xs
xsm
sm
md
lg

ศาลนัดแล้ววันพิพากษาคดี"กล้ายาง-คลองด่าน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง นัดชี้ชะตา “เนวินกับพวก 44 คน” ทุจริตกล้ายาง 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้าน 17 ส.ค.นี้ หลังไต่สวนพยานร่วม 30 ปากแล้วเสร็จ ส่วนคดีทุจริตคลองด่านที่กรมควบคุมมลพิษฟ้อง “วัฒนา อัศวเหม และพวก” รวม 19 ราย โกงรัฐ 2 หมื่นล้าน ศาลแขวงดุสิตนัดพิพากษา 1 ต.ค.นี้

วานนี้ (18 มิ.ย.) นายเจษฎา อนุจารีย์ ทนายความ คณะการรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาคดีทุจริตโครงการจัดซื้อกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาทของกรมวิชาการเกษตร ว่า คดีนี้ศาลฎีกา ฯ ได้ไต่สวนพยานจำเลยเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากไต่สวนพยานในกลุ่มบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นจำเลยร่วมแล้ว ทนายจำเลยแถลงไม่ติดใจไต่สวนพยานปากอื่น ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 ส.ค.นี้ เวลา 14.00 น. โดยให้โจทก์ –จำเลย ยื่นคำแถลงปิดคดีภายในวันที่ 11 ส.ค.นี้

สำหรับคดีนี้ศาลไต่สวนพยานโจทก์ – จำเลย เสร็จสิ้นประมาณ 30 ปาก พยานโจทก์ ประกอบด้วย คตส. ซึ่งนำโดยนายบรรเจิด สิงคะเนติ ประธานอนุ คตส. สำนวนคดีทุจริตกล้างยาง และเจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ( สกย.)

ขณะที่ฝ่ายจำเลย โดยนายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการ จำเลยที่ 4 แถลงเปิดคดีด้วยวาจาและเบิกความต่อสู้คดีว่า ดำเนินโครงการนี้ด้วยความสุจริตใจ ซึ่งมีแนวคิดได้มาจากผลการศึกษา และการวิจัย ของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรว่าพื้นที่อีสานสามารถปลูกยางพาราได้ และการดำเนินการอนุมัติโครงการนั้นไปตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รมช. และรักษาตำแหน่ง รมว. เกษตร ซึ่งยังว่างอยู่ เนื่องจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รอโปรดเกล้า ฯ ดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ คดีนี้ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องนักการเมืองและข้าราชการรวม 44 คน ในความผิดฐานในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการ ทรัพย์สินใดใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตเสียหายแก่รัฐ , เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151, 157, 341 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11

1 ต.ค.นัดพิพากษาคดีคลองด่าน

ส่วนคดีประวัติศาสตร์ที่ฝ่ายรัฐว่าจ้างทนายเอกชนเป็นผู้ฟ้องคดีเป็นคดีแรกของประเทศ โดยกรมควบคุมมลพิษ ฟ้องกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ข้อหาฉ้อโกงสัญญาและฉ้อโกงที่ดิน เรียกค่าเสียหาย 2 .2 หมื่นล้านบาท โดยยื่นฟ้องต่อศาลแขวงดุสิต เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2547 ตามคดีหมายเลขดำที่ 254/2547 การพิจารณาคดีของศาลได้สิ้นสุดลงแล้ว

เมื่อเวลา 9.30 น. วานนี้ (18 มิ.ย.) ที่ศาลแขวงดุสิต ศาลมีคำสั่งให้ทนายฝ่ายโจทก์และทนายฝ่ายจำเลย ยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาลภายใน 2 เดือนนับจากนี้ และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 ต.ค. 52 เวลา 10.00 น. เหตุมีพยานบุคคลและเอกสารจำนวนมาก

นายสุประวัติ ใจสมุทร ประธานบริษัทสุประวัติอินเตอร์เนชั่นแนล คอนซัลแตนท์ จำกัด หัวหน้าทีมทนายโจทก์ เปิดเผยว่า ศาลได้ให้โอกาสพยานฝ่ายจำเลยปากสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา คือ นายวัฒนา อัศวเหม จำเลยที่ 19 มาชี้แจงต่อศาลเป็นครั้งสุดท้าย แต่นายวัฒนา ไม่มาศาลโดยได้ส่งเอกสารต่อศาลแจ้งว่าไม่ประสงค์จะสืบพยาน และขอให้ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบ

ทั้งนี้ จำเลยที่ 19 อ้างว่าถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 10 ปีจากคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องและศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาว่า นายวัฒนาใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ออกโฉนดที่ดินพิพาทแก่นายวัฒนาในนามบริษัทปาล์มบีช ดิเวลลอปเม้นท์ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

“ขึ้นอยู่กับศาลจะชี้ในคำพิพากษาว่าคดีฉ้อโกงที่ดินเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีศาลฎีกาฯ หรือเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งตนในฐานะทนายโจทก์จะทำคำคัดค้านในคำแถลงการณ์ปิดคดี” นายสุประวัติ กล่าว

สำหรับคดีฉ้อโกง กำหนดระวางโทษจำคุก 3 ปี

หัวหน้าทีมทนายฝ่ายโจทก์ กล่าวต่อว่า คดีนี้ แยกข้อหาร่วมกันฉ้อโกงใน 2 ส่วน คือ 1) ฉ้อโกงสัญญาก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โดยปกปิดข้อความจริงว่าบริษัทผู้ชำนาญการบำบัดน้ำเสียของประเทศอังกฤษ คือ บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ว่ายังร่วมอยู่ในกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ทั้งที่รู้ดีว่า บริษัทดังกล่าวได้ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจก่อนวันทำสัญญา จึงเป็นเหตุให้ ดร.ปกิต กิระวานิช (อธิบดีกรมควบคุมมลพิษขณะนั้น) หลงเชื่อยอมเข้าทำสัญญาเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2540 มูลค่าสัญญาประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการปกปิดข้อความจริงทำให้เกิดการเซ็นสัญญาขึ้น เป็นการหลอกทำนิติกรรม
2) ฉ้อโกงที่ดินที่ตั้งโครงการคลองด่าน จำเลยโดยมีนายวัฒนา อัศวเหม เป็นตัวการผู้รวบรวมที่ดินจากชาวบ้าน ต.คลองด่าน ร่วมกับกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการและบริษัทที่เกี่ยวโยงกัน เช่น บริษัทปาล์มบีชดีเวลลอปเม้น บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอร์รี่ กรรมการบริษัทในกลุ่มรู้ดีว่าที่ดินที่ไปรวบรวมกว้านซื้อเป็นที่ดินสงวนหวงห้ามสำหรับเทขยะของราชการ ซึ่งมีสภาพเป็นที่ดินสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน

เมื่อกว้านซื้อเสร็จก็นำไปออกโฉนด โดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ที่ดิน, เจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของนายวัฒนา อัศวเหม ส.ส.จ.สมุทรปราการ และรมช.มหาดไทย ในขณะเกิดเหตุ แล้วนำโฉนดไปขายให้กับกรมควบคุมมลพิษ รวมเนื้อที่ประมาณ 1,903 ไร่ มูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาท โดยปกปิดที่มาของที่ดิน

“คดีในส่วนฉ้อโกงที่ดินมีน้ำหนักมากเพราะข้อเท็จจริงที่ดินจะเปลี่ยนสภาพโดยปริยายไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยรู้ว่าที่ดินเป็นที่สาธารณประโยชน์ ไม่มีกฎหมายใดออกมาเพิกถอนสภาพ คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ที่ตัดสินคดีเกี่ยวกับที่ดิน ใช้เป็นบรรทัดฐานได้ และอยู่ในเอกสารหลักฐานที่ส่งให้ต่อศาลแล้ว” นายสุประวัติกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น