ASTVผู้จัดการออนไลน์ – ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีทุจริตคลองด่าน 1 ต.ค. นี้ สั่งให้ทนายฝ่ายโจทก์และจำเลยยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีภายใน 2 เดือนนับจากศาลมีคำสั่ง “วัฒนา” ล่องหนไม่มาตามนัดสืบพยานฝ่ายจำเลยปากสุดท้ายวันนี้ (18 มิ.ย.) แต่ส่งเอกสารขอให้ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบ อ้างรับโทษจากคดีอาญานักการเมืองหนักกว่าอยู่แล้ว
คดีประวัติศาสตร์ที่ฝ่ายรัฐว่าจ้างทนายเอกชนเป็นผู้ฟ้องคดีเป็นคดีแรกของประเทศ โดยกรมควบคุมมลพิษ ฟ้องกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ข้อหาฉ้อโกงสัญญาและฉ้อโกงที่ดิน เรียกค่าเสียหาย 2 .2 หมื่นล้านบาท โดยยื่นฟ้องต่อศาลแขวงดุสิต เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2547 ตามคดีหมายเลขดำที่ 254/2547 การพิจารณาคดีของศาลได้สิ้นสุดลงแล้ว
เมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่ศาลแขวงดุสิต ศาลได้มีคำสั่งให้ทนายฝ่ายโจทก์และทนายฝ่ายจำเลย ยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาลภายใน 2 เดือนนับจากนี้ และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 ต.ค. 52 เหตุมีพยานบุคคลและเอกสารจำนวนมาก
นายสุประวัติ ใจสมุทร ประธานบริษัทสุประวัติอินเตอร์เนชั่นแนล คอนซัลแตนท์ จำกัด หัวหน้าทีมทนายโจทก์ เปิดเผยว่า วันนี้ศาลได้ให้โอกาสพยานฝ่ายจำเลยปากสุดท้าย คือ นายวัฒนา อัศวเหม จำเลยที่ 19 มาชี้แจงต่อศาลเป็นครั้งสุดท้าย แต่นายวัฒนา ไม่มาศาลโดยได้ส่งเอกสารต่อศาลแจ้งว่าไม่ประสงค์จะสืบพยาน และขอให้ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบ
ทั้งนี้ จำเลยที่ 19 อ้างว่าถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 10 ปีจากคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องและศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาว่า นายวัฒนาใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ออกโฉนดที่ดินพิพาทแก่นายวัฒนาในนามบริษัทปาล์มบีช ดิเวลลอปเม้นท์ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
“ขึ้นอยู่กับศาลจะชี้ในคำพิพากษาว่าคดีฉ้อโกงที่ดินเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีศาลฎีกาฯ หรือเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งตนในฐานะทนายโจทก์จะทำคำคัดค้านในคำแถลงการณ์ปิดคดี” นายสุประวัติ กล่าว
สำหรับคดีฉ้อโกง กำหนดระวางโทษจำคุก 3 ปี
หัวหน้าทีมทนายฝ่ายโจทก์ กล่าวต่อว่า กรมควบคุมมลพิษโดยนายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ (รักษาการอธิบดีในขณะนั้น) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ที่ 1 กับพวกรวม 19 คน เป็นจำเลยต่อศาลแขวงดุสิตในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 254/2547 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงใน 2 ส่วน คือ
1) ฉ้อโกงสัญญาก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โดยปกปิดข้อความจริงว่าบริษัทผู้ชำนาญการบำบัดน้ำเสียของประเทศอังกฤษ คือ บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ว่ายังร่วมอยู่ในกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ทั้งที่รู้ดีว่า บริษัทดังกล่าวได้ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจก่อนวันทำสัญญา จึงเป็นเหตุให้ ดร.ประกิต กิระวานิช (อธิบดีกรมควบคุมมลพิษขณะนั้น) หลงเชื่อยอมเข้าทำสัญญาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 มูลค่าสัญญาประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการปกปิดข้อความจริงทำให้เกิดการเซ็นสัญญาขึ้น เป็นการหลอกทำนิติกรรม
2) ฉ้อโกงที่ดินที่ตั้งโครงการคลองด่าน จำเลยโดยมีนายวัฒนา อัศวเหม เป็นตัวการผู้รวบรวมที่ดินจากชาวบ้าน ต.คลองด่าน ร่วมกับกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการและบริษัทที่เกี่ยวโยงกัน เช่น บริษัทปาล์มบีชดีเวลลอปเม้น จก. , บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอร์รี่ กรรมการบริษัทในกลุ่มรู้ดีว่าที่ดินที่ไปรวบรวมกว้านซื้อเป็นที่ดินสงวนหวงห้ามสำหรับเทขยะของราชการ ซึ่งมีสภาพเป็นที่ดินสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน
เมื่อกว้านซื้อเสร็จก็นำไปออกโฉนด โดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ที่ดิน, เจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของนายวัฒนา อัศวเหม ส.ส.จ.สมุทรปราการ และรมช.มหาดไทย ในขณะเกิดเหตุ แล้วนำโฉนดไปขายให้กับกรมควบคุมมลพิษ รวมเนื้อที่ประมาณ 1,903 ไร่ มูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาท โดยปกปิดที่มาของที่ดิน
“คดีในส่วนฉ้อโกงที่ดินมีน้ำหนักมากเพราะข้อเท็จจริงที่ดินจะเปลี่ยนสภาพโดยปริยายไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยรู้ว่าที่ดินเป็นที่สาธารณประโยชน์ ไม่มีกฎหมายใดออกมาเพิกถอนสภาพ คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ที่ตัดสินคดีเกี่ยวกับที่ดิน ใช้เป็นบรรทัดฐานได้ และอยู่ในเอกสารหลักฐานที่ส่งให้ต่อศาลแล้ว” นายสุประวัติ กล่าว
อนึ่ง ตามคำฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ระบุความผิดของจำเลย แยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือจำเลยที่ 1-19 กระทำผิดฐานฉ้อโกงที่ดินออกโฉนดที่ดินทับคลองและถนนสาธารณะ และในส่วนที่สอง จำเลยที่ 1-11 ฐานร่วมกันฉ้อโกงกรมควบคุมมลพิษโดยแอบอ้างว่าการเข้าดำเนินการก่อสร้างดังกล่าว พวกจำเลยจะนำบริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ เอ็นดับเบิ้ลยูดับเบิ้ลยูไอ ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิควิศวกรรมการจัดการน้ำเสีย เข้าร่วมดำเนินงานกับพวกจำเลยด้วย กระทั่งทำให้โจทก์หลงเชื่อ อนุมัติให้เป็นผู้ชนะการประกวดราคา และนัดลงนามในสัญญาว่าจ้างกันในวันที่ 20 สิงหาคม 2540
สำหรับรายชื่อจำเลยที่ 1 ถึง ที่ 19 ประกอบด้วย 1) กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี อยู่บ้านเลขที่ 2044 อาคารชวนะนันท์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. 2) บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด อยู่บ้านเลขที่ 2044 อาคารชวนะนันท์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. 3) นายพิษณุ ชวนะนันท์ อยู่บ้านเลขที่ 2044 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. 4) บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด อยู่บ้านเลขที่ 222 หมู่ที่ 4 ถนนเพชรเกษม แขวงบางแค เขตบางแค กทม.
5) นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ อยู่บ้านเลขที่ 222/2 หมู่ที่ 1 แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กทม. 6) บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด อยู่บ้านเลขที่ 56/7 หมู่ที่ 5 ถนนแจ้งวัฒนะ ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 7) นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล อยู่บ้านเลขที่ 56/7 หมู่ที่ 5 ถนนแจ้งวัฒนะ ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 8) บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด อยู่บ้านเลขที่ 391 ถนนสิรินธร แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กทม. 9) นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล อยู่บ้านเลขที่ 174/2 ซอยริมคลองชักพระ แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กทม.
10) บริษัท เกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด อยู่บ้านเลขที่ 99/1 ถนนหลังสวน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม.11) นายรอยอิศราพร ชุตาภา (ในฐานะกรรมการผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 10 และในฐานะกรรมการผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 16 และในฐานะส่วนตัว) อยู่บ้านเลขที่ 27 ตรอกศิลป์ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กทม. 12) บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด อยู่บ้านเลขที่ 23 ห้อง 216 ชั้นที่ 2 อาคารเซ็นทรัลเพลส ซอยรามคำแหง 22 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม. 13) นายชาลี ชุตาภา อยู่บ้านเลขที่ 99/1 ซอยหลังสวน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม.
14) นายประพาส ตีระสงกรานต์ อยู่บ้านเลขที่ 88/245 ถนนเชื้อเพลิง แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม. 15) นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ อยู่บ้านเลขที่ 700/279 ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กทม. 16) บริษัทปาล์ม บีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด อยู่บ้านเลขที่ 99/1 ถนนหลังสวน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. 17) นางบุญศรี ปิ่นขยัน อยู่บ้านเลขที่ 57 ซอยสุขุมวิท 59 (บุญชนะ) แขวงคลองต้นเหนือ เขตวัฒนา กทม. 18) นายกว๊อกวา โอเยง อยู่บ้านเลขที่ 99/1 ถนนหลังสวน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. 19) นายวัฒนา อัศวเหม อยู่บ้านเลขที่ 14,16 ถนนยืนยง ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
//////////////
ศาลฎีกาฯ จำคุกวัฒนา 10 ปี
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2551 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดย ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ผู้พิพากษาอาวุโส เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะ 9 คน ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับคลองสาธารณประโยชน์และที่เทขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้าม นำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ เพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยการอ่านคำพิพากษาครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง
ศาลมีมติ 8 ต่อ 1 เห็นว่า จำเลยใช้อำนาจข่มขืนใจหรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ในนามบริษัท ปาล์มบีช ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี และริบพระเครื่องผงสุพรรณเลี่ยมทองของกลาง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำเลยหลบหนีไม่มาปรากฏตัวต่อศาล ศาลได้สั่งออกหมายจับจำเลย เพื่อมารับโทษตามคำพิพากษาต่อไป ภายในอายุความ 15 ปี นับตั้งแต่วันที่จำเลยหลบหนี