xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ตรวจโรงงานไม้ยางห้วยยอดเหตุชาวบ้านร้องปล่อยมลพิษหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ลงพื้นที่ตรวจโรงงานแปรรูปไม้ยางชื่อดังในพื้นที่ อ.ห้วยยอด พร้อมนำข้อมูลหลักฐานข้อร้องเรียนชาวบ้าน ส่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณา

วันนี้ (14 ต.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุม อบต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นายวทัญญู ทิพยมณฑา ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 4 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา พร้อมด้วยนายสุวิทย์ สุบงกฎ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายเอกสิน ใจตรง นายก อบต.หนองช้างแล่น รวมทั้งตัวแทนโรงงาน และตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ ต.หนองช้างแล่น ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา เอสดีทีพาราวู้ด ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ต.หนองช้างแล่น กว่า 50 คน ร่วมประชุมหารือถึงข้อร้องเรียนโรงงานดังกล่าว

ทั้งนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลส่งให้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม หลังจากมีการร้องเรียนว่าโรงงานแห่งนี้ปล่อยมลพิษ ทั้งเขม่าควัน เสียงดัง กลิ่นฉุน และปล่อยน้ำเสียลงลำน้ำศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งเปิดกิจการแปรรูปไม้อย่างพารา โดยยังไม่รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งก่อนเริ่มประชุม นางเกษรา หนูแก้ว ตัวแทนชาวบ้านหมู่ที่ 1 ต.หนองช้างแล่น ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายวทัญญู เพื่อส่งผ่านไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา โดยเรียกร้องให้ปิดโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราดังกล่าว เพราะได้สร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วง เพื่อยื่นหนังสือต่อ นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมกับเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ไม่ให้โรงงานเปิดดำเนินกิจการตลอด 24 ชม. 2.หากฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด และ 3. สำหรับกรณีของผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด ให้ทางอำเภอห้วยยอด ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียน และให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับชาวบ้านเป็นหลักฐานแล้ว

อย่างไรก็ตาม ต่อมาทางโรงงานก็ยังฝ่าฝืน และเพิ่งมาสั่งหยุดกิจการ ก่อนหน้าที่ทีมงานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาจะลงพื้นที่แค่ 1 วัน ซึ่งถือว่าคำสั่งของทางจังหวัดตรังไม่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น ชาวบ้านจึงอยากให้ปิดโรงงานในทันที เพราะชาวบ้านได้รับผลกระทบมากพอแล้ว และที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุย หรือแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านเลย

ด้าน น.ส.ดวงใจ ทองศักดิ์ ผู้จัดการโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา เอสดีทีพาราวู้ด กล่าวยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทางโรงงานยังไม่มีใบอนุญาต แต่ขณะนี้ทางโรงงานได้แก้ไขปัญหา โดยได้ออกแบบโรงงานไม่ให้ส่งผลกระทบที่เป็นมลพิษต่อชุมชนแล้ว รอเพียงแค่ใบอนุญาต จึงจะดำเนินการได้

ขณะที่ นายธนบูรณ์ เซ่งง่าย หัวหน้าฝ่ายโรงงาน สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ตรัง ชี้แจงว่า จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจะดำเนินการเรื่องปรับมาตรการโรงงานใหม่ โดยมีมาตรการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม ฝุ่นละออง โดยใช้พัดลมดูดขี้เลื่อย ส่วนเสียงจะแก้ปัญหาโดยสร้างกำแพงคอนกรีตให้สูงขึ้นอีก 2.5 เมตร รวมทั้งปลูกต้นไม้เพิ่ม เพื่อลดปัญหาเรื่องเสียงด้วย

ด้าน นายวทัญญู ทิพยมณฑา ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 4 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา กล่าวว่า ตนเดินทางมาเพื่อตรวจเรื่องมลภาวะเป็นพิษ กลิ่น เสียง ฝุ่นละออง แม่น้ำลำคลอง และการอบไม้ยาง ว่า โรงงานได้ทำตามขั้นตอนหรือไม่ เบื้องต้นจากการรับฟังทำให้ทราบว่ามีปัญหามาตั้งแต่ต้นแล้ว และการเปิดดำเนินกิจการทั้งที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ถือว่าผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่โดยภาพรวมโรงงานก็ทำตามกฎหมายพอสมควร ซึ่งตนไม่ได้พูดเข้าข้าง หากมีข้อผิดพลาดในส่วนใด ก็จะให้แก้ไขใหม่ จึงรู้สึกเห็นใจและต้องให้ความเป็นธรรมด้วย

ส่วนอำนาจการสั่งเปิด-ปิดโรงงานนั้น ขึ้นอยู่ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น ตนจะรวบรวมข้อมูลส่งให้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ส่วนการที่ชาวบ้านกังวลว่าจากนี้ไปทางโรงงานจะเปิดดำเนินกิจการอีกนั้น เรื่องนี้ตนรับปากจะให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ส่วนขึ้นมาดู และเฝ้าระวังโรงงานตลอด 24 ชม. หากพบมีการฝ่าฝืนก็จะจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายทันที

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมกว่า 2 ชั่วโมง นายเสน่ห์ ทองศักดิ์ เจ้าของโรงงาน ได้เข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีถูกร้องเรียนจากชาวบ้าน พร้อมกันนั้นยังได้ชี้แจงต่อคณะผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาว่า การที่เกิดปัญหาการร้องเรียนจากชาวบ้านเรื่องเขม่าควัน เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมานั้น เกิดมาจากการที่โรงงานได้ทดลองเผาไหม้ด้วยระบบบอร์นเลอร์ เพื่อหาวิธีการกำจัดขี้เลื่อยของโรงงาน แต่ระบบดังกล่าวประสบปัญหาการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จนส่งผลให้เกิดเขม่าควันฟุ้งกระจาย ซึ่งเมื่อตนทราบเรื่องก็ได้สั่งให้วิศวกรควบคุมระบบหยุดการทดลองไปแล้ว

ส่วนที่ชาวบ้านร้องเรียนว่า โรงงานของตนปล่อยน้ำเสียจากลงสู่ลำน้ำศักดิ์สิทธ์ ตนยืนยันว่าไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา อัดน้ำ อบแห้ง ไม่ได้มีน้ำจำนวนมากในกระบวนการผลิตแต่อย่างใด ถึงแม้ว่ากระบวนการอัดน้ำยากันมอดจะมีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็เป็นน้ำที่ถูกหมุนเวียนมาใช้ในระบบตามหลักการทำงานของเครื่องอบน้ำยากันมอด จึงไม่มีน้ำเสียไหลออกสู่สภาพแวดล้อมตามคำกล่าวอ้าง

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 4 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ได้ย้ำให้อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานอื่นที่ไม่มีใบอนุญาต ตามที่ นายเสน่ห์ กล่าวอ้างถึง เพื่อป้องกันข้อครหาว่า หน่วยงานรัฐเลือกปฏิบัติ เพราะมิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่า ผู้เกี่ยวข้องปล่อยปละละเลย พร้อมทั้งแนะนำให้ทั้งฝ่ายโรงงานและฝ่ายชาวบ้านผู้คัดค้าน จัดเวทีหารือกันอย่างระบบ ไม่ใช่พูดกันคนละครั้งคราว จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ตลอดจนสั่งการให้โรงงานหยุดการดำเนินการจนกว่าจะได้รับใบอนุญาต




กำลังโหลดความคิดเห็น