xs
xsm
sm
md
lg

ขู่ฟ้อง“รัฐบาลมาร์ค”ขายชาติ เปิดเสรีต่างชาติฮุบพันธุ์พืช-ป่าไม้-ประมง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ระพี สาคริก ปูนชนียบุคคลด้านการเกษตรของไทย
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ผนึกเครือข่ายประชาชนร้อยองค์กรเตรียมยื่นฟ้องรัฐบาล บีโอไอ กรมเจรจาการค้า หากดึงดันเปิดเสรีลงทุนอาเซียนใน 3 สาขา เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ-ปรับปรุงพันธุ์พืช-ทำไม้จากการปลูกป่า “ศ.ระพี” ลั่นต้องเอาคนผิดออกมาดูหน้า ใครมีพฤติกรรมขายชาติ ไม่ปล่อยไว้แน่ กรมการข้าวชี้เปิดเสรีพันธุ์พืชเท่ากับชักศึกเข้าบ้าน

วันพรุ่งนี้ (6 พ.ย.) คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ (กนศ.) จะประชุมเพื่อพิจารณาความตกลงการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน และการจัดทำข้อเสนอและมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบ

เรื่องดังกล่าวกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน และเครือข่ายองค์กรประชาชนกว่า 100 องค์กร ได้แสดงจุดยืนเรียกร้องให้กนศ.ทบทวนการยกเลิกข้อสงวนในการเปิดเสรีลงทุนอาเซียน (ACIA) ในสาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำป่าไม้จากป่าปลูก และการปรับปรุงพันธุ์พืช

ทั้งนี้ หากกนศ. ยังดึงดันเปิดเสรีต่อ เครือข่ายประชาชนจะฟ้องร้องรัฐบาล รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกรมเจรจาการค้า

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย เปิดเผยในการแถลงข่าวเรื่องรัฐบาล และคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ (กนศ.) ต้องทบทวนการยกเลิกข้อสงวนในการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียนฯ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า หากการประชุมในวันที่ 6 พ.ย.นี้ กนศ. ไม่ยอมสงวนการลงทุนใน 3 สาขาข้างต้น ภาคประชาชน จะฟ้องร้องรัฐบาล บีโอไอ และกรมเจรจาการค้า แน่นอน

ศ.ระพี สาคริก ประธานมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวว่า ในวันที่ 6 พ.ย.นี้จะเปิดหน้าอย่างชัดเจนว่า ใครรักแผ่นดินจริงๆ หรือใครพูดแต่ปากว่ารักประเทศ แต่ไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นเราจะต้องฟ้อง เราจะต้องเอาคนผิดออกมาดูหน้ากันให้ได้ ใครคิดทำอะไร ใครมีพฤติกรรมขายชาติ ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินจริงหรือเปล่า หรือทำเพื่อเอาตำแหน่ง เอาหน้าเอาตา เราจะทำทั้งระยะสั้น ระยะยาว เราจะไม่เลิก เราจะทำต่อ เป็นบทเรียนที่เราจะต้องเรียนรู้ ไม่มีชาติไหนเขามอบการเกษตรให้กับคนชาติอื่น ถ้าเราไม่ทำ แผ่นดินเราสูญแน่

ศ.ระพี กล่าวว่า วันนี้อายุ 88 ปีแล้ว จำได้ว่าอาเซียนเกิดจากคนไทยโดยเราเอาอย่างยุโรปแต่ไม่คิดว่าวัฒนธรรมของเราของเขาต่างกัน ซึ่งขณะนี้กำลังพ่นพิษ ความจริงตนเองเคยมีบทเรียนเรื่องกล้วยไม้ที่ต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนในไทย และถอยออกมานานแล้ว แต่ในฐานะที่มีประสบการณ์ เป็นผู้ใหญ่ เมื่อรุ่นลูกรุ่นหลานลุกขึ้นมาสู้ ก็ให้กำลังใจ และจะไม่ทำแบบปัญหาเฉพาะหน้า เรื่องนี้ทำแบบนั้นไม่ได้ ไม่งั้นจะหนักกว่าเก่า ฉะนั้นเราต้องทำลึกกว่านั้น หนักกว่านั้น

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยมูลนิธิธรรมรัฐเพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดประชุมร่วมของหลายฝ่ายเกี่ยวกับประเด็นนี้ พบว่า หลายหน่วยงานที่รับผิดชอบกับประเด็นนี้โดยตรงคัดค้าน อาทิ กรมประมง กรมการข้าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

กรณีนี้ กรมการข้าว ถึงกับระบุว่า หากเปิดเสรีปรับปรุงพันธุ์พืช ก็เท่ากับเป็นการชักศึกเข้าบ้าน แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กลับพูดแต่เพียงว่า เป็นข้อตกลงที่ตกลงไว้แล้ว ทำให้สงสัยว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่มีนักลงทุนใกล้ชิดกับบีโอไอ และใกล้ชิดกับพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะได้ประโยชน์จากการได้เงินลงทุนเพิ่ม และยังได้สิทธิการคุ้มครองการลงทุนด้วย ในฐานะที่มีสภาพเป็นนักลงทุนต่างชาติด้วย ซึ่งเป็นสิทธิที่ไม่เคยได้มาก่อน เพราะข้อตกลงประเภทนี้ให้สิทธินักลงทุนต่างชาติมากกว่าคนในชาติด้วยซ้ำ
 
“บีโอไอ มักชี้แจงว่า ประเทศไทยมีกฎหมายภายในเพียงพอ เช่น นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถขออนุญาตสร้างสวนป่าได้, ไม่สามารถขอมีเลื่อยยนต์ได้, ไม่สามารถขอใช้ป่าสงวนเสื่อมโทรม ถ้าฟังแบบนี้แล้ว อยากรู้ว่า นักลงทุนอาเซียนอีก 9 ประเทศไม่รู้เรื่องนี้เลยหรือไร แต่จากเนื้อหาในข้อตกลงข้อ 9 ชี้ว่า เราจะให้สิทธินักลงทุนต่างชาติไม่เท่านักลงทุนในชาติได้ก็ต่อเมื่อ เราต้องทำข้อสงวน ถ้าไม่ทำข้อสงวนก็ไม่อนุญาตได้”

นายบัณฑูร กล่าวต่อว่า หากเกิดปัญหาในอนาคต เราจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายหรือกฎหมายได้เลย เพราะหากทำไป นักลงทุนอาจนำไปอ้างว่ามีผลกระทบเชิงลบ และฟ้องร้องเป็นกรณีพิพาทให้รัฐต้องใช้เงินภาษีของประชาชนไปชดเชยดังที่เกิดใน เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) มาแล้ว หากรัฐบาลไทยประกาศพื้นที่ป่าสงวน หรือ ควบคุมการปล่อยน้ำทิ้งจากนากุ้ง จะมีผลกระทบต่อนักลงทุนต่างชาติหรือไม่ จนเขาเอาไปเป็นประเด็นฟ้องร้อง ฝากเอาไว้ให้รัฐบาลมองไกลกว่าเม็ดเงินลงทุน
 
นายบัณฑูร กล่าวต่อว่า การลงทุนยังครอบคลุมสัมปทานธุรกิจ แสวงหา เพาะปลูก สกัด หรือ แสวงหาประโยชน์จากทรัพย์ยากร ในกรณีการปลูกป่า ไม่ได้มีประโยชน์แค่เนื้อไม้ แต่ยังรวมไปถึงการเอาเข้าโครงการกลไกที่สะอาดตามพิธีสารเกียวโต เช่น CDM และ REDD เขาจะได้สิทธิการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งมีอยู่ในความหมายการลงทุน แต่ในระยะยาว หากประเทศไทยต้องทำตามพันธสัญญาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราจะไม่มีสิทธิ เพราะป่าเหล่านี้ถูกใช้ไปแล้วจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเชื่อว่าบีโอไอไม่เคยคิดถึงประเด็นเหล่านี้มาก่อน

นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า ต้องหยุดการเปิดเสรีการลงทุนใน 3 สาขานี้ให้ได้ ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ถ้าการประชุมกนศ. ในวันศุกร์นี้ ไม่มีทิศทางบวก เราต้องดำเนินการทางกฎหมายทุกวิถีทาง พร้อมการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะรัฐบาลนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ เอาแต่อ้างว่าตกลงมาแล้ว ตกลงมาอย่างไรต้องเป็นไปอย่างนั้น แต่ขณะนี้เรากำลังเผชิญสถานการณ์ใหม่ ทั้งวิกฤตอาหาร วิกฤตพลังงานและ วิกฤตโลกร้อน ในวันที่ 6 พ.ย.นี้ รัฐบาล บีโอไอ กรมเจรจาการค้ากระทรวงพาณิชย์ ต้องมีแนวทางชัดเจนว่าจะสงวนอย่างไร และมีแนวทางระยะยาวที่จะฟื้นฟูอย่างไร
 
“อยากให้วาดภาพ อาฟต้าจะทำให้การค้าขายเฟื่องฟู แต่เกษตรกรจะลำบากมากกว่าเดิมอยู่ไม่รอด แต่ ACIA จะเป็นการเปิดให้ฐานถูกทุนใหญ่ครอบครอง ขณะนี้เราจะถ่ายโอนการผลิตอาหารไปสู่ทุนขนาดใหญ่ ตอนนี้อาหารถูกนำไปเก็งกำไร” นางสาวกิ่งกร กล่าว

ต่อมา เมื่อวันที่ 16 .. 52 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการปรับปรุงบัญชีประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริม หมวด 1 เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร ในเรื่องประเภท ขนาด เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เนื่องจากเป็นกิจการที่ผู้ประกอบการไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน
 
โดยจะมีการลดสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในกิจการเพาะขยายพันธุ์พืชและปรับปรุงพันธุ์พืชท้องถิ่นของไทย เช่น ข้าว กล้วยไม้ สมุนไพร และผลไม้ ต้องมีนักลงทุนสัญชาติไทยถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน จากเดิมที่ให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 100% เพราะกิจการดังกล่าวเป็นกิจการในบัญชี 3 ของ พ...การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.. 2542 ของกระทรวงพาณิชย์



สำหรับกิจการปลูกป่าและการเลี้ยงสัตว์ (รวมถึงการเลี้ยงสัตว์น้ำ) ที่เป็นข้อกังวลของภาคประชาชนนั้น เป็นกิจการในบัญชี 1 ของ พ...การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่ห้ามต่างชาติเข้ามาลงทุนอยู่แล้ว และบีโอไอได้กำหนดเงื่อนไขให้ต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียนอยู่แล้ว ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 1/2543



ทั้งนี้ การเปิดเสรีการลงทุน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศสามารถออกประกาศเพิ่มเติมภายใต้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว เพื่อใช้เป็นเครื่องมือคุ้มครองกิจการนั้น ๆ โดยไม่ต้องรอการแก้ไขหรือออกฎหมายใหม่ที่ต้องใช้ระยะเวลานาน ซึ่งไม่ขัดต่อข้อตกลงของสนธิสัญญาดังกล่าว

 

เช่น กรมวิชาการเกษตรออกประกาศระบุพันธุ์พืชที่ไม่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน หรือกรมประมงอาจออกประกาศควบคุมประเภทของสัตว์น้ำที่จะทำการเพาะเลี้ยง ดังนั้น บีโอไอจึงเป็นหน่วยงานแรกที่นำร่องในการออกประกาศเพื่อปกป้องคุ้มครองกิจการที่อาจได้รับผลกระทบจากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาออกประกาศเพื่อปกป้องผู้ประกอบการไทยเช่นกัน



 



 

 

กำลังโหลดความคิดเห็น