ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ปมปัญหาเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา เปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่รอวันปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อ เพราะการปักปันเขตแดนร่วมกันครั้งแรกตลอดเส้นพรมแดนยาวกว่า 798 กม.ร่วมร้อยกว่าปีที่ผ่านมานั้น ถึงเวลานี้ปรากฏว่าหลักเขตบางส่วนถูกเคลื่อนย้าย สูญหาย คนสองแผ่นดินต่างอ้างสิทธิรุกล้ำกันไปมา เกิดข้อพิพาทที่ร้อนแรงตามเงื่อนไขทางการเมือง
ปมปัญหาเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา ดูเหมือนจะกลายเป็นมหากาพย์ เป็นข่าวข้ามทศวรรษได้อย่างเหลือเชื่อเมื่อย้อนนึกไปถึงธรรมชาติโดยพื้นฐานของข่าวประเภทนี้ที่แต่ไหนแต่ไรมามักจะมีแต่คนบ่นว่าน่าเบื่อ ไม่มีความคืบหน้า ไม่ชวนติดตามเอาเสียเลย แต่ทว่านับจากข่าวขึ้นทะเบียนมรดกโลกกรณีปราสาทพระวิหารจวบจนมาถึงคดี 7 คนไทยถูกจับนอนคุกเขมรในเวลานี้ ข่าวเส้นเขตแดนกลับกลายเป็นข่าวที่น่าตื่นเต้น ชวนติดตาม
ถ้าหากว่าข่าวเส้นเขตแดนจะกลายเป็นเรื่องน่าสนใจในยุคโลกไร้พรมแดนขึ้นมาแล้วละก้อ ไม่ควรจะมองข้ามการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเป็นพื้นฐานการทำความเข้าใจเรื่องข้อพิพาทในปัญหาเส้นเขตแดนที่จะปะทุขึ้นเป็นระยะๆ ตามองศาการเมืองภายในของสองชาติ
ปัญหาเส้นเขตแดนระหว่างไทย - กัมพูชา ซึ่งโครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ศึกษาข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงและสังคมไทยในวงกว้างได้รับรู้สภาพปัญหาและรู้เท่าทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (ย้ำอีกครั้งว่าชุดข้อมูลที่นำมาเผยแพร่นี้เป็นชุดข้อมูลของ สกว.) สรุปได้ ดังนี้
ตลอดแนวเส้นเขตแดนระหว่างไทย - กัมพูชา ทางบก ที่ติดต่อกันยาวประมาณ 798 กิโลเมตร แบ่งเป็นตามแนวสันปันน้ำ ประมาณ 542 กิโลเมตร ตามแนวลำน้ำประมาณ 216 กิโลเมตร และเป็นเส้นตรงประมาณ 58 กิโลเมตร ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ทำการปักปันเขตแดนร่วมกันครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2452 หรือ ค.ศ. 1909 ร่วมร้อยกว่าปีมาแล้วนั้น ได้ใช้หลักเขตแดนทำจากไม้ รวม 73 หลัก เริ่มตั้งแต่ช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ (รอยต่อจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ) เป็นหลักเขตที่ 1 โดยแบ่งเส้นเขตแดนออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 เริ่มตั้งแต่จุดร่วมเขตแดน 3 ประเทศ (ไทย - กัมพูชา - ลาว) บริเวณช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี ไปตามทิวเขาพนมดงรัก ผ่านจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ จนถึงเขตรอยต่อ จังหวัดบุรีรัมย์ กับ จังหวัดสระแก้ว (บริเวณหลักเขตที่ 28) ใช้แนวสันปันน้ำของทิวเขาพนมดงรักเป็นเส้นเขตแดน
ส่วนที่ 2 เริ่มตั้งแต่หลักเขตแดนที่ 28 เส้นเขตแดนไปตามลำคลองสลับกับแนวเส้นตรงไปจนถึงต้นน้ำของทิวเขาบรรทัด (ใกล้หลักเขตแดนที่ 68) ผ่านจังหวัดสระแก้วและจังหวัดจันทบุรี
ส่วนที่ 3 เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำคลองใส (รอยต่อจังหวัดจันทบุรี กับ จังหวัดตราด) เส้นเขตแดนไปตามแนวสันปันน้ำของทิวเขาบรรทัดในเขตจังหวัดตราด ผ่านหลักเขตแดนที่ 69 จนถึงหลักเขตแดนที่ 72 และจากหลักเขตแดนที่ 72 เขตแดนเป็นเส้นตรงจนถึงหลักเขตแดนที่ 73 อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด
ต่อมา พบว่า หลักเขตบางส่วนถูกเคลื่อนย้าย บางส่วนสูญหาย และการใช้แผนที่ในการพิจารณาปัญหาเขตแดนคนละฉบับ โดยไทยใช้แผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 ลำดับชุด L 7017 ที่กรมแผนที่ทหาร จัดทำ ส่วนฝ่ายกัมพูชา ใช้แผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 ที่จัดพิมพ์โดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ส่งผลให้แนวเขตแดนบนแผนที่ทับซ้อนกัน
ดังนั้น ทั้งสองประเทศ จึงได้ร่วมกันทำบันทึกความเข้าใจเรื่องการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 (MOU 43) และได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย - กัมพูชา ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 7 - 8 กุมภาพันธ์ 2549 และการสำรวจเขตแดนทางน้ำให้แล้วเสร็จภายในปี 2550
อย่างไรก็ตาม การสำรวจของชุดสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมไทย - กัมพูชา หรือคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา (JBC) ได้เริ่มต้นปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ตั้งแต่ 19 มิถุนายน 2549 โดยจะเริ่มจากหลักเขตแดนที่ 48 และ 49 ในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ตรงข้ามกับอำเภอโอโจรว จังหวัดบันเตียเมียนเจย ระยะทาง 18 กิโลเมตร ซึ่งไทยได้เสนอให้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจากดาวเทียม Theos
นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำขั้นตอนการสำรวจและการปฏิบัติงานด้านธุรการไว้ในบันทึกความเข้าใจเพื่อให้เป็นกรอบในการปฏิบัติงานร่วมกัน ซึ่งขั้นตอนการสำรวจทั้งหมดมี 5 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ค้นหาที่ตั้งหลักเขตแดนทั้ง 73 หลัก เมื่อตกลงที่ตั้งของแต่ละหลักได้แล้ว จะทำการซ่อมแซมในกรณีที่ชำรุด และสร้างขึ้นใหม่ในกรณีที่สูญหาย หรือถูกเคลื่อนย้าย ซึ่งมีลำดับพื้นที่ในการสำรวจ คือ
ตอนที่ 4 หลักเขตที่ 49 - หลักเขตที่ 23
ตอนที่ 3 หลักเขตที่ 66 - หลักเขตที่ 49
ตอนที่ 2 หลักเขตที่ 71 - หลักเขตที่ 66
ตอนที่ 1 หลักเขตที่ 73 - หลักเขตที่ 71
ตอนที่ 5 หลักเขตที่ 23 - หลักเขตที่ 1
ตอนที่ 6 หลักเขตที่ 1 - เขาสัตตะโสม
ตอนที่ 7 เขาสัตตะโสม - ช่องบก
ขั้นตอนที่ 2 จัดทำแผนที่ภาพถ่าย เป็นการทำแผนที่ภาพถ่ายแสดงลักษณะภูมิประเทศ ตามแนวเขตแดนทางบกตลอดแนวโดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ / ภาพดาวเทียม เพื่อช่วยในการสำรวจหาเขตแดนในภูมิประเทศ โดยจะใช้เวลาจัดทำประมาณ 1 ปี
ขั้นตอนที่ 3 กำหนดแนวที่จะเดินสำรวจลงแผนที่ภาพถ่าย ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันกำหนดแนวที่จะเดินสำรวจตามหลักฐานทางกฎหมายบนแผนที่ภาพถ่าย
ขั้นตอนที่ 4 เดินสำรวจหาแนวเขตแดนในภูมิประเทศ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันเดินสำรวจในภูมิประเทศจริง เพื่อกำหนดแนวเขตแดนในภูมิประเทศ โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายเป็นตัวช่วย
ขั้นตอนที่ 5 สร้างหลักเขตแดนแบ่งตามลักษณะของแนวเขตแดน
อย่างไรก็ตาม การสำรวจเส้นเขตแดนทางบกไม่ได้ราบรื่นดังคาดหมายเพราะเกิดมีปัญหาข้อพิพาทขึ้นมาเนื่องจากหลักเขตเดิมที่มีอยู่หายไป หรือถูกเคลื่อนย้าย ต่างฝ่ายจึงต่างอ้างสิทธิและเข้าไปก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างหรือขึ้นทะเบียนโบราณสถานเพื่อประกาศสิทธิเหนือดินแดนนั้นๆ
(ต่อมา บันทึกความเข้าใจฯ หรือ MOU 43 นี้ ทางกลุ่มพันธมิตรฯ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก แต่สุดท้าย MOU 43 ก็ผ่านสภาฯ วาระแรก และขณะนี้อยู่ในชั้นตั้งคณะกรรมาธิการ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อ้างว่า MOU ฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทย / สำหรับประเด็นเรื่องแผนที่นั้น ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา ไม่ได้ยอมรับแผนที่ที่อีกฝ่ายหนึ่งนำมาใช้อ้างอิงในการพิจารณาเรื่องเส้นเขตแดน ไม่ว่าแผนที่ L7017 ของไทย หรือว่า แผนที่ 1:50,000 ที่เขมรปรับปรุงจากแผนที่ 1:200,000 ที่นำมาอ้าง ทั้งสองฝ่ายจึงกลับมาใช้วิธีสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนกันใหม่ตามบันทึกความเข้าใจฯ)
ปัจจุบัน เส้นเขตแดนทางบกของสองประเทศที่มีปัญหาข้อพิพาทกัน มีดังนี้
บริเวณจังหวัดสุรินทร์
จังหวัดสุรินทร์ มีปัญหาพรมแดนติดต่อกับกัมพูชาทางด้านอำเภอกาบเชิง บัวเชด สังขะ และกิ่งอำเภอพนมดงรัก ซึ่งเขตแดนติดต่อมีลักษณะเป็นป่ามีทิวเขาดงรักกั้นตลอดแนว พื้นที่ส่วนหนึ่งได้รับการประกาศประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ และตามแนวชายแดนซึ่งเป็นเขตแดนทางบกมีช่องทางขึ้นลงจำนวนมาก
จังหวัดสุรินทร์ มีหลักเขตแดนทั้งหมด 23 หลัก ตั้งแต่หลักเขตแดนที่ 2 - 23 ในจำนวนนี้มีหลักเขตแดนที่ไม่สามารถตรวจพบ 6 หลัก คือ หลักเขตแดนที่ 2, 4, 5, 6, 15 และ 16 ส่วนหลักเขตที่ 7 มีร่องรอยการเคลื่อนย้าย ซึ่งปัญหาความขัดแย้งสำคัญที่เกิดขึ้น ได้แก่
1) กลุ่มปราสาทตาเมือน เป็นปราสาทหิน จำนวน 3 หลัง ตั้งอยู่บนแนวภูเขาบรรทัด บริเวณบ้านหนองคันนาสามัคคี หมู่ที่ 18 ตำบลตาเมียง กิ่งอำเภอพนมดงรัก กลุ่มปราสาทตาเมือน ประกอบด้วย ปราสาทตาเมือนธมเก่าแก่ และมีขนาดใหญ่ที่สุด ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน
2) ปราสาทตาควาย ตั้งอยู่ในเขตบ้านไทยนิยมพัฒนา หมู่ที่ 17 ตำบลบักได
ในช่วงปี 2544 ราษฎรกัมพูชา ได้แพร่กระจายข่าวว่าปราสาทตาเมือนและปราสาทตาควาย เป็นของกัมพูชา และกัมพูชา อาจยื่นข้อเรียกร้องอ้างสิทธิเหนือปราสาททั้งสองแห่ง ซึ่งในการประชุมเจ้าหน้าที่เทคนิคไทย - กัมพูชา นำโดยนายประชา คุณะเกษม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา ฝ่ายไทย และนายวาร์ กิมฮง ที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชาด้านกิจาการายแดน ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา ฝ่ายกัมพูชา เมื่อวันที่ 7- 8 พฤศจิกายน 2544 ฝ่ายไทยเสนอว่า ขอให้จัดชุดสำรวจร่วมกัน ทำการเดินตรวจสอบแนวสันปันน้ำในภูมิประเทศบริเวณปราสาท เพื่อพิสูจน์ทราบตำแหน่งปราสาททั้งสามหลัง โดยยึดตามแนวสันปันน้ำต่อเนื่องในภูมิประเทศเป็นเส้นเขตแดน
แต่ทางฝ่ายกัมพูชา ชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบตำแหน่งของปราสาททั้งสองหลัง คือ ปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาเมือนโต๊ด แล้ว ประกอบกับหลักฐานบันทึกว่า จากการปักปันเขตแดนหมายเลขที่ 23 ระหว่างไทย - ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1908 แสดงสัญลักษณ์ตัวปราสาทสองหลังอยู่ในเขตกัมพูชา
ขณะที่แผนที่ชุด L 7017 มาตราส่วน 1/50,000 ปี 2527 ที่ฝ่ายไทยยึดถือ และแผนที่ชุด L 7016 มาตราส่วน 1/50,000 ปี 2514 จัดทำโดยสหรัฐอเมริกา ที่ฝ่ายกัมพูชานำมาอ้างปรากฏเส้นเขตแดนตรงกันคือ ตัวปราสาทตาเมือนธม อยู่ในเขตกัมพูชา และอีกสองปราสาท คือ ปราสาทตาเมือนโต๊ดและปราสาทตาเมือน อยู่ในเขตไทย ด้วยเหตุนี้ปัจจุบันปัญหาบริเวณดังกล่าวจึงยังไม่ได้ข้อยุติ
อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายทหารและกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ออกมาแถลงอย่างชัดเจนว่า ปราสาทตาเหมือนธม อยู่ในเขตไทยอย่างแน่นอน และกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเอาไว้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478
(กล่าวโดยสรุปแล้ว กลุ่ม 3 ปราสาทนี่ยังเป็นปัญหา เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ เพราะเป็นกลุ่มปราสาทที่คร่อมสันปันน้ำอยู่ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยกขึ้นมา เป็นได้เรื่อง)
บริเวณจังหวัดบุรีรัมย์
ในส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่ปรากฏว่ามีข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับเส้นเขตแดน แต่ยังมีเส้นเขตแดนที่ยังต้องปักปัน ได้แก่ เส้นเขตแดน หลักเขตแดนที่ 25 บริเวณช่องสายตะกู ตำบลสายตะกู อำเภอบ้านกรวด ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้เพราะหลักเขตสูญหาย
บริเวณจังหวัดสระแก้ว
พื้นที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งอยู่ในความดูแลของกองกำลังบูรพา ตั้งแต่อำเภอตาพระยา อำเภอคลองหาด (หลักเขตที่ 28 - 51) มีหลักเขตที่สมบูรณ์ 11 หลักเขต สูญหายจำนวน 6 หลักเขต โดยมีเหตุให้เกิดการล้ำแดน คือ
1) บริเวณหลักเขตที่ 31-32 เนิน 48 อำเภอตาพระยา ปัญหาเกิดจากไทยและกัมพูชายึดถือแผนที่คนละลำดับชุด ทำให้เกิดการทับซ้อนของแนวเขตแดนบนแผนที่บริเวณเนิน 48 โดยสภาพปัจจุบันทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว
2) บริเวณหลักเขตที่ 35 บริเวณจุดผ่อนปรนตาพระยา - บึงตรอกวน อำเภอตาพระยา ซึ่งหลักเขตดังกล่าว ได้สูญหาย ทำให้ไม่สามารถกำหนดเส้นเขตแดนที่ชัดเจนได้ และกัมพูชายังกล่าวหาฝ่ายไทยว่าไปก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์บางส่วนรุกล้ำเขตแดนกัมพูชา
3) หลักเขตที่ 37 - 40 บริเวณเขาพนมปะ และเขาพนมฉัตร อำเภอตาพระยา ซึ่งสองฝ่ายต่างยึดถือแผนที่อ้างอิงต่างกัน
4) หลักเขตที่ 46 - 48 ตำบลโนนหมากมุ่น กิ่งอำเภอโคกสูง ถูกราษฎรกัมพูชาบบ้านโชคชัย จังหวัดบันเตียเมียนเจย ประมาณ 200 คน รุกล้ำเข้ามาปลูกที่อยู่อาศัยในเขตไทยห่างจากชายแดนประมาณ 300 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ 400 ไร่ นอกจากนี้หลักเขตที่ 48 ยังถูกทำลาย
5) พื้นที่บ้านไร่ใหม่ ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ ใกล้หลักเขตที่ 49 ฝ่ายกัมพูชาก่อสร้างกำแพงคอนกรีตในบริเวณดังกล่าว แต่ยอมยุติการก่อสร้างและยอมให้ไทยรื้อถอนบางส่วน ซึ่งฝ่ายกัมพูชา ได้นำกำลังตำรวจเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการในเขตกัมพูชาใกล้บริเวณดังกล่าว
ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้ ยังมีกรณีร้องเรียนจากราษฎร เช่น นายชัยชนะ หมายงาน อยู่บ้านเลขที่ 167 หมู่ที่ 7 ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ที่เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินทางด้านฝั่งขวาของถนนศรีเพ็ญ จำนวน 11 แปลง เนื้อที่ 445 ไร่ เป็นที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) โดยที่ดินดังกล่าวบางส่วนอยู่ติดกับแนวชายแดนและกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา
ต่อมา นายชัยชนะ และพวก ขอให้สำนักงานที่ดินที่ดินจังหวัดสระแก้วออกโฉนดที่ดินที่เข้าใช้ทำประโยชน์ ทางกองกำลังบูรพา ได้ตอบข้อหารือของสำนักงานที่ดินเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ว่า ขอให้สำนักงานที่ดินฯ ชลอการออกโฉนดที่ดินบริเวณดังกล่าวไว้ก่อน เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นแนวชายแดนระหว่างหลักเขตที่ 48 - 49 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องแนวเขตแดนระหว่างประเทศซึ่งยังไม่ชัดเจน คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา ข้อ 5 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ให้ทั้งสองฝ่ายงดเว้นการกระทำใดๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน
ขณะที่นายชัยชนะ ได้อ้างว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของประชาชนไทย และหลักเขตที่ 48 เดิมชาวบ้านเรียกว่าป่าไผ่ใหญ่ อยู่ตรงข้ามกับอ่างศิลา อำเภอโคกสูง ได้ถูกทางกัมพูชาระเบิดหลักกิโลเมตรทิ้งและเข้ายึดครองพื้นที่ นอกจากนั้น นายชัยชนะ ยังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบแผนที่เดิมตั้งแต่ปี 2520 มาเทียบดูกับแผนที่ปี 2542 ซึ่งสำรวจโดยกรมแผนที่ทหาร จะพบว่า ไทยเสียดินแดนให้กัมพูชา 18 กิโลเมตร จริงหรือไม่
6) พื้นที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรคลองลึก อำเภออรัญประเทศ เกิดจากการปรับพื้นที่ก่อสร้างบ่อนการพนันในเขตกัมพูชาอันเป็นเหตุให้ลำน้ำคลองลึก คลองพรมโหด ที่ใช้เป็นเส้นเขตแดนเปลี่ยนทิศทาง
7) หลักเขตที่ 51 บ้านคลองหาด อำเภอคลองหาด เขาตาง็อก ไทยและกัมพูชา อ้างอิงแผนที่ที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดพื้นที่เหลื่อมซ้อนทับกันประมาณ 3 กิโลเมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 1, 875 ไร่ ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเข้าปลูกสิ่งก่อสร้างไว้ แต่กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ได้เข้าเจรจาขอให้รื้อถอนออกไปแล้ว
จังหวัดจันทบุรี
บริเวณจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่เป็นปัญหาข้อพิพาทกันระหว่างไทย - กัมพูชา ดังนี้
1) บริเวณหลักเขตที่ 51 ฝ่ายไทยและกัมพูชาใช้หลักฐานอ้างอิงต่างกัน ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนประมาณ 3 ตารางกิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว กัมพูชาเคยปลูกสิ่งก่อสร้าง แต่กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ได้กดดันให้กัมพูชารื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไป
2) หลักเขตที่ 62 บ้านหนองกก ตำบลเทพนิมิต อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ซึ่งตลิ่งน้ำถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนพังทลายเป็นเหตุให้หลักเขตอ้างอิงที่ตั้งอยู่ริมคลองโป่งน้ำร้อนโค่นล้ม ทางกองบัญชาการทหารสูงสุดได้อนุมัติแนวทางติดตั้งหลักเขตแดนขึ้นใหม่โดยเจรจากับฝ่ายกัมพูชาดำเนินการติดตั้งหลักเขตแดนชั่วคราว
3) หลักเขตแดนที่ 66 และ 67 บ้านผักกาด อำเภอโป่งน้ำร้อน ทั้งสองประเทศต่างอ้างอิงแนวเขตแดนต่างกัน โดยฝ่ายไทยอ้างอิงสภาพภูมิประเทศ และกัมพูชาอ้างแนวเส้นตรง ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนกันประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งฝ่ายกัมพูชา ได้เข้ามาตัดไม้และยังกล่าวหาไทยว่าทำการปิดประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติรุกล้ำเข้าไปในเขตกัมพูชา
จังหวัดตราด
มีจุดที่เกิดข้อพิพาท คือ
1)บริเวณบ้านคลองสน บ้านคลองกวาง - ตากุจ อำเภอคลองใหญ่ บนเส้นเขาบรรทัด เนื่องจากกัมพูชาได้สร้างถนนสาย K 5 ล้ำเข้ามาในเขตไทยประมาณ 500 เมตร รวมระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งฝ่ายกัมพูชายอมรับว่าสร้างล้ำเข้ามาจริง ทางกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด จึงได้ปิดเส้นทางในส่วนที่ล้ำเข้ามา
2)บริเวณบ้านหนองรี อำเภอเมือง ทหารกัมพูชาได้เข้ามาตั้งฐานลึกในเขตไทย ประมาณ 300 เมตร ฝ่ายไทยกดดันมิให้ฝ่ายกัมพูชาก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม
3)หลักเขตแดนที่ 72, 73 จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ โดยหลักเขตที่ 72 สูญหาย และมีการอ้างอิงแนวเขตจากหลักเขตแดนที่ 73 ไปยังหลักเขตแดนที่ 72 แตกต่างกัน ฝ่ายกัมพูชา ยึดถือค่าพิกัด TT. 724886 ส่วนไทยยึดถือค่าพิกัด TT. 725884 ทำให้มีพื้นที่ทับซ้อนกันประมาณ 100 ไร่ ซึ่งฝ่ายกัมพูชพยายามปลูกสิ่งก่อสร้างถาวรในพื้นที่แต่ฝ่ายไทยกดดันให้ยุติ
นี่คือภาพรวมตลอดแนวเส้นเขตแดนทางบกระหว่างไทย - กัมพูชาที่ยังมีปัญหาอยู่ เช่นเดียวกันกับเส้นเขตแดนทางทะเลที่ต้องนับหนึ่งใหม่เมื่อมีการยกเลิก MOU 2544 ไปแล้ว