xs
xsm
sm
md
lg

ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ..... (ฉบับเต็ม)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ร่าง) พระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ….

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ….”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

“องค์การเอกชน” หมายความว่า กลุ่ม คณะบุคคล หรือองค์กรที่มีวัตถุประสงค์และดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ การจัดการ การบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือการคุ้มครอง ส่งเสริม การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือการป้องกัน สร้างเสริมหรือคุ้มครองสุขภาพ สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิต ซึ่งมีผลงานดังกล่าวอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน

“สถาบันอุดมศึกษา” หมายความว่า สถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานในกำกับของรัฐ ทั้งที่เป็นของรัฐ หรือเอกชน ที่จัดการการศึกษาระดับปริญญาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือสุขภาพ

“สิ่งแวดล้อม” หมายความว่า สิ่งต่างๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพ ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้น

“คุณภาพสิ่งแวดล้อม” หมายความว่า ดุลยภาพของธรรมชาติ อันได้แก่ สัตว์ พืช และทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ และสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและความสมบูรณ์สืบไปของมนุษยชาติ

“สุขภาพ” หมายความว่า ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล

“โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง” หมายความว่า โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติหรือสุขภาพ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามประกาศขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

"หน่วยงานของรัฐ" หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่อ อย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา องค์การมหาชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประสานงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๐)

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา(พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539)

"หน่วยงานของรัฐ" หมายความว่า กระทรวง กรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นใดที่ดำเนินกิจการของรัฐตามกฎหมายและได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินหรือทรัพย์สินลงทุนจากรัฐ (ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ. 2551)

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่นหน่วยงานอื่นใดของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ๒๕๔๘)

“ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

มาตรา ๔ ให้ประธานกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศตามความเห็นชอบของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ระเบียบหรือประกาศตามวรรคหนึ่งที่มีผลเป็นการทั่วไป เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑
คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

*********************

มาตรา ๕ ให้มีคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกแปดคนที่เป็นผู้มีความรู้ หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งได้รับเลือกจากบุคคลที่เป็นผู้แทนขององค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจำนวนสี่คน และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพจำนวนสี่คน

การเลือกประธานคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามมาตรา ๙ วรรคสาม

มาตรา ๖ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ หรือมีประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านสุขภาพไม่น้อยกว่า 10 ปี
(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ
(๕) ไม่เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ

(๖) ไม่เป็นบุคคลที่ต้องโทษตามความพิพากษาให้จำคุก ไม่ว่าจะรอการลงอาญาหรือรอการลงโทษก็ตาม เว้นแต่จะได้พ้นมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี หรือในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๗) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การอิสระ องค์กรอื่นๆ หรือหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือเพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๘) ไม่ดำรงตำแหน่งใด หรือถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมนั้นๆ

(๙) ไม่เป็นผู้ศึกษาหรือจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยสามปีก่อนได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ รวมทั้งไม่เคยถูกลงโทษเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือกระทำการใดๆอันขัดต่อจรรยาบรรณวิชาชีพการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
(๑๐) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
(๑๑) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของพรรคการเมือง

มาตรา ๗ ในขณะดำรงตำแหน่งกรรมการ ต้อง

(๑) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานมหาวิทยาลัยหรือในหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
(๒) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น
(๓) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างขององค์การเอกชนใด

เมื่อบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓)ได้รับเลือกโดยได้รับความยินยอมของผู้นั้น ผู้ได้รับเลือกจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเมื่อได้ลาออกจากการเป็นบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) แล้ว ซึ่งต้องกระทำภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเลือก แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออกภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ และให้บุคคลในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มเดียวกันนั้นตามมาตรา ๙ (๕) ซึ่งได้รับคะแนนในลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาเป็นกรรมการใหม่แทน หากไม่มีบุคคลในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มเดียวกันนั้น ให้ดำเนินการสรรหาและเลือกกรรมการใหม่

มาตรา ๘ ให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจำนวนสิบห้าคน ประกอบด้วย

ก. ผู้แทนองค์การเอกชน ซึ่งเลือกกันเองให้ได้จำนวนสี่คน
ข. ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเลือกกันเองให้ได้จำนวนสี่คน
ค. ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวนสองคน
ง. ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข จำนวนสองคน
ฉ. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จำนวนหนึ่งคน
ช. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวนหนึ่งคน
ซ. ผู้แทนสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวนหนึ่งคน

ให้คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เลือกประธานกรรมการสรรหาหนึ่งคน และให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหา

มาตรา ๙ การเลือกกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ให้คณะกรรมการสรรหา กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีคัดเลือก วิธีการตรวจสอบคุณสมบัติองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนการเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ

(๒) ให้คณะกรรมการสรรหา ประกาศรับสมัครองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติตาม (๑) เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อองค์การเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาที่จะเป็นผู้คัดเลือกกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศรับสมัคร

(๓) ให้องค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่มีคุณสมบัติตาม (๑) เสนอชื่อผู้แทน ซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกขององค์การ หรือปฏิบัติหน้าที่หรือเคยปฏิบัติหน้าที่ในองค์การ ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖ ต่อคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยผู้แทนด้านสิ่งแวดล้อมไม่เกินหนี่งชื่อ และผู้แทนด้านสุขภาพไม่เกินหนี่งชื่อ ภายในหกสิบวัน นับแต่วันประกาศรับสมัคร เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อผู้แทนที่จะได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

(๔)ให้สถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติตาม (๑) เสนอชื่อผู้แทน ซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการ หรือพนักงานของสถาบันอุดมศึกษา หรือปฏิบัติหน้าที่หรือเคยปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖ ต่อคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยผู้แทนด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติไม่เกินหนี่งชื่อ และผู้แทนด้านสุขภาพไม่เกินหนี่งชื่อ ภายในหกสิบวัน นับแต่วันประกาศรับสมัคร เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อผู้แทนที่จะได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

(๕) ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการให้ผู้แทนในบัญชีรายชื่อตามข้อ (๒) มาประชุมเพื่อคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมเป็นกรรมการ โดยผู้แทนมีสิทธิเลือกได้คนละหนึ่งชื่อ ให้ครบตามจำนวนที่กำหนดสำหรับผู้แทนแต่ละด้าน โดยจะต้องคำนึงถึงสัดส่วนขององค์การเอกชน และสถาบันอุดมศึกษาจากภูมิภาคและส่วนกลางด้วย ทั้งนี้ ให้บุคคลผู้ได้รับคะแนนลำดับรองลงไปจำนวนสองคนแรกของแต่ละด้านเป็นผู้ได้รับการบรรจุในบัญชีรายชื่อสำรองของแต่ละด้านนั้นๆ

ให้ผู้ได้รับเลือกตามมาตรา ๙ (๕) ประชุมเพื่อเลือกกันเองเป็นประธานกรรมการหนึ่งคน เมื่อบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการตามวรรคสอง ให้บุคคลในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มเดียวกันนั้นตามมาตรา ๙ (๕) ซึ่งได้รับคะแนนในลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาเป็นกรรมการแทนตำแหน่งประธานที่ได้รับการเลือก แล้วแจ้งผลให้ประธานกรรมการสรรหาทราบ เพื่อเสนอรายชื่อต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการให้ประกาศรายชื่อกรรมการในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๑๐ ให้ประธานกรรมการและกรรมการเป็นผู้ปฏิบัติงานประจำ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์ และอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
ให้ที่ปรึกษา อนุกรรมการ และคณะทำงานได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๑๑ กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเป็นอิสระ โปร่งใสและต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน

มาตรา ๑๒ กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี นับแต่วันประกาศรายชื่อกรรมการในราชกิจจานุเบกษา และให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่

มาตรา ๑๓ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๖
(๔) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๗

เมื่อมีกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้กรรมการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้และให้ถือว่าคณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ เว้นแต่มีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงหกคน

มาตรา ๑๔ เมื่อกรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๗ ให้เริ่มดำเนินการตามมาตรา ๙ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้พ้นจากตำแหน่ง

ในกรณีกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระตามมาตรา ๑๓ให้บุคคลในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มเดียวกันนั้นตามมาตรา ๙ (๕) ซึ่งได้รับคะแนนในลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาเป็นกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง

ให้กรรมการที่ได้รับเลือกเข้ามาแทนให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ตนแทน แต่ถ้าเวลาเหลือน้อยกว่าเก้าสิบวัน ไม่ต้องดำเนินการเพื่อหากรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง

มาตรา ๑๕ การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่มีอยู่ จึงเป็นองค์ประชุม

ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

ในการวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมาก ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ในการประชุม ถ้ามีการพิจารณาเรื่องที่กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสีย กรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิเข้าประชุม

หมวด ๒
อำนาจหน้าที่

*********************

มาตรา ๑๖ คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ

(๒) ให้ความเห็นต่อ โครงการ หรือกิจกรรม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ รวมทั้งนโยบายหรือแผนซึ่งเป็นที่มาของโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว

(๓) ส่งเสริม สนับสนุนประชาชนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการให้ความเห็นต่อโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพก่อนดำเนินการ

(๔) ดำเนินการหรือสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการให้ความเห็นขององค์การอิสระ

(๕) ประสานความร่วมมือกับหน่วยราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การเอกชน องค์กรประชาชนหรือองค์การอื่นในด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นซึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรรมการ

มาตรา ๑๗ ในการกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมตามมาตรา ๑๖ (๑) ให้คณะกรรมการพิจารณาทบทวนรายการประเภทโครงการหรือกิจกรรมทุกรอบสามปี

ให้บุคคล หน่วยงานของรัฐ องค์การเอกชน องค์กรชุมชน หรือองค์กรประชาชนมีสิทธิเสนอโครงการหรือกิจกรรม เพื่อให้คณะกรรมการประกาศกำหนดเป็นประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่ผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง หรือให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๑๘ คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมีอำนาจแต่งตั้ง ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน ที่ประกอบด้วยกรรมการหรือบุคคลใด ทั้งในจังหวัดหรือภูมิภาค เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ตามหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๑๙ คณะกรรมการ และอนุกรรมการที่คณะกรรมการแต่งตั้ง สามารถเรียกข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การอิสระ หรือองค์กรอื่น หรือบุคคลอื่นใด มาให้ข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็น หรือให้จัดส่งเอกสาร ข้อมูล หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

มาตรา ๒๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการ และอนุกรรมการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๒๑ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนจะริเริ่มดำเนินโครงการหรือกิจกรรมตามมาตรา ๑๖ (๑) หรือมาตรา ๑๗ วรรคสอง ให้หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการหรือกิจกรรมให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้รายละเอียดของข้อมูลเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

เมื่อคณะกรรมการได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการหรือกิจกรรมตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน และถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว คณะกรรมการยังมิได้จัดส่งความเห็นกลับคืน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการในขั้นตอนต่อไปตามที่เห็นสมควรได้

เมื่อคณะกรรมการได้จัดส่งความเห็นมาให้คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐนำความเห็นดังกล่าว ประกอบการพิจารณาในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมตามมาตรา ๑๖ (๑) หรือมาตรา ๑๗ วรรคสอง เพื่อให้ประชาชนดำรงชีพอย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิต

มาตรา ๒๒ ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนจะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมตามมาตรา ๑๖ (๑) ให้คณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว เพื่อให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการดังกล่าว

มาตรา ๒๓ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนเจ้าของโครงการหรือกิจกรรมตามมาตรา ๑๖(๑) จะต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนเจ้าของโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว ส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้คณะกรรมการตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ การกำหนดขอบเขตการศึกษา และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้คณะกรรมการพิจารณา เพื่อให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก่อนการให้ความเห็นชอบกับรายงานดังกล่าว ทั้งนี้รายละเอียดของข้อมูลดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

เมื่อคณะกรรมการได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว คณะกรรมการยังมิได้จัดส่งความเห็นกลับคืน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการในขั้นตอนต่อไปตามที่เห็นสมควรได้

มาตรา ๒๔ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาตให้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมตามมาตรา ๑๖ (๑) หรือมาตรา ๑๗ วรรคสอง ให้หน่วยงานของรัฐผู้มีอำนาจส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นต่อหน่วยงานของรัฐก่อนการอนุมัติ อนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าว

เมื่อคณะกรรมการได้รับเรื่องตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นภายในหกสิบวัน และถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว คณะกรรมการยังมิได้จัดส่งความเห็นกลับคืน ให้หน่วยงานผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาตโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการในขั้นตอนต่อไปตามที่เห็นสมควรได้

มาตรา ๒๕ ในการจัดทำรายงานความเห็นเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมใด ให้คณะกรรมการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานดังกล่าว ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๒๖ ให้คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔ จัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐในเรื่องที่คณะกรรมการให้ความเห็น เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ และเปิดเผยเหตุผลให้สาธารณชนทราบด้วย

หมวด ๓
สำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

*******************

มาตรา ๒๗ ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น

ให้สำนักงานมีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ โดยมีประธานกรรมการเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด

มาตรา ๒๘ ในการกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่ง ระเบียบ หรือประกาศเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการการบริหารทั่วไป บริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน การจัดตั้งสำนักงานและการดำเนินการอื่นของสำนักงานคณะกรรมการ

มาตรา ๒๙ สำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการทั่วไปของคณะกรรมการ และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ
(๒) สำรวจ ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(๓) ดำเนินการจัดหรือสนับสนุนให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อประกอบการดำเนินงานของคณะกรรมการ
(๔) สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับการให้ความเห็นขององค์การอิสระ
(๕) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลงาน อุปสรรคในการดำเนินงาน และรายงานการเงินของคณะกรรมการ

(๖) จัดให้มีทะเบียนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ หรือองค์กรหรือหน่วยงานใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย และทะเบียนผู้รู้ หรือผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิชาการ หรือปราชญ์ชาวบ้าน ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือสุขภาพ
(๗) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การอิสระ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นๆ
(๘) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการ มอบหมาย

มาตรา ๓๐ รายได้ของสำนักงาน ประกอบด้วย

(๑) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี
(๒) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
(๓) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของสำนักงาน
(๔) รายได้จากการดำเนินกิจการของสำนักงาน
(๕) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)

ให้สำนักงานเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนสำนักงานและคณะกรรมการ ไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมแล้วแต่กรณี ในการนี้ คณะรัฐมนตรีอาจนำความเห็นเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณของสำนักงาน รวมไว้ในรายงานการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมด้วยก็ได้

มาตรา ๓๑ บรรดารายได้ของสำนักงานตามมาตรา ๓๐ ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

ทรัพย์สินของสำนักงานไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีและบุคคลใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้สำนักงานในเรื่องทรัพย์สินของสำนักงานมิได้
บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานได้มาโดยมีผู้บริจาคให้หรือได้มาโดยการซื้อหรือแลกเปลี่ยนจากรายได้ตามมาตรา ๓๐ (2) (3) (4) หรือ (5) ของสำนักงาน ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงาน

ให้สำนักงานมีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินของสำนักงาน

บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานได้มาโดยใช้เงินรายได้ตามมาตรา ๓๐ (1) ให้ตกเป็นที่ราชพัสดุ แต่สำนักงานมีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์ได้

มาตรา ๓๒ การเก็บรักษาและการใช้จ่ายเงินของสำนักงานให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

การบัญชีของสำนักงาน ให้จัดทำตามหลักสากลตามแบบและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด และต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุของสำนักงาน ตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบอย่างน้อยปีละครั้ง

ให้สำนักงานจัดทำงบการเงินซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยงบดุลและบัญชีทำการส่งผู้สอบบัญชีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของทุกปี

ในทุกรอบปีให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอกตามที่คณะกรรมการแต่งตั้งด้วยความเห็นชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงาน โดยให้แสดงความคิดเห็นเป็นข้อวิเคราะห์ว่าการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด และได้ผลตามเป้าหมายเพียงใด แล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของทุกปี
 
ให้สำนักงานทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ โดยแสดงงบการเงินและบัญชีทำการที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้ว พร้อมทั้งรายงานของผู้สอบบัญชี

มาตรา ๓๓ ให้มีเลขาธิการคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารงานของสำนักงานขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ มีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งงานของสำนักงาน และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างในสำนักงาน โดยอาจมีรองเลขาธิการตามจำนวนที่คณะกรรมการกำหนดเป็นผู้ช่วย สั่งและปฏิบัติงานตามที่เลขาธิการมอบหมายก็ได้
คุณสมบัติของเลขาธิการและรองเลขาธิการ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
ให้ประธานคณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งเลขาธิการจากบุคคลที่คณะกรรมการคัดเลือกและให้ความเห็นชอบแล้ว

หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเลขาธิการตามวรรคสามให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ กำหนด

เลขาธิการมีอำนาจแต่งตั้งรองเลขาธิการ หรือเจ้าหน้าที่ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

มาตรา ๓๔ ให้เลขาธิการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้

เมื่อเลขาธิการพ้นจากตำแหน่ง ให้รองเลขาธิการพ้นจากตำแหน่งด้วย

เมื่อตำแหน่งเลขาธิการว่างลงและยังไม่มีการแต่งตั้งเลขาธิการคนใหม่ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการบริหารคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทน

ในกรณีที่เลขาธิการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองเลขาธิการที่คณะกรรมการกำหนดเป็นผู้รักษาการแทน แต่ถ้าไม่มีรองเลขาธิการหรือรองเลขาธิการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน

มาตรา ๓๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว เลขาธิการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ถูกจำคุก
(๔) ขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา ๓๓ วรรคสอง
(๕) ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่ผ่านการประเมิน ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารกำหนด

มาตรา ๓๖ เลขาธิการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย มติ ข้อบังคับ ระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการ
(๒) จัดทำแผนงานหลัก แผนการดำเนินงาน แผนการเงินและงบประมาณประจำปีของสำนักงานเสนอคณะกรรมการเพื่ออนุมัติ
(๓) ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การเงิน การงบประมาณและการบริหารด้านอื่นของสำนักงาน ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
(๔) วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย นโยบาย มติ ข้อบังคับ ระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการ
(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

มาตรา ๓๗ เงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของเลขาธิการ หรือรองเลขาธิการ หรือเจ้าหน้าที่ให้คณะกรรมการกำหนดตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๓๘ ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของสำนักงานในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก แต่เลขาธิการจะมอบหมายให้บุคคลใดปฏิบัติงานในเรื่องใดแทนตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้

หมวด ๔
บทกำหนดโทษ

***************************

มาตรา ๓๙ ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งวัตถุ เอกสารหรือพยานหลักฐานที่ถูกเรียกหรือถูกสั่งให้ส่งตามมาตรา ๒๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล
****************
มาตรา ๔๐ ในวาระเริ่มแรกให้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วย

(๑) ผู้แทนสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จำนวนหนึ่งคน
(๒) ผู้แทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน จำนวนหนึ่งคน
(๓) ผู้แทนเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย จำนวนหนึ่งคน
(๔) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จำนวนหนึ่งคน
(๕) ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข จำนวนหนึ่งคน
(๖) ผู้แทนกระทรวงทรัพยากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวนหนึ่งคน
(๗) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวนหนึ่งคน
(๘) ผู้แทนสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวนหนึ่งคน
(๙) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา จำนวนหนึ่งคน
(๑๐)ผู้แทนสมาคมสถาบันอุดมศึกษาสิ่งแวดล้อมไทย จำนวนหนึ่งคน

มาตรา ๔๑ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้มีการแต่งตั้งกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามมาตรา ๕

มาตรา ๔๒ ในวาระเริ่มแรก ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดให้มีสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และให้มอบหมายข้าราชการผู้หนึ่งทำหน้าที่เลขาธิการสำนักงาน จนกว่าจะมีการจัดตั้งสำนักงาน แต่ให้แยกเป็นส่วนของสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไว้โดยเฉพาะ

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้จัดสรรงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเท่าที่จำเป็นสำหรับการบริหารงาน โดยให้จัดสรรไว้ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

มาตรา ๔๓ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อเป็นหน่วยงานของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔๔ ภายในหกสิบวันนับแต่คณะกรรมการได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามมาตรา ๑๖ (๑)

โครงการหรือกิจกรรมตามวรรคหนึ่งให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ นับแต่ประกาศมีผลใช้บังคับ

มาตรา ๔๕ ข้าราชการ หรือพนักงาน หรือลูกจ้างผู้ใดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมัครใจจะเปลี่ยนไปเป็นเจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้าง หรือต้องการโอนย้ายมาเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสำนักงาน ให้แสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา และจะต้องผ่านการคัดเลือกหรือการประเมินตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด หากคณะกรรมการมีมติรับโอน ให้โอนมาเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานนับแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ

มาตรา ๔๖ ให้ถือว่าข้าราชการหรือลูกจ้างที่โอนมาตามมาตรา ๔๕ ออกจากราชการเพราะทางราชการเลิกหรือยุบตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แล้วแต่กรณี

ให้ถือว่าข้าราชการหรือลูกจ้างที่โอนมาตามมาตรา ๔๕ ออกจากงานเพราะทางราชการยุบเลิกตำแหน่งหรือเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และให้ได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือลูกจ้าง

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
………………………
(…………………….)

นายกรัฐมนตรี

**************************

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๖๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ บัญญัติให้มีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือสุขภาพทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้ดำรงอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตประชาชน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
กำลังโหลดความคิดเห็น