xs
xsm
sm
md
lg

“ระเบิดเวลาที่มาบตาพุด” (3) ชำแหละร่างกม.องค์การอิสระภาคประชาสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มลพิษที่มาบตาพุด ระยอง (ภาพจากเครือเนชั่น)
รายงานพิเศษ “ระเบิดเวลาที่มาบตาพุด” (3)

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนฯ ขู่หากรัฐบาลไม่สนใจหยิบร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่กระทรวงทรัพยากรฯ ตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและภาคประชาสังคมยกร่างจนเสร็จสรรพเข้าสู่สภา เตรียมฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งยุติร่างแก้ไขกม.สิ่งแวดล้อมฯ ฉบับกฤษฎีกาเอาใจกลุ่มทุน ขีดเส้น 2 สัปดาห์ยื่นฟ้องแน่ เปิดร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ฉบับภาคประชาสังคม ทางออกยุติข้อขัดแย้งชุมชน-ทุน-รัฐฯ

***ศรีสุวรรณ จรรยา กรรมการสภาทนายความแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน*** เปิดเผยถึงกรณีรัฐบาลพยายามเอาใจนายทุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรม โดยเร่งแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535 มาตรา 51 โดยหวังว่าจะตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมาภายใต้การควบคุมดูแลและการคัดสรรของฝ่ายราชการ (สผ.) ที่จะเลือกองค์กรใดขึ้นมาทำหน้าที่องค์การอิสระก็ได้

***“ถามว่าถ้าเป็นองค์กรที่ไม่ซูฮก ตรงไปตรงมา ฝ่ายราชการจะเลือกเข้ามาทำหน้าที่หรือ และการให้ความเห็นขององค์การอิสระจะอิสระตรงไหน อีกทั้งในร่างของกฤษฎีกา ก็ยังคงอำนาจของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) อยู่ในขั้นสุดท้าย หากองค์การอิสระมีความเห็นที่แย้งกับ คชก.”

ศรีสุวรรณ ระบุว่า รัฐบาลเชื่อข้าราชการ (กระทรวงทรัพยากรฯ) มากเกินไป โดยไม่ดูว่าจะยิ่งก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งไม่มีที่สิ้นสุด เพราะที่ผ่านมา ต้องยอมรับความจริงว่า EIA ที่ผ่านความเห็นชอบของ คชก. ไม่มีความน่าเชื่อถือ จนชาวบ้านทั่วประเทศที่มีโครงการใหญ่ ๆ ไปก่อสร้าง จะออกมาคัดค้านอยู่เสมอ บทเรียนเหล่านี้รัฐบาลไม่เคยเอามาคิด ฟังแต่ฝ่ายราชการหัวเก่า ที่ยังหวงอำนาจจนวินาทีสุดท้าย จนกลายเป็นความขัดแย้งกระทบผู้ประกอบการอย่ในขณะนี้

เขาบอกว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ (โดยปลัดกระทรวง) เคยแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมาชุดหนึ่งเมื่อ 24 มีนาคม 2551โดยประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 30 คนให้มาช่วยกันยกร่างภายใน 6 เดือน คณะกรรมการดังกล่าวประชุมกันหลายสิบครั้งจนในที่สุดสามารถยกร่างได้

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการยกร่างได้ไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศทุกภูมิภาคมาแล้วพร้อมกับจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นใน กทม.ถึง 2 ครั้ง จนได้ข้อสรุปตกผลึกสมบูรณ์ แล้วจัดส่งให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรไปเมื่อ 30 กันยายน 2551

แต่ทว่าเรื่องกลับเงียบหายไม่มีอะไรคืบหน้า สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้มีจดหมายทวงถามไปยังปลัดกระทรวงทรัพยากรแล้วกว่า 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบหรือจดหมายตอบกลับ จนในที่สุดสมาคมฯ ต้องขออำนาจบารมีศาลเป็นที่ยุติ จนศาลปกครองกลางมีคำสั่งออกมาเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปแล้วนั้น

แต่ทว่าการแก้ไขปัญหาของภาครัฐกับไปสั่งการให้กฤษฎีกา กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กท.สาธารณสุข ฯลฯ ไปยกร่างกฎหมายใหม่โดยใช้วิธีแก้ พรบ.สิ่งแวดล้อม 2535 มาตรา 51 แทน โดยไม่สนใจร่างที่ประชาสังคมช่วยกันยกร่างขึ้นมา เสียเวลา เสียความคิด และเสียเงินงบประมาณไปเกือบล้านบาท แต่ก็กลับไม่นำมาพิจารณาผลักดันต่อไป

***ศรีสุวรรณ กล่าวว่า หากรัฐบาลจะยุติความขัดแย้งครั้งนี้ก็มีวิธีการเดียว คือ เปิดประตูรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคม และนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปพิจารณาผลักดันเข้าสู่รัฐสภา ประกาศเป็นกฎหมายต่อไป เพราะใช้เวลาเท่ากับการแก้ไข พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 เช่นกัน แต่หากรัฐบาลไม่สนใจภาคประชาสังคมก็ไม่มีทางเลือกอื่น คือ ต้อง ใช้มาตรการทางศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยุติร่าง พรบ.สิ่งแวดล้อม ของรัฐบาล เพราะถือว่าเป็นการออกกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อไปภายใน 2 สัปดาห์จากนี้ไป

***เปิดร่างกม.องค์การอิสระฉบับประชาสังคม

สำหรับร่าง พ.รบ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ... ที่ภาคประชาสังคมยกร่างนั้น บัญญัติอย่างชัดเจนว่า องค์การฯ จะต้องเป็นองค์กรอิสระที่แท้จริง ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรหรือรายได้ และคณะกรรมการองค์การอิสระฯ ต้องผ่านกระบวนการสรรหา

ส่วนอำนาจหน้าที่จะคลุมทั้งกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงซึ่งจะทบทวนใหม่ทุก 3 ปี และให้ความเห็นต่อโครงการที่อาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอโครงการส่งผลกระทบรุนแรงให้คณะกรรมการฯ พิจารณาได้ด้วย

***องค์การเอกชนไม่แสวงหากำไร

ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. …. บัญญัตินิยามของ “องค์การเอกชน” ไว้ว่า หมายถึง “กลุ่ม คณะบุคคล หรือองค์กรที่มีวัตถุประสงค์และดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ การจัดการ การบำรุงรักษา การใช้และได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือการคุ้มครอง ส่งเสริม การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือการป้องกัน สร้างเสริมหรือคุ้มครองสุขภาพ สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิต ซึ่งมีผลงานดังกล่าวอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน”

****ส่วน “โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง” หมายความว่า โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติหรือสุขภาพ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามประกาศขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

***คณะกก.องค์การผ่านกระบวนการสรรหา

ตาม มาตรา 5 กำหนดให้มีคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกแปดคนที่เป็นผู้มีความรู้ หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งได้รับเลือกจากบุคคลที่เป็นผู้แทนขององค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจำนวนสี่คน และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพจำนวนสี่คน

ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา ๖ คือมีประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพไม่น้อยกว่า 10 ปี ไม่ดำรงตำแหน่งใด หรือถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมนั้นๆ

และไม่เป็นผู้ศึกษาหรือจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยสามปีก่อนได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ รวมทั้งไม่เคยถูกลงโทษเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือกระทำการใดๆอันขัดต่อจรรยาบรรณวิชาชีพการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

***ส่วนที่มาของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องผ่านกระบวนการสรรหา โดยให้มีคณะกรรมการสรรหา ตามมาตรา 8 จำนวน 15 คน จากผู้แทนองค์การเอกชน, สถาบันอุดมศึกษา, ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ, ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพ, ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิฯ และผู้แทนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ

กระบวนการการเลือกคณะกรรมการองค์การอิสระฯ ให้ดำเนินการตามาตรา 9 ดังนี้ (1) ให้คณะกรรมการสรรหา กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีคัดเลือก วิธีการตรวจสอบคุณสมบัติองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนการเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ

(2) ให้คณะกรรมการสรรหา ประกาศรับสมัครองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติตาม (1) เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อองค์การเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาที่จะเป็นผู้คัดเลือกกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศรับสมัคร

(3) ให้องค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่มีคุณสมบัติตาม (1) เสนอชื่อผู้แทน ซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกขององค์การ หรือปฏิบัติหน้าที่หรือเคยปฏิบัติหน้าที่ในองค์การ ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ต่อคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยผู้แทนด้านสิ่งแวดล้อมไม่เกินหนี่งชื่อ และผู้แทนด้านสุขภาพไม่เกินหนี่งชื่อ ภายในหกสิบวัน นับแต่วันประกาศรับสมัคร เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อผู้แทนที่จะได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

(4)ให้สถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติตาม (1) เสนอชื่อผู้แทน ซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการ หรือพนักงานของสถาบันอุดมศึกษา หรือปฏิบัติหน้าที่หรือเคยปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ต่อคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยผู้แทนด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติไม่เกินหนี่งชื่อ และผู้แทนด้านสุขภาพไม่เกินหนี่งชื่อ ภายในหกสิบวัน นับแต่วันประกาศรับสมัคร เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อผู้แทนที่จะได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

****(5) ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการให้ผู้แทนในบัญชีรายชื่อตามข้อ (2) มาประชุมเพื่อคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมเป็นกรรมการ โดยผู้แทนมีสิทธิเลือกได้คนละหนึ่งชื่อ ให้ครบตามจำนวนที่กำหนดสำหรับผู้แทนแต่ละด้าน โดยจะต้องคำนึงถึงสัดส่วนขององค์การเอกชน และสถาบันอุดมศึกษาจากภูมิภาคและส่วนกลางด้วย ทั้งนี้ ให้บุคคลผู้ได้รับคะแนนลำดับรองลงไปจำนวนสองคนแรกของแต่ละด้านเป็นผู้ได้รับการบรรจุในบัญชีรายชื่อสำรองของแต่ละด้านนั้นๆ

ให้ผู้ได้รับเลือกตามมาตรา 9 (5) ประชุมเพื่อเลือกกันเองเป็นประธานกรรมการหนึ่งคน เมื่อบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการตามวรรคสอง ให้บุคคลในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มเดียวกันนั้นตามมาตรา 9 (5) ซึ่งได้รับคะแนนในลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาเป็นกรรมการแทนตำแหน่งประธานที่ได้รับการเลือก แล้วแจ้งผลให้ประธานกรรมการสรรหาทราบ เพื่อเสนอรายชื่อต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการให้ประกาศรายชื่อกรรมการในราชกิจจานุเบกษา

***อำนาจหน้าที่องค์การอิสระ

ตาม มาตรา ๑๖ คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีอำนาจหน้าที่ กำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ให้ความเห็นต่อ โครงการ หรือกิจกรรม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ รวมทั้งนโยบายหรือแผนซึ่งเป็นที่มาของโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว

นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่ดำเนินการหรือสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการให้ความเห็นขององค์การอิสระ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การเอกชน องค์กรประชาชนหรือองค์การอื่นในด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ส่วน มาตรา 17 การกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมตามมาตรา 16 (1) ให้คณะกรรมการพิจารณาทบทวนรายการประเภทโครงการหรือกิจกรรมทุกรอบสามปี

***และให้บุคคล หน่วยงานของรัฐ องค์การเอกชน องค์กรชุมชน หรือองค์กรประชาชนมีสิทธิเสนอโครงการหรือกิจกรรม เพื่อให้คณะกรรมการประกาศกำหนดเป็นประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่ผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง หรือให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กรรมการประกาศกำหนด

***กำหนดให้ความเห็นก่อนเสนอครม.

มาตรา 21 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนจะริเริ่มดำเนินโครงการหรือกิจกรรมตามมาตรา 16 (1) หรือมาตรา 17 วรรคสอง ให้หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการหรือกิจกรรมให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้รายละเอียดของข้อมูลเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

เมื่อคณะกรรมการได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการหรือกิจกรรมตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน และถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว คณะกรรมการยังมิได้จัดส่งความเห็นกลับคืน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการในขั้นตอนต่อไปตามที่เห็นสมควรได้

เมื่อคณะกรรมการได้จัดส่งความเห็นมาให้คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐนำความเห็นดังกล่าว ประกอบการพิจารณาในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมตามมาตรา 16 (1) หรือมาตรา 17 วรรคสอง เพื่อให้ประชาชนดำรงชีพอย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิต

มาตรา ๒๒ ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนจะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมตามมาตรา 16 (1) ให้คณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว เพื่อให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการดังกล่าว

****มาตรา 23 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนเจ้าของโครงการหรือกิจกรรมตามมาตรา 16(1) จะต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนเจ้าของโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว ส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้คณะกรรมการตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ การกำหนดขอบเขตการศึกษา และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้คณะกรรมการพิจารณา เพื่อให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก่อนการให้ความเห็นชอบกับรายงานดังกล่าว ทั้งนี้รายละเอียดของข้อมูลดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

เมื่อคณะกรรมการได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว คณะกรรมการยังมิได้จัดส่งความเห็นกลับคืน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการในขั้นตอนต่อไปตามที่เห็นสมควรได้

มาตรา 24 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาตให้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมตามมาตรา 16(1) หรือมาตรา 17 วรรคสอง ให้หน่วยงานของรัฐผู้มีอำนาจส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นต่อหน่วยงานของรัฐก่อนการอนุมัติ อนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าว

เมื่อคณะกรรมการได้รับเรื่องตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นภายในหกสิบวัน และถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว คณะกรรมการยังมิได้จัดส่งความเห็นกลับคืน ให้หน่วยงานผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาตโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการในขั้นตอนต่อไปตามที่เห็นสมควรได้

****มาตรา 25 ในการจัดทำรายงานความเห็นเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมใด ให้คณะกรรมการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานดังกล่าว ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

***มาตรา 26 ให้คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 21 มาตรา 23 และมาตรา 24 จัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐในเรื่องที่คณะกรรมการให้ความเห็น เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ และเปิดเผยเหตุผลให้สาธารณชนทราบด้วย

สำหรับ หมวด 3 ว่าด้วย สำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น

ให้สำนักงานมีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ โดยมีประธานกรรมการเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด

ในการกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่ง ระเบียบ หรือประกาศเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการการบริหารทั่วไป บริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน การจัดตั้งสำนักงานและการดำเนินการอื่นของสำนักงานคณะกรรมการ

*** ร่างกม.ฉบับนี้ ในหมวดที่ 4 บทกำหนดโทษ ระบุไว้ใน มาตรา 39 ว่า ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งวัตถุ เอกสารหรือพยานหลักฐานที่ถูกเรียกหรือถูกสั่งให้ส่งตามมาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล มาตรา 40 ในวาระเริ่มแรกให้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วย

ผู้แทนสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จำนวนหนึ่งคน, ผู้แทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน จำนวนหนึ่งคน, ผู้แทนเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย จำนวนหนึ่งคน, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จำนวนหนึ่งคน, ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข จำนวนหนึ่งคน, ผู้แทนกระทรวงทรัพยากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวนหนึ่งคน

ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวนหนึ่งคน, ผู้แทนสำนักงานสภาทีปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวนหนึ่งคน, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา จำนวนหนึ่งคน และผู้แทนสมาคมสถาบันอุดมศึกษาสิ่งแวดล้อมไทย จำนวนหนึ่งคน

มาตรา 41 ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้มีการแต่งตั้งกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามมาตรา 5

มาตรา 42ในวาระเริ่มแรก ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดให้มีสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และให้มอบหมายข้าราชการผู้หนึ่งทำหน้าที่เลขาธิการสำนักงาน จนกว่าจะมีการจัดตั้งสำนักงาน แต่ให้แยกเป็นส่วนของสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไว้โดยเฉพาะ

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้จัดสรรงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเท่าที่จำเป็นสำหรับการบริหารงาน โดยให้จัดสรรไว้ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

มาตรา 43 ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อเป็นหน่วยงานของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 44 ภายในหกสิบวันนับแต่คณะกรรมการได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามมาตรา 16 (1)

โครงการหรือกิจกรรมตามวรรคหนึ่งให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ นับแต่ประกาศมีผลใช้บังคับ

////////////

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๖๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ บัญญัติให้มีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือสุขภาพทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้ดำรงอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตประชาชน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
กำลังโหลดความคิดเห็น