ASTVผู้จัดการออนไลน์ – การบริหารจัดการน้ำท่วมที่ผิดพลาดและการเยียวยาที่ฉ้อฉลของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาล โดยรัฐบาลรับผิดชอบเพียงจ่ายชดเชยครอบครัวละ 5 พันบาท จุดชนวนให้ผู้ได้รับผลกระทบตั้งวงชำแหละสาเหตุที่แท้จริงของวิกฤตที่เกิดขึ้น พร้อมเตรียมยื่นฟ้องศาลเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าชดเชย ทั้งยังค้านการสูบน้ำที่ยังไม่ได้ตรวจสอบการปนเปื้อนมลพิษจากนิคมอุตสาหกรรมทิ้งสู่ภายนอก
การบริหารจัดการวิกฤตน้ำท่วมที่ล้มเหลวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียและผลกระทบมหาศาลทั้งต่อประชาชน ชุมชน สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่มาตรการเยียวยาแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการตัดสินใจกั้นและผันน้ำลงท่วมพื้นที่ต่างๆ ของรัฐบาลนั้น รัฐบาลรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยจ่ายค่าชดเชยให้เพียงครอบครัวละ 5 พันบาท หนำซ้ำยังเลือกปฏิบัติโดยเลือกจ่ายให้กับผู้ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ เป็นลำดับแรกทั้งที่เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมทีหลังก่อน ก่อให้เกิดความไม่พอใจและเมื่อมีการชี้ช่องจากหลายฝ่ายว่า ประชาชนสามารถฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลได้
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ภายหลังจากสมาคมออกแถลงการณ์เรื่องหากประชาชนที่ถูกน้ำท่วมเห็นว่าได้รับความเดือดร้อนและเสียหายอันเนื่องมาจากคำสั่งและความผิดพลาดในการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อผู้สั่งการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้นั้น ปรากฏว่ามีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายเป็นจำนวนมากติดต่อมายังสมาคมฯ
พร้อมกันนั้น ยังได้มอบอำนาจให้เป็นผู้แทนในการฟ้องร้องรัฐบาล ศปภ. และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ เพื่อเรียกค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนให้กับประชาชนที่ไม่พอใจในการแก้ไขเยียวยาของรัฐบาลที่มีมติจ่ายเงินชดเชยให้ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมเพียงครอบครัวละ 5,000 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงกับทรัพย์สิน ร่างกายและจิตใจ รวมทั้งค่าเสียโอกาส และการขาดอุปการะต่าง ๆ เป็นจำนวนมากที่รัฐบาลไม่กล่าวถึงเลย ทั้ง ๆ ที่ความเสียหายดังกล่าวเป็นผลมาจากความบกพร่องและประมาทเลินเล่อของรัฐบาล ศปภ. และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น
เช่น การปกปิดข้อมูลที่ควรจะแจ้งให้ประชาชนทราบ ความไร้ประสิทธิภาพในการคาดการณ์มวลน้ำและปริมาณน้ำที่เกิดขึ้น การอนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคาร บ้านจัดสรร นิคมอุตสาหกรรมขวางทับที่ลุ่มหรือทางน้ำ การฉ้อฉลนำของบริจาคของประชาชนไปแอบอ้างเป็นของนักการเมืองพรรครัฐบาล การกั๊กของบริจาค การทิ้งของบริจาคให้ถูกน้ำท่วม ความไร้ประสิทธิภาพในการแจกจ่ายอาหารและถุงยังชีพไม่ทั่วถึงประชาชนที่เดือดร้อนจริง ๆ การปล่อยให้มีการขึ้นราคาข้าวปลาอาหารเครื่องอุปโภคบริโภค เรือรับจ้าง แท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง โดยไม่มีการควบคุม การปล่อยให้นักการเมืองและชาวบ้านรื้อทำลายผนังกั้นน้ำโดยไม่นำตัวมาลงโทษ เป็นต้น
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นสมาคมฯจะตั้งโต๊ะรวบรวมและนำไปฟ้องร้องต่อศาลต่อไปในเร็ว ๆ นี้ และเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและที่ผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วมทั้งประเทศ รวมทั้งนักวิชาการผู้รู้และผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมแสดงทัศนะและเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงในแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมพยานหลักฐาน สมาคมฯจึงกำหนดให้มีการจัดเวทีวิพากษ์ “น้ำท่วม 54 : เหตุสุดวิสัยหรือไร้ฝีมือ” ขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2554 เวลา 13.00-17.00 น. ณ ห้องเรนโบว์ ชั้น 5 โรงแรมอิมพิเรียลควีนปาร์ค ถนนสุขุมวิท 22 ซึ่งชุมชนใด ประชาชนท่านใดที่ประสงค์จะร่วมฟ้องในคดีดังกล่าวสามารถมาขอรับแบบฟอร์มใบมอบอำนาจยื่นฟ้องคดีและแบบฟอร์มบัญชีค่าเสียหายได้บริเวณหน้างาน หรือดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.thaisgwa.com
สำหรับหลักฐานที่ควรเตรียมมาเพื่อดำเนินการฟ้องร้อง มีดังนี้ 1)สำเนาบัตรประชาชน 1 ฉบับ (ต้องไม่หมดอายุ) 2)รายละเอียดความเสียหายที่สามารถระบุเป็นเงินได้แต่ละประเภทหรือชนิดทรัพย์สินหรือสิ่งของที่เสียหาย หรือความเดือดร้อนเสียหายทางจิตใจหรืออื่นใดก็ได้ 3)หรือมารับแบบฟอร์มมอบอำนาจฟ้องคดี และแบบฟอร์มบัญชีค่าเสียหายได้ที่หน้างาน
นอกเหนือจากนี้ สมาคมฯ ยังทำจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการสูบน้ำที่ปนเปื้อนมลพิษเพื่อกู้นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม และคัดค้านการส่งเสริมการ
จัดทำคันกั้นน้ำถาวรเพื่อปกป้องอุตสาหกรรม แต่ละเลยทุกข์ของชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมถึงนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ประธานกรรมการฯและผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เพราะความพยายามฟื้นฟูกู้นิคมฯ ที่ถูกน้ำท่วมในจังหวัดอยุธยาและปทุมธานีอย่างเร่งรีบทั้งที่พื้นที่ภายในนิคมฯ ที่ถูกน้ำท่วมขังนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะปนเปื้อนสารเคมีอันตรายต่างๆ ที่เป็นวัตถุดิบและกากของเสียอุตสาหกรรมในโรงงานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
ดังนั้น ความพยายามกู้คืนนิคมอุตสาหกรรมโดยการสูบน้ำออกนอกนิคมอุตสาหกรรม เพื่อทิ้งออกสู่ภายนอก โดยมิได้มีการบำบัดให้เป็นไปตามมาตรฐานก่อนนั้น ย่อมอาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพอนามัยของประชาชนในวงกว้าง และเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายโดยชัดแจ้ง ผู้รับผิดชอบและหน่วยงานข้างต้นในฐานะผู้กำกับดูแลย่อมต้องยับยั้งการกระทำดังกล่าว และต้องสั่งการให้ผู้ประกอบการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ และปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายเสียก่อน
เหตุดังกล่าวสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ในฐานะองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนโดยรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าวข้างต้นว่าได้รับความเดือดร้อนและเสียหายอันเนื่องมาจากนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ดังกล่าว สมาคมฯ จึงขอให้ผู้รับผิดชอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้อำนาจตามหน้าที่เพื่อดำเนินการหรือสั่งการ ดังนี้
1.ขอให้ตรวจสอบคุณภาพน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ถูกน้ำท่วมแต่ละแห่งมีโรงงานที่มีสารเคมีและขยะอันตรายปนเปื้อน ทั้งที่เก็บสำรองและอยู่ระหว่างการดำเนินการผลิตจำนวนมากขณะที่น้ำท่วมมาอย่างฉับพลัน รวมทั้งของเสียที่อยู่ในกระบวนการบำบัด ก่อนการสูบน้ำออกสู่ชุมชน โดยขอให้มีการตรวจสอบข้อมูลและมีกระบวนการตรวจสอบความเป็นอันตรายในทางวิชาการอย่างครบถ้วนชัดเจน รวมถึงมีการจัดการบำบัดจนได้มาตรฐานก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกแล้วเท่านั้น
2.ให้มีนักวิชาการอิสระและตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ชุมชนรอบนิคมฯเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในกระบวนการตรวจสอบ เพื่อประเมินข้อมูลและประเมินผลตรวจสอบในแต่ละนิคม เพื่อป้องกันผลเสียต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วน
3.ให้ตรวจสอบสุขภาพประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบหรือสัมผัสสารพิษโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม และมีมาตรการที่ชัดเจนในการฟื้นฟู เยียวยา และดูแลชุมชนที่อยู่รอบนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในการเก็บกู้ของเสียอันตรายหรือขยะอุตสาหกรรมที่หลุดรอดออกมาก่อนหน้านี้
4.ให้ยุติการส่งเสริม การอนุมัติหรือการอนุญาตการขยายนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรม หรือโครงการหรือกิจกรรมที่นำไปสู่การปิดกั้นหรือขวางกั้นทางน้ำ ของหน่วยงานใดๆ ของภาครัฐในพื้นที่จังหวัดอยุธยา จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ภาคกลางอย่างถาวร ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำในฤดูน้ำหลากโดยทันที รวมทั้งพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย
5.ให้ยุติการส่งเสริมหรืออนุญาตให้นิคมอุตสาหกรรม หรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมที่ผ่านมา จัดทำกำแพงหรือคันกั้นน้ำถาวรโดยมิได้สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนรอบข้างโดยเด็ดขาด จนกว่ารัฐบาลจะมีมาตรการและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เช่น มาตรากรภาษีคันกั้นน้ำ ฯลฯ ในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางหรือพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ เป็นที่พอใจของชุมชนโดยรอบแล้ว เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคันกั้นน้ำดังกล่าว ที่จะมีต่อชุมชน และการดำเนินการดังกล่าวจะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเสียก่อน โดยต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจนได้ข้อยุติหรือผ่านความเห็นชอบร่วมกันก่อนแล้ว
ทั้งนี้ หากเพิกเฉยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ สมาคมฯ จำเป็นต้องใช้กระบวนการยุติธรรมทางปกครองเพื่อให้มีคำสั่งตามข้อร้องเรียนข้างต้น