xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านต้านโรงไฟฟ้าชีวมวลท้าประชาพิจารณ์! เสียงข้างไหนมากสังคมต้องทำตาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี เชิญชาวบ้านและนักวิชาการด้านสุขภาวะเปิดเวทีถกปัญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้แกลมเป็นพลังงานที่ อ.สว่างวีระวงศ์ ซึ่งชาวบ้านร่วมกันต่อต้านมาตั้งแต่ปลายปี 2551โดยมีนายสุชัย เจริญมุขยนันท และ น.ส.ชนินทร์ญา คำดี เป็นผู้ดำเนินรายการ
อุบลราชธานี - ชาวบ้าน อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี นั่งเวทีถกปัญหายืดเยื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล พร้อมสู้ไม่ถอยเตรียมยื่นขอคุ้มครองจากศาลปกครองชี้ขาดใบอนุญาตของกรมโรงงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ทำถูกขั้นตอนกฎหมายหรือไม่ กระทุ้งหน่วยงานรัฐฟังแต่นายทุน ไม่ฟังชาวบ้านที่ต้องทนอยู่กับมลพิษ ท้าแน่จริงทำประชาพิจารณ์แบบเปิดเผย เสียงส่วนใหญ่เลือกข้างไหนให้ดำเนินการตามนั้น

วันนี้ (19 ก.พ.) ที่ศูนย์อาหารโรงแรมสุนีย์แกรนด์ จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี เชิญชาวบ้านและนักวิชาการด้านสุขภาวะเปิดเวทีถกปัญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้แกลบเป็นพลังงานที่ อ.สว่างวีระวงศ์ ซึ่งชาวบ้านร่วมกันต่อต้านมาตั้งแต่ปลายปี 2551โดยมีนายสุชัย เจริญมุขยนันท และ น.ส.ชนินทร์ญา คำดี เป็นผู้ดำเนินรายการ

ก่อนเริ่มรายการ นายสุชัยแจ้งให้ทราบว่าพยายามติดต่อเชิญทุกฝ่ายมาร่วมถกหาทางออกในเรื่องดังกล่าว แต่หลายหน่วยงานติดภารกิจไม่สามารถเดินทางมาร่วมได้ และจะมีการโฟนอินเข้าร่วมรายการในบางประเด็น

จากการสอบถามนายสาทิศเมธาสิทธิ สุขสำเร็จ ผู้วิจัยพลังงานทางเลือกภาคประชาชน กล่าวถึงคุณค่าของโรงไฟฟ้าชีวมวลว่าเป็นโรงไฟฟ้าสะอาด โดยเฉพาะโรงไฟฟ้ารุ่นใหม่จะมีเทคโนโลยีดักมลพิษที่ปล่อยออกมาถึง 99% แต่ก็ยอมรับว่าการมีโรงไฟฟ้าเหมือนกระบวนการกิน ย่อย และขับถ่ายที่ต้องมีการปล่อยของเสียออกจากร่างกาย

สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะสร้างที่ อ.สว่างวีระวงศ์ เครื่องยนต์เป็นเทคโนโลยีนำเข้ามาจากประเทศเยอรมนี ซึ่งไม่น่ามีปัญหาในการใช้งาน แต่เป็นห่วงเรื่องคุณภาพคนที่มาทำหน้าที่ควบคุมเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

ขณะที่นายศุภชัย ศิริวัฒนเจริญชัย รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ออกใบอนุญาตให้กับโรงไฟฟ้ากล่าวถึงข้อร้องเรียนของชาวบ้านว่า หลังมีการร้องเรียนได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจข้อบกพร่องทั้ง 14 ข้อ และเมื่อผู้ประกอบการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องจนเข้าหลักการขอใบอนุญาตตั้งโรงไฟฟ้า กรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ได้ออกใบอนุญาตให้ไปแล้ว เพราะทุกอย่างทำตามกระบวนการที่ผ่านการรับรองจากท้องถิ่นมาครบถ้วนทุกประการ และกรณีนี้มีทั้งผู้คัดค้านและผู้สนับสนุน กรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องฟังความทั้งสองฝ่าย

“แต่ถ้าผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลละเมิดข้อปฏิบัติทั้ง 14 ข้อที่เป็นข้อกังวลของชาวบ้าน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็สามารถสั่งปิด หรือหยุดเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ทันทีด้วย”

ด้าน นายกิตติพันธ์ อรรถเสน ตัวแทนชาวบ้านคำนกเป้าที่คัดค้านกล่าวว่า ไม่คิดขวางความเจริญ ไม่ใช่ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่โรงไฟฟ้าแห่งนี้มาตั้งผิดที่ผิดทาง เพราะมาสร้างอยู่กลางชุมชนชาวบ้านจึงต่อต้าน เนื่องจากไม่ต้องการรับมลพิษที่ปล่อยออกมา และไม่ต้องการให้โรงไฟฟ้ามาแย่งน้ำใช้ทำเกษตรกรรมไปจากชาวบ้าน เพราะแค่โรงไฟฟ้าขุดเจาะแหล่งน้ำที่ใช้เลี้ยงโรงงานก็ทำให้น้ำผิวดินไหลไปรวมกันอยู่ในบ่อของโรงงาน ชาวบ้านที่ปลูกมะม่วงหิมพานต์อย่างนายทองทับ มาดาสิทธิ์ ก็ได้รับผลกระทบยอดการผลิตลดลงเกือบครึ่งจากที่เคยมีรายได้ปีละกว่า 5 หมื่นบาท ปีนี้เก็บผลผลิตได้เพียง 3 หมื่นบาทเศษ เพราะน้ำไม่พอหล่อเลี้ยงลำต้นหิมพานต์ จึงเป็นผลกระทบที่เห็นได้อย่างชัดเจน ทำให้ไม่เห็นด้วยที่จะมีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้านที่พวกตนอยู่

ด้าน น.ส.ศันสนีย์ ชินาภาษ แกนนำชาวบ้านคำสร้างไชย กล่าวว่า การมาของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เริ่มแรกก็ไม่โปร่งใส เพราะมีการให้ข้อมูลด้านดีด้านเดียว แล้วให้ผู้นำท้องถิ่นชักนำชาวบ้านให้คล้อยตามและลงชื่อสนับสนุน โดยบอกกับชาวบ้านหากมีโรงไฟฟ้าจะมีการสร้างงานให้คนในหมู่บ้าน พร้อมทั้งคนในหมู่บ้านจะได้ใช้ไฟฟ้าถูกลง แต่ความจริงไม่ใช่ และเมื่อชาวบ้านเสาะหาความจริงยังพบว่าโรงไฟฟ้าของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ที่ จ.ร้อยเอ็ด ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างมาก จึงมีการเรียกร้องให้เปิดเผยความจริง และทำประชาพิจารณาอย่างเปิดเผย

ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการไม่เคยฟังเสียงชาวบ้าน พยายามผลักดันออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการเพียงฝ่ายเดียว เมื่อชาวบ้านขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณากิจกรรมใดๆ ก็ไม่ได้รับอนุญาต แม้กระทั่งขอให้มีการทำประชาพิจารณ์อย่างเปิดเผย หากเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้สร้างได้ พวกตนจะไม่คัดค้าน แต่สำนักงานอุตสาหกรรมอ้างแต่เอกสารที่มัดมือให้ชาวบ้านเซ็นยินยอมตั้งแต่แรก เหตุที่ไม่กล้าทำประชาพิจารณ์ขณะนี้ เพราะชาวบ้านรู้ทัน คนกว่า 90% ใน 6 หมู่บ้านของตำบลท่าช้าง ตำบลบุ่งมะแลง ขณะนี้ไม่เห็นด้วยให้สร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้แล้ว

สำหรับการเดินหน้าต่อไปของชาวบ้าน คือ ในวันจันทร์ที่ 20 ก.พ.นี้ ชาวบ้านจะรวมตัวไปยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครองจังหวัดอุบลราชธานี ขอให้ศาลพิจารณากระบวนการขั้นตอนการออกใบอนุญาตตั้งโรงไฟฟ้าของบริษัทบัวสมหมายไบโอแมสจำกัด ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกให้ถูกต้องตามระเบียบของกฏหมายหรือไม่ซึ่งเป็นประเด็นที่ชาวบ้านยกขึ้นสู้กับความไม่ยุติธรรมของภาครัฐที่เกิดขึ้นขณะนี้” น.ส.ศันสนีย์ แกนนำชาวบ้านกล่าว

ด้าน นายเรืองยศ บุญภักดี นักวิชาการสาธารณสุขของศูนย์อนามัยที่ 7 จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงผลการศึกษาด้านสุขภาพและผลกระทบอื่นๆ ที่เห็นผลได้ชัดเจนขณะนี้คือผลด้านเศรษฐกิจที่มีผลจากการเพาะปลูกของชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง เพราะแหล่งน้ำที่โรงไฟฟ้าขุดเป็นการใช้น้ำผิวดิน ทำให้น้ำทั้งหมดไหลมารวมกันในบ่อของโรงไฟฟ้า ผลผลิตของชาวบ้านขาดแคลนน้ำ อีกเรื่องคือฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาไหม้แกลบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสร้างความร้อนให้โรงไฟฟ้า แม้ขณะนี้มีผลการพิสูจน์เครื่องดักฝุ่นจะทำงานได้ถึง 99%

แต่ถ้าโรงไฟฟ้าดำเนินงานเป็นเวลานานตามอายุของโรงงานคือ 25 ปี จะค่อยๆ ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่อ่อนไหวง่ายคือ เด็กและคนชรา ต้องป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าไม่ควรอยู่ใกล้ชุมชนจนเกินไป เพราะก่อให้เกิดผลกระทบด้านต่างๆตามมาอีกมาก

สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้แกลบเป็นพลังงานของบริษัทบัวสมหมายไบโอแมสจำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ในหมู่บ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ เป็นโรงไฟฟ้ากำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และถูกชาวบ้านต่อต้านมาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันยังดำเนินการก่อสร้างไม่เรียบร้อย

สำหรับเนื้อหาของเวทีสาธารณะเรื่องปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวลครั้งนี้ ได้มีการนำเผยแพร่ภาพผ่านเคเบิลทีวีท้องถิ่น รวมทั้งเผยแพร่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และเผยแพร่เสียงผ่านสถานีวิทยุชุมชนในจังหวัดให้ประชาชนทั่วไปได้รับชมและรับฟังต่อไปด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น