อีกครั้งหนึ่ง ที่สังคมไทยต้องหันมาพึ่งพาบารมีของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนากรัฐมนตรี ให้ช่วยเป็น “ คนกลาง” แก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มาบตาพุด
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งต่อที่ประชุม ครม. ว่า ได้ทาบทามให้นายอานันท์ เป็นประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาคประชาชน นักวิชาการ เอกชน และภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
คณะกรรมการ 4 ฝ่าย มีอำนาจหน้าที่ ตรวจสอบการดำเนินการโครงการทั้ง 76 โครงการ ที่ศาลปกครองสั่งระงับว่าโครงการใดส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือไม่ หากโครงการใดไม่มีผลกระทบก็สามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้ , ตรวจสอบโครงการทั้งหมดในเขตนิคมมาบตาพุดว่ามีโครงการใดที่ก่อปัญหามลพิษหรือไม่ , จัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
คนที่เสนอชื่อนายอานันนท์ ก็คือ นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก แกนนำในการเคลื่อนไหว กรณีมาบตาพุด ซึ่งได้รับการตอบรับจากนายอานันท์ และนายอภิสิทธิ์ก็เห็นชอบด้วย
ก่อนหน้านี้ ในปี 2548 นายอานันท์ ได้รับการทาบทามจากรัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ให้เป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ( กอส) เพื่อศึกษาหาสาเหตุของปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเสนอนโยบาย มาตรการในการแก้ไข น่าเสียดายที่ผลงานของ กอส. ซึ่งหมดอายุลงเมื่อเดือนมีนาคม 2549 ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลอีกเลย
การเลือกให้นายอานันท์มาทำหน้าที่ คนกลางในเรื่องนิคมอุตสาหกรรมาบตาพุด ถือว่า มีความเหมาะสมที่สุด เพราะนอกเหนือจาก การเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายแล้ว นายอานันท์ ยังเข้าใจในจุดยืน และความต้องการของ ภาคเอกชน และภาครัฐ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหลักในกรณีนี้
แม้ว่า นายอานันท์ โดยประสบการณ์แล้ว จะมาจากภาคธุรกิจ โดยเป็นประธาน และกรรมการธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง แต่ก็มีประสบการณ์ในภาคประชาสังคม มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำในภาคประชาชน มีความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในเรื่องของธุรกิจและสิ่งแวดล้อม นายอานันท์ เคยแสดงทัศนะเอาไว้ใน ปาถกฐานเรื่อง "ห่วงใยสังคมและสิ่งแวดล้อม…ภาพลักษณ์ใหม่ของธุรกิจไทย" เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2539 โดยกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“ การพัฒนาเพื่อคงไว้ซึ่งสมดุลของคุณภาพสิ่งแวดล้อม การเติบโตด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นมิอาจเกิดขึ้นได้เลย หากไม่มีการจัดระบบสัมพันธภาพของอำนาจ ความรู้และฐานทรัพยากรอย่างเหมาะสมระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อให้การวางรากฐานการพัฒนามีดุลยภาพ เสมอภาคและยั่งยืนได้ระยะยาว
ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศในกรอบของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะที่ผมเองก็อยู่ในภาคธุรกิจ จากทักษะ ประสบการณ์และการปรับตัวเรียนรู้ ทำให้ภาคธุรกิจไทยสามารถพัฒนาตนเองให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง ผมเชื่อในศักยภาพของผู้ประกอบการที่จะแสดงบทบาทนำและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
จากกระแสของการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมโลก ปัจจุบันกระแสของการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความคิดที่เน้นผลกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินธุรกิจได้เริ่มอ่อนแรงลง ระบบเศรษฐกิจที่ยึดถือความคิดนี้เป็นความคิดหลัก จะทำให้ธุรกิจแสวงหากำไรโดยละเลยต่อศีลธรรม จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในทางกลับกัน กระแสที่เริ่มชัดเจนและทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ แนวความคิดที่ว่าผลสำเร็จทางธุรกิจนั้นไม่สามารถวัดจากเพียงผลประกอบการ หากองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้นจะต้องสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของสังคมที่มีต่อองค์กรด้วย เนื่องจากธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบนั้นก็ไม่สามารถอยู่ได้ หากได้รับการต่อต้านจากชุมชนและสังคมซึ่งเป็นผู้บริโภค ดังนั้น "ความรับผิดชอบต่อสังคม" จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นที่ภาคธุรกิจต้องใส่ใจและพัฒนาธุรกิจของตนเองบนพื้นฐานของความรับผิดชอบ เพื่อให้ธุรกิจและสังคมสามารถพัฒนาเติบโต”
กรณีที่ศาลปกครองกลางสั่งระงับ 76 โครงการที่ระยองนี้ ทั้งผู้ลงทุน และประชาชนที่ยื่นคัดค้านโครงการ ไม่มีใครผิด เพราะต่างฝ่ายต่างดำเนินการไปตามบทบาทหน้าที่ และสิทธิของตัวเอง
การลงทุน ของภาคเอกชนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอื่นๆ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกนั้น ต้องยอมรับว่า มีบทบาทสำคัญอย่างสูงในการทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นมาได้ ในช่วง20 ปีที่ผ่านมา การลงทุนของทั้ง 76 โครงการ ซึ่งมีทั้งการลงทุนใหม่ และการลงทุนเพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการปิโตรเคมี ที่ต้องตั้งอยู่ทีมาบตาพุด และนิคมฯอื่นๆที่ใกล้เคียง ก็เพราะว่า ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบคือ แก๊สธรรมชาติ และมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ทางรถไฟ ท่าเรือ รองรับอยู่แล้ว
แต่สิทธิของชุมชน ที่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเคารพ เพราะอีกด้านหนึงของการพัฒนาอุตสาหกรรมคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มลพิษที่กระทบต่อชุมชน ซึ่งไม่อาจวัดเป็นตัวเลขได้ แต่มีค่าสูงยิ่ง เพราะเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต
ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะร้องขอความคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้วางกติกาเอาไว้ ใน มาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า
“การดำ เนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”
ที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายผู้ลงทุน และภาคประชาชน ต่างมองจากมุมของตัวเอง รัฐในฐานะที่เป็นคนกลาง แต่กลับไม่ได้ทำหน้าที่ จนภาคประชาชนต้องพึ่งอำนาจศาลปกครอง ซึ่งต้องยอมรับว่า คำสั่งระงับการลงทุนทั้ง 76 โครงการนั้น มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอยู่มาก
การทำหน้าที่ประธานคณกรรมการ 4 ฝ่ายของนายอานันท์ จึงเป็นความหวังว่า จะผ่าทางตัน ประสานผลประโยชน์ของภาคธุรกิจและสิทธิของชุมชนได้อย่างลงตัว ทำให้โครงการลงทุนในมาบตาพุดเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน