“เทพมนตรี” ยืนยัน 7 คนไทยถูกจับในเขตแดนไทย ท้าพิสูจน์พิกัดดาวเทียมโทรศัพท์ หวั่นศาลเขมรพิพากษาคนไทยแล้วใช้คำตัดสินกลับมาเล่นงานเราภายหลัง แนะรัฐบาลใช้มาตรการทางการทูต กดดันระหว่างประเทศ “กษิต” ระบุ “เราข้ามแนวแบ่งเขต” เข้าไป 55 เมตร แต่ไม่ได้มีเจตนาร้าย และเส้นเขตแดนจริงๆ ก็ยังไม่ชัดเจน
นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักประวัติศาสตร์ กล่าวในรายการ “ตอบโจทย์” ทางทีวีไทย กรณีนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ และอีก 6 คนไทยถูกจับที่กัมพูชา ระบุว่าก่อนหน้านั้นนายพนิชมาชวนตนให้ไปลงพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเขาพระวิหารที่ถูกอ้างว่ากัมพูชารุกล้ำเข้ามา โดยไปในทางลับ หลังจากนั้นนายพนิชจะโทรศัพท์หานายกรัฐมนตรีให้เปิดพื้นที่ดินแดนตรงนั้นจะได้รู้ว่าไทยไม่ได้เสียดินแดน หลังจากนั้นนายพนิชบอกว่าจะไปดูอีกพื้นที่หนึ่งก่อน ไปกับนายแซมดิน โดยเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านอ้างว่ามีโฉนด แต่มีทหารกัมพูชาเข้ามาในพื้นที่ ตนจึงบอกว่าให้นายพนิชไปกับนายแซมดินก่อน เนื่องจากเห็นว่าประเด็นหลักน่าจะอยู่ที่พื้นที่เขาพระวิหาร และนายพนิชก็เดินทางไปลงพื้นที่จนถูกจับดังกล่าว
นายเทพมนตรีกล่าวว่า จากเอกสารของกองกำลังบูรพา รายงานว่า ระหว่างหลักเขตที่ 46 -47 มีชาวกัมพูชา รุกล้ำพื้นที่เข้ามา 87 ไร่ ถนนสายเค 5 มีการตัดให้เรียบมากขึ้น บ้านเรือนมีโครงสร้างถาวรมากขึ้น ซึ่งพื้นที่ลักษณะที่ถูกรุกล้ำมีรวม 7 จุดในจังหวัดสระแก้ว ซึ่งรวมถึงจุดที่นายพนิชถูกจับตัวไปด้วย นายพนิชถูกจับระหว่างจะเดินเข้าไปที่หลักเขต 46 ซึ่งอยู่หลังหมู่บ้าน แต่ยังเดินไปไม่ถึง ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นยังเป็นของไทยอยู่ ยังไปไม่ถึงหลักเขต 46 ตนจึงยืนยันว่านายพนิชถูกจับในเขตไทย จากคลิปวิดีโอเห็นว่ามีการโทรศัพท์ ดังนั้นจึงสามารถให้กระทรวงไอซีทีพิสูจน์ทราบพิกัดดาวเทียมได้ และเมื่อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วตนเชื่อว่าอย่างไร ทางเขมรก็ต้องปล่อยตัว 7 คนไทย แต่ตนก็ไม่อยากให้คนไทยต้องงขึ้นศาลเขมร
นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เอ็มโอยู และเจบีซี มีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อน เมื่อเกิดข้อขัดแย้งก็ต้องเจรจาเพื่อหาทางออก การที่ 7 คนไทยเข้าไปในพื้นที่ที่ทหารกัมพูชาใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีการประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่ปี 2534 ถือว่ากรณีนี้เป็นการพลาดท่า เพราะพลัดหลงเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ไม่มีการติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าไป ทั้งๆ ที่ถนนศรีเพ็ญทุกๆ 1 กม.จะมีทหารตั้งด่านอยู่ ก็ไม่รู้ว่าเข้าไปได้อย่างไร ซึ่งครั้งนี้ทางกัมพูชาดำเนินการอย่างแข็งกร้าว ขณะที่ไทยยังไม่ยอมผ่านมติเจบีซีให้ ตนเห็นว่ากรณีนี้อาจจะปล่อยตัวยาก ตนเห็นใจคนไทยทั้ง 7 คนที่ถูกจับ เราต้องส่งกำลังใจช่วยกัน รัฐบาลไทยต้องอธิบายว่าที่เราเข้าไปนั้นเป็นการพลัดหลง ไม่ได้มีเจตนา และพื้นที่ดังกล่าวก็ยังพิสูจน์ทราบไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาดำเนินตามเจบีซี ควรจะรีบให้ศาลมีคำตัดสินออกมา และขออภัยโทษ จะได้รีบปล่อยตัว 7 คนไทยกลับมา ถ้าเราเล่นเกมพิสูจน์ทราบพิกัด ตนเห็นว่าเรื่องจะไม่จบ และจะยืดเยื้อยาวมาก
นายเทพมนตรีกล่าวว่า ทั้งเจบีซี และเอ็มโอยู ล้วนเป็นตัวปัญหา ไม่สามารถช่วยไทยได้ ตนไม่เห็นด้วยกับการจะให้ศาลเขมรตัดสินโดยที่เราไม่ผิด รัฐบาลต้องใช้มาตรการทางการทูต ใช้การกดดันระหว่างประเทศ ตนเชื่อว่ามีข้อต่อรองที่ทำได้มากมาย หากเราจะเคร่งครัดตามเอ็มโอยู ก็ควรจะผลักดันชาวกัมพูชาตามแนวชายแดนกลับไปบ้าง อีกประการหนึ่งหากให้ศาลเขมรตัดสินแล้ว จะมีหลักประกันอะไร ว่าจะไม่เอามาเป็นข้อมูลเล่นงานประเทศไทย ตอนนี้ทหารติดขัดที่มีข้อตกลงเจบีซีจึงไม่สามารถทำอะไรได้
นายอัครพงษ์กล่าวว่า การข้ามไปข้ามมาระหว่างเขตแดนหรือพื้นที่ทับซ้อน ถ้าเป็นชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่กรณีนี้เป็น ส.ส. และเป็นกรรมการในเจบีซีด้วย มีนายวีระ สมความคิด ซึ่งเคยไปถูกจับมาแล้วจึงเป็นประเด็นขึ้นมา ตนเห็นว่าเรื่องชายแดนควรจะให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลจัดการ เรื่อง น.ส.3 ก็เชื่อมโยงมาจากสมัยสงครามเขมรแดง มีการสร้างรั้วขึ้นมาตั้งแต่ครั้งสงครามเขมรแดง เนื่องจากเราต้องการกันคนของเราไม่ให้ข้ามไป เพราะมีกับระเบิด แนวระยะทาง 798 กม.ซึ่งเป็นเขตแดนยังเจรจาไม่เสร็จ รัฐบาลก็นิ่งดูดาย ปล่อยให้ชาวกัมพูชามาอาศัยอยู่ อาจจะเป็นเพราะนายกฯดูแลการบริหารงานไม่ทั่วถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีการเปลี่ยนตัวบ่อยทำให้ดูแลได้ไม่ชัดเจน
นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในรายการ “คุยนอกทำเนียบ” ทางสถานีโทรทัศน์ NBT กล่าวว่า ทั้ง 7 คนไทยที่ถูกจับไม่ได้มีเจตนาร้าย ไม่ได้เข้าไปทำอาชญากรรม เพียงแต่เข้าไปพิสูจน์โฉนดที่ดิน เข้าไปดูหลักเขตที่ 46 ก่อนหน้านี้นายกฯทั้งประเทศได้คุยกัน ว่าถ้าเกิดกรณีมีการข้ามเขตแดนระหว่างกันก็ไม่อยากให้เรื่องไปถึงชั้นศาล โดยให้ส่งตัวกลับไปเรื่องจะได้จบ แต่กรณีนี้เป็นการเข้าไปโดยไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า และทางกัมพูชาจำนายวีระได้ ว่าเคยถูกจับ จึงมีการแจ้งไปยังส่วนกลาง ปัญหาเรื่องนี้ก็ต้องดูที่ข้อเท็จจริง ซึ่งทางสถานทูตก็ได้จับทนายให้ จัดล่ามให้กับคนไทยทั้ง 7 คน
นายกษิตกล่าวถึงกรณีนี้ว่า นายพนิชอาสาจะเป็นผู้ประสานงานกับทางพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะไม่อยากให้มีการประท้วง นอกจากนี้ นายพนิชเป็น ส.ส.เขต 6 กทม. ซึ่งสำนักสันติอโศกอยู่ และมีชาวบ้านไปร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อน นายพนิชจึงอยากเข้าไปดูในพื้นที่ และได้บอกกับนายกฯว่าจะมาชายแดน นายกฯก็รับทราบว่านายพนิชจะลงพื้นที่แต่ไม่ทราบในรายละเอียด ซึ่งนายกฯก็ได้บอกว่าถ้ามีปัญหาอะไรก็ให้โทรศัพท์มาจะได้ประสานกับทาง ตชด.ให้ช่วยดูแล
นายกษิตกล่าวว่า ตอนนี้การนำตัว 7 คนไทยกลับมา เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เราไม่มีเจตนาให้กรณีการจับกุม 7 คนไทย กระทบความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ก็ได้มีการเร่งกระบวนการยุติธรรม เพราะข้อหาก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไร จับปรับได้ ไม่ต้องจำคุก เรื่องจะได้ยุติ และทางเราก็ได้ทำหนังสือแจ้งกัมพูชาไปว่าเราได้ทำอะไรไปบ้าง ทางทูตเราก็บอกเขาให้เร่งดำเนินการ เพราะเป็นการล้ำกันนิดๆหน่อยๆ เป็นการ “ข้ามแนวแบ่งเขต” เข้าไป 55 เมตร ไม่ได้มีเจตนาร้าย และเส้นเขตแดนจริงๆ ก็ยังไม่ชัดเจน น่าจะปล่อยตัวได้เร็ว ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกันมากมาย น่าจะมองในเชิงบวกดีกว่า ไม่ควรทำอะไรให้บาดหมางใจกัน เพราะต้องคำนึงถึงการที่เราต่างเป็นสมาชิกอาเซียนด้วย ส่วนการชุมนุมนั้น ก็ได้พบปะกับผู้ที่คะดค้านการจับกุมคนไทย มีการพูดคุยกันตลอด อย่างเปิดเผยไม่มีการปิดบัง ซึ่งก็ต้องใจเย็นๆ ต้องใช้เวลาบ้าง ทุกคนต่างก็อยากให้เรื่องนี้เสร็จสิ้น
นายกษิตกล่าวด้วยว่า ทางกัมพูชาได้แต่งตั้งนายสก อาน ให้ดูแลเรื่องพระวิหาร พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ทาง ครม.ของไทยได้แต่งตั้งนายสุเทพให้ดูแลเรื่องเขตแดนทางทะเล ก็จะมีการพบปะพูดคุยกัน นอกจากนี้ ครม.แต่งตั้งนายอัษฎา ชัยนาม ดูแลเรื่องเจบีซี ซึ่งจะดูว่าทำอะไรได้บ้างภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 และเอ็มโอยู 43 ซึ่งนายอัษฎาก็จะเดินทางไปพนมเปญในเดือนนี้เพื่อไปเจรจาเรื่องเจบีซี ส่วนตนกับนายฮอร์นัมฮอง ก็จะมีการพบปะพูดคุยกันที่พนมเปญจะเจรจากันเรื่องกรรมาธิการร่วมไทย-กัมพูชา ดูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภาพรวม