xs
xsm
sm
md
lg

ตำนานโคตรโกง 2.3 หมื่นล้าน ทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน วิบากกรรม“สุวัจน์”ในมือ ป.ป.ช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ
เดือนมิถุนายน 2553 คดีสำคัญซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็นตำนานโคตรโกงของเมืองไทย จะหมดอายุความ “คดีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน” มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดมาตั้งแต่ปี 2538

จะมีอายุความครบ 15 ปี ที่ทางการจะสามารถดำเนินคดีกับ ขบวนการที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับแผ่นดิน

ซึ่งยังมี “ตัวการ” สำคัญที่ลอยนวลอยู่โดยยังไม่ถูกดำเนินคดี แม้จะมี“อดีตรัฐมนตรี” ผู้เกี่ยวข้องกับปมทุจริตเสียชีวิต 1 คน และหนีคุกออกนอกประเทศไป 1 คน ก็ตามที

แต่...การติดตามเพื่อจับผู้ร่วมขบวนการที่เหลือยังคงค้างคาอยู่ในมือของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ซึ่งมีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบอร์ดมือปราบข้าราชการระดับสูง และนักการเมืองทุจริต ที่น่าเชื่อถือที่สุดชุดหนึ่งนับตั้งแต่มี ป.ป.ช.

ทว่า ... ผลการพิจารณาบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน กลับเงียบหาย และรอวันหมดอายุความอย่างสุ่มเสี่ยงว่า กรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบอาจจะต้องตอบคำถามถึงการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ !!

... ย้อนรอยกลับไปเมื่อปี 2538 ...

โครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียรวมแห่งแรกของประเทศไทย ริเริ่มโดย นายยิ่งพันธุ์ มนะสิการ อดีตรัฐมนตรีว่าการผู้ล่วงลับเป็นผู้ลงนามสัญญารับเหมาก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน 1,900 ไร่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยมี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีต รมช.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชงโครงการมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาทดังกล่าวให้ และ “เจ้าพ่อปากน้ำ” นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ขณะนั้น ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่กำกับกรมที่ดิน ออกโฉนดทับที่สาธารณะเพื่อนำที่ดินขายทำโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย

ในปี 2546 “รัฐบาลทักษิณ 1” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ขณะนั้นเป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตขึ้นมา โดยมอบให้ พล.ต.ท.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขณะนั้น เป็นหัวหน้าชุดสอบสวนพบว่า คดีนี้มีมูลจึงมอบให้ นายอภิชัย ชวเจริญพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ขณะนั้นดำเนินการ ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ไปเมื่อวันที่ 18 มี.ค.46 ต่อมาวันที่ 4 พ.ย.46 พนักงานสอบสวนกองปราบปราม สรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้ป.ป.ช. ดำเนินคดี

และเมื่อวันที่ 12 มี.ค.47 นายประพัฒน์ ตอกตะปูปิดฝาโลง ดับอนาคตนักการเมืองทั้ง 3 คน ซึ่งเป็นคีย์แมนการเมืองพัวพันข้อกล่าวหาทุจริตด้วยการสั่งให้อธิบดีกรมควบคุมมลพิษไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อป.ป.ช. อีกทางหนึ่ง แต่ระหว่างการไต่สวนของป.ป.ช. นายยิ่งพันธ์ ป่วยและเสียชีวิตลง ทิ้งให้นายสุวัจน์ และนายวัฒนา เผชิญชะตากรรมแก้ข้อกล่าวหา ต่อมาป.ป.ช. กลับสรุปเสนออัยการสูงสุดส่งฟ้องนายวัฒนา ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงลำพัง !!

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 ส.ค.51 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมี ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ อดีตรองประธานศาลฎีกาเป็นเจ้าของสำนวนพิพากษาลงโทษจำคุกนายวัฒนา อัศวเหม เป็นเวลา 10 ปี และปัจจุบันเป็นที่ทราบว่า นายวัฒนา หลบหนีโดยมีกระแสข่าวว่าเจ้าพ่อปากน้ำซุกซ่อนอยู่ในกาสิโนส่วนตัวในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกำลังมีข้อพิพาทด้านเขตแดนกับประเทศไทย

ขณะที่เมื่อวันที่ 1 ต.ค.52 ศาลจังหวัดดุสิต ต้องออกหมายจับนายวัฒนา เพราะหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาคดีที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 1. กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี 2.บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง 3.นายพิษณุ ชวนะนันท์ กรรมการบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง 4.บริษัทประยูรวิศว์การช่าง 5.นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริษัทประยูรวิศว์การช่าง 6.บริษัทสี่แสงการโยธา(1979) 7.นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการบริษัทสี่แสงการโยธา 8.บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ 9.นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กรรมการบริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ 10.บริษัทเกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ 11.นายรอยอิศราพร ชุตาภา กรรมการบริษัทเกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ 12. บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ 13. นายชาลี ชุตาภา กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ 14.นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ 15.นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ 16.บริษัท ปาล์ม บีช ดิเวลลอปเมนท์ 17.นางบุญศรี ปิ่นขยัน กรรมการบริษัท ปาล์ม บีชฯ 18.นายกว๊อกวา โอเยง สัญชาติฮ่องกง ในฐานะผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ และ 19.นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรมช.มหาดไทย เป็นจำเลยที่ 1-19 ในความผิดฐานฉ้อโกงที่ดิน และฉ้อโกง กรณีร่วมกันทุจริตจัดซื้อที่ดิน อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นคลอง ถนนสาธารณะ และป่าชายเลน ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

ปมที่ยังค้างคาก็คือ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากการสอบสวนของดีเอสไอ และ ป.ป.ช. มีการชี้มูลถึงนายสุวัจน์ ว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เฉกเช่นเดียวกับนายวัฒนา และนายยิ่งพันธ์ เพราะนายสุวัจน์ เป็นผู้ลงนามในการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 38 เพื่อให้กรมควบคุมมลพิษ ตกลงกับสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ในการจัดทำรายละเอียดแผนการใช้เงิน และสัดส่วนของแหล่งเงินจากต่างประเทศ และนายสุวัจน์ ยังเป็นผู้นำโครงการเข้าที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.38 เพื่อให้อนุมัติงบประมาณโครงการ โดยให้ทำสัญญาการว่าจ้างเป็นแบบเหมารวม ที่ผู้ประกวดราคาต้องทำการซื้อที่ดินสำหรับก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย

และนายวัฒนา ก็เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการจัดหาที่ดินคลองด่านขาย ซึ่งจุดนี้ทำให้นายวัฒนา ถูกศาลพิพากษาโทษจำคุก 10 ปี เพราะเป็นเจ้าพนักงานใช้ตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจ หรือจูงใจเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมที่ดินมอบให้ หรือหามาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นแก่ตนเอง หรือผู้อื่น และใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดต่อกฎหมายโดยทุจริต

แต่จนบัดนี้ผลการชี้มูลความผิดนายสุวัจน์ ซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวพันเป็นผู้ชงโครงการ และตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ ป.ป.ช.ยังไม่ยุติมีความเห็นสั่งคดี !!

กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันซึ่งดูแลคดีคลองด่านก็คือ นายวิชัย วิวิตเสวี จะมีความเห็นลงมติผลการสอบสวนคดีนี้อย่างไร เพราะนับจากนี้ไปจนถึงเดือนมิ.ย.53 จะเป็นวันสิ้นสุดอายุความ 15 ปี ตามที่ว่ามาข้างต้น

นายวิชัย จะมีมติชี้มูลกับผู้ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ชงโครงการ ซึ่งก่อให้เกิดการทุจริตมโหฬาร...หรือไม่ !!

หรือจะปล่อยให้ตำนานคดีโคตรโกงปิดลงด้วยความตายของอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่ง กับรัฐมนตรีอีกคนที่ตายทั้งเป็น แม้จะหลบหนีไปนอนบนฟูก เสพสุขสบายโดยไม่อาจเข้าไปคว้าตัวเพื่อมาเข้าปิ้งรับโทษทัณฑ์จริง โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ลอยนวลอยู่สามารถโลดแล่นเป็น “คีย์แมน” การเมืองควบคุมพรรคนอมินี ต่อไปเพราะคดีขาดอายุความ โดยที่เจ้าตัวไม่เคยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ แต่ได้รับประโยชน์จากการสอบสวนล่าช้าของป.ป.ช.อย่างนั้นหรือ

วิชัย วิวิตเสวี ป.ป.ช. เจ้าของสำนวน"โคตรโกงคลองด่าน" ต้องมีคำตอบก่อน มิ.ย.53 มาถึง

กำลังโหลดความคิดเห็น