xs
xsm
sm
md
lg

“มาบตาพุด” จบวันนี้ เล็งแก้ กม.อุ้ม 76 รง.ต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - บอร์ด สวล.ถกวันนี้ (30 ต.ค.) “อภิสิทธิ์” ย้ำได้ข้อยุติประเด็นกฏหมายสอดรับมาตรา 67(2) ด้านศาลปกครองนัดไต่สวนคำค้านอุทธรณ์ 2 พ.ย.นี้ หลัง ก.อุตฯ เพิ่ม3 หลักฐานใหม่ “สุทธิ” ตบเท้าบุกยื่น 3 ข้อเรียกร้อง “ชาญชัย” หน้าทนรับหนังสือ ชง ครม.สัปดาห์หน้า

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหามาบตาพุดโดยเฉพาะต่อกรณีคำสั่งศาลที่ให้ระงับการดำเนินงาน 76 โครงการว่า นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีได้ไปหารือกับชาวบ้านในพื้นที่แล้วส่วนใหญ่เห็นตรงกันในประเด็นหลักๆ หมดเว้นแต่ในข้อกฏหมายที่จะได้หารือกันอีกครั้งในวันนี้ (30 ต.ค.) ในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งจะสามารหาข้อยุติถึงแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรา 67 โดยเฉพาะกฏหมายชั่วคราวที่จะนำมาใช้

“การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติออกระเบียบเรียบร้อยแล้วก็จะอิงตามกฏระเบียบที่คณะกรรมการเสนอ ส่วนองค์กรอิสระและความคิดเห็นของประชาชนจะอิงกับระเบียบใดบ้างบอร์ดสิ่งแวดล้อมวันนี้จะได้ความชัดเจนทั้งหมดและน่าจะได้ข้อยุติได้เพราะทำงานมาหลายเดือนแล้ว” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวในงานสัมมนา”Thailand Tomorrow ประเทศไทยปี 2553 ถึงเรื่องปัญหามาบตาพุดว่า เรื่องทรัพยากรและผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมและภายใต้การบริหารงานเพื่ออนาคต การบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับการเมืองต้องแก้ไขเพราะปัจจุบันยังมีความขัดแย้งกันอยู่ช่วงนี้ต้องอดทนต้องฝืนใจบางคน บางกลุ่ม

รายงานข่าวแจ้งว่า บอร์ดสิ่งแวดล้อมแห่งชาติวันนี้ (30 ต.ค.) จะมีการพิจารณาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในระหว่างที่รอการแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งขั้นตอนสภาจะต้องใช้เวลาถึงต้นปีหน้าบอร์ดสวล.จึงต้องออกระเบียบมาดูแลให้ปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 หากอุตสาหกรรมรายใดปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวแล้วก็จะสามารถกลับมาดำเนินการต่อไปได้ และอาจจะมีการร่างระเบียบสำนักนายกฯเพื่อให้มีบทเฉพาะกาลคุ้มครองโรงงานหรือกิจการที่ได้รับอนุญาตแล้ว

ไต่สวนคำค้านอุทธรณ์ 2 พ.ย.


นายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้นายชาญชัย ชัยรุ่งเรื่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประชุมเพื่อเตรียมข้อมูลยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดทั้งหมดในภาพรวมกับอีกส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการชี้แจงต่อศาลเพิ่มเติมซึ่งศาลฯได้นัดไต่ส่วนกรณีที่มีการยื่นคัดค้านคำอุทธรณ์ของหน่วยงานภาครัฐ 8 หน่วยงานในวันที่ 2 พ.ย.นี้

ทั้งนี้ ศาลฯ ได้สอบถามข้อมูลมาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกาศประเภทกิจการที่เข้าข่ายกระทบผลกระทบชุมชนและสิ่งแวดล้อมรุนแรง 8 กิจการ รวมไปถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการที่จะดำเนินงานให้สอดรับกับมาตรา 67 และประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่มาบตาพุดเกินมาตรการรองรับด้านสิงแวดล้อมมากน้อยเพียงใด

สำหรับกรณีการออกกฏหมายบังคับใช้ชั่วคราวภายใต้กฏหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานนายกรัฐมนตรีจะมีการหารือกันในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้และหลังจากนั้นจะมีการกำหนดชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เกิดความชัดเจนเพื่อที่จะสามารถให้แต่ละหน่วยงานนำไปชี้แจงต่อนักลงทุนได้

นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวว่าบีโอไอได้มีการชี้แจงประเด็นปัญหามาบตาพุดต่อกรณีที่นักลงทุนสอบถามมาเป็นรายๆ ไปซึ่งบีโอไอเองคงจะต้องรอความชัดเจนจากนโยบายรัฐบาลเพื่อไม่ต้องการให้เกิดความสับสนและให้ข้อมุลออกมาทางทิศทางเดียวกันหากชัดเจนแล้วบีโอไอก็คงจะทำงานในเชิงรุกได้มากขึ้น

ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง “ชาญชัย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (29 ต.ค.) ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกประมาณ 60-70 คนได้เดินทางมายังกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 3 ประเด็นได้แก่ 1.ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงเกี่ยวกับบัญชีรายชื่อ 8 กิจการเข้าข่ายผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมรุนแรง 2.ให้ตั้งองค์กรอิสระที่มีตัวแทนทุกส่วนเพื่อมาดำเนินการแยกน้ำดีและน้ำเสียให้ชัดเจนเพราะทุกวันนี้แยกไม่ออกว่าโรงงานไหนดีหรือไม่ดี 3.เร่งดำเนินการภายใต้มาตรา 67

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องนั้น นายสุรศักดิ์ นาคดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้เดินทางลงมาจากห้องทำงานเพื่อรับหนังสือร้องเรียนแต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมต้องการให้ รมว.อุตสาหกรรม ลงมาด้วยตนเองจนกระทั่งเวลา 11.00 น.นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรมจึงได้เดินมารับหนังสือและรับปากว่าจะนำข้อเรียกร้องเสนอรายงานต่อคณะรัฐมนตรีไม่เกินสัปดห์หน้า

ทั้งนี้ นายสุทธิ อัชฌาศัย แกนนำได้ยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวกับนายชาญชัยแล้วยังฝากกับนายชาญชัยให้พิจารณาถึงกรณีที่มีกระแสข่าวการจัดตั้งกลุ่มนักเคลื่อนไหวในมาบตาพุดเพื่อออกมาแสดงการคัดค้านกับชาวบ้านที่ต่อต้านเรื่องมลพิษด้วยว่ามาจากกลุ่มทุนไหนและมีจุดประสงค์ใดแน่

จี้กรมควบคุมมลพิษแจงมาตรฐาน

นายประสาน ตันประเสริฐ ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้ยื่นหนังสือถึงกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เพื่อให้ข้อเท็จจริงในการดำเนินงานด้านการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีความเข้มงวด และเป็นไปตามมาตรฐานสากลโลก เนื่องจาก กรณีที่มูลนิธิบูรณะนิเวศร่วมกับเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรเฝ้าระวังมลพิษอากาศระดับโลก (GCM) จากสหรัฐอเมริกาได้ประเมินผลค่าเฝ้าระวังสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (VOCs) ของนิคมฯ ทั้ง 2 แห่ง พบว่าสูงเกินกว่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด 30 เท่า เป็นประเด็นปัญหาที่เอกชนและหลายฝ่ายกังวล และเกิดความไม่มั่นใจในทิศทางการลงทุนมากขึ้น

ทั้งนี้ การตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายขององค์การ GCM กรมควบคุมมลพิษควรจะมีการสรุปเปรียบเทียบผลกับค่าเฝ้าระวังในบรรยากาศตามค่ามาตรฐานของประเทศไทยได้หรือไม่ และการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ตรวจวัดขององค์กร GCM ที่อ้างว่าได้มาตรฐาน US-EPA นั้น ได้มาตรฐานของประเทศไทยและมาตรฐานสากลจริงหรือไม่

ขอให้ตรวจสอบย้อนกลับ GCM


นอกจากนี้ กนอ.ได้ทำหนังสือถึงสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการตรวจสอบขององค์กร GCM ว่า ในทางวิชาการและทางเทคนิคเป็นไปตามมาตรฐานของประเทศไทยและมาตรฐานสากลหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้อพิสูจน์ ข้อมูลทางวิชาการที่มีผลทางชี้วัด และน่าเชื่อถือได้ พร้อมกันนี้ กนอ.จะเชิญกรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือในรายละเอียดร่วมกันอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น