ASTVผู้จัดการออนไลน์ – ศาลแขวงดุสิต อ่านคำพิพากษาคดีฉ้อโกงโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ลงโทษจำคุกกลุ่มพี่ชายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ – วัฒนา อัศวเหม เต็มเหยียด 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา
นายสุประวัติ ใจสมุทร ทนายความฝ่ายโจทก์ (กรมควบคุมมลพิษ) เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (12 พ.ย.) ศาลแขวงดุสิต ได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 254/2547 ระหว่างกรมควบคุมมลพิษ เป็นโจทก์ฟ้องกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 18 คน ในความผิดฐานฉ้อโกงที่ดินและสัญญาโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โดยศาล ได้ใช้เวลาอ่านคำพิพากษา เป็นเวลา 1.30 ชั่วโมง พิพากษาให้ จำเลยที่เป็นตัวบุคคล คือ จำเลยที่ 3,5,7,9,13,14,15,17,18,19 มีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ตามประมวลกฎหมายอาญาฯ ซึ่งเป็นการลงโทษสูงสุด ส่วนจำเลยที่เป็นนิติบุคคล ประกอบด้วย จำเลยที่ 2,4,6,8,10,12,16 ให้ปรับเป็นเงิน 6,000 บาท
นายสุประวัติ ให้ความเห็นว่า ศาลได้ชี้มูลความผิดตามโจทย์นำสืบทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง แต่อย่างไรก็ตาม ศาลได้นำความผิดฐานฉ้อโกงที่ดินและฉ้อโกงสัญญา มารวมเป็นกรรมเดียว ซึ่งตนเองมีความเห็นว่าควรแยกกัน อย่างไรก็ตาม คดีนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคดีอนุญาโตตุลาการที่กรมควบคุมมลพิษกับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ มีข้อพิพาทกันอยู่ รวมทั้งคดีสัญญาโครงการที่อยู่ระหว่างการไต่สวนคดีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
สำหรับรายชื่อจำเลยที่ 1 ถึง ที่ 19 ตามฟ้อง ประกอบด้วย 1) กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี 2) บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง 3) นายพิษณุ ชวนะนันท์ 4) บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง 5) นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ พี่ชายของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ 6) บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) 7) นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล 8) บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ 9) นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล 10) บริษัท เกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์
11) นายรอยอิศราพร ชุตาภา (ในฐานะกรรมการผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 10 และในฐานะกรรมการผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 16 และในฐานะส่วนตัว) 12) บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ 13) นายชาลี ชุตาภา 14) นายประพาส ตีระสงกรานต์ 15) นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ 16) บริษัทปาล์ม บีช ดีเวลลอปเม้นท์ 17) นางบุญศรี ปิ่นขยัน 18) นายกว๊อกวา โอเยง 19) นายวัฒนา อัศวเหม
อนึ่ง คดี 254/2547 เป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่หน่วยงานรัฐ คือ กรมควบคุมมลพิษ เป็นโจทก์ใช้สิทธิในฐานะผู้เสียหายฟ้องคดีเอง โดยว่าจ้างทนายความเอกชนเป็นผู้ยื่นฟ้อง โดยนายณกฤช เศวตนันทน์ จากสำนักงานที่ปรึกษาทางกฎหมาย เจมส์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ เป็นผู้รับผิดชอบคดี และนำสืบพยานโจทก์ในคดีจนเกือบเสร็จสิ้น แต่ต่อมาทางกรมควบคุมมลพิษ ได้เปลี่ยนทนายความผู้รับผิดชอบคดีมาเป็น นายสุประวัติ ใจสมุทร แทน
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษโดยนายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ (รักษาการอธิบดีในขณะนั้น) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ที่ 1 กับพวกรวม 19 คน เป็นจำเลยต่อศาลแขวงดุสิตในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 254/2547 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงใน 2 ส่วน คือ
1) ฉ้อโกงสัญญาก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โดยปกปิดข้อความจริงว่าบริษัทผู้ชำนาญการบำบัดน้ำเสียของประเทศอังกฤษ คือ บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ว่ายังร่วมอยู่ในกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ทั้งที่รู้ดีว่า บริษัทดังกล่าวได้ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจก่อนวันทำสัญญา จึงเป็นเหตุให้ ดร.ประกิต กิระวานิช (อธิบดีกรมควบคุมมลพิษขณะนั้น) หลงเชื่อยอมเข้าทำสัญญาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 มูลค่าสัญญาประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการปกปิดข้อความจริงทำให้เกิดการเซ็นสัญญาขึ้น เป็นการหลอกทำนิติกรรม
2) ฉ้อโกงที่ดินที่ตั้งโครงการคลองด่าน จำเลยโดยมีนายวัฒนา อัศวเหม เป็นตัวการผู้รวบรวมที่ดินจากชาวบ้าน ต.คลองด่าน ร่วมกับกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการและบริษัทที่เกี่ยวโยงกัน เช่น บริษัทปาล์มบีชดีเวลลอปเม้น จก. , บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอร์รี่ กรรมการบริษัทในกลุ่มรู้ดีว่าที่ดินที่ไปรวบรวมกว้านซื้อเป็นที่ดินสงวนหวงห้ามสำหรับเทขยะของราชการ ซึ่งมีสภาพเป็นที่ดินสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน
เมื่อกว้านซื้อเสร็จก็นำไปออกโฉนด โดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ที่ดิน, เจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของนายวัฒนา อัศวเหม ส.ส.จ.สมุทรปราการ และรมช.มหาดไทย ในขณะเกิดเหตุ แล้วนำโฉนดไปขายให้กับกรมควบคุมมลพิษ รวมเนื้อที่ประมาณ 1,903 ไร่ มูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาท โดยปกปิดที่มาของที่ดิน
ตามคำฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ระบุความผิดของจำเลย แยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือจำเลยที่ 1-19 กระทำผิดฐานฉ้อโกงที่ดินออกโฉนดที่ดินทับคลองและถนนสาธารณะ และในส่วนที่สอง จำเลยที่ 1-11 ฐานร่วมกันฉ้อโกงกรมควบคุมมลพิษโดยแอบอ้างว่าการเข้าดำเนินการก่อสร้างดังกล่าว พวกจำเลยจะนำบริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ เอ็นดับเบิ้ลยูดับเบิ้ลยูไอ ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิควิศวกรรมการจัดการน้ำเสีย เข้าร่วมดำเนินงานกับพวกจำเลยด้วย กระทั่งทำให้โจทก์หลงเชื่อ อนุมัติให้เป็นผู้ชนะการประกวดราคา และนัดลงนามในสัญญาว่าจ้างกันในวันที่ 20 สิงหาคม 2540
อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลไต่สวนมูลฟ้องเสร็จ ได้ประทับรับฟ้องจำเลยที่ 2-19 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นกิจการร่วมค้า ซึ่งได้แก่กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางการค้าหรือหากำไร ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่นิติบุคคลที่จะถูกฟ้องคดีให้รับผิดทางอาญาได้ จึงให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1