xs
xsm
sm
md
lg

ส.โลกร้อนฯยื่นศาลปกครอง ต้านกั้นเขื่อนรอบนิคมฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ครม.เทงบประมาณล็อตแรก 2.4 หมื่นล้าน ทำระบบป้องกันน้ำท่วม 246 โครงการ "ปู" มั่นใจสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนญี่ปุ่นได้แน่ ด้านสมาคมต้านโลกร้อนฟ้องศาลปกครอง ชี้นิคมอุตสาหกรรมสร้างพนังกั้นน้ำ ไม่เป็นธรรม กระทบชาวบ้าน ปชป.เตือนรัฐ อย่างุบงิบสร้างเขื่อนกั้นน้ำในนิคมฯ ยันต้องรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระวังจะได้ไม่คุ้มเสีย

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (6 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เสนอจัดทำโครงการป้องกันน้ำท่วมจำนวน 246 โครงการ โดยใช้งบประมาณ 24,828 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณจากพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการสำคัญประกอบด้วย การขยับแนวคันพระราชดำริ บริเวณกรุงเทพมหานคร (กทม.) ฝั่งเหนือ ให้ไปอยู่ตามแนวคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่า พื้นที่ กทม. จะได้รับการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสนามบินดอนเมือง ซึ่งยืนยันว่าจะปลอดภัยจากน้ำท่วม

นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่อทางยกระดับเพิ่มจากถนนบรมราชชนนีไปจ.นครปฐม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการคมนาคมลงใต้ถูกตัดขาด กรณีเกิดน้ำท่วม ใช้งบประมาณ 12,500 ล้านบาท รวมทั้งยกระดับถนนพุทธมณฑล สาย 4 และ 5 ให้สูงขึ้น โดยจะมีการสร้างคลองขนานไปใช้งบประมาณ 4 พันล้านบาท จะช่วยให้เส้นทางน้ำที่ไหลผ่านจากเหนือลงสู่ทิศใต้ได้เร็วขึ้น เป็นการเพิ่มช่องทางการระบายน้ำ จากปัจจุบัน ที่มีเฉพาะคลองทวีวัฒนา รวมถึงการขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งใหญ่ ใช้งบ 3 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นโครงการยกระดับถนนในหลายจุด เพื่อใช้เป็นแนวคันกั้นน้ำ และเพื่อให้สัญจรได้ หากต้องประสบอุทกภัยอีกครั้ง

"เชื่อว่าโครงการต่างๆ จะช่วยทำให้ประชาชน ภาคเอกชน มีความเชื่อมั่นต่อแนวทางในการป้องกันปัญหาอุทกภัยของรัฐบาลได้มากขึ้นว่าจะไม่เกิดปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติซ้ำซ้อนขึ้นอีก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล"

นายปลอดประสพ ยังยืนยันด้วยว่า จะไม่มีการใช้พื้นที่ กทม.และปริมณฑลเป็นพื้นที่ในการรับน้ำหรือแก้มลิง โดยพื้นที่รับน้ำจะอยู่เหนือ จ.พระนครศรีอยุธยาขึ้นไป โดยแผนทั้งหมดจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ในสัปดาห์หน้า

**"ปู"สร้างความมั่นใจนักลงทุนญี่ปุ่น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการว่า เชื่อว่าความมั่นใจของนักลงทุนจะดีขึ้น เพราะเราเข้าไปทำความชี้แจงทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มนักลงทุนทั่วไป และกลุ่มที่ลงทุนกับเราอยู่แล้วกับกลุ่มที่มีความประสงค์จะลงทุนในประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนเดินทางไปญี่ปุ่น มีการเช็กตัวเลขการย้ายฐานของนักลงทุน ที่หอการค้าญี่ปุ่นเปิดเผยว่ามีถึง 25 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตัวเลขย้ายฐาน เป็นตัวเลขที่มีการวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องภัยน้ำท่วม ซึ่งรายละเอียดของน้ำท่วม จริงๆ แล้ว ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดต่อกับผู้ประกอบการที่เป็นนักลงทุนเกือบทุกรายอยู่แล้ว ซึ่งการไปญี่ปุ่นครั้งนี้ จะพยายามสร้างความมั่นใจ และหวังว่าจะไม่มีการถอนการลงทุน และขยายต่อ ซึ่งตนพร้อมที่จะให้นักลงทุนซักถามข้อมูล ข้อเท็จจริงทั้งหมด ซึ่งมีทั้ง 2 รอบ คือ รอบที่พูดโดยรวม และเปิดโอกาสให้นักธุรกิจพบปะด้วย

** ไม่สน ส.โลกร้อน ร้องศาลปกครอง

เมื่อถามว่า ในขณะที่รัฐบาลกำลังสร้างความมั่นใจกับต่างชาติ ในส่วนของฟลัดเวย์ ที่จะทำความเข้าใจกับประชาชน ตอนนี้ได้พื้นที่ครบหรือยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ได้พื้นที่แล้ว แต่หลักการจะต้องผ่านคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) อีกครั้ง ซึ่งวันนี้ทางคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) จะรวบรวมแผนทั้งหมดที่เป็นมาสเตอร์ เป็นหลักเดียวกันที่จะเห็นทั้งประเทศ ซึ่งจะผ่านที่ประชุม กนอช. เร็วๆ นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นศาลปกครองกรณีการสร้างแนวคันกั้นน้ำของนิคมอุตสาหกรรม ที่รัฐบาลสนับสนุน ซึ่งขณะนี้ภาคธุรกิจแสดงความกังวล รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร เพราะต้องดูแลทั้งประชาชนและนักธุรกิจ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้เราคงต้องทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่ก่อน จนกว่าจะมีคำตัดสินเป็นอย่างอื่น แต่ถ้าเราไม่ตัดสินใจทำแนวคันกั้นน้ำให้เป็นรูปธรรม จะทำให้ความมั่นใจเกิดขึ้นยาก และจะยากต่อการคุยกับนักลงทุน เพราะบางครั้งเราบอกว่า จัดระบบการบริหารจัดการน้ำ แต่ทุกอย่างคงต้องการเห็นสิ่งก่อสร้างเป็นรูปธรรมในการปกป้อง ตรงนี้เป็นหนึ่งในวิธีการเรียกความมั่นใจ ขณะเดียวกันเราต้องทำหน้าที่ชี้แจงในทุกประเด็น

** ร้องศาลค้านกั้นเขื่อนรอบนิคมฯ

วานนี้ (6 มี.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจากชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม รวม 39 ราย ได้ยื่นฟ้องการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม รมว.อุตสาหกรรม รมว.คลัง คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำพิพากษาให้ทั้ง 7 หน่วยงาน ระงับ และเพิกถอนการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อน หรือพนังกั้นน้ำรอบ 11 นิคมอุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่ในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กทม. และสมุทรปราการ เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัย

อีกทั้งขอให้มีคำพิพากษาให้ทั้ง 7 หน่วยงาน ร่วมกันจัดทำแผนการระบายน้ำอย่างเป็นรูปธรรม กำหนดหลักเกณฑ์การชดเชย เยียวยา ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบ 11 นิคมอุตสาหกรรม และให้ 7 หน่วยงานปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57, 58, 66, 67 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มาตรา 46-51 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 5, 10, 11 และพ.ร.บ.การขุดและถมดิน พ.ศ.2543 มาตรา 26 และมาตราอื่นๆ ก่อนที่จะดำเนินการเห็นชอบ หรืออนุมัติการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ

** ชี้ละเมิดสิทธิประชาชน

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า เหตุที่ทางสมาคมต้องฟ้องคดีดังกล่าว เพราะการที่รัฐสนับสนุนให้นิคมอุตสาหกรรมสร้างเขื่อน หรือพนังกั้นน้ำ จะนำไปสู่ความขัดแย้งของประชาชนโดยรอบนิคมฯ เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียภายในชุมชน อีกทั้งยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เคยระบุแล้วว่า การที่นิคมจะปรับปรุงระดับความสูงของพนังกั้นน้ำ อยู่ในเงื่อนไข รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องส่งรายละเอียดให้คณะกรรมการชำนาญการ พิจารณาโครงการด้านอุตสาหกรรมของสผ. พิจารณาผลกระทบใหม่ แต่การนิคมฯ กลับนิ่งเฉย และเร่งเสริมความสูงของพนังกั้นน้ำ

"รัฐบาลให้ธนาคารออมสินสนับสนุนในเรื่องเงินสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการนิคมฯ ในการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำรอบนิคม เหมือนเป็นการเอาเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ ไปยกให้เอกชน หรือเอื้อให้เอกชนใช้ดำเนินการก่อสร้างฟรีๆ ถึง 2 ใน 3 ส่วน อีก 1 ส่วน ที่เหลือนั้นยังช่วยอุดหนุนค้ำชู ในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ อัตราร้อยละ 0.01 มีระยะปลอดชำระเงินต้นถึง 5 ปี และให้กู้นานถึง 15 ปี แต่ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม หากจะกู้เงินมาซ่อมบ้าน หรือปรับปรุงธุรกิจที่เสียหาย กลับต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราขั้นสูงสุดของธนาคาร เช่น ดอกเบี้ย MLR ร้อยละ 7.125 ดอกเบี้ย MOR ร้อยละ 7.375 และดอกเบี้ย MRR ร้อยละ 7.75 แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐบาล และส่อไปในทางขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 อย่างชัดเจน" นายศรีสุวรรณ กล่าว

เมื่อถามว่า ถ้าไม่สร้างพนังกั้นน้ำ และเกิดน้ำท่วม คนตกงานทางสมาคมฯ จะรับผิดชอบอย่างไร นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจการบริหารงานของรัฐ ที่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างความเดือดร้อนของประชาชนกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน ชาวบ้านจำเป็นต้องรักษาสิทธิ์ของตัวเอง ในกรณีที่รัฐละเมิด อย่างไรก็ตาม การฟ้องคดีครั้งนี้ ทางสมาคมฯ ยังได้ขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยสั่งให้ 7 หน่วยงาน ระงับการก่อสร้างเขื่อน หรือพนังกั้นน้ำ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 11 นิคมฯ ที่ทางสมาคมฯ ฟ้องคดีประกอบไปด้วย 1.นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร 2.เขตประกอบการอุตสาหกรรมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ 3.นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) 4.นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 5.เขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ จ.พระนครศรีอยุธยา 6.สวนอุตสาหกรรมนวนคร 7.สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จ.ปทุมธานี 8.นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เขตมีนบุรี 9.นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กทม. 10.นิคมอุตสาหกรรมบางพลี 11.นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ

** ปชป.หวั่นขัดแย้งบานปลาย

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลยืนยันที่จะเดินหน้าสนับสนุนให้นิคมอุตสาหกรรม สร้างเขื่อนกั้นน้ำ โดยอ้างว่าไม่ขัดกฎหมายว่า การสร้างเขื่อนรอบนิคมอุตสาหกรรม ที่สร้างก่อนปี 2535 อาจไม่ต้องรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเป็นนิคมฯ ที่สร้างหลังปี 2535 จะต้องรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักนโยบายแผนและสิ่งแวดล้อม จึงไม่อยากให้ดำเนินการไปแล้ว มีการฟ้องร้องศาลปกครองจนเกิดปัญหาความแตกแยกระหว่างนิคมอุตสาหกรรม และประชาชน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ เตือนเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจ มีการผลักดันเดินหน้าโครงการแบบเงียบๆ

ทั้งนี้ หากยังดึงดันที่จะเดินหน้าต่อไป โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนอกจากแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังจะทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นด้วย

** อนุมัติ 424 ล้านปรับระบบเตือนภัย

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบอนุมัติงบประมาณ ของแผนงานปรับปรุงระบบการเตือนภัยของประเทศ ภายใต้คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) จำนวน 424 ล้านบาทไว้ที่สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อให้ดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูล จากระบบโทรมาตร ไปเป็นเครื่องวัดจากกล้องซีซีทีวี และระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) ของกรมทรัพยากรน้ำ การพัฒนาระบบเชื่อมต่อข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่ได้รับจากเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่มของกรมทรัพยากรธรณี

"นายปลอดประสพได้ประสานไปยัง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที เรื่องการย้ายงบประมาณจำนวนดังกล่าวไปตั้งไว้ที่กระทรวงไอซีทีเรียบร้อยแล้ว แต่อยากจะช่วยดูแลในเรื่องเงื่อนไขการเปิดประมูล และการจัดวางระบบให้สามารถเชื่อมโยงกันได้" นายภักดีหาญส์กล่าว

นายภักดีหาญส์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบตามคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ในการแต่งตั้ง นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นคณะกรรมการเพิ่มเติม ในคณะกรรมการนโยบายน้ำ และอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) พร้อมด้วย อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ครบถ้วน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

**กทม.ขอขยายรับเงินเยียวยา3หมื่น 90วัน

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานป้องกันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้กทม.อยู่ระหว่างการซ่อมแซมแนวป้องกันน้ำท่วมและการเสริมคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคันกั้นน้ำพระราชดำริด้านตะวันออก รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ขุดลอกคลอง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำและการสร้างระบบเตือนภัย โดยติดตั้งเครื่องวัดอัตราการไหลของน้ำ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนส.ค.นี้

ส่วนความคืบหน้าในการทำความสะอาดลอกท่อระบายน้ำในถนนสายหลักที่เป็นจุดอ่อนน้ำท่วมใน 362 เส้นทางความยาว 1,022 กิโลเมตร กทม.ได้ดำเนินการใช้รถดูดเลนและจ้างเหมากรมราชทัณฑ์ดำเนินการลอกท่อระบายน้ำไปแล้ว 187 กิโลเมตรและทำความสะอาดถนนแล้วเสร็จ 67 เส้นทาง คาดว่าแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค.นี้ นอกจากนี้ ทางกองทัพบกได้เข้ามาร่วมในการขุดลอกคูคลองในพื้นที่กทม. โดยคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพบกมีทั้งสิ้น 277 คลอง ได้ดำเนินการไปแล้ว 9 คลอง อยู่ระหว่างการดำเนินการ 66 คลอง โดยกทม.จะเข้าไปร่วมสนับสนุนในการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ซึ่งจะมีหนังสือแจ้งให้กองทัพบกทราบเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า การมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย 5,000 บาทนั้น หลังจากที่กทม.ได้ขยายเวลาในการยื่นคำร้องจะถึงวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้ได้ทำการปิดรับการยื่นคำร้องแล้ว ซึ่งยอดรวมผู้ที่มายื่นคำร้องขอเงินช่วยเหลือ ทั้งหมด 611,599 ราย โดยทางสำนักงานเขตได้ทำการรับรองและยื่นเรื่องต่อกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จำนวน 559,621 ราย เพื่อให้รับรองก่อนที่จะมอบหมายให้ทางธนาคารออมสินเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงิน ส่วนที่เหลือทางสำนักงานเขตจะเร่งรับรองให้แล้วเสร็จครบทั้งหมด ภายในวันที่ 25 มีนาคม ก่อนที่จะส่งให้กรมป้องกันฯนำไปดำเนินการต่อ

สำหรับเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยไม่เกิน 30,000 บาท 5 รายการ ทางกทม.ได้ทำหนังสือถึงกรมป้องกันฯ ให้มีการขยายเวลาในการยื่นคำร้องเพิ่มอีก 90 วันนับจากวันที่หมดเขต เพื่อให้ประชาชนที่ยังไม่ได้ยื่นคำร้องได้มาดำเนินการให้แล้วเสร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น