xs
xsm
sm
md
lg

สร้างเขื่อนกันน้ำท่วมนิคมฯ ทำไมต้องฟ้องศาลปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวก คือ ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงพื้นทีนิคมอุตสาหกรรม 11 แห่ง รวม 39 คน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ในวันที่ 6 มี.ค. 2555 เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรม 11 แห่ง โดยมีผู้ถูกฟ้องคดี 7 รายคือ 1. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2. กรมโรงงานอุตสาหกรรม 3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 5.ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน 6. คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และ 7. คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)

ข้อกล่าวหาที่มีต่อผู้ถูกร้องทั้ง 7 คือ สนับสนุนและอนุญาตให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรม ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำถาวร เพื่อล้อมรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรม โดยไม่ผ่านกระบวนการ ขั้นตอน หรือหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการขัดหรือแย้งหรือละเว้นต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗, ละเว้นพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๔๖ ถึงมาตรา ๕๑ และละเว้นพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ และละเว้นพระราชบัญญัติการขุดและถมดิน พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ และมาตราอื่น ๆ รวมทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๘ ประกอบมาตรา ๘๔ โดยชัดแจ้ง

หลักใหญ่ใจความของกฎหมายเหล่านี้คือ การรับรองและคุ้มครองสิทธิของประชาชน ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงกานขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชน ด้วยการกำหนดว่า ต้องให้ประชาชนที่อาจได้รับผลกรัทบ มีส่วนร่วม ตั้งแต่การรับฟังความเห็น การมีส่วร่วมในการพิจารณารุปแบบโครงการ รวมทั้งการบัญญัติให้เจ้าของโครงการตั้งจัดทำ การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

แต่ การก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมรอบนิคม ทั้ง 11 แห่ง ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นเลย ทั้งๆที่การสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมทั้ง 11 แห่ง เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อชุ่มชนที่อยู่โดยรอบดังนี้

-การปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำถาวร ในยามที่มีปัญหาอุทกภัยหรือน้ำหลากมา หรือฝนตกชุก อาจทำให้ระดับน้ำท่วมสูงขึ้นในชุมชนรอบข้าง และสร้างความเสียหายให้พื้นที่หลายแห่งโดยรอบที่อยู่ใกล้เคียง โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีและหรือผู้ประกอบการหรือผู้พัฒนานิคมฯมิเคยไปทำความเข้าใจและหาทางวางแผนไม่ให้ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวที่จะต้องได้รับความเดือดร้อนและเสียหายแน่นอน หรือมีการกำหนดมาตรการชดเชย เยียวยาที่ชัดเจนเสียก่อน ก่อนที่จะวางแผนหรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว หรือมีมาตรการการแก้ไขปัญหาน้ำหลากอย่างเบ็ดเสร็จแล้วเสียก่อน

-การปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวรนั้น จะเกิดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงตามมามากมาย ทั้งผลกระทบจากการก่อสร้าง ผลกระทบจากการเบี่ยงเบนลำน้ำหรือเส้นทางการไหลของน้ำหรือทางน้ำผ่าน (Floodway) จากเส้นทางเดิม จะทำให้ระดับน้ำในชุมชน ที่อยู่อาศัย เคหะสถานของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านเพิ่มสูงขึ้น ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกัน ดูแล รักษาทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และจะเกิดความเสียหายมากหากน้ำล้นสันเขื่อนหรือกำแพงกั้นน้ำแตก ชาวบ้านหรือชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณเหนือและหรือโดยรอบเขื่อนอาจไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจะเพิ่มเท่าทวีคูณ และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาอีกมากมายเหลือคณานับ

-พื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านที่อยู่เหนือเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ หรือโดยรอบเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ จะกลายเป็นพื้นที่รองรับน้ำแทนนิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม เพราะในยามที่เกิดอุทกภัยหรือน้ำหลากมาหรือยามฝนตกหนัก น้ำเหล่านั้นจะไม่สามารถไหลผ่านออกไปตามทิศทางการไหลของน้ำตามธรรมชาติได้เลย เพราะมีเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ กั้นขวางทิศทางการไหลของน้ำเหล่านั้น ทำให้พื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่นาข้าวของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านกลายเป็นที่รองรับน้ำแทน ทำให้น้ำท่วมขัง กลายเป็นห้วย หนอง หรือบึงรับน้ำอย่างถาวร หรือใช้ระยะเวลาท่วมขังนานขึ้น นอกจากนั้นเมื่อน้ำไม่ไหลหรือหยุดนิ่งยาวนานก็จะก่อให้เกิดน้ำเน่าเสียขึ้นมาได้ สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตของประชาชนตามมาไม่มีที่สิ้นสุด

-การปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวร เพื่อหวังปกป้องนิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของชุมชนรอบข้างเลย จึงเป็นแนวคิดที่ผิดพลาด ผิดกฎหมายหลายประการข้างต้น และเอาเปรียบสังคม ที่สำคัญแม้นิคมอุตสาหกรรม /เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม หรือโรงงานจะถูกป้องกันอย่างแน่นหนาน้ำไม่ท่วมถึง แต่หากโรงงานผลิตสินค้าออกมาได้ จะขนส่งผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์หรือสินค้าออกไปได้อย่างไร รวมทั้งการขนส่งวัตถุดิบเข้า-ออกโรงงานจะทำอย่างไร รวมทั้งคนงานทั้งหลายที่มักมีบ้านพัก บ้านเช่าอาศัยแทรกตัวอยู่ในชุมชนของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านโดยรอบโรงงานด้วย ที่ต่างจะได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมสูงรอบนิคมฯหรือโรงงาน การที่จะสัญจรเดินทางเข้า-ออกโรงงานย่อมเป็นไปได้อย่างยากลำบาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย เป็นต้น

ผู้ฟ้อง จึงขอให้ศาล มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันระงับและเพิกถอนการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมการก่อสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำของผู้รับใบอนุญาตหรือผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม ทั้ง ๑๑ แห่ง , ให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันจัดทำแผนการระบายน้ำอย่างเป็นรูปธรรมโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม ทั้ง ๑๑ แห่ง โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือชาวบ้านที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรมในรัศมี ๑๐ กิโลเมตร, ให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบนิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรม ทั้ง ๑๑ แห่ง , ให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗, พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๔๖ ถึงมาตรา ๕๑ และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ และพระราชบัญญัติการขุดและถมดิน พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ และมาตราอื่น ๆ จะก่อสร้างพนังกั้นน้ำ

กำลังโหลดความคิดเห็น