รัฐบาลเตรียมแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อม หวังผ่าทางตันปัญหามาบตาพุด มั่นใจต่างชาติเข้าใจดี เพราะไม่กระทบจุดยืนหลักโครงสร้างการลงทุน เตรียมนำเข้าที่ประชุม ครม.ก่อนเสนอสภาฯ คาดปลายเดือน ต.ค.-พ.ย.ได้ข้อสรุปชัดเจน พร้อมสั่ง 3 กระทรวง ดูแลนิคมอุตฯ ทั่วประเทศ ด้าน กนอ.ส่งหนังสือแจง ผู้ประกอบการ 62 ราย อย่างเป็นทางการแล้ว เตรียมกำหนดวิธีปฎิบัติของผู้ประกอบการให้ถูกต้องเคร่งครัด ขณะที่ ปตท.ชี้ ความเป็นได้ 3 แนวทาง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทย กับนายกฯ อภิสิทธิ์” โดยกล่าวถึงกรณีศาลปกครองกลางสั่งระงับ 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยยอมรับว่า ตนเองรู้สึกเห็นใจทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ ขณะที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาเป็นเวลานาน และหากมีการขยายการลงทุนเพิ่มเติมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบต้องหยุดชะงักการลงทุน จนกระทบต่อการจ้างงาน และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ได้ขายวัตถุดิบและชิ้นส่วน
ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามหาความพอดีให้กับทุกฝ่าย เพื่อดำเนินการตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2550 จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดการวางกติกาดำเนินโครงการลงทุนที่เข้าข่ายมาตรา 67 วรรค 2 โดยจะแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม หากโครงการใดมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ต้องมีรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และเปิดโอกาสให้องค์กรอิสระ ซึ่งประกอบด้วยองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม นักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษามาให้ความเห็นก่อนที่จะดำเนินการ โดยจะนำร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไปภายในปลายเดือนตุลาคมนี้หรือต้นเดือนพฤศจิกายน
ทั้งนี้ เพื่อให้มีกติกาชัดเจนและการดำเนินการต่างๆ อย่างชัดเจน เพราะเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ไม่ได้กำหนดว่า ต้องมีกฎหมายเพิ่มเติม ดังนั้น ระหว่างนี้จะอาศัยกฎหมายที่มีอยู่ไปออกระเบียบ ให้สอดคล้องกับสาระกฎหมายใหม่ที่มีการแก้ไข ขณะเดียวกัน ต้องทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างขาติให้นักลงทุนเข้าใจว่า เรื่องการใช้อำนาจศาลเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับและเคารพ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วและมาลงทุนในประเทศไทยต่างเข้าใจ และกระบวนการที่ต้องทำตามมาตรา 67 วรรค 2 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากการปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากปัญหาภายในนิคมอุตสาหกรรมมาตาพุดแล้ว ในจังหวัดอื่นหลายแห่งที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่จำนวนมาก ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น ที่ จ.สระบุรี จึงสั่งการให้ 3 กระทรวงหลักที่มีส่วนในการับผิดชอบดูแล เข้าไปตรวจสอบดูผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ว่าการประกอบกิจการได้ส่งผลให้ชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วยอย่างไรบ้าง หรือทำให้ชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง โดยกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปสำรวจข้อมูลและแนวทางป้องกันแก้ปัญหาผลกระทบต่อประชาชน ให้รับทราบ
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่วว่า เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา ตนเองได้ส่งหนังสือเวียนไปยัง ผู้ประกอบการ ในนิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด จ.ระยอง จำนวน 62 ราย ที่อยู่ในรายชื่อตามที่ศาลปกครอง สั่งให้ระงับการดำเนินกิจการ จำนวน 76 โครงการ ซึ่งเป็นการชี้แจงให้ทราบอย่างเป็นทางการไปยังภาคเอกชนถึงคำวินิจฉัยของศาล โดยในหนังสือ ระบุว่า ในระหว่างนี้ทางหน่วยงานรัฐ ได้ยื่นเรื่องขออุทธรณ์คำสั่งศาลไปแล้ว ขณะเดียวกันได้หารือข้อกฎหมายกับอัยการ เพื่อจะกำหนดวิธีปฏิบัติของผู้ประกอบการให้ถูกต้องต่อไป
ขณะเดียวกัน นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์ และการกลั่น ในฐานะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนยังคงดำเนินการไปตามปกติ เพราะยังไม่มีการสั่งการจากภาครัฐโดยตรง ซึ่งไม่ใช่การกระทำที่ฝืนคำสั่งศาล แต่หน่วยงานรัฐที่ถูกฟ้องร้อง ยังไม่ได้ระบุอะไรให้ชัดเจน
โดยในส่วนกรณีจะมีการยื่นอุทธรณ์เป็นรายบริษัทไปยังศาลปกครองหรือไม่นั้น ยังอยู่ระหว่างการหารือ ซึ่งอาจจะรวมกลุ่มผู้ประกอบการที่มีธุรกิจเดียวกันไปยื่นอุทธรณ์ก็ได้