xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-16 พ.ค.2552

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. วันพืชมงคลปีนี้ พระโคกิน “งา-หญ้า”- น้ำท่า/อาหาร จะสมบูรณ์!
ระหว่างพิธีเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปรากฏว่า พระโคเลือกกินงาและหญ้า(เมื่อ 11 พ.ค.)
เมื่อวันที่ 11 พ.ค.(เวลา 07.30น.) ได้มีการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ บริเวณท้องสนามหลวง โดยนายจรัลธาดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พระยาแรกนา พร้อมทั้งเทพีคู่หาบเงินและหาบทอง ได้เดินไปยังโรงพิธีพราหมณ์ ก่อนตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งแต่งกาย ปรากฏว่า หยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้มีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ ผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี จากนั้น เวลา 08.30น.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จฯ ยังพลับพลาที่ประทับ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เฝ้าฯ รับเสด็จ ต่อมา พระยาแรกนายาตรา พร้อมเทพีคู่หาบเงิน-หาบทองออกจากโรงพิธีพราหมณ์ เข้าเฝ้าฯ ถวายบังคม แล้วไปยังลานแรกนา เพื่อเข้าสู่พิธีเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพด ถั่ว งา น้ำ หญ้า และเหล้า หลังเสี่ยงทาย ปรากฏว่า พระโคเลือกกินงาและหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี ทั้งนี้ ภายหลังเสี่ยงทาย มีการเบิกตัวเกษตรกรดีเด่นประจำปี 2552 จำนวน 14 อาชีพ สถาบันเกษตรกรดีเด่น 12 กลุ่ม สหกรณ์ดีเด่น 7 แห่ง และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน 3 คน เพื่อเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร โดยปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ได้แก่ ศ.ระพี สาคริก ข้าราชการบำนาญ สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญา , นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม เกษตรกร จ.ฉะเชิงเทรา สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง และนายประยงค์ รณรงค์ เกษตรกร จ.นครศรีธรรมราช สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเสร็จสิ้นพิธี ประชาชนหลายพันคนที่รออยู่รอบลานพิธี ได้กรูกันเข้าไปแย่งเก็บข้าวเปลือก(ที่พระยาแรกนาหว่านระหว่างประกอบพิธี)เพื่อความเป็นสิริมงคล

2. “สันติบาล”สรุป สั่งฟ้อง “ทักษิณ”หมิ่นสถาบัน ขณะที่เจ้าตัว ลั่น จะสู้จนถึงที่สุด!
เกาะสเวติ นิโคลา ของมอนเตเนโกร ที่มีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เตรียมร่วมประมูลซื้อเกาะนี้ในวันที่ 23 พ.ค.โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 966 ล้านบาท
ความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีจำคุก 2 ปี ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวปรากฏในสื่อต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ “เดลี่ เอ็กซ์เพรส” ของสาธารณรัฐมอนเตเนโกร(ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป)เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็น 1 ในชาวต่างชาติที่เข้าข่ายเป็นผู้ประมูลซื้ออสังหาริมทรัพย์ส่วนหนึ่งของเกาะสเวติ นิโคลา เกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งเมืองบุดวา เมืองท่องเที่ยวหลักของมอนเตเนโกร ซึ่งถูกเรียกขานในหมู่นักท่องเที่ยวว่า “ฮาวายของมอนเตเนโกร” โดยการเปิดประมูลจะมีขึ้นในวันที่ 23 พ.ค.นี้ กำหนดราคาเริ่มต้นที่ 21 ล้านยูโร หรือประมาณ 966 ล้านบาท ทั้งนี้ เดลี่ เอ็กซ์เพรส ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณถือพาสปอร์ตมอนเตเนโกร ทั้งๆ ที่ไม่มีใครรู้ว่าได้มาอย่างไร ด้านนางสาววานยา คาลโลวิช ผอ.เครือข่ายพันธมิตรองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งเป็นพันธมิตรขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติของมอนเตเนโกร ได้ยื่นคำร้องไปยังกระทรวงมหาดไทยมอนเตเนโกร เพื่อให้ยืนยันเรื่องการออกพาสปอร์ต(หมายเลข 138kd3695)ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมเรียกร้องให้เผยข้อมูลว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้รับสถานะพลเมืองมอนเตเนโกรหรือไม่ และใครเป็นผู้ตัดสินใจ เนื่องจากเป็นที่ชัดเจนว่า คุณสมบัติของ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เข้าเกณฑ์การให้สัญชาติตามกฎหมายสิทธิความเป็นพลเมืองของมอนเตเนโกร อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีมหาดไทยมอนเตเนโกร ไม่ยืนยันหรือปฏิเสธเรื่องดังกล่าว โดยอ้างว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลได้ ขณะที่นางวานยา คาลโลวิช ได้เปิดแถลงข่าวชี้ให้กระทรวงมหาดไทยมอนเตเนโกรเห็นถึงความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะอาจส่งผลต่อการที่สหภาพยุโรป(อียู)จะตัดสินใจว่า จะรับมอนเตเนโกรเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่ในเร็วๆ นี้ ซึ่งหากอียูรับมอนเตเนโกรเข้าเป็นสมาชิก จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถือพาสปอร์ตมอนเตเนโกร สามารถเดินทางเข้าออกกลุ่มประเทศอียูได้อย่างเสรี ด้านนายนพดล ปัทมะ อดีตที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ คุยโวว่า หลายประเทศเห็นใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงออกพาสปอร์ตให้ทั้งแบบธรรมดาและแบบทางการทูต โดยมอนเตเนโกรก็เป็น 1 ในประเทศที่ให้พาสปอร์ต พ.ต.ท.ทักษิณด้วย ส่วนที่สื่อต่างประเทศระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีชื่อเป็นผู้ประมูลซื้อเกาะสเวติ นิโคลา นั้น นายนพดล บอกว่า เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย เผยว่า ได้ตรวจสอบกับฝ่ายกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว พบว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็น 1 ในผู้ร่วมประมูลซื้อเกาะสเวติ นิโคลาจริง เพื่อนำเกาะดังกล่าวไปทำธุรกิจท่องเที่ยว นายสุชาติ ยังเผยด้วยว่าเคยได้ยินว่า พ.ต.ท.ทักษิณเตรียมที่จะลงทุนในธุรกิจเหมืองทองคำในแอฟริกาด้วย ด้านนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สั่งให้เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า มอนเตเนโกรออกพาสปอร์ตให้ พ.ต.ท.ทักษิณจริงหรือไม่ ส่วนความคืบหน้ากรณีที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาลอยู่ระหว่างตรวจสอบว่า คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเมื่อวันที่ 12-13 เม.ย.ที่ผ่านมา เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่นั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พ.ค.พล.ต.ท.ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ได้เป็นประธานประชุมคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีตัวแทนจากทั้งกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) ,กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(บช.ก.) ,สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกองคดีอาญาเข้าร่วม หลังประชุม พล.ต.ท.ธีระเดช เผยว่า ที่ประชุมสรุปว่า คำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงมีความเห็นสั่งฟ้อง โดยให้ส่งพยานหลักฐานทั้งหมดให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางดำเนินคดี ทั้งนี้ หลังมีข่าวว่าตำรวจเตรียมสั่งฟ้อง ทาง พ.ต.ท.ทักษิณก็ได้รีบออกแถลงการณ์ตอบโต้ทันที(15 พ.ค.) โดยบอกว่า ตนรู้สึกสะเทือนใจอย่างยิ่ง เพราะข้อกล่าวหานี้เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงและขัดกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น พร้อมยืนยัน แม้ตนจะพำนักอยู่ต่างประเทศ แต่ตนก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถอยู่ตลอดเวลา พ.ต.ท.ทักษิณ ย้ำด้วยว่า คำให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศของตน ไม่มีข้อความใดเลยที่มีเจตนาที่จะหมิ่นหรือจาบจ้วงพระมหากษัตริย์ และว่า มีความพยายามใส่ร้ายป้ายสีและยัดเยียดข้อกล่าวหาให้ตน ดังนั้น ตนจะสู้จนถึงที่สุด “ผมจะต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผมจนถึงที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ผมจะไม่ยอมให้ผู้ใด ไม่ว่าจะดำเนินการเอง หรือมีใครบงการให้กระทำ มากล่าวหาผมอย่างเป็นเท็จว่าผมมีเจตนาหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทั้งๆ ที่ผมมีความจงรักภักดีและเทิดทูนเหนือหัว...” ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.หรือคนเสื้อแดงนั้น หลังจากนัดชุมนุมเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ข้างวัดไผ่เขียว ย่านดอนเมือง โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ผู้ต้องหาก่อความไม่สงบใน กทม.คุยว่าจะนำภาพหลักฐานที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ไม่ได้อยู่ในรถยนต์ขณะถูกกลุ่มเสื้อแดงรุมทุบรถที่กระทรวงมหาดไทยมาโชว์นั้น ปรากฏว่า หลังดูภาพดังกล่าวแล้ว ทางนายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาชี้ว่า เป็นภาพเดิมๆ นอกจากไม่มีอะไรใหม่ ยังบิดเบือนจากเดิมที่บอกว่า นายกฯ ไม่ได้อยู่ในรถ มาเป็นนายกฯ เปลี่ยนรถที่นั่งภายในเวลา 1 นาที ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ “อยากแนะนำแกนนำ(นปช.) หลังเสร็จภารกิจแล้ว ควรจะไปประกอบอาชีพ 4 อย่าง คือ ฟาร์มเลี้ยงแกะ โรงน้ำแข็ง หัวหน้าคณะตลก และนักมายากล...” ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ยังไม่ยอมรับว่าบิดเบือน โดยบอก จะส่งภาพไปให้หน่วยงานสืบสวนสอบสวนสากลของสหรัฐฯ หรือของอังกฤษตรวจสอบและสแกนภาพว่า มีบุคคลนั่งเบาะหลังในรถคันที่ถูกทุบที่กระทรวงมหาดไทยหรือไม่ เพราะไม่ต้องการให้ใครมาบิดเบือน คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าจะได้คำตอบ นายจตุพร ยังแสดงความไม่พอใจที่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย ออกมายืนยันว่านายอภิสิทธิ์อยู่ในรถคันที่ถูกกลุ่มเสื้อแดงรุมทุบ โดยบอก “การออกมาระบุเช่นนี้เสียหายถึงบรรพชน หากผลตรวจทางวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลออกมาว่านายอภิสิทธิ์ไม่ได้อยู่ในรถจริง ถามว่า ราชนิกุลปลายแถวอย่าง ม.ล.ปนัดดา รวมถึงนายอภิสิทธิ์จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร” เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากแกนนำ นปช.จะเดินเรื่องให้องค์กรต่างประเทศตรวจสอบว่านายอภิสิทธิ์นั่งอยู่ในรถยนต์ที่ถูกกลุ่มเสื้อแดงรุมทุบหรือไม่แล้ว ทางแกนนำพรรคเพื่อไทย (นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค) ยังได้นำภาพถ่ายและวีซีดีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงเมื่อวันที่ 13 เม.ย. ยื่นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็น) เพื่อให้ตรวจสอบว่า การกระทำของรัฐบาลเป็นการละเมิดสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่ โดยพรรคเพื่อไทยอ้างว่า การสลายการชุมนุมดังกล่าว ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ส่วนกรณีที่แกนนำกลุ่มเสื้อแดง (นายอดิศร เพียงเกษ ประธานบริษัท ดี สเตชั่น และผู้ต้องหาก่อความไม่สงบใน กทม.) เตรียมเปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม “นิว ดีสเตชั่น” ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ เพื่อทดแทน “ดี สเตชั่น”ที่ถูก กทช.สั่งปิดหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ บอกว่า ต้องดูวิธีการเปิด และเนื้อหาว่าเป็นอย่างไร หากเป็นการปลุกระดม ไม่สามารถทำได้ ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบการควบคุมผังรายการ โดยระเบียบฉบับนี้จะร่างเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ และว่า หลังระเบียบออกมา ทุกสถานีต้องปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกันหมด ทั้งนี้ ไม่เพียงกลุ่มเสื้อแดงจะเปิดสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ แต่ยังจะออกหนังสือพิมพ์เพื่อเป็นสื่อของคนเสื้อแดงอีกช่องทางหนึ่งด้วย ชื่อ “เดอะ เรด นิวส์” โดยกำหนดออกฉบับแรกวันที่ 29 พ.ค.นี้ มีนายวิบูลย์ แช่มชื่น อดีต ส.ว.กาฬสินธุ์ เป็นผู้อำนวยการบริหารหนังสือพิมพ์ดังกล่าว และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำ นปช.รุ่น 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์และโฆษณา

3.ตามคาด อนุฯ แก้ รธน. มีมติ ตัด ม. 237 ด้าน “เรืองไกร”แฉ ก.ก.สมานฉันท์ฯ ล็อบบี้ ส.ว.สรรหา!
โฉมหน้าคณะอนุกรรมการแก้ไข รธน.ที่ประชุมกันเมื่อวันที่ 13 พ.ค.
หลังคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน ได้ประชุมนัดแรกเพื่อกำหนดกรอบการทำงานเมื่อวันที่ 7 พ.ค. และนัดประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 12 พ.ค.เพื่อตั้งอนุกรรมการ 3 ชุด ปรากฏว่า ในการประชุมนัดที่สอง ที่ประชุมค่อนข้างความเห็นแตก เพราะมีทั้งกรรมการที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการตั้งอนุกรรมการ ผู้ที่ไม่เห็นด้วย ได้แก่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กรรมการจากพรรคเพื่อไทย โดยชี้ว่า การตั้งอนุกรรมการทำให้เสียเวลา หารือกันแค่คณะกรรมการฯ 40 คนก็เพียงพอแล้ว ขณะที่นายคณิน บุญสุวรรณ กรรมการในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิจากพรรคเพื่อไทย เห็นว่า การตั้งอนุกรรมการ ไม่ควรเปิดให้คนนอกเข้ามาร่วม เพราะอาจเป็นการขยายปัญหาให้กว้างมากขึ้น ทำให้เกิดความขัดแย้งและบานปลาย ซึ่งสุดท้ายที่ประชุมได้ข้อสรุปให้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ 3 ชุด โดยไม่เปิดให้คนนอกเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการฯ ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทย(12 คน) มีนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา เป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเมือง(11 คน) มีนายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา เป็นประธาน และ 3.คณะอนุกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ(13 คน) มี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ทั้งนี้ หลังคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 3 ชุดได้ประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ปรากฏว่า คณะอนุกรรมการแก้ไข รธน.ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็น “ที่มาของ ส.ส.” โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้กลับไปใช้ รธน.2540 คือเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว 400 เขต และ ส.ส.สัดส่วน 100 คนทั่วประเทศ นอกจากนี้เมื่อประชุมนัดที่สองในวันต่อมา(14 พ.ค.) อนุกรรมการแก้ไข รธน.ก็ได้ข้อสรุปเพิ่มเติมในส่วนของมาตรา 237 เกี่ยวกับคดียุบพรรค ซึ่งแม้ที่ประชุมจะเสียงแตก โดยอนุกรรมการจากพรรคเพื่อไทย(นายประยุทธ ศิริพาณิชย์) ชี้ว่า มาตรา 237 เปรียบเหมือนยาพิษที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามมาตรา 65 ที่อนุญาตให้จัดตั้งพรรคการเมือง ขณะที่อนุกรรมการจากพรรคประชาธิปัตย์(นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์) เห็นว่า การซื้อเสียงเป็นมะเร็งร้ายที่เรื้อรังมานาน การจะทำให้การเมืองดีขึ้นและการเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม คณะกรรมการบริหารพรรคต้องดูแลสมาชิกพรรคไม่ให้ทำผิดกฎหมาย เมื่อกรรมการบริหารพรรคทำผิดเอง ก็ควรเพิ่มโทษเป็น 2 เท่า และกรรมการบริหารพรรคคนอื่นก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย อย่างไรก็ตาม หลังใช้เวลาประชุม 4 ชั่วโมง ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้แก้ไขมาตรา 237 โดยตัดวรรค 2 (ที่ระบุโทษยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด) ออก เพื่อให้ลงโทษเฉพาะผู้ที่กระทำผิดเท่านั้น ขณะที่เสียงส่วนน้อยในอนุกรรมการเห็นควรให้มีโทษยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารทั้งหมดตามที่ รธน.2550 ระบุ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการแก้ไข รธน.จะประชุมนัดต่อไปในวันที่ 20 พ.ค.โดยจะพิจารณามาตรา 190(การทำสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ-สังคม ฯลฯ ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา)ว่าจะแก้ไขหรือไม่ รวมถึงเรื่องที่มาของ ส.ว.ด้วย ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ได้ออกมาแฉ(15 พ.ค.)ว่า ขณะนี้เริ่มมีกรรมการสมานฉันท์ฯ มาล็อบบี้ ส.ว.สรรหา ให้สนับสนุนการแก้ รธน.มาตรา 237 และการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง โดยแลกกับการที่กรรมการฯ จะเสนอให้แก้ รธน.โดยเพิ่มวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว.สรรหา จาก 3 ปี เป็น 6 ปี เท่ากับ ส.ว.เลือกตั้ง ซึ่งนายเรืองไกร ชี้ว่า “การนิรโทษกรรมถือว่าเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและประชาชนอาจจะรับไม่ได้ ดังนั้น เพื่อน ส.ว.ต้องคิดว่า การที่ประเทศชาติต้องขาดนักการเมืองไป 200-300 คน บ้านเมืองจะไม่เจริญจริงหรือไม่...” ส่วนบรรยากาศการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทย(13-14 พ.ค.)นั้น ปรากฏว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า ควรจะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ รธน.2550 หรือไม่ เนื่องจากที่ประชุมเสียงแตกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรเยียวยา ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 220 คน รวมถึงข้าราชการ ประชาชน และกลุ่มอำนาจอื่นๆ ที่ได้ใช้อำนาจและได้รับผลกระทบด้วย ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าไม่ควรเยียวยา เพราะกระบวนการพิจารณาตามบทบัญญัติของ รธน.มีความชอบแล้ว เมื่อไม่ได้ข้อสรุป ที่ประชุมจึงเห็นควรให้เชิญตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ในสังคม(นักวิชาการ-สื่อมวลชน-กำนันผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ) มาสะท้อนความเห็นในประเด็นดังกล่าวในวันที่ 20 พ.ค.นี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้มีเรื่องที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นระหว่างการประชุมคณะอนุกรรมการสมานฉันท์ฯ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. โดยนายศักดิ์ เตชาชาญ อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่เคยตัดสินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นผิดกรณีซุกหุ้น ได้อ้างกลางที่ประชุมว่า ในการยุบพรรคการเมืองก่อนหน้านี้ มี “ใบสั่ง” ให้ยุบพรรค ทั้งที่ทุกคนเห็นว่าไม่ควรยุบพรรค อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์ไม่ได้แสดงหลักฐานใดใดว่ามีใบสั่งให้ยุบพรรคจริงหรือไม่ โดยแสดงความไม่แน่ใจเช่นกัน “ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่จริง แต่พูดว่ามีใบสั่งมา สร้างความสับสนให้ผู้พิพากษาทั้งหมดที่เห็นด้วยกับผม ก็เปลี่ยนความคิด คำวินิจฉัยที่ออกมาจึงน่าเกลียดมาก ...ผมไม่ยอมทำตามใบสั่ง จึงไม่เจริญถึงทุกวันนี้ หลายคนที่ทำตามใบสั่งก็เจริญรุ่งเรืองเป็นใหญ่เป็นโต ดังนั้น ต้องหาทางพิสูจน์ว่าใบสั่งมีจริงหรือไม่ ถ้ามีต้องเลิกเด็ดขาด” ทั้งนี้ หลังนายศักดิ์ออกมาอ้างเรื่องดังกล่าว นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้ออกมาจี้ให้นายศักดิ์แสดงหลักฐานและรับผิดชอบในคำพูด เพราะอาจจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท และทำให้ประชาชนสับสน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ด้านนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกมาโต้นายศักดิ์ที่อ้างว่ามีใบสั่งให้ยุบพรรคการเมืองว่า นายศักดิ์จะพูดแบบเสียๆ หายๆ ไม่ได้ พร้อมยืนยันว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ที่มีนายชัช ชลวร เป็นประธาน ไม่เคยได้รับใบสั่งใดใดจากใครเพื่อมายุบพรรคการเมือง เพราะตุลาการฯ ชุดนี้มีศักดิ์ศรี ทำงานภายใต้พระปรมาภิไธย ตีความกฎหมายตรงไปตรงมา ทำอะไรนอกเหนืออำนาจหน้าที่ไม่ได้ ขณะที่นายจุมพล ณ สงขลา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่เคยตัดสินให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิดกรณีซุกหุ้นเช่นกัน ก็ชี้ว่า การที่นายศักดิ์ออกมาพูดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้รับใบสั่งมาให้ยุบพรรค เป็นเรื่องเลอะเทอะ ทำให้ศาลเสียหาย และว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุคนั้นมีจำนวนกว่า 15 คน ได้รับคำร้องคดียุบพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ไว้พิจารณา แต่ยังไม่ทันได้วินิจฉัย ก็มีการรัฐประหารเสียก่อน ยืนยันว่าช่วงนั้นไม่มีใบสั่งให้ยุบพรรคแน่นอน เพราะแค่ทำงานกัน 15 คน ก็เถียงกันแทบแย่กว่าจะวินิจฉัยได้

4. ไทย พบ ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แล้ว 2 ราย แต่หายขาดแล้ว!
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ นำทีมแถลงข่าวยืนยันว่า มีคนไทยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แล้ว 2 ราย (เมื่อ 12พ.ค.)
หลังจากนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีสาธารณสุข เผยเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ว่า มีคนไทย 1 รายต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หลังเดินทางกลับจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด แต่ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติแล้ว นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเชื้อที่ตรวจพบในผู้ต้องสงสัยดังกล่าว ไปตรวจที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา(ซีดีซี) เพื่อยืนยันว่าใช่เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือไม่นั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค.พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ได้เปิดแถลงพร้อมด้วยนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีสาธารณสุข ,นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย รวมทั้งผู้แทนจากองค์กรซีดีซี โดยเผยว่า จากผลการตรวจเชื้อของผู้ต้องสงสัย พบว่า ขณะนี้ไทยพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จำนวน 2 ราย แต่รักษาให้หายขาดแล้ว ไม่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ โดยทั้งคู่ติดมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด ทั้งนี้ ในการแถลง ไม่มีการเปิดเผยชื่อของผู้ป่วยทั้ง 2 รายดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากเกรงว่าหากเผยแพร่ออกไป อาจกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยได้ ด้าน พญ.มัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ซึ่งร่วมแถลงข่าว กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้รับข้อมูลผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จากกระทรวงสาธารณสุขของไทย 2 คนอย่างทันท่วงทีตามหลักเกณฑ์องค์การอนามัยโลก และได้แจ้งให้องค์การอนามัยโลกสำนักงานใหญ่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ทราบเมื่อวันที่ 11 พ.ค. และได้จัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นประเทศที่ 31 โดยผู้ป่วยได้รับเชื้อจากการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ลำดับประเทศของไทยมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดย นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยในอีก 2 วันต่อมา(14 พ.ค.)ว่า องค์การอนามัยโลกรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อ 33 ประเทศ โดยประเทศที่รายงานผู้ป่วยในวันเดียวกัน คือ คิวบา ฟินแลนด์ และไทย โดยไทยถูกจัดอันดับประเทศที่ยืนยันการติดเชื้อเป็นอันดับที่ 33 ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีสาธารณสุข ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่สงสัยว่าเหตุใดจำนวนผู้ติดเชื้อจึงเปลี่ยนจาก 1 ราย เป็น 2 รายว่า “อาจเป็นความบกพร่องของผมเองที่พูดจำนวนผู้ต้องสงสัยไม่ครบ แต่ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ปกปิดข้อมูล ...เข้าใจว่ามีการสงสัยผู้ป่วยทั้ง 2 คนพร้อมๆ กัน เพียงแต่คนหนึ่งต้องส่งเชื้อไปตรวจยืนยันที่ประเทศสหรัฐฯ แต่อีกคนไม่ต้องส่ง เนื่องจากมีเชื้อต้นแบบแล้ว สามารถตรวจยืนยันภายในประเทศได้” นายวิทยา ยังเผยด้วยว่า ได้สั่งการให้ นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค วางมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรคในการแข่งขันกีฬายกน้ำหนักยุวชนชิงแชมป์โลก ที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 19-24 พ.ค.นี้ และว่า ได้เตรียมสำรองยาต้านไวรัสเพิ่มเติม โดยจะเสนอที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะของบประมาณ 80 ล้านบาท ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ยืนยัน การที่องค์การอนามัยโลกจัดอันดับประเทศไทยหลังพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในไทย 2 รายที่รักษาจนหายแล้ว จะไม่กระทบกับการท่องเที่ยวของไทยแต่อย่างใด และว่า จากการติดตามคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยทั้ง 2 รายดังกล่าว ก็ไม่ได้มีปัญหาการติดเชื้อ ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีสาธารณสุข ก็ยืนยันเช่นกันว่า ผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบินเที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยทั้ง 2 คนนั้น ไม่มีใครติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 แต่อย่างใด ขณะที่ รศ.พิเศษ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า จากการตรวจสอบ พบว่า ไม่มีผู้โดยสารใกล้เคียงรายใดที่มีอาการป่วยไข้จากผู้ติดเชื้อทั้ง 2 รายดังกล่าว และว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่จำเป็นต้องมีการประกาศเที่ยวบินหรือเปิดเผยรายชื่อผู้โดยสารให้สาธารณะรับทราบ เพราะจะทำให้เกิดความตื่นตระหนกมากเกินไป ยืนยันว่า กระทรวงฯ มีทีมควบคุมโรคที่ติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบ ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยวันนี้(16 พ.ค.)ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังและรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 12 ราย ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั่วโลกนั้น พบว่า ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.-เช้าวันนี้(16 พ.ค.) มีจำนวนทั้งสิ้น 7,520 ราย โดยพบใน 34 ประเทศ ประเทศล่าสุดที่พบก็คือ เบลเยี่ยม

5. “กัมพูชา”กล่าวหาไทยใช้อาวุธหนักโจมตี เรียกค่าเสียหาย 75ล. ขณะที่ “ไทย”ขู่เอาคืน ฐานทำทหารไทยตาย!
ทหารกัมพูชา ยืนอยู่หน้าซากหักพังของตลาดที่ชาวกัมพูชาเข้ามาตั้งแผงค้าขายบริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหารฝั่งไทย(สำนักข่าวเอเอฟพีถ่ายภาพนี้เมื่อ 4 เม.ย.)
เมื่อวันที่ 12 พ.ค.กระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 11 พ.ค.มายังกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากเหตุปะทะระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชาใกล้บริเวณปราสาทพระวิหารเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นเงินกว่า 75 ล้านบาท ทั้งนี้ ฝ่ายกัมพูชา อ้างว่า ทหารไทยได้ใช้อาวุธหนักโจมตีดินแดนของกัมพูชาใกล้บริเวณปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากกับฝ่ายกัมพูชา และว่า มีการเผาตลาดของกัมพูชาบริเวณด้านหน้าปราสาทพระวิหารด้วย ทำให้แผงขายของทั้ง 264 แผงเสียหายทั้งหมด ส่งผลให้ชาวกัมพูชาไม่มีที่ทำมาหากิน 309 ครอบครัว ฝ่ายกัมพูชา ยังอ้างด้วยว่า ค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับชาวกัมพูชาครั้งนี้รวมมูลค่า 2,150,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 75.267 ล้านบาท กระทรวงต่างประเทศกัมพูชาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากฝีมือของทหารไทย และชดใช้ค่าเสียหายในจำนวนที่เหมาะสมแก่ผู้สูญเสียดังกล่าว ด้านนายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย เผยในวันเดียวกัน(12 พ.ค.)ว่า จะตอบท่าทีของทางการไทยไปยังฝ่ายกัมพูชา โดยยืนยันสิ่งที่เคยพูดไปก่อนหน้านี้หลายครั้งแล้วว่า จุดเกิดเหตุเป็นดินแดนไทย ซึ่งราษฎรกัมพูชาเข้ามาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และว่า ที่ผ่านมาไทยได้ผ่อนปรน เพราะเห็นแก่ความสัมพันธ์อันดีและมนุษยธรรม นายธฤต ยังบอกด้วยว่า ฝ่ายไทยจะดำเนินการตามกฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณดังกล่าวตามปกติ และขอยืนยันอีกครั้งว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ใต้อธิปไตยของไทย “ไทยกำลังดูอยู่ว่า จะเรียกค่าเสียหายจากทางกัมพูชาเช่นกัน เนื่องจากมีทหารไทยเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย” อนึ่ง เหตุการณ์ทหารไทยและทหารกัมพูชาปะทะกันเมื่อวันที่ 3 เม.ย.นั้น เกิดขึ้นหลังทหารไทยเหยียบกับระเบิดขณะลาดตระเวนบริเวณห้วยตาเลีย ทางทิศตะวันออกของภูมะเขือ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ห่างจากปราสาทพระวิหารไปทางทิศตะวันตกประมาณ 3 กม. จนขาข้างซ้ายขาดเมื่อวันที่ 2 เม.ย. จากนั้นวันที่ 3 เม.ย. ฝ่ายไทยจึงได้เข้าไปตรวจสอบร่องรอยจุดเกิดเหตุ และพบทหารกัมพูชาประมาณ 20 นายรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของไทย และหลังจากทั้ง 2 ฝ่ายพูดคุยกันแต่ไม่ได้ข้อยุติ ปรากฏว่าฝ่ายกัมพูชาได้เดินกลับและหันมาเปิดฉากยิงใส่ทหารไทย ฝ่ายไทยจึงจำเป็นต้องตอบโต้เพื่อป้องกันตนเอง โดยการปะทะครั้งนั้น ส่งผลให้ทหารไทยบาดเจ็บหลายนาย และมีผู้เสียชีวิตด้วย ขณะที่สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา ออกมายืนยันในขณะนั้นว่า การปะทะกันดังกล่าวไม่มีทหารกัมพูชาได้รับบาดเจ็บหรือล้มตาย ไม่มีแม้แต่รอยขีดข่วน ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พูดถึงกรณีที่ฝ่ายกัมพูชาเรียกร้องค่าเสียหายจากไทยกว่า 75 ล้านบาทว่า ฝ่ายความมั่นคงจะไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน แล้วมาดูว่าเรื่องสิทธิจะเป็นอย่างไร ขณะที่ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พูดถึงการเรียกร้องค่าเสียหายของฝ่ายกัมพูชาว่า มีคณะกรรมการไปชี้แจงและมีขั้นตอนการดำเนินการแล้ว อย่าห่วง ส่วนการจ่ายเงินชดเชยนั้น พล.อ.ทรงกิตติ บอกว่า การเจรจายังไปไม่ถึงขั้นนั้น คงต้องคุยกัน ด้านนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ พูดถึงกรณีที่กัมพูชาเรียกค่าเสียหายจากไทยว่า กำลังรอข้อเท็จจริงจากกระทรวงกลาโหม เพราะขณะนี้เป็นการยื่นเรื่องมาฝ่ายเดียว แต่เมื่อเป็นการสู้รบ ก็มีกฎเกณฑ์และกติกาของการสู้รบ ใครทำลายก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นฝ่ายเรา เพราะรบกันมีการปะทะกัน และเรายืนยันว่า จุดเกิดเหตุอยู่ในเขตอธิปไตยของไทย.
กำลังโหลดความคิดเห็น