xs
xsm
sm
md
lg

คุก3ปีวัฒนาโกงคลองด่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ศาลแขวงดุสิตพิพากษาคดีฉ้อโกงที่ดิน-ฉ้อโกงสัญญาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน สั่งจำคุก 3 ปีไม่รอลงอาญาผู้บริหารบิ๊กรับเหมาก่อสร้าง วิจิตรภัณฑ์-สี่แสงการโยธา-ประยูรวิศว์ - กรุงธนเอ็นจิเนียริ่ง “สังวรณ์ ลิปตพัลลภ” พี่ชายสุวัจน์ไม่รอด “วัฒนา อัศวเหม” เจอคุกอีก ทนายชี้ส่งผลถึงคดีอนุญาโตฯ เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหาย 6 พันล้าน และคดีทุจริตสัญญาโครงการที่ป.ป.ช.ดองเค็มใกล้ขาดอายุความ

วานนี้ (12 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลแขวงดุสิต ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ตามคดีหมายเลขดำที่ 254/2547 ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกลุ่มเอกชนรับเหมาก่อสร้างพร้อมจัดหาที่ดินในโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ เป็นจำเลยที่ 1 – 19 ประกอบด้วย 1.กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี 2.บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง 3.นายพิษณุ ชวนะนันท์ กรรมการบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง 4.บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง 5.นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริษัท ประยูรวิศว์การช่าง 6.บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) 7.นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการบริษัท สี่แสงการโยธา 8.บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ 9.นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กรรมการบริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ 10.บริษัท เกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ 11.นายรอยอิศราพร ชุตาภา กรรมการบริษัท เกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ 12.บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ 13.นายชาลี ชุตาภา กรรมการบริษัท คลองด่านมารีนฯ 14.นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัท คลองด่านมารีนฯ 15.นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ กรรมการบริษัท คลองด่านมารีนฯ 16.บริษัท ปาล์ม บีช ดิเวลลอปเมนท์ 17.นางบุญศรี ปิ่นขยัน กรรมการบริษัท ปาล์ม บีชฯ 18.นายกว๊อกวา โอเยง สัญชาติฮ่องกง ในฐานะผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ และ 19.นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ฝ่ายโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานความผิดฉ้อโกงที่ดินและสัญญาโครงการ ทำให้โจทก์หลงเชื่อจ่ายเงินค่าจัดซื้อที่ดิน จำนวน1,956,600,000 บาท และ ค่าจ้าง ค่าแรง ค่าวัสดุอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้างในโครงการรวมเป็นเงิน 16,100,960,000 บาท และ 116,040,000 เหรียญสหรัฐฯ ถือเป็นความผิดต่อกฎหมายและบทมาตราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มาตรา 90 มาตรา 91 และมาตรา 83 โดยโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2547 ซึ่งในวันอ่านคำพิพากษานี้ นายวัฒนา อัศวเหม จำเลยที่ 19 ไม่มาศาล เนื่องจากอยู่ระหว่างหลบหนีคดีทุจริตที่ดินโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมือง พิพากษาจำคุก 10 ปี ไปก่อนหน้านี้

***โกงซื้อที่ดินหลวง-ปั่นราคา
ตามโจทก์ฟ้อง สรุปว่า ในระหว่างปี 2531-2533 จำเลยที่ 11 ที่ 16 ที่ 17 และที่ 19 ได้ร่วมทำการรวบรวมที่ดินหลายแปลง และขอออกโฉนดที่ดินโดยมีการนำหลักฐานที่มิชอบด้วยกฎหมายมาขอออกโฉนดที่ดินทับคลองและถนนสาธารณะ แล้วจำเลยที่ 16 นำที่ดินที่รวบรวมมาได้ดังกล่าว ขายให้กับจำเลยที่ 12 โดยไม่ได้มีการชำระเงิน เป็นการสมรู้กันเพื่อปั่นราคาที่ดินให้สูงขึ้น มีจำเลยที่ 11 เป็นคนเชื่อมโยง โดยจำเลยที่ 11 เป็นกรรมการผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 16 ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ขาย และจำเลยที่ 11 ยังเป็นผู้ถือหุ้นในจำเลยที่ 12 ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อด้วย โดยการจัดการดังกล่าวอยู่เบื้องหลังของจำเลยที่ 19
ต่อมา โจทก์ได้มีประกาศเชิญชวนผู้สนใจเสนอขายที่ดินสำหรับใช้ในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และปรากฏว่า จำเลยที่ 12 ผ่านการคัดเลือกตามประกาศของโจทก์ หลังจากผ่านการคัดเลือกประมาณ 2 เดือนเศษ จำเลยที่ 12 ได้เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ซึ่งร่วมกันจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญใช้ชื่อว่า กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี โดยสมรู้กัน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2539 โดยจำเลยที่ 18 ลงชื่อกระทำการแทนทั้งจำเลยที่ 12 ในฝ่ายผู้ขาย และยังลงชื่อกระทำการแทนจำเลยที่ 10 ในฝ่ายผู้ซื้อด้วย
หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 ได้รับการอนุมัติจัดจ้างจากโจทก์เป็นผู้ดำเนินโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2540 โดยจำเลยที่ 1 ได้เสนอต่อโจทก์ว่าจะจัดหาที่ดินเพื่อนำมาใช้เป็นที่ตั้งของโครงการดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 -11 ฉ้อโกงโจทก์ โดยนำที่ดินของจำเลยที่ 12 มาเสนอขายแก่โจทก์ โดยมีเงื่อนไขขอให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลยที่ 12 เลย โดยไม่ต้องผ่านการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นของจำเลยที่ 1 ก่อน
การกระทำของจำเลยที่ 1-19 เป็นการฉ้อโกงโจทก์ โดยร่วมกันหลอกลวงและปกปิดว่าโฉนดที่ดิน 17 แปลง ที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 12 เป็นโฉนดที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีเนื้อที่ตามจำนวนที่ระบุในโฉนด โดยไม่มีเนื้อที่ซึ่งเป็นคลองหรือถนนสาธารณะหรือที่ชายตลิ่ง แต่ความจริงแล้ว ที่ดินดังกล่าว มีอยู่ 5 แปลงที่มีเนื้อที่ไม่ครบตามจำนวนที่ระบุในโฉนด เนื่องจากมีเนื้อที่บางส่วนเป็นคลอง ถนนสาธารณะ หรือที่ชายตลิ่ง และมีการออกโฉนดโดยมิชอบ เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อรับซื้อ และชำระเงินค่าที่ดินให้กับจำเลยที่ 12 ไปเป็นจำนวน 1,956,600,000 บาท แล้วจำเลยที่ 1-19 ก็ได้นำเงินดังกล่าวไปแบ่งปันกันเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต

***สรุปฟ้องฉ้อโกงสัญญา
นอกจากนี้ ในส่วนฉ้อโกงสัญญา สรุปว่า ในการออกประกาศประกวดราคาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านของโจทก์เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2538 จำเลยที่ 1-11 ได้ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ โดยแอบอ้างนำเสนอว่า บริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ เอ็นดับเบิ้ลยูดับเบิ้ลยูไอ (NWWI) ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิควิศวกรรมการจัดการน้ำเสีย จะเข้าร่วมดำเนินงานกับพวกจำเลยด้วย ทำให้โจทก์หลงเชื่อ อนุมัติให้พวกจำเลยเป็นผู้ชนะการประกวดราคา
ในวันทำสัญญาดังกล่าว พวกจำเลยได้ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ โดยแอบอ้างหลักฐานหนังสือมอบอำนาจของบริษัท นอร์ธเวสต์ฯ ในการเข้าทำสัญญา ทั้งที่บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ได้บอกเลิกหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปก่อนหน้านั้นแล้ว และไม่ได้มอบอำนาจใหม่ให้พวกจำเลยลงนามในสัญญา จำเลยที่ 1-11 ได้ไปเปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินหลายแห่ง เป็นบัญชีรายรับร่วมของกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี และบริษัท นอร์ธเวสต์ฯ เพื่อหลอกลวงรับเงินค่าจ้างและเงินอื่นๆ ไปจากโจทก์ ทั้งที่บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ มิได้รู้เห็นหรือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1-11 เปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าวหรือเพื่อรับเงินแทนแต่อย่างใด
การปกปิดความจริงโดยการหลอกลวงดังกล่าว เป็นผลทำให้โจทก์หลงเชื่อจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าแรง ค่าวัสดุอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้างโครงการคลองด่าน เป็นจำนวนเงิน 16,100,960,000 ล้านบาทจำนวนหนึ่ง และ 116,040,000 เหรียญสหรัฐอีกจำนวนหนึ่ง จากนั้นจำเลยที่ 1-11 ได้นำเงินดังกล่าวไปแบ่งปันกันเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต จำเลยให้การปฏิเสธ ชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1

***สั่งจำคุก 3 ปี ปรับ 6 พันบาท
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยนำสืบหักล้างกันแล้วเห็นว่า ฝ่ายโจทก์มีพนักงานสอบสวน เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า เมื่อปี 2531-2533 นายวัฒนา จำเลยที่ 19 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นกรรมการบริษัทเหมืองแร่ลานทอง ได้ทำการรวบรวมที่ดินแปลงพิพาท จากชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำประมงเลี้ยงกุ้ง
โจทก์ ยังมีชาวบ้านผู้ขายที่ดินมาเบิกความรับรองสภาพที่ดินเป็นป่าชายเลน ป่าโกงกาง ถนนและลำคลองสาธารณะ ต่อมาจำเลยที่ 16 ได้ซื้อที่ดินต่อจาก บ.เหมืองแร่ลานทอง ของจำเลยที่ 19 และชาวบ้านที่มีที่ดินใกล้เคียง อ้างว่าจะทำสนามกอล์ฟและแบ่งขายให้กับสมาชิก มีการทำสัญญากันที่บ้านของจำเลยที่ 19 หากชาวบ้านรายใดไม่ขายให้ก็จะถูกข่มขู่
นอกจากนี้ จำเลยที่ 19 ยังใช้อำนาจบีบบังคับ และจูงใจให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน ออกโฉนดที่ดินพิพาทรวม 4 แปลง ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ตรวจและมีความเห็นให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวเนื่องจากที่สาธารณะ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดจำเลยที่ 19 และศาลฎีกา พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 19 กระทำผิด ป.อาญา ม.148 แล้ว
ต่อมาจำเลยที่ 16 ขายที่ดินให้กับจำเลยที่ 12 แต่ไม่ได้มีการซื้อขายกันจริง เป็นการสมคบกันปั่นราคาให้สูงขึ้นเกินกว่าความเป็นจริง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2-19 เชื่อมโยงมีการแบ่งหน้าที่กันทำกลุ่มหนึ่งเป็นผู้รวบรวมที่ดินนำขายให้แก่โจทก์ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ก่อสร้างโครงการ ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน โดยทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวออกโฉนดโดยมิชอบแล้วนำมาขายให้กับโจทก์ใช้ก่อสร้างโครงบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านโดยไม่มีบริษัทผู้เชี่ยวร่วมดำเนินการ มีเจตนาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นำผลประโยชน์ไปแบ่งปันกัน พยานหลักฐานรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2-19 ร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องอันเป็นความผิดกรรมเดียว
ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2-19 กระทำผิดตาม ป.อาญา ม.341 ฐานร่วมกันฉ้อโกง ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3, 5, 7, 9, 11 13-15, 17 ,18 และ19 เป็นเวลาคนละ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 2, 4, 6, 8, 10, 12 และ 16 ปรับรายละ 6,000 บาท
ต่อมาญาติจำเลยที่ 3, 5, 7, 9, 11 13-15, 17 และ 18 ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินและเงิน คนละ 1 ล้านบาท ขอประกันตัว ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยตีราคาประกันคนละ 1 ล้านบาท
การฟ้องคดีดังกล่าวข้างต้น กรมควบคุมมลพิษ ได้ใช้สิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีเองเนื่องจากปัญหาการขาดอายุความในคดีทุจริตที่ดิน นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ขณะนั้น ได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ชุมครม.เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2546 เพื่อขอให้กรมฯ ฟ้องคดีเองโดยมอบหมายให้ที่ปรึกษากฎหมายเอกชนของกรมฯ คือ นายณกฤต เศวตนันท์ สำนักงานที่ปรึกษา เจมส์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ เป็นผู้ทำคดี และต่อมากรมฯ ได้เปลี่ยนทนายความเป็นนายสุประวัติ ใจสมุทร
นายสุประวัติ ให้สัมภาษณ์หลังศาลมีคำพิพากษาคดีว่า ศาลได้ชี้มูลความผิดตามโจทก์นำสืบทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง แต่อย่างไรก็ตาม ศาลได้นำความผิดฐานฉ้อโกงที่ดินและฉ้อโกงสัญญา มารวมเป็นกรรมเดียว ซึ่งตนมีความเห็นว่าควรแยกกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น