตโยต้าจึงมีความจำป็นต้องหยุดการผลิตชั่วคราว สำหรับโรงงานทั้ง 3 แห่ง ระหว่างวันที่ 12-15 ตุลาคม 2554 โดยในขณะนี้บริษัทฯ กำลังประเมินสถานการณ์ด้านชิ้นส่วนการผลิตอย่างใกล้ชิด

นายอานุภาพ ทัดพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจ บริษัท ฟอร์ด โอเปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แม้โรงงานเอเอทีของฟอร์ดและมาสด้าที่จังหวัดระยองไม่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม แต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่จังหวัดอยุธยาได้รับผลกระทบจากเหตุกรณ์น้ำท่วม ทำให้โรงงานเอเอที(AAT) หยุดการผลิต เพื่อประเมินสถานการณ์ เมื่อวันที่ 11-12 ตุลาคมที่ผ่านมา และตอนนี้ได้กลับมาดำเนินการผลิตแล้ว

“ฟอร์ดยังมั่นใจประเทศไทย และเป็นฐานการผลิต 1 ใน 3 แห่งในภูมิภาคเอเชีย แม้ภัยธรรมชาติจะส่งผลกระทบ แต่สิ่งที่ท้าทายการดำเนินธุรกิจของฟอร์ด นอกจากการปรับตัวเรื่องเทคโนโลยี ยังอยู่ที่นโยบายภาครัฐในไทย ซึ่งไม่ควรจะปรับเปลี่ยนมากนัก อย่างเรื่องโครงการรถคันแรก ทำให้ฟอร์ดสูญเสียรายได้ไปกว่า 15 ล้านเหรียญ หรือ 450 ล้านบาท จากการที่ฟอร์ด เฟียสต้า 1.6 ลิตร ไม่ได้สิทธิคืนเงินภาษีเหมือนรถซับคอมแพกต์คู่แข่ง” นายอานุภาพกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น