xs
xsm
sm
md
lg

คลี่ม่านแดนสนธยา ผ่าอาณาจักรสองพันล้าน ; สสส. ในระยะเปลี่ยนผ่าน...

เผยแพร่:   โดย: ธงไท เทิดอุดม

ยุคก่อนพูดถึงแดนสนธยา ในจินตภาพขององค์กรที่ลึกลับ ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มีพฤติกรรมเกาะเกี่ยวเหนียวแน่นเฉพาะกลุ่มพวกตน จนมีลักษณะเป็นอาณาจักรลี้ลับ ที่มืดมัว มองจากภายนอกเห็นได้ไม่ชัดนัก ว่าคนในองค์กรนั้นทำอะไรอยู่ข้างใน ไม่เป็นที่ประจักษ์เสมือนหนึ่งแดนสนธยา ก็คือ อสมท นั้น

ในยุคปัจจุบันมีหน่วยงาน กลไก องค์กรอีกหลายแห่งที่บริหารงานภายหลังม่านหนา บาง ที่ขวางกั้นระหว่างการดำเนินกิจกรรมภายในหน่วยงานหรือองค์กรนั้น กับ การจับตาเฝ้ามองของประชาชน พลเมืองที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสาธารณะ

สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ก็คือหนึ่งในจำนวนนั้น

จะด้วยลักษณะการจัดตั้งองค์กรที่มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน คือ มีลักษณะเป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี มีรายได้จากภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุรา ในขณะเดียวกันก็มีพันธกิจในทางตรงข้ามกับแหล่งที่มาของรายได้ คือ มีการณรงค์ให้คนลด ละ เลิก เหล้า บุหรี่

ภายใต้วิสัยทัศน์ที่คัดง้างแนวทางการบริหารจัดการด้านสุขภาพอนามัยเดิม ที่เน้นความหมายของการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน ในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ คืออาการทางกายภาพเป็นหลัก แต่ สสส.มีวิสัยทัศน์ในทิศทางแนวทางใหม่ ที่ขยายบริบทการดูแลทางกายภาพมาเป็นการสร้างวาทกรรมใหม่คือ “สุขภาวะ” ในความหมายของภาวะองค์รวมของสุขภาพกาย ใจ จิต วิญญาณหรือปัญญา และชุมชนหรือสังคมล้วนนำสู่ “คนไทยมีสุขภาวะอย่างยั่งยืน”

ด้วยความพิเศษขององค์กรที่มีที่มาลักษณะแนวคิดที่สลับซับซ้อนเช่นนี้ จึงอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนที่เข้ามารับผิดชอบองค์กรนี้ในระดับบริหารเกือบทุกลำดับชั้นนั้น ก็คือ คุณหมอทั้งหลายนั่นเอง

คุณหมอที่ถือได้ว่าเป็นบุคลากรสำคัญชั้นหัวกะทิของสังคมไทย ที่มีความเก่ง เป็นเลิศมาทั้งชีวิต เมื่อมารวมกันในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงยิ่งมีความเชื่อมั่นในตนเองว่าตนเองรอบรู้และเชี่ยวชาญในทุกเรื่อง เพราะ สสส.มีขอบเขตการดำเนินงานที่กว้างขวาง มีหน่วยงานภายในถึง 9 สำนัก กับ 13 แผนงานยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งต้องการผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่การบริหาร การตัดสินใจเฉพาะเรื่องเฉพาะทาง เช่น ด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น การสื่อสารสาธารณะ การจัดการเรียนรู้ เป็นต้น

การนำองค์กรที่มีลักษณะพิเศษด้วยคนกลุ่มพิเศษ ในภารกิจพิเศษ โดยขาดสติยั้งคิดในการเปิดเผยอย่างโปร่งใส จึงทำให้ สสส.หลุดเข้าไปอยู่ใน “แดนสนธยา” อย่างไม่รู้ตัวแปลกแยกจากสังคมสาธารณะไปเรื่อยๆ

สสส. ที่ถูกทำให้เป็นโลกส่วนตัวของคุณหมอทั้งหลาย เสมือนเกาะที่ไร้รากยึดเหนี่ยวจึงไหลเรื่อยไปตามกระแสน้ำเชี่ยวของการพัฒนาตามนโยบายรัฐที่ครอบงำโดย กลุ่มทุนการเมืองและกระแสโลกาภิวัตน์อย่างมิอาจเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนได้อย่างที่ควรจะเป็น

การเปลี่ยนแปลงใดๆ ภายในองค์กรของ สสส.ในร่มเงามืดครึ้มของความเป็นดินแดนสนธยา จึงนำมาซึ่งความไม่โปร่งใส และขัดกับหลักธรรมาภิบาล

โดยเฉพาะกระบวนการคัดสรรผู้บริหารหมายเลข 1 ขององค์กรที่มีอายุสมัยละ 4 ปีในตำแหน่ง ซึ่งหากย้อนหลังไป 4 ปีที่แล้ว ผู้บริหารเบอร์ 1 สมัยแรกมุดน้ำดำดินเข้าสู่เก้าอี้เดิมในสมัยที่สองอย่างชนิดที่ทุกคนไม่ทันกะพริบตา แม้ผู้สมัครแข่งขันท่านหนึ่งต้องมึนงงอย่างยิ่งที่ตัวเขาในฐานะผู้สมัครเข้ารับการคัดสรร ไม่มีโอกาสแม้การเรียกไปสัมภาษณ์หรือแสดงวิสัยทัศน์ใดๆ ทั้งสิ้น

และความแปลกพิสดารของการคัดสรรครั้งใหม่ก็หวนกลับมาอีกครั้งในเดือนที่ผ่านมา มีประกาศเล็กๆ เพียงสองสามบรรทัดบนหน้าแรกของเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ สสส.เหมือนจงใจไม่ให้เป็นที่สังเกตเห็นของผู้คน ไม่มีรายละเอียดกระบวนการสรรหา ไม่มีรายชื่อกรรมการสรรหา ไม่มีกำหนดเวลา ไม่มีรายชื่อผู้สมัคร ไม่มีการเปิดเผยอย่างโปร่งใส

ทำให้ผู้เฝ้าจับตาดูด้วยใจระทึก อดนึกไม่ได้ว่ากระบวนการคัดสรรที่แสนจะลึกลับนี้ทำเสมือนหนึ่งว่ามีการ “วางตัว” คนในหมู่หมอๆ ของ สสส.ไว้แล้ว

มิหนำซ้ำยังมีกระบวนการพิสดารที่สำนักงานจะต้อนผู้สมัครทั้งหมดไปเก็บตัวที่สามพรานในวันที่ 11-12 กันยายนนี้ เพื่อปฐมนิเทศผู้สมัคร ซึ่งเป็นผู้สมัครในตำแหน่งสูงสุดคือหมายเลข 1 ขององค์กรซึ่งต้องเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักงาน ต้องมาเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่สำนักงานที่จะอบรมผู้สมัครนี้ เป็นงูกินหาง แต่อีกนัยหนึ่งมองได้ว่าองค์กรปิดจากแดนสนธยานี้ มีความพยายามจะเข้าครอบงำผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารคนใหม่ โดยเริ่มกระทำการตั้งแต่ยังเป็นผู้สมัคร

ทำไม สสส.ในฐานะองค์กรสำคัญเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ และบริหารจัดการองค์กรด้วยบุคลากรระดับมันสมองที่มีคุณภาพ จึงกระทำการในแง่มุมที่ส่อเสี่ยงหมิ่นเหม่ต่อคุณธรรม และธรรมาภิบาลของการบริหารองค์กรสาธารณประโยชน์เช่นนี้

ทำไม สสส.จึงฝังตนเองไว้ในม่านหมอกควันแห่งแดนสนธยาที่มัวซัวเช่นนี้ ไม่สร้างความโปร่งใสในกระบวนการบริหารจัดการให้เป็นที่ประจักษ์

ทำไม? ทำไม? และทำไม?

ต้องติดตามตอนต่อไป เมื่อผ่าอาณาจักรของหมอๆ ก็พบเดิมพันงบประมาณกว่าปีละสองพันล้านที่ต้องผ่าทางเดินของงบประมาณเหล่านี้ว่าจะนำไปสนองตอบต่อใคร? ในภารกิจใด?


โปรดติดตามตอนต่อไป (เพราะยังไม่จบข่าว!)
กำลังโหลดความคิดเห็น