xs
xsm
sm
md
lg

คอมมิชชั่นซื้ออาวุธ ผลประโยชน์ต่างตอบแทน ประชาธิปัตย์ - บิ๊กทหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยานเกราะล้อยาง BTR-3E1จากยูเครนที่เตรียมเข้าประจำการในกองทัพบกของไทยร่วม 200 คัน (ภาพจาก http://www.crma31.com/board-view.php?forum_id=168)
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างประชาธิปัตย์ - บิ๊กทหารเอื้ออาทรจนถึงนาทีสุดท้าย กลาโหมดันเอาจนได้จัดซื้อยานเกราะล้อยางเฟสสอง 121 คัน ควบรถถังสายพานลำเลียงจากยูเครนเจ้าเก่าอีก 49 คัน รวมวงเงินหมื่นกว่าล้านผ่านฉลุย วงการค้าอาวุธวิจารณ์แซ่ดบิ๊กทหารชอบซื้อยุทโธปกรณ์เก่าเพราะค่าคอมมิชชั่นสูงถึง 30%

การอุ้มสมให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลของเหล่าบิ๊กทหาร ทำให้บุญคุณนี้ต้องทดแทน ยิ่งเมื่อสถานการณ์ชายแดนตึงเครียด มีเหตุปะทะสู้รบกับเขมรเพราะการเดินเกมพลาดพลั้งตกเป็นเบี้ยรองฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาของผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ยิ่งทำให้คำขอของทหารเป็นคำขอที่ประชาธิปัตย์แทบไม่มีสิทธิปฏิเสธ มีแต่ต้องจัดให้และจัดหนักตามข้อเสนอทั้งสิ้น

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ผู้นำทหารซึ่งล้วนแต่ชาญฉลาดทั้งคณะเสนาธิการ ทั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม จะฉวยโอกาสดันเรื่องการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่ยังเป็นปัญหาค้างคามานาน คือโครงการจัดซื้อยานเกราะล้อยางจากประเทศยูเครน พร้อมกับโครงการจัดซื้อจัดหารถถังหลักหรือสายพานลำเลียงที่ไล่เรียงมาติดๆ เสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติในโค้งสุดท้าย รวมวงเงินกว่าหมื่นล้านบาท แยกเป็นยานเกราะล้อยาง 4,300 ล้านบาท ส่วนรถถังหลัก 7,200 ล้านบาท

หากติดตามข่าวคราวเรื่องการจัดซื้อยานเกราะล้อยางในภาพรวม จะเห็นว่า โครงการนี้มีปัญหามาตั้งแต่ต้นและถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทั้งจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สภานิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎร และถูกยกเป็นประเด็นอภิปรายไม่ไว้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เนื่องจากโครงการจัดซื้อจัดหายานเกราะล้อยางนี้มีพิรุธมาตั้งแต่การจัดซื้อจัดหาในเฟสแรก จำนวน 96 คัน เมื่อปี 2550โดยกระบวนการเปิดประมูล การคัดเลือกผู้ชนะประมูล ถูกร้องเรียนมาตั้งแต่ต้นว่ามีความไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ให้ผู้เข้าร่วมประมูลบางราย กระทั่งปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ที่ประเทศเยอรมันผู้ผลิตเครื่องยนต์ไม่ขายให้กับประเทศไทย

ทางกองทัพบก ต้องดิ้นรนหนีข้อกล่าวหาโดยพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อจัดหาจากวิธีการประมูลโดยวิธีพิเศษ ไปเป็นการจัดซื้อโดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล ทางด้านบริษัทผู้ชนะประมูลได้วิ่งเต้นเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์และเครื่องเปลี่ยนความเร็วใหม่ ขณะที่กองทัพบกมีการสอบถามความเห็นไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด กรณีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญา เพื่อสร้างความชอบธรรมและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535
 
ขณะเดียวกันก็ถามไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อยืนยันว่าความตกลงจัดซื้อจัดหายานเกราะล้อยางจากยูเครน เป็น “หนังสือสัญญา” ตามมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ด้วยหรือไม่ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวต่างก็ล้วนตอบเอาใจกองทัพทั้งสิ้น

จะว่าไปแล้ว กองทัพบก กระทรวงกลาโหม นับแต่ยุค “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผบ.ทบ. “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ. จนถึง “บิ๊กตู่” ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน และ พล.อ.บุญรอด สมทัต อดีตรมว.กลาโหม, นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตรมว.กลาโหม จนถึง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม คนปัจจุบัน ก็ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่กับการผลักดันโครงการจัดซื้อจัดหายานเกราะล้อยางจากยูเครนให้สำเร็จทั้งนั้น
พล.อ.ประวิตร เรืองสุวรรณ รมว.กระทรวงกลาโหม ผู้ประสบความสำเร็จในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์เสริมสมรรถนะให้กองทัพ
ย้อนกลับไปดูโครงการจัดซื้อจัดหายานเกราะล้อยางยูเครน ล็อตแรก 96 คัน ซึ่งเป็นโครงการเฟสแรกก่อนสานต่อเฟสสองที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติเมื่อ 20 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา เฟสแรกนั้นประเด็นที่สตง.ตรวจสอบหนักก็คือ ความไม่โปร่งใสในการประมูล มีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ชนะประมูล การทำผิดเงื่อนไขประมูลหรือทีโออาร์ที่กองทัพบก กำหนดว่า “ต้องเป็นยุทโธปกรณ์ใหม่ ไม่เก่าเก็บหรือเคยใช้งานมาก่อน” แต่สุดท้ายคณะกรรมการคัดเลือกแบบ กลับคัดเลือกแบบยานเกราะจากยูเครนที่เป็นรถเก่าจากรัสเซียนำมาดัดแปลง อีกทั้งยังมีคำถามเรื่องประสิทธิภาพความทนทานต่อตะปูเรือใบ กระสุนปืนเอ็ม 16 หรือกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. ฯลฯ 

จากนั้น “รัฐบาลขิงแก่” ก็มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2550 เห็นชอบตามที่พล.อ.บุญรอด สมทัต รมว.กลาโหมขณะนั้นเสนอ เพื่อขอผูกพันงบประมาณข้ามปี โครงการจัดหารถหุ้มเกราะ จำนวน 96 คัน ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ตั้งแต่ปี 50 - 54 วงเงิน 3,898 ล้านบาท และให้ผู้บัญชาการทหารบกหรือผู้แทน เป็นผู้ลงนามในข้อตกลงซื้อขายรถหุ้มเกราะระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลยูเครน โดยนายฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ รมว.คลัง มีข้อท้วงติงว่า การผูกพันงบประมาณและรายละเอียดการจัดซื้อจัดหายังไม่สมบูรณ์
 
หลังจากนั้น นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในฐานะรมว.กลาโหม ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 ให้กองทัพบกจัดซื้อยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 จากยูเครนได้ และผู้แทนรัฐบาลไทยมีการลงนามข้อตกลงกับรัฐบาลยูเครนเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 ท่ามกลางการติดตามตรวจสอบอย่างไม่ลดละของ สตง.ทั้งเรื่องราคาที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าตอนเสนอประมูล รถเก่านำมาดัดแปลงใหม่ กระบวนดำเนินการจัดซื้อจัดหาไม่โปร่งใส ฯลฯ

อาการดันทุรังของกองทัพบก เกิดสะดุดเมื่อเยอรมนี ได้ปฏิเสธส่งออกเครื่องยนต์ Deutz เพื่อนำมาติดตั้งให้กับยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 ทางกองทัพบกจึงตั้งคณะทำงานฯพิจารณาเปลี่ยนแปลงระบบกำลังเป็นเครื่องยนต์ MTU และเครื่องเปลี่ยนความเร็ว และสรุปว่ามีความเหมาะสม จึงเสนอให้คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์กองทัพบก (กมย.ทบ.) พิจารณาและผบ.ทบ.ได้อนุมัติรับรองมาตรฐานยานเกราะล้อยางที่ติดตั้งเครื่องยนต์ MTU และเครื่องเปลี่ยนความเร็ว Allison

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของสัญญา ทางกองทัพบก ได้หารือมายังสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานอัยการสูงสุด โดยนายถาวร พานิชพันธ์ รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ได้ตอบกลับไปเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 ความว่า
 
“โดยหลักการแล้ว สัญญาหรือความตกลงเป็นหนังสือที่ได้ลงนามแลวจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้ เว้นแต่การแก้ไขนั้นจะเป็นความจำเป็นโดยไม่ทำให้ทางราชการต้องเสียประโยชน์หรือเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ ทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 136 แต่เนื่องจากการทำความตกลงในการจัดซื้อยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 ครั้งนี้เป็นการจัดซื้อระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งได้รับการยกเว้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2530 ให้ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ดังนั้น หากกองทัพบกโดยกรมส่งกำลังบำรุงทหารบก เห็นว่ามีความจำเป็นก็สามารถใช้ดุลยพินิจนำเรียนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการแก้ไขความตกลงดังกล่าวได้....”

ขณะที่ สตง. มีความเห็นสวนทางกับสำนักงานอัยการสูงสุด ทาง สตง. ได้มีหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ขอให้พิจารณาทบทวนกระบวนการจัดซื้อและแก้ไขความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลยูเครนว่าด้วยการซื้อขายยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 โดยโต้แย้งความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดว่า “กรณีนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า การขอแก้ไขดังกล่าวเป็นการขอแก้ไขในสาระสำคัญและอาจทำให้ราชการเสียประโยชน์ รวมทั้งอาจเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ขายได้”
รถถัง T-84 0PLOT จากยูเครนเจ้าเก่า (ภาพจากเว็ปไซต์)
แต่ข้อท้วงติงของ สตง. ดูเหมือนรมว.กลาโหม และคณะรัฐมนตรีจะไม่สนใจฟัง เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหมได้อนุมัติแผนจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพบก ประจำปีงบประมาณ 2553 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ให้กองทัพบกซื้อรถยานเกราะแบบต่างๆ จำนวน 121 คัน พร้อมรถซ่อมบำรุงทั่วไป, รถบริการทางเทคนิค, รถควบคุมและทดสอบ, รถซ่อมบำรุงและตรวจสอบแบตเตอรี่, ชิ้นส่วนสำหรับการซ่อมบำรุง และสป. 5 ชนิดและขนาดต่างๆ วงเงิน 140,854,067.76 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,999,999,905.48 ล้านบาท
 
แน่นอน ยานเกราะแบบต่างๆ ที่พล.อ.ประวิตร อนุมัตินั้น ย่อมเป็นยานเกราะล้อยาง BTR-3E1ประเทศยูเครน ที่ติดตั้งด้วยเครื่องยนต์ MTU 6R106TD21 และเครื่องเปลี่ยนความเร็ว Allison 3200SP ซึ่งกองทัพบกได้อนุมัติรับรองให้เป็นแบบมาตรฐานสำหรับนำมาใช้ในกองทัพบกตั้งแต่เฟสแรก 96 คันแล้ว

นั่นหมายความว่า เมื่อยานเกราะล้อยางจากยูเครน 96 คันแรก ผ่านฉลุย 121 คัน ก็ตามมาติดๆ คราวนี้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2553 อนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีโครงการจัดหายานเกราะล้อยาง จำนวน 121 คัน ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ระบุว่า เป็นการอนุมัติก่อหนี้ผูกพัน “ตามแผนการจัดซื้อยานเกราะล้อยางแบบ BTR-3E1 จากบริษัท UKRSPECEXPORT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลประเทศยูเครน ที่ดำเนินการนำเข้าและส่งออกสิ่งอุปกรณ์ทางทหาร สิ่งอุปกรณ์พิเศษ และการบริการ ด้วยวิธีพิเศษ กรณีเป็นพัสดุที่โดยลักษณะการใช้งานหรือมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่จำเป็นต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะในราคายกเว้นค่าอากรทางศุลกากรขาเข้า แต่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีอากรอื่นๆ ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งปวง วงเงิน 4,999,999,900 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 ถึงปีงบประมาณ 2556”

มีข้อสังเกตว่า การขออนุมัติคณะมนตรีครั้งนี้ ระบุว่า เป็นการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งเป็นประเด็นอาจเกิดปัญหาตามมาโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ เนื่องจากเป็นการแก้ไขในสาระสำคัญ ผบ.ทบ.จึงยกเลิกแผนจัดหาโครงการจัดหายานเกราะดังกล่าวข้างต้นใหม่ และได้ดำเนินการตามแผนหาใหม่โดยตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการจัดซื้อยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 จากประเทศยูเครน ด้วยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล พร้อมกับทำการต่อรองราคากับผู้แทนรัฐบาลยูเครน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 ตกลงราคากันได้ที่ประมาณ 4,334 ล้านบาท

จากนั้น พล.อ.ประวิตร ก็ได้เสนอเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 และคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ผู้บัญชาการทหารบกหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงการจัดซื้อยานเกราะแบบต่างๆ ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยรวมทั้งการลงนามในเอกสารแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงการจัดซื้อรถยานเกราะแบบต่างๆ โดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาลจากรัฐบาลยูเครน วงเงิน 141,999,900 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4,318,216,959 บาท ที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังเฉพาะในกรณีแก้ไขในรายละเอียดที่มิใช่สาระสำคัญโดยวงเงินรวมไม่เปลี่ยนแปลง ตามที่กระทรวงกลาโหม เสนอ

หากตามไปดูเอกสารแนบเรื่องที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม ระบุด้วยว่า ร่างความตกลงซื้อยานเกราะล้อยาง 121 คันนี้ ไม่แตกต่างไปจากเฟสแรก 96 คัน จึงไม่ต้องส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาอีกแต่อย่างใด ส่วนประเด็นที่ว่า ร่างความตกลงจัดซื้อดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ 2550 หรือไม่นั้น งานนี้ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ตอบกองทัพบกมาว่า ความตกลงดังกล่าวไม่น่าเป็น “หนังสือสัญญา” ตามหนังสือของกต. ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2553 ขณะที่เรื่องนี้ สตง. มีความเห็นว่า เข้าข่ายหนังสือสัญญา ตามมาตรา 190 ซึ่งต้องผ่านรัฐสภาก่อน

ยังมีประเด็นเรื่องเงื่อนไขการจ่ายเงิน ซึ่งปกติแล้วจะใช้แบงก์การันตีเป็นหลักประกันทางการเงิน แต่กรณีของการจัดซื้อยานเกราะล้อยางจากยูเครนนั้น รัฐบาลได้ออกเป็นหนังสือรับประกันการรับเงินล่วงหน้าจากหน่วยงานของรัฐบาลยูเครนมอบให้ฝ่ายไทย เพื่อเป็นหลักประกันในการรับเงินล่วงหน้าในการจัดซื้อแทน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ยุคทหารกลับมายิ่งใหญ่มีอำนาจเหนือการเมืองอีกครั้ง
ไม่เพียงแต่ ยานเกราะล้อยาง เท่านั้น ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ จัดให้แก่กองทัพ ในประชุมคณะรัฐมนตรนัดสั่งลา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ยังได้กล่าวถึงเรื่องจัดซื้อรถถัง จำนวน 49 คัน ในราคา 7,200 ล้านบาท จากประเทศยูเครน ที่นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติด้วย รถถังหลักหรือรถสายพานลำเลียงที่กองทัพบกเสนอและได้รับอนุมัติครั้งนี้เป็นการจัดหาเพื่อเข้าประจำการในหน่วยงานต่างๆ ของกองทัพบกเพื่อทดแทนรถถังเดิมที่ชำรุด

สำหรับกระบวนการจัดหารถถังดังกล่าวนั้น มีผู้เสนอที่ผ่านคุณสมบัติขั้นต้น 12 ราย แต่มีบริษัทที่นำเสนอข้อมูลให้คณะทำงานฯ พิจารณา 9 บริษัท ซึ่งกระบวนการพิจารณาทั้งนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับคุณลักษณะทั่วไปที่กองทัพบกกำหนด การเยี่ยมชมสายการผลิต การทดสอบการใช้งาน ฯลฯ สรุปมี 3 รายที่ผ่านการรับรองแบบ คือ รถถังแบบ KIA1-TH จากเกาหลี, รถถังแบบ T- 90S จากรัสเซีย และรถถังแบบ OPLOT จากยูเครน แต่สุดท้ายกองทัพบกได้เลือกรถถังเก่าดัดแปลงใหม่จากยูเครน เช่นเดียวกับยานเกราะล้อยาง

รถถัง T-84 OPLOT จากยูเครน จะนำเข้ามาทดแทนรถถัง M-41 ที่เตรียมปลดประจำการ เวปไซต์ของ “มติชน” รายงานว่า รถถัง T-84 OPLOT การจัดหาระยะแรกจะเข้าประจำการ 1 - 2 กองพัน นำไปประจำการที่กองพันทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (ม.พัน.2 รอ.) หรือกองพันทหารม้าที่ 8 (ม.พัน8) เพื่อป้องกันภัยคุกคามที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

การเลือกซื้อยุทโธปกรณ์เก่าแทนที่จะเป็นของใหม่นั้น พ่อค้าในแวดวงค้าอาวุธ ให้ข้อมูลว่า เป็นเพราะการให้ส่วนลดทางการค้า หรือคอมมิชชั่น ให้ได้สูงกว่า อย่างรถเก่าส่วนลดจะตกประมาณ 30% แต่หากเป็นของใหม่ คอมมิชชั่นจะอยู่ที่ประมาณ 10% เท่านั้น อีกทั้งหากเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์จากโซนยุโรปหรืออเมริกา ส่วนลดการค้าก็จะได้ประมาณ 10% เช่นกัน

เวลานี้ กระบวนการตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดหายานเกราะล้อยางจากยูเครน ตกมาอยู่ในมือของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว โดยรวมสำนวนอยู่ในคดีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนกรณีนี้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รู้ทิศทางลมทางการเมืองดี คงตั้งเรื่องไต่สวนไปเรื่อยๆ และตราบใดที่พรรคประชาธิปัตย์ มีแนวโน้มจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็คงหวังได้ยากที่ ป.ป.ช.จะเร่งไต่สวนเรื่องนี้ให้เสร็จและส่งฟ้องศาลเพื่อพิสูจน์ความจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น