มาโนชญ์ เพ็งทอง ศิลปินชาว อ.เกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี วัย 47 ปี เป็นอดีตบรรณาธิการนิตยสาร ไฮ-คลาส ที่ในภาควรรณกรรมเขาเป็นเจ้าของผลงานหนังสือ ‘ลมหายใจในไพรพฤกษ์’ และ ‘สู่แดนพุทธภูมิ’ ขณะที่ในภาคทัศนศิลป์เขาเป็นเจ้าของผลงานภาพเขียนที่นำหลักคิดทางพระพุทธศาสนามาถ่ายทอดผ่านผลงาน
ผลงานภาพเขียนชุด “ภาพปริศนาธรรมไทย” เป็นผลงานส่วนหนึ่งที่มาโนชญ์เพียรพยายามสนทนาธรรมกับผู้ชม ผ่านภาพที่มีเนื้อหาในเชิงอุปมาอุปไมย โดยผลงานแต่ละชิ้น บ้างเกิดมาจากการเรียนรู้ในตัวเอง บ้างนำมาจากหลักธรรมในพระไตรปิฎก บ้างเป็นภูมิปัญญาของศิลปินรุ่นก่อนๆที่ซ่อนความหมายไว้ในเพลงกล่อมเด็ก และที่สำคัญ เขาเรียนรู้มาจากโรงมหรสพทางวิญญาณที่ท่านพุทธทาสสร้างไว้ ณ สวนโมกขพลาราม
ดังนั้น ภาพเขียนของมาโนชญ์จึงไม่ใช่แค่การมอบสุนทรียะทางศิลปะให้แก่ผู้ชม แต่ยังเตือนสติผู้ชมให้ฉุกคิดในเรื่องราวต่างๆ และใช้ธรรมมะของพระพุทธองค์เป็นเข็มทิศในการดำเนินชีวิตต่อไป
“ภาพเขียนของผมมีความมุ่งหมายที่ใช้เป็นเสมือนเครื่องมือของการทำความเข้าใจเรื่องราวภายในของจิตมนุษย์ เพื่อการเรียนรู้ทุกข์และทำใจได้ เพื่อว่าช่วงเวลาหนึ่งของการเดินทางมาเยือนโลกใบนี้ ท่านจะสามารถชื่นชมโลกได้อย่างสุขใจ และจากไปด้วยใจอันผ่องแผ้ว”
ภาพชื่อ “พระใหญ่” ให้บรรยากาศในโทนสีเย็น เป็นภาพพระพุทธองค์ประทับนั่งอยู่ในน้ำ ในขณะที่ฝ่าพระหัตถ์ซ้ายรองรับต้นไม้เอาไว้ และมุมด้านบนมีแสงส่องลงมา มาโนชญ์ต้องการสื่อความหมายว่า ไม่ว่าฝนจะ ตกหรือแดดจะออก ชีวิตต้องตั้งมั่นอยู่ในความเย็น ต้องรักษาจิตใจให้มีความมั่นคงไม่สะทกสะท้านต่อความเป็นไปของโลก
ภาพชื่อ “ภาระ-หน้าที่” เป็นภาพของปลาตัวหนึ่งที่มีหินและดอกไม้อยู่บนหลัง เปรียบเทียบกับการทำงานทุกสิ่งหากทำด้วยไม่มีใจรัก งานนั้นก็จะทำให้เราเบื่อหน่าย และเป็นทุกข์ ราวกับแบกก้อนหินอันหนักอึ้งเอาไว้บนบ่า ในทางกลับกันหากเป็นงานที่เรามีใจรักที่จะทำ ความสนุกและความสุขก็พลันเกิดขึ้น เปรียบได้กับดอกไม้ที่ผลิบานเพื่อมอบความสุขให้แก่ชีวิตเรา
ภาพชื่อ “หลงเหยื่อ” เป็นภาพของปลาติดเบ็ดตัวหนึ่ง ที่กำลังดิ้นทุรนทุราย เพราะความทุกข์อันเกิดจากการหลงในเหยื่อ เปรียบได้กับจิตของคนเราหากปล่อยให้หลงใหลในเหยื่ออันได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุข โดยไม่พึงระวัง ในที่สุดอาจฉวยคว้าความทุกข์มาได้
ภาพชื่อ “เหนือกิเลส” สื่อว่าจิตเดิมแท้ของมนุษย์นั้นประภัสสรเป็นอย่างยิ่ง หากเราเฝ้าอบรมจิตใจของเราอยู่เสมอ นั่นคือหมั่นปฏิบัติธรรม จิตของเราก็จะอยู่เหนือกิเลส ไม่ปล่อยให้กิเลสร้ายสามตัว อันได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ย่างกรายเข้ามาและเป็นเหตุให้เราพลั้งเผลอทำชั่วทั้งทางกาย วาจา และใจ
และภาพชื่อ “กระแสธรรม” เป็นภาพของปลาตัวหนึ่งที่กระโดดขึ้นฮุบเหยื่อ และมีภาพเศียรของพระพุทธรูปลอยอยู่ในกระแสน้ำ สื่อว่าชีวิตมนุษย์เต็มไปด้วยความปรารถนา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่จิตของเราสงบลงและได้ใช้สติครุ่นคิดตรึกตรอง เราก็จะพบความจริงแท้ของการมีชีวิตว่า ไม่มีอะไรมีค่าต่อการยึดครอง ไม่มีอะไรที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเราจริงๆ เพราะแม้แต่ร่างกาย เราแค่อาศัย มันชั่วครั้งชั่วคราว ถึงคราวก็ต้องลาลับดับไป การเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต
ความคิดในลักษณะเดียวกันนี้ ส่วนหนึ่งได้ถูกถ่ายทอดผ่านภาพเขียนขนาดใหญ่ของมาโนชญ์ด้วยเช่นกัน ผ่านภาพที่มีชื่อว่า ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ไม่เพียงจะประกอบไปด้วยเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ของพระพุทธองค์ ในภาพยังปรากฎโครงร่างของพระพุทธองค์ ในความว่าง และคำว่า “ตถาตา” ในบึงบัว เพื่อให้ขณะที่ผู้ชมจ้องมองไปที่ภาพ สัมผัสกับสิ่งที่พระพุทธองค์พร่ำสอนมานานว่า
“ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเช่นนั้นเอง”
บรรพบุรุษของมาโนชญ์เป็นมโนราห์และหนังตะลุง ที่เดินทางไปทุกย่านทุกตำบลเพื่อนำเอาคติชีวิตและหลักธรรมคำสอนของศาสนาไปมอบให้แก่ผู้คน ผ่านการแสดงในยุคที่สังคมปักษ์ใต้ ขาดทั้งวัดและโรงเรียน
มาถึงยุคของเขาจึงมีความตั้งใจที่จะใช้ทักษะในด้านการเขียนภาพที่ตัวเองมีอยู่ สานต่อจากบรรพบุรุษ ด้วยความเชื่อที่ว่า การได้ช่วยให้เพื่อนมนุษย์เข้าถึง รู้แจ้งเห็นจริงเรื่องอนัตตาและดับทุกข์ได้ คือสุดยอดของศิลปิน
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 111 กุมภาพันธ์ 2553 โดยฮักก้า)