xs
xsm
sm
md
lg

ชุมชนค้านแผนพัฒนาผลิตไฟฟ้า 2010 ฉ้อฉล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ชุมชนในพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ คัดค้านการอนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือแผนพีดีพี 2010 ที่มุ่งสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล สำรองไฟฟ้าบานเบอะถึง 25% ซ้ำขาดธรรมาภิบาล จวกรัฐบาลปล่อยให้เอกชนเผชิญหน้าชุมชนสร้างความขัดแย้งทุกพื้นที่ ชี้โรงไฟฟ้าใหญ่ 4 แห่งตามแผนพีดีพี 2007 จนถึงวันนี้ยังสร้างไม่ได้เพราะถูกต้านอย่างหนักกลับไม่ทบทวนใหม่

วันนี้ (8 มี.ค.) เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม ฉะเชิงเทรา และเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง สระบุรี อ.ภาชี อยุธยา ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการอนุมัติแผนพีดีพี 2010ต่อประธาน กพช. และกรรมการ และประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย และอนุกรรมการ โดยให้เหตุผลว่า

1.แผนนี้เป็นแผนที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลร่างแผน และเหตุผลทั้งหมดสู่สาธารณะก่อนการจัดรับฟังความคิดเห็น

2.ไม่เปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและมีเวลาเพียงพอ การรับฟังวันนี้เพียงครั้งเดียวใช้เวลา แค่ 1 ชั่วโมงไม่ใช่การรับฟังความคิดเห็นที่มีธรรมาภิบาล แสดงว่าเป็นการใช้เวทีรับฟังเพื่อหลอกลวงสาธารณชนว่าเปิดรับฟังแล้วเท่านั้น
 
การกระทำดังกล่าว ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 57 ที่ระบุว่า "บุคคล ย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสีย สำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

"การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การ เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อ ส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ก่อนดำเนินการ"

การวางแผนฉบับนี้เร่งสรุปเพื่อให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติและ คณะรัฐมนตรีรับทราบ ในวันที่ 12 มีนาคม ที่จะถึงนี้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต้องรีบสรุปเนื่องจากระบบผลิตไฟฟ้ามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองถึงกว่า 30 %

3.คณะอนุกรรมการ ฯ ไม่มีธรรมาภิบาลเพราะไม่เรียนรู้ความเสียหายและเหตุผลการคัดค้านของชุมชนต่อโครงการโรงไฟฟ้า กระทรวงพลังงาน และ กฟผ.เพิกเฉยต่อการร้องเรียนของชาวบ้าน ไม่มีการประเมินความเสียหายจากความขัดแย้งการใช้ทรัพยากรตามแผนพีดีพีทั้งในอดีตและฉบับปัจจุบัน

แผน พีดีพี 2007 ได้อนุมัติให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนโดยการประมูล ซึ่งทั้ง 4 พื้นที่ที่ประมูลได้ ณ วันนี้ ยังไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ เนื่องจากถูกคัดค้านจากกลุ่มชาวบ้านในทุกพื้นที่ คือ

3.1 เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกคัดค้าน โรงไฟฟ้าถ่านหิน 660 เมกกะวัตต์ ของ บ.เอ็คโค่วัน ในมาบตาพุด จ.ระยอง

3.2เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม หนองแซง สระบุรี ภาชี อยุธยา คัดค้านโรงไฟฟ้าก๊าซ หนองแซง 1,600 เมกกะวัตต์ ของ บ.เพาเวอร์เจเนอเรชั่นซัพพลาย จำกัด ใน อ.หนองแซง สระบุรี และ อ.ภาชี อยุธยา

3.3เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน และเครือข่ายพนมสารคามพิทักษ์สิ่งแวดล้อม คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน600 เมกกะวัตต์ ของบ.เนชั่นแนลเพาเวอร์ซัพพลาย ในพื้นที่ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา

3.4เครือข่ายรักษ์แปดริ้ว คัดค้าน โรงไฟฟ้าก๊าซ 1,600 เมกกะวัตต์ ใน ต.เสม็ดเหนือ-ใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ของบ.สยามเอนเนอร์ยี่ จำกัด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โรงไฟฟ้าจะไม่สามารถก่อสร้างได้ตามกำหนด แต่ผู้รับผิดชอบของกระทรวงพลังงาน และ กฟผ.ได้เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนที่ประมูลได้โดยการแก้ไขกำหนดวันผ่านการอนุมัติ อีไอเอ ให้กับบริษัท3 บริษัทที่ไม่ได้รับอนุมัติ อีไอเอ ตามกำหนดแรก คือ 30 กันยายน 2551
 
การกระทำดังกล่าวของกระทรวงพลังงานและกฟผ. ทางคณะกรรมการกพช. กลับเพิกเฉยต่อการร้องเรียนคัดค้านของชาวบ้านทั้ง ๆ ที่ได้รับทราบเหตุผลการคัดค้านจากชาวบ้านในทุกพื้นที่ จากจดหมายและการชุมนุมยื่นหนังสือพร้อมเหตุผลคัดค้านอย่างสันติวิธีหลายต่อหลายครั้ง

นอกจากนั้น ข้าราชการระดับสูง เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน , ปลัดกระทรวงฯและ รองปลัดกระทรวง ได้รับรู้ว่ามีการคัดค้านแต่ก็ไม่เปิดการประชุมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ กลับโยนเรื่องไปให้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ หรือ สผ. และคณะชำนาญการพิจารณา อีไอเอ ว่า ตอนนี้เรื่องอยู่ที่อีไอเอ ซึ่งแสดงถึงความไม่รับผิดชอบของกระทรวงพลังงาน และปล่อยให้บริษัทเอกชนกับชาวบ้านเผชิญหน้ากันในพื้นที่กันเอง ขณะที่สผ.ก็โยนเรื่องร้องเรียนของชาวบ้านกลับไปอ้างว่าพิจารณาเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

ทั้งนี้ การคัดค้านของชุมชนยังมีอีกหลายพื้นที่หลายกรณี ดังนี้ ก่อนจะเปิดการประมูลไอพีพีในปี 2550 มีการคัดค้านจากหลายพื้นที่ที่ชาวบ้านรู้ว่ามีการไปซื้อที่ดิน หรือมัดจำที่ดิน เพื่อนำไปยื่นประมูล เช่น การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในจ.
สมุทรสงคราม ,

การคัดค้าน บ.เอ็กโก้ ของชาวบ้านใน อ.จอมบึง จ.ราชบุรีซึ่ง บ.เอ็กโก้ ได้ซื้อที่ดิน และเดินหน้ายื่น อีไอเอโรงไฟฟ้าก๊าซไว้ก่อน ,

การคัดค้านของชาวบ้านใน อ.บางเลน จ. นครปฐม ที่บ.เอกชนเข้าไป หยั่งเสียงอบต.ในพื้นที่เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ,

การคัดค้าน โรงไฟฟ้าถ่านหิน,นิวเคลียร์ และก๊าซ ที่กฟผ.มีแผนจะก่อสร้างใน อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นที่ดินที่กฟผ.ซื้อไว้4,000 ไร่ จนมีการขับไล่คนงานของกฟผ.ให้ออกจากพื้นที่อ.ทับสะแก ,

การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ของกฟผ.ที่ลงไปสำรวจใน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ถึงขั้นมีการกักตัวเจ้าหน้าที่ กฟผ.ไว้ที่วัดแห่งหนึ่ง, การคัดค้านการขุดเจาะสำรวจดินเพื่อคัดเลือกพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของกฟผ. ใน จ. สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, นครสวรรค์ , ชัยนาท, และ ตราด


ปัญหาการคัดค้านของชาวบ้านในทุกพื้นที่ ควรจะนำมาเป็นตัวอย่างเพื่อพิจารณาว่า แผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศที่ถูกวางไว้มีแต่การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ จากเชื้อเพลิงฟอสซิล และนิวเคลียร์ถูกคัดค้านในทุกแผน ไม่สามารถก่อสร้างได้ครบ และมีกลุ่มคัดค้านมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งจากการให้ทรัพยากรท้องถิ่น
 
เช่น การใช้น้ำของโรงไฟฟ้า ปริมาณมหาศาล ซึ่งเป็นการแย่งน้ำเกษตรกรในพื้นที่ กรณีตัวอย่าง ใน จ. ฉะเชิงเทรา เป้าหมายสร้าง ไอพีพี 2 โรงถ่านหิน 600 เมกกะวัตต์ และ ก๊าซ 1,600 เมกกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 2 โรง ก็ใช้น้ำจากแม่น้ำบางปะกง หรือไอพีพี 1,600 เมกกะวัตต์ ที่อ.หนองแซง สระบุรี ก็ใช้น้ำจากแม่น้ำป่าสัก ขณะที่ชาวบ้านในทุกพื้นที่ ไม่ต้องการให้โรงไฟฟ้ามาใช้ทรัพยากรที่ชุมชน ใช้อยู่ ทั้ง น้ำ , อากาศ และการใช้ที่ดิน

4.แผนพีดีพี 2010 เป็นแผนที่ใช้การคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเกินจริงมาก ทำให้ตัวเลขการจัดหาไฟฟ้าสูงตามไปด้วย เป็นภาระต่อผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้า และ ผู้บริโภคไฟฟ้าทั่วประเทศต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นผ่านค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที- FT)

5.เครือข่ายชุมชนฯ ข้างต้น ยังไม่เห็นด้วยกับระบบประกันกำไรให้ กฟผ. และโรงไฟฟ้าเอกชน และท่านต้องเปิดเผยร่างสัญญาระหว่างกฟผ. และ โรงไฟฟ้าเอกชนเป็นภาษาไทย เพื่อให้มีการตรวจสอบอย่างกว้างขวางก่อนการเซ็นต์สัญญาเพื่อหยุดการเสียงบประมาณเป็นค่าโง่

6.แผนพีดีพี เป็นแผนที่วางโดยคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย สร้างประโยชน์เพื่อการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเท่านั้น การเสนอให้มีการสำรองไฟฟ้า 25 % เพิ่มจาก 15 %ในปัจจุบันเป็นการฉ้อฉลอีกแบบหนึ่งเพื่อสร้างกำไรให้กลุ่มที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยล้วงกระเป๋าผู้ใช้ไฟฟ้าเอาไปให้นักลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า
กำลังโหลดความคิดเห็น