xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจคดี “แม้ว-อ้อ” กลับไทยเข้าคุก หรือเสวยสุข

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ทันทีที่มีข่าว “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับสู่ประเทศไทย ในวันที่ 28 ก.พ.51 นี้ ประชาชนคนในชาติ ต่างให้ความสนใจ...หลายคนคิดว่า เขามาเพื่อต่อสู้คดี หรือ มาเพื่อเสวยสุขในแผ่นดินไทย หลังจากได้รัฐบาลที่เขาเชื่อว่า สามารถดูแลความปลอดภัย และเครียร์คดีความให้กับเขาได้

วันนี้ข่าว“ทักษิณ กลับไทย” จะเป็นจริง หรือไม่ เขากลับมาแล้วเกิดปัญหาความวุ่ยวายในบ้านเมืองอีกหรือไม่ นั่นคือ เรื่องราวในเวลาอันใกล้ ที่ต้องติดตามชนิดเกาะเติด

แต่สำหรับความจริงวันนี้ “พ.ต.ท.ทักษิณ” เขาคือ จำเลยตามหมายจับของศาล และผู้ต้องหาในคดีทุจริตอีก หลายคดีที่อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)และรอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ดังนั้น เพื่อย้ำเตือนความทรงจำ เกี่ยวกับคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เราไปติดตาม 2 คดีสำคัญกันก่อน...

เริ่มจาก คดีความที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกมูลค่า 772 ล้านบาท ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูกิจการและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐปฎิบัติหน้าที่ในฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินการ และเป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 ม.4, 100 และ 122 ประมวลกฎหมายอาญา ม.33, 83, 86, 91, 152 และ 157 ขอให้ศาลริบเงินจำนวน 772 ล้านบาท และที่ดินอีก 4 แปลงย่านรัชดาภิเษก ห้วยขวาง ตกเป็นของแผ่นดิน

คดีนี้“นายทองหล่อ โฉมงาม”ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา เป็นเจ้าของสำนวนคดี โดยเมื่อวันที่ 23 ม.ค.51 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เดินทางขึ้นศาลนัดแรก หลังจากที่เขากลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ม.ค.51 ท่ามกลางกระแสข่าว มาเพื่อจัดทัพรัฐมนตรีรัฐบาลนอมินี (สมัคร สุนทรเวช)

โดยการขึ้นศาลนัดแรกของคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 ได้ให้การปฎิเสธเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมแถลงยืนยันต่อศาลตามคำให้การ และได้ยื่นคำร้องขอเวลาตรวจและคัดสำเนาเอกสารและการติดตามพยานเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก เพื่อจำเลยที่ 2 จะได้จัดทำการให้การเป็นลายลักษณ์อักษรโดยละเอียด ในการสู้คดีต่อไป ประกอบกับจำเลยที่ 1 แจ้งว่าจะกลับมาร่วมต่อสู้คดีกับจำเลยที่ 2 ประมาณเดือนพฤษภาคม นี้ จำเลยที่ 2 จึงขอให้ศาลกำหนดวันนัดพิจารณาตรวจพยานหลักฐาน ออกไปเป็นเวลา 90 วัน นับแต่วันนี้ ศาลสอบถามอัยการโจทก์แล้ว นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ แถลงไม่คัดค้าน

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีมีเหตุอันสมควร จึงกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29-30 เมษายน เวลา 10.00 น. โดยให้โจทก์-จำเลย ยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลพร้อมสำเนาสำหรับองค์คณะผู้พิพากษาและคู่ความทุกฝ่าย โดยให้ยื่นก่อนวันนัดพิจารณาตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 7 วัน หากพยานเอกสารหรือพยานวัตถุใดอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ให้คู่ความที่ประสงค์จะอ้างอิงพยานดังกล่าว ก็ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานหลักฐานนั้นมาจากผู้ที่ครอบครองโดยเร็ว โดยให้ยื่นคำขอต่อศาลพร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยานเพื่อให้ได้พยานหลักฐานนั้นมาก่อนวันตรวจพยานหลักฐาน และเพื่อความสะดวกในการตรวจพยานหลักฐานให้คู่ความแถลงแนวทางการเสนอพยานหลักฐานมาพร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยานด้วย

คดีนี้ นายพิชิฎ ชื่นบาน ทนายความคุณหญิงพจมาน มั่นใจว่าจะสามารถต่อสู้คดีได้ทุกประเด็น ทั้ง การปรับลดราคาที่ดิน หนังสือชี้ชวนไม่ชัดเจน และ การกำหนดยื่นซองประมูลขั้นต่ำ 100 ล้านบาท

ถัดมาคดีที่ 2 กรณีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)คดีนี้เมื่อวันที่ 8 ก.พ.51 นายพรชัย อัศววัฒนาพร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนได้นำสำนวนคดีพร้อมเอกสารหลักฐานรวม 7 กล่อง ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่นโดยนางเพ็ญโสม กรรมการบริษัท, นางบุษบา อดีตกรรมการบริษัทฯ และคุณหญิงพจมาน ฐานกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ส่งมอบให้นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาสั่งคดี โดย อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ นัดผู้ต้องหาฟังคำสั่งในวันที่ 28 มี.ค.เวลา 10.00 น. ส่วนผู้ต้องหา อยู่ระหว่างการประกันตัว ภายใต้เงื่อนไขการประกันตามที่ดีเอสไอเคยกำหนดไว้ ว่า หากจะเดินทางออกนอกประเทศจะต้องแจ้งอัยการให้พิจารณาอนุญาตทุกครั้ง

สำหรับ สำนวนการสอบสวนคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น พนักงานสอบสวนดีเอสไอมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 4 คน ประกอบด้วย บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่นโดยนางเพ็ญโสม ดามาพงศ์ กรรมการบริษัท ที่ 1, นางบุษบา ดามาพงศ์ อดีตกรรมการบริษัท ฯ ที่ 2, พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ 3 และคุณหญิงพจมาน ภริยา ที่ 4 แต่เนื่องจากขณะนี้ ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ยังอยู่ต่างประเทศ พนักงานสอบสวนดีเอสไอจึงส่งมอบตัวเฉพาะผู้ต้องหาที่ 1,2 และ 4 พร้อมแจ้งให้อัยการทราบ

คดีนี้ถือเป็นคดีที่ต้องติดตามการสั่งคดีของอัยการ ว่าสั่งฟ้องตามที่ ดีเอสไอ มีความเห็นหรือไม่ ประกอบกับ ถือเป็นคดีที่นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งสำนวนคดีให้อัยการ หลังนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรมคนใหม่เข้ารับตำแหน่งเพียงวันเดียว ขณะที่ นายสุนัย วันนี้ เขาคืออดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จากเหตุ นายสมพงษ์ เด้งพ้นตำแหน่ง

ด้านข้อมูลคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ คตส.ตรวจสอบ มีอีก 2 คดี ที่อยู่ระหว่างไต่สวน คือ

1.กรณีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ให้เงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักร และพัฒนาการประเทศแก่รัฐบาลสหภาพพม่า

คดีนี้เป็นผลมาจาก ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ให้เงินกู้แก่ประเทศสห ภาพพม่าเป็นเงิน 4,000 ล้านบาท โดยคิด ดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 3 ต่อปี เป็นการดำเนินนโยบายแอบแฝง เกี่ยวกับการหาประโยชน์สำหรับธุรกิจของครอบครัวอดีตนายกรัฐมนตรีกับพวก (บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นเหตุให้ กระทรวงการคลังเสียหายโดยต้องจ่ายเงินชดเชยอัตราดอกเบี้ย ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จ่ายให้ธนาคารออมสินและ ตั๋วสัญญาใช้เงิน กับอัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับจากรัฐบาลพม่า ให้กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เฉพาะจำนวนเงินให้กู้เพื่อซื้ออุปกรณ์ดาวเทียมฯ จาก บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 596,330,270.30 บาท ตามสัญญาเงินกู้ 12 ปี คิดเป็นความเสียหายจากการให้กู้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทุนเป็นเงิน 99,962,037.61 บาท

สำหรับคดีนี้คาดว่าจะส่งอัยการฟ้องในเร็วๆนี้ต่อจากคดีกล้ายางพารา 90 ล้านต้น

2.การกระทำผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์ธุรกิจตนเองและพวกพ้อง โดยพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ในส่วนมาตรการเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจโทรคมนาคม ของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ตรวจสอบพบว่า

(1.)มีการแก้ไขสัญญาข้อตกลงลดสัดส่วนแบ่งรายได้ค่า บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid) เพื่อประโยชน์ แก่บริษัทเอกชนซึ่งเป็นการแก้ไขสัญญาโดยมิได้ดำเนินให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการ ของรัฐ พ.ศ. 2535 ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ตลอดอายุสัมปทานเป็นเงิน ประมาณ 71,677 ล้านบาท

(2.)มีการแก้ไขสัญญาข้อตกลงปรับเกณฑ์การตัดส่วนแบ่ง รายได้ให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชน ทำให้รัฐเสียหายประมาณ 700 ล้านบาท

(3.)มีการตราพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตในกิจการ โทรคมนาคม และได้มีมติคณะรัฐมนตรีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เสียหายประมาณ 30,667 ล้านบาท

(4.)เรื่องบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน)ท เกี่ยวกับดาวเทียม IPstar และการได้ยกเว้น ภาษีจากคณะกรรการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

สำนวนนี้ คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ อยู่ในระหว่างการรวบรวมเอกสารหลักฐาน และสอบปากคำ ผู้ที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนที่เกี่ยวกับการคงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ป ได้ตรวจสอบพบหลักฐานน่าเชื่อได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหายังคงถือไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ทั้งในชื่อบุคคลและในชื่อบริษัทจดทะเบียนต่างประเทศ ซึ่งเป็นการ ผิดกฎหมาย และขณะเดียวกันก็เป็นเหตุเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และพฤติการณ์ร่ำรวยผิด ปกติอีกส่วนหนึ่งด้วย ขณะนี้อยู่ในระหว่างให้ผู้ถูกกล่าวหาคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาชี้แจงข้อกล่าวหา

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้มีคดีความเพียงแค่นั้น แต่หากนับคดีเกี่ยวกับเรื่องหมิ่นประมาท ที่เขาเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง หรือ เขาถูกฟ้องเป็นจำเลย นอกเหนือจากคดีใหญ่ 2 คดีข้างต้นแล้ว เขายังมีคดีที่จะต้องต่อสู้อีกนับ 20 คดี โดยมีคดีค้างเก่าที่เขาถูก นายวิลเลียม ไลล์ มอนซัน ชาวอเมริกัน ผู้บริหารบริษัท ซีทีวีซี ออฟฮาวาย จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจเคเบิลทีวีประเทศสหรัฐฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตประธานบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)ผู้ประกอบกิจการไอบีซีเคเบิลทีวี เป็นจำเลยรวมอยู่ด้วย และวันนี้ คดีความยังไม่ยุติ

นั่น....คือความจริง ที่"ทักษิณ ชินวัตร" ต้องต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรมไทย....




กำลังโหลดความคิดเห็น