xs
xsm
sm
md
lg

คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่าเอื้อชินฯ เปลือยกลโกงสูบเงินแผ่นดินสไตล์"ทักษิณ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะพบปะพูดคุยกับ ตัน ฉ่วย ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC)
ผู้จัดการออนไลน์ – ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งรับฟ้องคดี “ทักษิณ” ใช้อำนาจสั่งให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่าเอื้อชินคอร์ป  คดีดังกล่าวเปลือยตัวตนคนอย่างอดีตนายกฯ ทักษิณ ว่าใช้อำนาจและตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศทุกวิถีทางในการคดโกงแผ่นดิน แสวงหาประโยชน์ให้กับธุรกิจของตนเองและครอบครัว โดยไม่หวั่นเกรงความผิดหรือข้อครหาใดๆ

วันนี้ (30 ก.ค.) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งรับฟ้องคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152

และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่เห็นชอบให้เอ็กซิมแบงก์อนุมัติปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่า เพื่อหวังประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียมที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์ จากบริษัท ชินแซทเทอร์ไลท์ บริษัทในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร

คดีดังกล่าวนี้ เป็นอีกหนึ่งคดีที่ คตส. ต้องแต่งทนายฟ้องคดีเอง เพราะอัยการสูงสุด มีความเห็นว่า คดีไม่สมบูรณ์ จึงไม่ดำเนินการยื่นฟ้องคดีให้ เช่นเดียวกับคดีหวยบนดิน ที่ คตส. ดำเนินการฟ้องเอง และศาลฎีกาฯ เพิ่งรับฟ้องคดีไปเมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา

คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า ทางคตส. เข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของพ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ให้เงินกู้แก่รัฐบาลสหภาพพม่า จำนวน 4,000 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าราคาต้นทุนของเอ็กซิมแบงก์ โดยรัฐบาลต้องตั้งงบประมาณชดเชยผลขาดทุนให้แก่เอ็กซิมแบงก์ในระยะเวลา 12 ปี เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 670,436,201.25 บาท

ผลการตรวจสอบของ คตส. พบว่า ในการประชุมผู้นำร่วมกัน 4 ประเทศ คือ ลาว พม่า กัมพูชา และไทย ที่เมืองพุกาม ประเทศสหภาพพม่า เมื่อวันที่ 10 - 12 พฤศจิกายน 2546 ได้มีข้อตกลงความช่วยเหลือร่วมกัน 5 ด้านคือ 1. ด้านการค้าและการลงทุน 2. ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม 3. ด้านการเชื่อมเส้นทางคมนาคมในภูมิภาค 4. ด้านการท่องเที่ยว และ 5. ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แต่ไม่มีความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านโทรคมนาคมแต่อย่างใด

นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมาให้ข้อมูลต่อ คตส. ระบุว่า ได้เคยชี้แจงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของพม่า ว่า “ไม่สมควรจะมีความร่วมมือด้านโทรคมนาคมเป็นการเฉพาะกับประเทศไทย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไทยเป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดภายในประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อครหาว่ามีผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้อง”

และได้ชี้แจงในลักษณะเดียวกันต่อรัฐมนตรีต่างประเทศของลาว กัมพูชา ด้วย ซึ่งทุกคนก็เข้าใจ จึงไม่มีความร่วมมือด้านโทรคมนาคมอยู่ในปฏิญญาพุกาม

แต่อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา อดีตนายกรัฐมนตรี กลับให้ความช่วยเหลือในโครงการพัฒนาด้านโทรคมนาคมแก่รัฐบาลพม่า โดยสั่งการให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่รัฐบาลพม่า พร้อมทั้งเพิ่มวงเงินกู้ เพื่อจัดซื้อจัดหาและพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากบริษัทเครือชินคอร์ป

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 กระทรวงต่างประเทศสหภาพพม่า ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ ขอเพิ่มวงเงินกู้จาก 3,000 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท และได้มีหนังสือทวงถามมาถึงรัฐบาลไทยในการปล่อยกู้โครงการดังกล่าว

ต่อมา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย จึงได้นำเรื่องกราบเรียน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้สั่งการด้วยวาจาให้พบกันครึ่งทาง โดยให้พม่ากู้ 4,000 ล้านบาท และได้สั่งให้ทำหนังสือตอบทางพม่าไปด้วยว่า “นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เพิ่มวงเงินกู้จาก 3,000 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาท”

นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในฐานะรมว.กระทรวงการต่างประเทศ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 2 มีนาคม 2547 แจ้งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพพม่า โดยอ้างถึงคำสั่งของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ว่า “นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เพิ่มวงเงินจาก 3,000 บาท เป็น 4,000 ล้านบาท และพร้อมจะให้การอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยบางส่วนที่พม่าต้องจ่ายตามข้อเสนอของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าฯ”

การเพิ่มวงเงินกู้จาก 3,000 เป็น 4,000 ล้านบาท เนื่องจากกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติพม่า ได้มีหนังสือขอกู้เพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคมรวม 3 โครงการ เป็นเงิน 24.05 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 962 ล้านบาท ทั้ง 3 โครงการ ได้ระบุผู้ขายสินค้าและบริการ คือบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน)

การให้เงินกู้แก่สหภาพพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ทำให้เอ็กซิมแบงก์ เกิดผลขาดทุน เพราะให้กู้ต่ำกว่าต้นทุน ปกติต้นทุนของธนาคารอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.75 ต่อปี (คำให้การของนายปกรณ์ มาลากุล อดีตประธานเอ็กซิมแบงก์) โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายดำเนินการของธนาคารอีกร้อยละ 0.75 – 1.00 ทำให้เอ็กซิมแบงก์ มีผลขาดทุนที่จะต้องขอให้รัฐบาลชดเชยตามมาตรา 23 แห่ง พรบ.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536 ตลอดอายุสัญญากู้ 12 ปี เป็นเงิน 670,436,201.25 บาท ซึ่งรัฐบาลจะต้องชดเชยให้แก่เอ็กซิมแบงก์ ด้วยงบประมาณแผ่นดิน

คณะอนุกรรมการตรวจสอบของ คตส. ได้เสนอผลการตรวจสอบต่อที่ประชุมใหญ่ คตส. เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2550 คตส. มีมติเห็นชอบ และส่งมอบผลการตรวจสอบให้คณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฐานดำเนินนโยบายต่างประเทศไปพร้อมกับการแสวงประโยชน์ต่อธุรกิจของครอบครัว อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

ต่อมา คณะอนุกรรมการไต่สวน ได้จัดทำสำนวนส่งอัยการสูงสุดดำเนินการเมื่อ 14 สิงหาคม 2551 แต่อัยการสูงสุด ได้ส่งสำนวนคืนมาโดยแจ้งว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์ คตส. จึงแต่งตั้งคณะทนายความจากสภาทนายความแห่งประเทศไทย ทำการตรวจสอบสำนวน เพื่อดำเนินคดีต่ออดีตนายกรัฐมนตรีต่อไป

สำหรับสรุปผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการไต่สวน เรื่อง การตรวจสอบธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ให้เงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศแก่รัฐบาลสหภาพพม่า กรณีกล่าวหาพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ดำเนินนโยบายต่างประเทศไปพร้อมกับการแสวงหาประโยชน์สำหรับธุรกิจครอบครัวชินวัตรกับพวกอันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีรายละเอียด ดังนี้

(๑) คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๙ ที่ประชุมมีมติรับเรื่องที่อยู่ในการดำเนินการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมาพิจารณา และใช้เป็นสำนวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบ

ซึ่งที่ประชุมมีมติให้รับเรื่องไว้ตรวจสอบและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบเพื่อทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการให้เงินกู้แก่รัฐบาลสหภาพพม่าตามคำสั่งคณะกรรมการตรรวจสอบที่ ๙/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๙ และคณะอนุกรรมการตรวจสอบได้เสนอรายงายผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ ครั้งที่ ๓๒\๒๕๕๐วันพุธที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๐

(๒) คณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีน่าเชื่อว่ามีมูลความผิดจึงมีคำสั่งที่ คตส. ๐๓๒/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กล่าวหา พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ดำเนินนโยบายต่างประเทศไปพร้อมกับการแสวงหาประโยชน์สำหรับธุรกิจครอบครัวชินวัตร กับพวกอันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

(๓) คณะอนุกรรมการไต่สวนได้ดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหาครบถ้วนแล้ว คณะอนุกรรมการไต่สวนได้สรุปสำนวนการไต่สวนเสนอคณะกรรมการตรวจสอบในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ ครั้งที่ ๑๔ /๒๕๕๑ วันจันทร์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๑

(๔) คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า

ข้อเท็จจริงตามทางการไต่สวน ฟังได้เป็นที่ยุติว่า พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ และครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๘ โดยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องกัน จนกระทั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นผลให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓ ลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

ก่อนหน้านั้น เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๒ ได้มีการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยใช้เงินจากบัญชีเงินฝากของนางพจมาน ชินวัตร คู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหา มาซื้อเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารัชโยธิน ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ จำนวน ๓ ฉบับ ใช้ชำระค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในนามผู้ถูกกล่าวหา จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น จำนวนเงิน ๔๙๓,๘๐๐,๐๐๐ บาท ในนามนางพจมาน ชินวัตร จำนวน ๓๔,๖๕๐,๐๐๐ หุ้น จำนวนเงิน ๕๑๙,๗๕๐,๐๐๐ บาท และในนามนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำนวน ๖,๘๐๙,๐๑๕ หุ้น จำนวนเงิน ๑๐๒,๑๓๕,๒๒๕ บาท

โดยมีการอ้างหลักฐานตั๋วสัญญาใช้เงิน ลงวันที่๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ มีข้อความระบุว่า นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ สัญญาจะจ่ายเงินจำนวน ๑๐๒,๑๓๕,๒๒๕ บาท ให้คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย ทั้งที่ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ นางพจมาน ชินวัตร ยังไม่ได้ใช้คำนำนามว่า “คุณหญิง” โดยนางพจมาน ชินวัตร เพิ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จตุตถจุลจอมเกล้า ในวโรกาสพระราชพิธีฉัตรมงคลวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒ แสดงให้เห็นว่าในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ ที่มีการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในนามนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ไม่ได้มีการทำ ตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ ไว้แต่อย่างใด แต่เป็นการจัดทำขึ้นมาภายหลังเมื่อนางพจมาน ชินวัตร ได้ใช้คำนำนามว่า “คุณหญิง”

วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำการโอนหุ้น SHIN ที่ตนเองถืออยู่จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ขายให้กับบริษัท Ample Rich ที่ตนเองเป็นผู้ถือหุ้น ๑๐๐ % โดยใช้เงินคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ไปทำรายการ โดยผ่านบริษัทหลักทรัพย์ แอสเซท พลัส

ในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ ที่ได้มีการแจ้งรายงานตามแบบ ๒๔๖-๒ ต่อสำนักงาน กลต. ว่าผู้ถูกกล่าวหาและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้โอนขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้กับนายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซึ่งไม่ได้มีการชำระเงินค่าซื้อขายกันแต่อย่างใด

โดยปรากฏมีหลักฐานอ้างอิงว่า ผู้รับโอนทั้ง ๓ คน ได้ทำตั๋วสัญญาใช้เงิน ลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ ตามจำนวนราคาค่าซื้อหุ้น ให้ไว้กับผู้ถูกกล่าวหาและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร รวมจำนวน ๔ ฉบับ โดยใช้แบบพิมพ์และข้อความเป็นอย่างเดียวกับตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ ดังกล่าวข้างต้น รวมจำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ๕ ฉบับ เป็นจำนวนเงิน ๑,๑๒๔,๓๓๕,๒๒๕ บาท

หลังจากมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นจากหุ้นละ ๑๐ บาท เป็นหุ้นละ ๑ บาท ซึ่งทำให้จำนวนหุ้นเปลี่ยนเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ เท่าแล้ว หุ้นที่ถือโดยนายพานทองแท้ ชินวัตร ได้โอนให้นางสาวพินทองทา ชินวัตร เป็นผู้ถือหุ้น รวมจำนวน ๔๔๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น

สำหรับหุ้นที่ถือโดยบริษัท Ample Rich จำนวน ๓๒๙,๒๐๐,๐๐๐ หุ้น ในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๙ ได้โอนให้นายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพินทองทา ชินวัตร คนละ ๑๖๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้นนั้นตามคำให้การของนายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ที่ให้การต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายและโอนหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปรากฏว่าไม่มีการชำระเงินค่าซื้อขายหุ้นในวันดังกล่าวแต่อย่างใด

หลังจากนั้นอีก ๓ วัน ในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ ได้มีการขายหุ้นดังกล่าวทั้งหมด ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก แห่งประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว รวม ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท

ในขณะที่มีหลักฐานตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ และวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ รวม ๕ ฉบับ ซึ่งเป็นค่าจองซื้อหุ้น และชำระค่าซื้อหุ้นจากผู้ถูกกล่าวหาและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นเงินเพียง ๑,๑๒๔,๓๓๕,๒๒๕ ดังนั้น จำนวนเงินที่ขายได้จึงแตกต่างกันถึง ๖๘,๕๙๘,๕๔๕,๗๐๗.๐๕ บาท ไม่น่าเชื่อว่านายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้จองซื้อหุ้นเป็นของตนเองจริงและไม่น่าเชื่อว่า จะมีการโอนขายหุ้นกันจริง ระหว่างผู้ถูกกล่าวหาและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร กับนายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์

กรณีของนายพานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ไว้กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำนวนเงิน ๔๒๔,๗๕๐,๐๐๐ บาท และออกให้ไว้กับผู้ถูกกล่าวหา จำนวนเงิน ๓๐๙,๒๐๐,๐๐๐ บาท

แต่ปรากฏว่าตามคำให้การของนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ให้การไว้กับคณะอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายและโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่านายพานทองแท้ ชินวัตร ได้โอนเงินคืนให้คุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำนวน ๕,๐๕๖,๓๔๘,๘๔๐ บาท

โดยเป็นเงินที่โอนให้หลังจากได้รับเงินปันผล เมื่อปี ๒๕๔๖ แล้ว เป็นจำนวน ๓,๘๘๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และโอนเงินให้ผู้ถูกกล่าวหา ๔๐๙,๒๐๐,๐๐๐ บาท ไม่ได้โอนเงินให้กันตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่ทำหลักฐานไว้แต่อย่างใด น่าเชื่อว่า เป็นเพียงการทำหลักฐานตั๋วสัญญาใช้เงินให้สอดคล้องกับจำนวนหุ้นที่โอนให้ถือหุ้นกันเท่านั้น

จึงฟังได้ว่าพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกกล่าวหา) และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ยังเป็นผู้ถือหุ้นหรือมีผลประโยชน์ในหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ถืออยู่ในชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวพินทองทา ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และบริษัท Ample Rich

***ดังนั้น ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและบริหารสั่งการเกี่ยวกับการให้เงินกู้สินเชื่อ วงเงิน ๔,๐๐๐ ล้านบาท แก่รัฐบาลพม่า ผู้ถูกกล่าวหายังมีผลประโยชน์ในหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดังกล่าวอยู่ ซึ่งบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)ถือหุ้นใน บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เมื่อปี ๒๕๔๗ เป็นจำนวนถึง ๕๑.๔๘ ของหุ้นทั้งหมด

*** การกระทำของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ได้กระทำการในการบริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยเจรจาอย่างไม่เป็นทางการ

*** และให้คำมั่นกับนายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า และพลจัตวา เต็ง ซอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและโรงแรมและกระทรวงคมนาคมไปรษณีย์และโทรเลขของสหภาพพม่า ทั้งที่ไม่มีผลการประชุมระหว่างผู้นำเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับทราบเรื่องมาก่อน

จนกระทั่งทางการของสหภาพพม่า มีหนังสือขอกู้เงินโดยอ้างการเจรจาตกลงและให้คำมั่นจากผู้ถูกกล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ให้วงเงินกู้สินเชื่อ วงเงิน ๓,๐๐๐ ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า

และต่อมาได้สั่งการเห็นชอบให้เพิ่มวงเงินกู้สินเชื่อ อีก ๑,๐๐๐ ล้านบาท รวมเป็น ๔,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของสหภาพพม่า โดยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน รวมทั้งให้ขยายระยะเวลาปลอดการชำระหนี้การจ่ายเงินต้นจาก ๒ ปี เป็น ๕ ปี ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ที่ผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวชินวัตรกับพวก มีผลประโยชน์ในหุ้นอยู่ ให้ได้รับงานจ้างในการพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากรัฐบาล สหภาพพม่า

โดยใช้เงินกู้สินเชื่อดังกล่าว เป็นจำนวนเงินตามสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ๑๕ ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงินไทย ๕๙๓,๔๙๒,๘๑๕.๙๖ บาท และได้รับเงินค่าจ้างครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙ เป็นเหตุให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ได้รับความเสียหายในการให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุนไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ในการจัดตั้งธนาคาร ต้องขอความคุ้มครองให้กระทรวงการคลังจัดสรรเงินงบประมาณประจำปี เพื่อชดเชยความเสียหาย ตามประมาณการทั้งโครงการเป็นเงิน ๖๗๐,๔๓๖,๒๐๑.๒๕ บาท

และกระทรวงการคลังได้รับความเสียหายต้องจัดสรรงบประมาณประจำปีชดเชยความเสียหายดังกล่าว และได้ชดเชยความเสียหายแล้วในปีงบประมาณ ๒๕๔๙ และ ปีงบประมาณ ๒๕๕๐ รวมเป็นเงินจำนวน ๑๔๐,๓๔๙,๖๐๐ บาท ความเสียหายดังกล่าวรวมถึงความเสียหายจากการให้กู้สินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคม ที่บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ได้รับงานจ้างดังกล่าวด้วย

ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกกล่าวหามีมูลความผิดอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ และมาตรา ๑๕๗ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๘ และมาตรา ๑๓

คณะกรรมการฯ มีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร หลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ ข้อ ๙

(๕) คณะกรรมการตรวจสอบได้มีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุดที่ ตผ(คตส.) ๐๔/๔๐๓ ลงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๑ ให้ดำเนินคดีอาญาพันตรวจโททักษิณ ชินวัตร ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุดได้มีหนังสือด่วนมาก ที่ อส ๐๐๒๒(กท)/๓๘๕ ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๑ เรื่อง แจ้งข้อไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินดีได้และทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อหาข้อยุติของสำนวนคดีร่วมกัน ซึ่งคณะทำงานร่วมฯ ได้มีการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๔ สรุปผลการประชุมทั้งสองฝ่ายไม่อาจหาข้อยุติในการฟ้องคดีได้

การที่คณะทำงานฝ่ายอัยการและคณะกรรมการตรวจสอบไม่อาจหาข้อยุติในการฟ้องคดีได้จึงเป็นกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจฟ้องคดีเอง ดังนั้นคณะกรรมการฯ จึงได้มีคำสั่งที่ คตส.๑๐/๒๕๕๑ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบและศึกษาสำนวนคดีกรณีกล่าวหาพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ดำเนินนโยบายต่างประเทศไปพร้อมกับการแสวงหาผลประโยชน์สำหรับธุรกิจของครอบครัวชินวัตร กับพวก เพื่อสรุปสำนวนคดีฟ้อง และคณะกรรมการตรวจสอบได้แต่งตั้งทนายความฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว

คำสั่งรับฟ้องคดีของศาลฎีกาฯ ในวันนี้ (30 ก.ค. 51) นับเป็นคดีที่ 3 ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกคตส.และอัยการสูงสุด ฟ้องร้อง โดยสองคดีแรกคือ คดีซื้อที่ดินรัชดาฯ และคดีหวยบนดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น